 |
|
|
|
 |
|
สุหนี่นำอิสลามครองสะเปน จ่อแดนจีน |
|
สุหนี่นำอิสลามครองสะเปน จ่อแดนจีน
ขณะนี้ จักรวรรดิอิสลามของกาหลิฟองศ์อูมัยยัต ที่ดามัสกัส มีอำนาจยิ่งใหญ่ กลายเป็นคู่แข่งของจักรวรรดิโรมันตะวันออก คือ บีแซนทีน (อังกฤษอ่าน ไบแซนทีน บ้างก็มี) ขึ้นแทนจักรวรรดิเปอร์เซียที่ล่มไปตั้งแต่ยุคกาหลิฟที่มะดีนะฮ์ และยังได้แผ่ขยายดินแดนออกไปอีกทั้งทางตะวันออกและตะวันตก
ภายในเวลาเพียง ๑ ศตวรรษ นับแต่ศาสนาอิสลามเกิดขึ้น แค่ ค.ศ.700 เศษ ต้นๆ (ก่อนถึง พ.ศ.๑๓๐๐) จักรวรรดิอิสลามอาหรับแผ่ไปตะวันตก ผ่านอาฟริกาเหนือ ขึ้นยุโรปไปครอบครองถึงสเปน (ปี 711/๑๒๕๔) ยั้งที่ฝรั่งเศส และขยายไปตะวันออก ผ่านอาฟกานิสถาน ลงข้างล่าง เข้าลุ่มน้ำสินธุ ครองแคว้นสินท์ ทะลุปากีสถาน เข้าไปถึงภาคตะวันตกของอินเดีย ยันกันอยู่ในรัฐคูชราด กับขึ้นเหนือตามเส้นทางสายไหม เข้าอาเซียกลาง ไปจดเขตแดนประเทศจีน
ขยายความหน่อยว่า ที่จริง เวลานั้นประเทศปากีสถาน เป็นต้น ยังไม่มี พูดรวมๆก็คือชมพูทวีป แต่ที่บรรยายนี้ เป็นการพูดเทียบกับถิ่นแดนปัจจุบัน
ชนมุสลิมอาหรับเข้าครองแคว้นสินท์ได้ตั้งแต่ปี 712/๑๒๕๔ ครั้นถึงปี 775/๑๓๑๘ ก็ยกทัพมาทางเรือเข้าตีเมืองวลภี (อยู่ใต้คานธีนคร เมืองหลวงของรัฐคูชราด ห่างลงไป ๑๗๕ กม.) ล้มราชวงศ์ไมตรกะ และทำลายล้างพระนครพินาศลงโดยสิ้นเชิง
ครั้งนั้น มหาวิทยาลัยวลภี ก็ได้ถูกทำลายลงด้วยอย่างไม่เหลือแม้แต่ซาก เป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกที่ถูกทำลาย (ถ้าไม่นับตักศิลา)
อนึ่ง ทัพอาหรับจะรุกคืบเข้าปัญจาบ และแคชเมียร์/กัษมีร์ แต่ถูกหยุดยั้งไว้
ส่วนทางเหนือ ทัพมุสลิมอาหรับผ่านอาฟกานิสถาน ประมาณปี 721/๑๒๕๕ ก็พิชิตบากเตรีย/โยนก เข้าไปในอาเซียกลาง
ต่อมาได้รบกับกองทัพจีนแถบเตอร์กีสถาน ในยุทธการแห่งแม่น้ำตาลาส (Battle of Talas) เมื่อปี 751 / ๑๒๙๔ ทัพจีนพ่ายแพ้ ทำให้จักรวรรดิจีนในอาเซียกลางถึงอวสาน
มีเรื่องน่ารู้แทรกหน่อยว่า มุสลิมอาหรับจับช่างฝีมือจีนเป็นเชลยไปแบกแดด ช่างจีนนักทำกระดาษ ได้ทำกระดาษให้แก่นายมุสลิม และจากชาวมุสลิม วิธีทำกระดาษก็แพร่ไปในอาเซีย ยุโรป อาฟริกา
อาเซียกลาง แถบที่เรียกรวมๆว่า Turkistan (หรือTurkestan) ตั้งแต่ทะเลสาบแคสเปียน (Caspian Sea) จนถึงชายแดนจีน หรือ อยู่ระหว่างจีน กับ รัสเซียนี่แหละ คือ ถิ่นเดิมของพวกเตอร์ก ซึ่งมีบรรพบุรุษอยู่แถบเทือกเขาอัลไต (Altai Mountains) บัดนี้กระจายอยู่แถว Kazakhstan, Uzbekistan, Kyrgyzstan, Turkmenistan, มณฑล Xinjiang (Sinkiang) ของจีน Azerbaijan และที่เป็นกระจุกใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คือ ประเทศเตอร์กี หรือ ตุรกี
