 |
|
|
|
 |
|
ความไม่ประมาท ช่วยปรับให้พอดี จึงเป็นทางสายกลาง |
|
ไม่ประมาท จึงสามารถธำรงทางสายกลาง
ความไม่ประมาท มาช่วยปรับให้พอดี จึงเป็นทางสายกลาง ที่ว่านี้ เป็นการยกมาให้โยมฟังในเรื่องของความไม่ประมาท เป็นอันว่าเรื่องความไม่ประมาทนี้ ว่าโดยหลักการใหญ่ๆ ก็คิดว่าพอสมควร แต่อยากจะพูดโยงไปหาข้อย่อยๆ บางอย่างด้วย เท่าที่พูดมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เห็นว่า ความไม่ประมาท โยงไปถึงเรื่องความพอดีที่เป็นทางสายกลาง ซึ่งวันก่อนก็ได้พูดไปแล้วว่า มีความสัมพันธ์กันอยู่ ระหว่างความไม่ประมาท กับ ความพอดี คือ มัชฌิมาปฏิปทา กล่าวคือ ความไม่ประมาทนี่แหละจะมาปรับให้เกิดความพอดี ความไม่พอดีอย่างแรก หรืออย่างง่ายๆ ก็คือ เมื่อทุกข์ก็ดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสบายก็นอนเสพสุขอย่างที่ว่าไปแล้ว ความไม่พอดีที่ซับซ้อนลงไปอีกหน่อย คือ คนพวกหนึ่ง ทั้งที่เจริญพรั่งพร้อมกว่า แต่ยิ่งสร้างความเจริญด้วยจิตใจที่เครียดและเร่าร้อนกระวนกระวาย ส่วนอีกพวกหนึ่ง ทั้งที่ยากไร้ล้าหลัง แต่ปรับใจได้ ไม่ค่อยทุกข์ร้อน ดูจะมีความสุขสบายดี แต่เฉื่อยชา นี่คือสุดโต่งทั้งสองพวก ตั้งเป็นคำถามว่า ทางสายกลางแห่งความพอดี ที่จัดปรับด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไร ถ้าเราประมาท ก็ไม่มีทางพอดี การที่มีชีวิตสุดโต่ง เอียงไปช้างใดข้างหนึ่ง ก็เพราะไม่อยู่ด้วยสติปัญญา พวกหนึ่งปล่อยตัว ละเลย ไม่มีสติ ไม่ตื่นตัว ไม่ทันต่อเหตุการณ์ มัวนิ่งเฉย ไม่คิดจะทำอะไร ได้แต่ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา กล่อมใจ ด้วยความหวังที่เลื่อนลอย ก็เลยเอียงสุดไปข้างที่จะจมอยู่ในปลักแห่งโมหะ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ดิ้นรนพลุ่งพล่านทะยานไป บีบคั้นกันและกันด้วยทุกข์ภัยจากการแข่งขันแย่งชิง ต่างก็รีบเร่งรุดไปข้างหน้า มุ่งแต่จะให้เหนือกว่าคนอื่น ไม่มองถึงผลดีผลเสียที่ซับซ้อนและกว้างออกไป ก็เลยเอียงสุดไปในข้างที่เร่าร้อนด้วยเพลิงแห่งโลภะและโทสะ โดยไม่พ้นการพรางตาตัวด้วยโมหะ อย่างเรื่องของอินเดียกับฝรั่งที่ว่ามาแล้ว บทเรียนนี้ก็เอามาใช้ในเรื่องการปรับให้พอดีด้วยความไม่ประมาทได้ ถ้าปรับใจให้สบายมีความสุขได้ แต่ปล่อยตัวละเลยเรื่อยเปื่อย กลายเป็นว่าสบายใจแล้ว ก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราวไม่กระตือรือร้น อันนี้ก็แสดงว่าไม่พอดี ทีนี้ ความไม่ประมาทก็มาปรับให้พอดีได้ เมื่อไม่ประมาท ถึงแม้จะปรับใจสบายได้แต่ปัญหาเราก็ไม่ทิ้ง เรียกว่าข้างนอกแก้ไข ข้างในเป็นอิสระ คือคนที่ปฏิบัติธรรมถูกต้อง จะไม่ทิ้งปัญหาข้างนอก เป็นแต่กันปัญหาข้างนอกไม่ให้เข้ามาเป็นทุกข์ข้างใน ปัญหาข้างนอกก็เป็นปัญหาข้างนอกไป ไม่เข้ามาเป็นทุกข์ข้างในใจ เมื่อกันปัญหา กันทุกข์ไว้ข้างนอก ก็ทำใจของตัวให้เป็นอิสระได้ ยังสุขสบายอยู่ แต่ไม่หยุดแค่นั้น ก็ก้าวออกไปจัดการแก้ไขปัญหาข้างนอกตามเหตุปัจจัย โดยไปศึกษาเหตุปัจจัย แล้วแก้ไขปัญหาด้วยการจัดการให้ตรงเหตุปัจจัย ขณะที่ข้างในใจสบาย ข้างนอกก็แก้ไขปัญหาได้ผลดีด้วย ทำให้ได้ผลดีทั้งสองอย่าง คือ ดีทั้งข้างนอกข้างใน เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นตัวปรับให้เกิดความพอดี ถ้าอินเดียรู้จักปรับเสียหน่อย การที่ทำใจให้สบาย มีความสุขได้ก็ดีแล้วในส่วนนี้ แต่ว่าสบายแล้วอย่าไปปล่อยปัญหาข้างนอกทิ้งไว้ นี่แกมัวละเลยทอดทิ้งผัดเพี้ยน เฉื่อยชา รอเทวดาช่วยอยู่ ก็เลยแย่ ได้แค่เป็นความสุข ของคนที่คร้านและแร้นแค้น เอาเป็นว่า ต้องมีสติแล้วไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมผัดเพี้ยน ออกไปจัดการแก้ไขปัญหาข้างนอกด้วย ความยากจน ความสกปรกไม่เป็นระเบียบ ไม่ปล่อย ต้องจัดการแก้ไขให้หมด มันก็เกิดความพอดี ของฝรั่งก็เหมือนกัน สุดโต่งไปอีกข้าง ก็ต้องเอาความไม่ประมาทมาปรับให้พอดี คือต้องหันมาหาความไม่ประมาทที่แท้ เลิกความไม่ประมาทเทียม ที่เอาระบบกิเลส ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์มาบีบคั้นคน ทำให้เจริญอย่างเคียดเครียด เปลี่ยนมาอยู่อย่างไม่ประมาทด้วยสติและปัญญา สังคมไทย ถ้าจะสร้างสรรค์ความเจริญ เราน่าจะทำเป็นแบบอย่างได้ ในฐานะที่เป็นพุทธสาวก เราชวนกันมาสร้างสรรค์ความเจริญที่พอดีให้ได้ มันน่าจะเป็นสังคมตัวอย่างได้สักสังคมหนึ่ง เวลานี้ ไม่เห็นมีสังคมไหนพอดีสักสังคมหนึ่ง มีแต่เอียงไปทางโน้นบ้าง เอียงมาทางนี้บ้าง แสดงถึงภาวะของมนุษย์ที่ไม่พัฒนา
Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2567 8:31:38 น. |
|
0 comments
|
Counter : 198 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|