กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
5 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ราชคฤห์ ศูนย์อํานาจการเมือง




235 ราชคฤห์ : ศูนย์อํานาจการเมือง เรื่องที่ร้อน


ก) ราชคฤห์  ถึง  ปาฏลีบุตร

     เรื่องเมืองราชคฤห์นี้ ซึ่งได้เคยพูดถึงแล้ว ๒-๓ ครั้งว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ สมัยพุทธกาล และได้เล่าให้ฟังว่า ต่อมาได้ย้ายไปสู่เมืองปาฏลีบุตร

     แต่ก่อนที่จะย้ายไปปาฏลีบุตรนั้น ตามตํานานบางแห่งว่า ย้ายไปเมืองเวสาลีก่อน

     คัมภีร์บอกว่า พระเจ้าสุสูนาค (เรียกสุสุนาค บ้าง สิสุนาค บ้างก็มี; คัมภีร์สันสกฤตเรียกว่า ศิสุนาค) เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธจากราชคฤห์ไปที่เวสาลี  (แต่หลักฐานนี้ไม่แน่นนัก หลักฐานส่วนมากบอกว่าย้ายจากราชคฤห์ไปปาฏลีบุตรเลยในสมัยพระเจ้ากาลาโศกราช ซึ่งเป็น โอรสของพระเจ้าสุสูนาค) 

     เวสาลี เป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี  เวลาเรียกเป็นภาษาไทย  เรามักนิยมใช้รูปสันสกฤตว่า ไวศาลี   โดยแผลงเป็น ไพศาลี

    การที่พระเจ้าสุสูนาคแห่งแคว้นมคธ ย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์ ไปตั้งที่เวสาลีได้นั้น ก็เพราะว่า แคว้นมคธได้ปราบปรามพวกแคว้นวัชชีลงได้แล้ว และวัชชีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธไป

    เรื่องนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เวสาลีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธแล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธก็จึงย้ายเมืองหลวงได้ตามชอบใจ  เมื่อชอบเมืองเวสาลีก็ย้ายไปเมืองเวสาลี 

    เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ที่พระเจ้าสุสูนาคย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์ไปยังเวสาลีนั้น อาจเป็นได้ว่าเป็นเพราะพระเจ้าสุสูนาคเอง เป็นเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในเมืองเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า


    ขอเล่าความย้อนอีกครั้งหนึ่งว่า  กษัตริย์ในวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสาร นับจากพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นต้นมา ล้วนแต่ทําปิตุฆาต คือฆ่าพระราชบิดาทั้งสิ้น จนเรียกได้ว่าเป็นราชวงศ์แห่งปิตุฆาต โดยมีลําดับดังนี้

     พระเจ้าพิมพิสาร ครองราชย์ ๕๒ ปี

     พระเจ้าอชาตศัตรู  ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว ครองราชย์ ๓๑ ปี  (แบ่งเป็นก่อนพุทธปรินิพพาน ๗ ปี  และหลังพุทธปรินิพพาน ๒๔ ปี)

     พระเจ้าอุทยภัทร (หรืออุทายิภัทท์) ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว ครองราชย์ ๑๖ ปี

     พระเจ้าอนุรุทธ์  ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว

     พระเจ้ามุณฑะ  ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว  (อนุรุทธ์ + มุณฑะ ครองราชย์รวม ๘ ปี)

     พระเจ้านาคทัสสก์  (หรือนาคทาสกะ) ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว ครองราชย์ ๒๔ ปี

     ในรัชกาลสุดท้ายนี้  อํามาตย์และราษฎรไม่พอใจวงศ์กษัตริย์ที่มีแต่ปิตุฆาตตลอดมา จึงถอดพระเจ้านาคทัสสก์จากราชสมบัติ และอัญเชิญสุสูนาค ซึ่งเป็นอํามาตย์รับราชการอยู่ในราชคฤห์ แต่เป็นเชื้อสายเจ้าลิจฉวีขึ้นครองราชย์  ตั้งราชวงศ์ใหม่ เรียกว่าไศศุนาค

