๕. โพธิพฤษ์ - โพธิญาณ
ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา
อังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘
เราได้เดินทางมาถึงสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เรียกกันว่า พุทธยา สถานที่นี้ นับเนื่องอยู่ในสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตอนนี้เราจึงพูดได้เต็มปากว่า เรามาถึงสังเวชนียสถานอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมานั้น แม้จะเป็นสถานที่สําคัญในทางพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่จัดอยู่ในสังเวชนียสถาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้
สังเวชนียสถาน ๔ นั้น จําเพาะว่า ได้แก่
๑. ชาตสถาน สถานที่พระพุทธเจ้า ประสูติ
๒. อภิสัมพุทธสถาน สถานที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้
๓. ธัมมจักกัปปวัตตนสถาน สถานที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา
๔. ปรินิพพุตสถาน สถานที่พระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ทั้ง ๔ แห่งนี้ เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ส่วนสถานที่อื่นเป็นที่เสด็จผ่านไป หรือไปประทับทรงบําเพ็ญพุทธกิจอย่างทั่วๆ ไป แม้จะสําคัญ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นสังเวชนียสถาน
เราเดินทางมาถึงจุดนี้ ก็เข้าสู่สังเวชนียสถาน ในลําดับที่หนึ่ง สําหรับการเดินทางของเรา แต่ถ้าว่าตามลําดับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ก็อาจจะสับกันไปสับกันมาบ้าง เพราะเป็นเรื่องของเส้นทางที่จะเดินทาง ไปได้โดยสะดวก
สถานที่ตรัสรู้นี้ เราพูดได้ว่าคือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์จึงทรงนําเอาธรรมที่ตรัสรู้นี้ ไปเผยแผ่สั่งสอนต่อไป
สถานที่เราผ่านมานั้น เป็นประจักษ์หลักฐานของการบําเพ็ญพุทธกิจที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม ทําให้พระศาสนาขยายกว้างขวางออกไป บางแห่งก็เป็นสถานที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หลังพุทธกาล คือ เป็นผลงานของพระสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกา ที่ได้นําพระศาสนาสืบกันมา
พูดในแง่หนึ่ง เราเดินทางจากประเทศไทยมาถึงที่นี้ เหมือนกับเราเดินย้อนทาง
เราเริ่มต้นจากประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดปลายทางที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง
เราเดินทางมาถึงเมืองปัฏนา หรือปาฏลีบุตร ซึ่งเป็นจุดต้นแหล่งที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงประเทศไทย นั่นก็หมายความว่า เราเดินทางจากประเทศไทย มาถึงแหล่งที่พระพุทธศาสนาได้แพร่ออกไป
พอมาถึงเมืองปาฏลีบุตร เราก็ได้พบสถานที่ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระสงฆ์เป็นศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา เราก็รู้ว่า อ้อ ที่ตั้งต้นของพระโสณะและอุตตระที่ไปถึงดินแดนประเทศไทยของเรา ตั้งแต่สมัยก่อนโน้น ที่เรียกว่า สุวรรณภูมินั้น เราได้มาถึงแล้ว คือดินแดนของพระเจ้าอโศกมหาราช
จากนั้น เราเดินทางต่อมาอีกจากเมืองปาฏลีบุตร เมื่อมาถึงเมืองราชคฤห์ ก็ยิ่งเป็นต้นทางมากขึ้น ปาฏลีบุตรนั้น เป็นที่ส่งศาสนทูตไปก็จริง แต่เป็นเหตุการณ์หลังพุทธกาลตั้ง ๒๐๐ กว่าปีแล้ว พุทธศาสนากว่า จะไปถึงปาฏลีบุตรนั้น ก็ต้องเริ่มต้นไปจากเมืองราชคฤห์ก่อน
เมืองราชคฤห์นี้ เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากราชคฤห์นี่แหละ พระพุทธศาสนาจึงแพร่ขยายกว้างขวางออกไป แล้วมามั่นคงเจริญยิ่งขึ้นที่ปัฏนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
เพราะฉะนั้น ราชคฤห์จึงเป็นจุดเชื่อมต่อ เป็นต้นทางของพุทธศาสนาที่ไปถึงปาฏลีบุตรอีกทีหนึ่ง ราชคฤห์นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นจุดศูนย์กลางที่พระพุทธเจ้านําพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่แก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นไป
แต่เมื่อมองย้อนถอยไปอีก การที่พระพุทธเจ้าจะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ราชคฤห์นั้นได้ ก็เพราะว่าได้ตรัสรู้ ณ สถานที่นี้ คือที่พุทธคยา ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้
เป็นอันว่า เราเดินทางมาตามลําดับๆ ในที่สุดก็มาถึงต้นแหล่ง หรือต้นทางของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ คือพระพุทธศาสนาที่เดินทางเป็นขั้นๆ จนไปถึงประเทศไทยของเรา
จําเพาะพอดีเป็นวันมาฆบูชา เป็นวันสําคัญในทางพระพุทธศาสนาด้วย จึงควรจะได้มีความอิ่มใจ มีปีติมากยิ่งขึ้นว่า เราได้มานมัสการพระศรีมหาโพธิ์ ในวันสําคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา โดยโยงไปหาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2567 19:29:31 น. |
|
0 comments
|
Counter : 588 Pageviews. |
 |
|