เตอร์กอยู่ในอาเซียกลาง แล้วไปมากที่ตุรกี ห่างไปหลายพันกิโลเมตรอย่างไร จะได้เห็นคร่าวๆต่อไป
มุสลิมอาหรับพิชิตอาเซียกลางแล้ว ก็เปลี่ยนชนชาติเหล่านี้เป็นมุสลิม และให้ใช้อาระบิกเป็นภาษาราชการ
ถึงตอนนี้ ก็พอดีจบยุคแผ่อำนาจของมุสลิมอาหรับ เหตุการณ์แถบนี้เงียบไปราว ๓๐๐ ปี ก็จะเข้ายุคของมุสลิมเตอร์กบ้าง
ที่เป็นอย่างนี้ ต้องหันกลับไปดูที่ต้นทาง คือ ดามัสกัส
กาหลิบวงศ์อูมัยยัต แม้จะแผ่ขยายดินแดนและอิสลามเพิ่มได้อีกมาก แต่พอมาตอนปลาย ต้องมัวปราบกบฏและการกำเริบอยู่เรื่อยๆทั้งจากพวกขะรีจิ และพวกชีอะฮ์
ที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อจักรวรรดิอิสลามแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว พอถึงตอนนี้ กลายเป็นว่า ประชากรมุสลิมใหม่ที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ มีจำนวนมากกว่าคนมุสลิมอาหรับ
มุสลิมที่ไม่ใช่อาหรับนี้ จำนวนมากก็มาอยู่กับพวกกบฏ และหลายพวกก็เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้เสมอภาคกับคนมุสลิมอาหรับ
จังหวะนี้ พวกมุสลิมอาหรับที่แบกแดด (อีรัค) ซึ่งสืบสายจากท่านอับบาส ผู้เป็นลุงขององค์นบีมุฮัมมัด ถือว่าพวกอูมัยยัตเป็นพวกนอกสายที่ได้เข่นฆ่าบุตรนัดดาขององค์นบี
ครั้นถึงปี 750 / ๑๒๙๓ มุสลิมอาหรับที่แบกแดดก็รบชนะ และสังหารกาหลิฟพร้อมทั้งราชวงศ์ที่ดามัสกัส (ซีเรีย) แล้วย้ายเมืองหลวงมายังแบกแดด (อีรัค) เริ่มวงศ์กาหลิฟอับบาสิต (Abbasids)
ในยุคแห่งวงศ์กาหลิฟอับบาสิต ที่แบกแดด สภาพแวดล้อมทำให้มีการประสานวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน อารยธรรมเปอร์เซีย และแนวคิดของกรีกได้ปรากฏอิทธิพล และเกิดแนวโน้มของบรรยากาศซึ่งหันไปฝักใฝ่ทางปัญญา จึงเป็นยุคที่เจริญด้วยศิลปวิทยา
ดังที่กาหลิฟองค์ที่ ๕ ได้รับยกย่องว่ายิ่งใหญ่ ส่งเสริมศิลปวิทยาวรรณคดี และเป็นปราชญ์เองด้วย คือ พระเจ้าฮารูน อัล ราษจิด (Harun al-Rashid ครองราชย์ ปี 786-809/๑๓๒๙-๕๒) ในนิยายอาหรับราตรี ที่คนไทยจำนวนมากรู้จักดี
พร้อมกันนั้น มีการแปลผลงานของกรีกเป็นภาษาอาหรับ การค้าขายขยายตัวอย่างยิ่ง จะได้เป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้ เช่นนำความรู้จากอินเดียมาใช้ – เผยแพร่ และชาวมุสลิมอาหรับก็พัฒนาความรู้นั้นๆขึ้นอีก ทำให้เกิดยุคทองของศิลปวิทยาอิสลาม
ในยุคนี้ แบกแดด และเชียงอาน ได้ชื่อว่าเป็น ๒ มหานครใหญ่ที่สุดในโลก
Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2567 12:15:31 น. |
|
0 comments
|
Counter : 214 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|