     พระเจ้าสุสูนาคครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี แล้ว

     โอรสชื่อกาลาโศกครองราชย์ต่ออีก ๒๘ ปี

     ในปีที่ ๑๐ แห่งรัชกาลนี้ ครบ ๑๐๐ ปีนับแต่พุทธปรินิพพาน ก็ได้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่เมืองเวสาลี

     ตอนสังคายนาครั้งที่ ๒ พระเจ้ากาลาโศกราช ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงอุปถัมภ์การสังคายนา ซึ่งได้จัดที่เมืองเวสาลีนี้ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธแล้ว

     ต่อมา  พระเจ้ากาลาโศกราชนี่แหละ ก็เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองเวสาลีไปทเมีองปาฏลีบุตร แสดงว่า มีการย้ายตั้งสองครั้ง ย้ายจากราชคฤห์ไปเวสาลีแล้วก็ย้ายจากเวสาลีไปที่ปาฏลีบุตร อีกทีหนึ่ง

     ตอนที่พระเจ้ากาลาโศกราช อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๒ นั้น การสังคายนาก็จัดที่เมืองเวสาลี  อาจจะเป็นได้ว่า หลังจากที่จัดสังคายนาแล้ว  พระเจ้ากาลาโศกราชจึงได้ย้ายเมืองหลวงไปที่ปาฏลีบุตร หรืออาจจะย้ายไปก่อน แต่เมืองเวสาลีก็เป็นเมืองใหญ่ และเรื่องก็เกิดขึ้นที่นั่น พระสงฆ์จึงมาจัดการสังคายนาขึ้นที่เวสาลีนี้

     (หลักฐานส่วนมากบอกว่า พระเจ้ากาลาโศกราช ย้ายเมืองหลวง จากราชคฤห์ไปยังปาฏลีบุตร)

     ที่ปาฏลีบุตร เมืองหลวงใหม่นี้ มีมหากษัตริย์ปกครองต่อจากพระเจ้ากาลาโศกราช สืบมา คือ

     ราชโอรส  ๑๐ พระองค์ของพระเจ้ากาลาโศก ร่วมกันปกครอง ๒๒ ปี จากนั้น ราชวงศ์ไศศุนาคสิ้นสุดลง  เข้าสู่ยุคของราชวงศ์นันทะ  ราชวงศ์นันทะ มีกษัตริย์ปกครองต์ต่อมา ๙ รัชกาล รวม ๒๒ ปี

     ในรัชกาลสุดท้ายของราชวงศ์นี้  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กรีฑาทัพมาถึงเขตแดนชมพูทวีป แต่หยุดยั้ง แค่ตักศิลา แล้วเลิกทัพไป

     จันทรคุปต์  ล้มราชวงศ์นันทะ ตั้งราชวงศ์โมริยะ (สันสกฤตว่า เมารยะ)  และครองราชย์อยู่นาน ๒๔ ปี

     จากนั้น พระเจ้าพินทุสาร ราชโอรส ครองราชย์  ๒๘ ปี

     สิ้นรัชกาลนี้ พ.ศ.๒๑๔ ก็ถึงสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งครองราชย์ก่อนราชาภิเษก ๔ ปีแล้วครองต่อมาอีก ๔๒ ปี  จนสวรรคต ใน พ.ศ.๒๖๐ (ตำราฝ่ายตะวันตกส่วนมากว่าสมัยอโศก =พ.ศ.๒๗๐–๓๑๒) 

     เป็นอันว่ามาบรรจบถึงยุคสมัยซึ่งได้เล่าไว้ที่เมืองปัฏนา

     ขอแทรกข้อสังเกตว่า  เรื่องระยะเวลาครองราชย์ของพระเจ้าพิมพิสารว่า ๕๒ ปี โดยสวรรคตก่อนพุทธปรินิพพาน ๗ ปี  นี้ยังไม่น่าเชื่อนัก แต่ว่าไปตามหลักฐานเท่าที่มีก่อน ถ้ามีเวลาคงต้องค้นให้ชัดมากขึ้น

     นี้เป็นภาพของเหตุการณ์สืบเนื่องจากพุทธกาล ที่มาสัมพันธ์กับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา


ข) เรื่องของราชคฤห์ 

     ขอย้อนกลับมาพูดถึงเมืองราชคฤห์ เพราะเป็นเมืองหลวงสําคัญ ในสมัยพุทธกาล

     อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงพบกับพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นมคธ ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ที่เมืองนี้

     ต่อมา พระเจ้าอชาตศัตรู ราชโอรส ก็ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา คือพระเจ้าพิมพิสาร แล้วขึ้นครองราชย์ 

     พระเจ้าอชาตศัตรู ห่างเหินจากพระพุทธศาสนาไปพักหนึ่ง  จนกระทั่งตอนหลัง จึงหันมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา  ตลอดจนอุปถัมภ์การสังคายนา ครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นครั้งแรกของพระพุทธศาสนา

     เมืองราชคฤห์มีชื่อเรียกหลายชื่อ ชื่อหนึ่งเรียกว่า เบญจคีรีนคร  แปลว่า เมืองที่มีเขาทั้ง ๕ คือเขาคิชฌกูฏ แล้วก็มีเขา ปุณฑวะ  รูปทรงเป็นบัณเฑาะว์  เขาเวภาระ ซึ่งเป็นที่ทําสังคายนาครั้งที่ ๑ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เขาอิสิคิลิ และเขาเวปุลละ

     เพราะเหตุที่เมืองนี้ตั้งอยู่ติดกับภูเขา ๕ ลูก ก็เลยเรียกชื่อว่า เบญจคีรีนคร และจากการที่มีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบอยู่ เป็นเหมือนคอก ล้อมรอบเมือง เมืองนี้ก็จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งตามมาว่า คิริพพชะ แปลว่า มีภูเขาเป็นคอก  ก็คือมีภูเขาล้อมรอบนั่นเอง นี่ก็เป็นชื่อต่างๆ ของเมืองราชคฤห์  ซึ่งก็ไม่จําเป็นจะต้องจดจําอะไร เป็นเพียงความรู้รอบตัว พอให้ได้ยินไว้แล้วก็ผ่านๆ ไป

     ข้อสําคัญก็คือว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองนี้ พระองค์ทรงต้องมองเห็นการณ์ไกล อย่างที่กล่าวแล้วว่า เวลานั้นมีแว่นแคว้นใหญ่ๆ หลายแคว้น

     ขอทวนซ้ําอีกทีหนึ่ง ที่บอกว่า มีมหาชนบท หรือ ประเทศใหญ่อยู่ ถึง ๑๖ แคว้น และเมื่อมาถึงพุทธกาลก็มีแคว้นที่สําคัญอยู่ในแถบนี้ ๓ แคว้น คือ แคว้นมคธนี้ และแคว้นวัชชีแล้วก็แคว้นโกศล

     พอสิ้นพุทธกาลไปแล้ว  แคว้นโกศลก็ดี  วัชชีก็ดี  มาตกอยู่ใต้อํานาจของแคว้นมคธหมด ฉะนั้น ราชคฤห์  ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมคธ จึงเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรือง และอํานาจทางการเมือง

     พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่นี่ ถ้าพูดในแง่การเมืองก็แสดงว่า ได้ที่ที่เหมาะที่สุดแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองราชคฤห์ ก็ทรงประกาศพระศาสนา เริ่มตั้งแต่ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา เป็นองค์ศาสนูปถัมภก

     ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงโปรดอัครสาวก ๒ ท่าน คือ พระ สารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ

 




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2567
0 comments
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2567 8:11:33 น.
Counter : 131 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space