 |
|
|
|
 |
|
อินโดนีเซีย: ที่สุมาตรา ย้อนไปถึง ศรีวิชัย |
|
อินโดนีเซีย: ที่สุมาตรา ย้อนไปถึง ศรีวิชัย
ตรงนี้ พักเรื่องบนผืนแผ่นดินอินโดนีเซียไว้ก่อน แล้วมองออกไปทางด้านหมู่เกาะทั้งหลายในทะเล คือทางอินโดนีเซียบ้าง เกาะแถบนี้ ที่เป็นดินแดนสำคัญในประวัติศาสตร์ ได้แก่ สุมาตรา และชวา (พ่วงบาหลีเข้าด้วย) แต่ความเป็นไปในยุคแรกของดินแดนเหล่านี้ ไม่มีเรื่องมาถึงคนรุ่นหลัง จนกระทั่งหลวงจีนที่จาริกไปศึกษาสืบพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ได้เดินทางผ่านมาแวะระหว่างทาง และบันทึกเรื่องไว้ หลวงจีนที่รู้จักกันดีที่สุด คือ ฟาเหียน (Fa-hsien/Faxian) เหี้ยนจัง หรือยวนฉางหรือถังซัมจั๋ง หรือโมกษเทวะ (Hsuan-tsang/Yuantsang/Xuanzang) และ อี้จิง (I-ching/I-tsing/Yijing) ท่านแรกคือ หลวงจีนฟาเหียน จาริกออกจากจีนในปี 399/๙๔๒ อยู่ในอินเดีย ๖ ปี (405-411/๙๔๘–๙๕๔) ในรัชกาลของพระเจ้าจันทรคุปต์ ที่ ๒ (คือพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ที่ทรงมีกวีคนเด่นชื่อว่ากาลิทาส ผู้นิพนธ์เรื่องศกุนตลา) แห่งราชวงศ์คุปตะ ขาไปเดินทางบก ขามากลับทางเรือ แวะหาความรู้ และคัมภีร์ที่ลังกา ๒ ปี แล้วเดินทางต่อ เรือถูกพายุทะเลพัดพาไปขึ้นฝั่งบนเกาะหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งใจไป สันนิษฐานกันว่าเป็นเกาะชวา แล้วเดินทางต่อจนถึงมาตุภูมิ รวมอยู่ในทะเลกว่า ๒๐๐ วัน บันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ช่วยให้ทราบว่า เวลานั้น ได้มีการเดินทางค้าขายกันแล้ว ระหวางดินแดนแถบนี้กับเมืองจีน แต่ไม่ได้บอกเรื่องราวที่ให้เห็นความสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรม กระนั้นก็ตาม มั่นใจกันว่าพระพุทธศาสนาได้มาถึงถิ่นแดนแถบนี้ ตั้งแต่ ค.ศต. ต้นๆ เนื่องจากได้มีพระภิกษุหลายรูปจาริกมาเผยแผ่ โดยเฉพาะเรื่องของพระคุณวรมัน ผู้ออกบวชจากราชตระกูล ซึ่งบ่งชี้ว่า พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นในชวานานแล้ว ก่อน ค.ศต. 5 (ก่อนหลวงจีนฟาเหียนมา) ท่านที่สอง พระถังซัมจั๋ง ออกจากเสฉวนในปี 629/๑๑๗๒ ถึงที่หมาย ในชมพูทวีป ปี 633/ ๑๑๗๖ กลับสู่จีนถึงเมืองเชียงอ่าน (หรือฉางอัน) ในปี 645/๑๑๘๘ ผจญภัยแต่ทางบกทั้งขาไปและกลับจึงไม่มีเรื่องเล่าด้านนี้ ท่านที่สาม หลวงจีนอี้จิง ลงเรือออกจากกวางตุ้งในปี 671/๑๒๑๔ ใช้เวลาน้อยกว่า ๒๐ วัน ก็มาถึงเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย ที่ปาเลมบัง ในเกาะสุมาตรา แล้วพำนักอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนเดินทางต่อสู่ชมพูทวีป เพื่อไปยังที่หมายสำคัญ คือศูนย์การศึกษานานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนอี้จิง แวะพักที่ศรีวิชัย ครั้งหลัง ยาวหน่อย นานถึง ๖ ปี คือ 689-95/๑๒๓๒–๑๒๓๘ ตามบันทึกของหลวงจีนอี้จิง แสดงว่า เวลานั้นพระพุทธศาสนาเจริญมากในศรีวิชัย จนอาณาจักรนั้นเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านได้เขียนชื่นชมไว้ว่า ผู้จะเล่าเรียนพระพุทธศาสนาให้ได้ผลดี ควรมาเริ่มศึกษาที่นั่น และมหาราชาแห่งศรีวิชัยก็อุปถัมภ์บำรุงตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ท่านเป็นอย่างดี จากบันทึกที่หลวงจีนอี้จิงเขียนไว้ อาณาจักรศรีวิชัยจึงได้ปรากฏ ชื่อเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่กำลังรุ่งเรืองมาก มีอำนาจ ควบคุมช่องแคบมะละกา (Strait of Malacca/Melaka; คือชื่อทะเล ระหว่างแผ่นดินแหลมมลายูกับสุมาตรา) ตลอดจนช่องแคบซุนดา (Sunda Strait; คือระหว่างสุมาตรากับชวา) ทั้งหมด โดยนัยนี้ ศรีวิชัย นอกจากเป็นศูนย์กลางใหญ่ของการค้าขายกับจีนและอินเดียแล้ว ก็ควบคุมเส้นทางพาณิชย์ระหว่างจีน (เวลานั้นอยู่ในยุคราชวงศ์ถัง) กับนานาชาติ ที่อยู่ต่อออกไปทางตะวันตกทั้งหมด ในช่วงใกล้กับที่หลวงจีนอี้จิงจาริกมานั้น อาณาจักรลังกาสุกะ ตลอดจนรัฐทั้งหลายบนแผ่นดินแหลมมลายูแทบทั้งหมด ได้ตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย สิงคโปร์เป็นเมืองหน้าด้านแห่งหนึ่งที่ศรีวิชัยตั้งขึ้นไว้ ดังที่ได้เป็นจุดหนึ่งที่พระเจ้าราเชนทร์แห่งโจละโจมตี เมื่อยกมาทำสงครามกับศรีวิชัย ในปี1025/๑๕๖๘ มีผู้สันนิษฐานด้วยว่า ชื่อเมืองว่า “สิงหปุระ” ที่เพี้ยนมาเป็นสิงคโปร์ก็เป็นนามที่พระเจ้าราเชนทร์ทรงตั้งขึ้น (บ้างก็ว่า ชื่อดังกล่าวนั้น มหาราชาแห่งศรีวิชัยัที่ตั้งเมืองนี้ขึ้นได้ ทรงตั้งไว้และที่ว่าอย่างอื่นก็มีอีก ส่วนชื่อพื้นถิ่นของเกาะนี้มาจากภาษาชวา เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Tumasik หรือ Temasek) ศรีวิชัย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในสุมาตราภาคใต้รุ่งเรืองยิ่งใหญ่อยู่ราว ๕ ศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อพ่ายแพ้แก่พระเจ้าราเชนทร์แห่งโจละ ที่ยกมาตีในปี 1025/๑๕๖๘ แล้วก็อ่อนแอและเสื่อมลงเรื่อยมา จนถูกอาณาจักรมัชปาหิต ที่มีศูนย์กลางอยู่ในชวา แซงขึ้นมาเป็นใหญ่แทนที่ใน ค.ศต. 13 รวมมีอายุนับแต่ค.ศต. 7 อยู่ได้ ๗ ศตวรรษ
Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2567 13:56:08 น. |
|
1 comments
|
Counter : 224 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: teawpretty วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:16:13:44 น. |
|
|
|
|
|
 |
|
|
|