 |
|
|
|
 |
|
พระพุทธศาสนาในมือของพุทธบริษัท |
|
พระพุทธศาสนาในมือของพุทธบริษัท
การสูญสิ้นของพระพุทธศาสนานี้ เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่า หลักสําคัญที่สุดที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ก็คือ พุทธบริษัททั้ง ๔ ของเรา จะต้องมีความมั่นคงในหลักการของพระพุทธศาสนา และจะต้องสํานึกในความมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนา จะต้องยึดถือหลักการเป็นสําคัญ และพัฒนาตนเองให้เป็นชาวพุทธที่มีคุณภาพ
เวลานี้ สิ่งเป็นห่วงมากก็คือ คนที่มีชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน มักมีความรู้สึกคล้ายๆ จะแบ่งกัน เช่น ชาวบ้านก็มองว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบพระพุทธศาสนาคือพระ
เวลามีพระทําอะไรไม่ดี โยมก็บอกว่า เออ พระพุทธศาสนานี่อะไรกัน พระไม่ดี ไม่ได้ความ ไม่น่านับถือ ก็พาลจะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา หาได้คิดไม่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นของบริษัท ๔
ถ้าพระเสียแต่โยมยังอยู่ อุบาสก-อุบาสิกาก็ต้องรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ยามใดที่พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำ อุบาสก-อุบาสิกาต้องเป็นหลัก กลับมาช่วยฟื้นฟูหนุนให้มีพระดีมารักษาพระพุทธศาสนา
คติอย่างหนึ่งก็คือ การวางท่าทีต่อสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นมา ชาวพุทธจะต้องมองอีกแบบหนึ่ง คือจะต้องมองว่า พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของชาวพุทธ เป็นสมบัติของประเทศชาติ ของสังคม และของเรา พระพุทธศาสนามีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา ได้ให้อะไรๆ แก่สังคมของเรามามาก ทําให้สังคมของเรามีวัฒนธรรม มีความเจริญรุ่งเรือง มีสันติสุขมานานแล้ว บัดนี้ พระพุทธศาสนาของเราตกต่ำมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราชาวพุทธจะต้องช่วยเหลือกัน เราจะช่วยพระพุทธศาสนาของเราอย่างไรดี
เมื่อเกิดมีปัญหา ไม่ควรจะคิดว่า เอ้อ พระไม่ดีแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้ความ แต่ควรจะคิดว่า เวลานี้ พระพุทธศาสนาของเราเพลี่ยงพล้ำ เราจะช่วยได้อย่างไร คือ ชาวพุทธต้องมองในแง่ว่าเราจะช่วยพระพุทธศาสนาของเราอย่างไร ถ้าตั้งท่าทีอย่างนี้เราจะมีความเข้มแข็งขึ้น เท่าที่เป็นมาในอดีต ท่าทีของชาวพุทธเป็นอย่างนี้ เราจึงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้
ในการที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น นอกจากมีจิตสํานึกที่จะไม่ประมาท มีความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน และมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของด้วยแล้ว ตัวเราเองจะต้องมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ด้วย
พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักนี้ไว้ให้แล้วในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระองค์จะปรินิพพาน ต่อเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม ไม่ใช่แต่เฉพาะพระสงฆ์ ต้องมีคุณสมบัติ ๓ ข้อต่อไปนี้ คือ (ที.ม.๑๐/๑๐๒)
๑. ในด้านส่วนตัว แต่ละคนจะต้องมีความแกล้วกล้ามั่นใจในธรรม ครบทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ
๑) รู้เข้าใจหลักธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า
๒) ปฏิบัติตามหลักธรรมนั้นได้ถูกต้อง
๒. ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็มีความรู้เพียงพอ และมีเมตตาธรรม มีน้ำใจเผื่อแผ่ สามารถแนะนําสั่งสอนธรรมนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เช่น เป็นคุณพ่อคุณแม่ก็เอาธรรมไปสั่งสอนลูก อบรมลูก เป็นครูอาจารย์ก็สงสอนลูกศิษย์ เป็นเพื่อนก็แนะนำแก่เพื่อน เป็นผู้ใหญ่ก็แนะนำแก่ผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น เป็นการทำหน้าที่ต่อสังคมและต่อพระพุทธศาสนา
เป็นอันว่า คุณสมบัติประการที่สอง คือทําหน้าที่ต่อผู้อื่นด้วยความมีน้ำใจ และมีความสามารถที่จะแนะนําให้ความรู้ธรรมแก่เขาได้
๓. ในแง่หลักการ ก็สามารถรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาไว้ได้ เมื่อมีใครพูดจาผิดพลาด ปฏิบัติผิดพลาดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีวาทะกล่าวร้ายต่อพุทธศาสนา ทําให้พระธรรมวินัยคลาดเคลื่อน ต้องสามารถที่จะชี้แจงแก้ไขได้ ท่านเรียกว่า กําราบปรัปวาทได้
พุทธบริษัททุกคนถือว่ามีหน้าที่จะต้องศึกษา จนมีคุณสมบัติครบ ๓ อย่างนี้ ขอย้ำอีกทีหนึ่ง
๑. ในแง่ตนเอง ก็ทั้งรู้ และปฏิบัติได้ถูกต้อง
๒. ในแง่สัมพันธ์กับผู้อื่น ก็มีความรู้ความสามารถ และมีน้ำใจ เมตตาที่จะเผื่อแผ่ให้ความรู้ธรรมแก่เขา
๓. ในแง่หลักการ ก็สามารถรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาชี้แจงแก่ผู้ที่มาพูดกล่าวร้าย หรือแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อพระพุทธศาสนาได้
ถ้าทุกคนที่เป็นชาวพุทธ อยู่ในพุทธบริษัท ๔ เป็นอุบาสิกา เป็นอุบาสก เป็นภิกษุณี เป็นภิกษุ ที่มีความสามารถเช่นนี้ แล้วช่วยกันรับผิดชอบ ก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้แน่นอน เราจะไม่มีปัญหา
แต่เมื่อใดความเสื่อมเกิดขึ้น และรุกเข้ามาจนถึงจุดศูนย์กลาง กล่าวคือ แม้แต่ความรู้และการปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาที่เป็นส่วนของพระเองก็พลอยคลาดเคลื่อน หรือพระเองก็ไม่มีคุณสมบัติ เมื่อนั้นพระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมโทรมลง
จากที่นาลันทา เราจะเห็นได้ว่า ความเสื่อมได้เข้ามาถึงตัวแกน คือศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ไม่มั่นคงในหลักการของตนเอง จนกระทั่งเข้าไปกลมกลืนกับลัทธิศาสนาอื่น จึงทําให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลงจนสูญสิ้น
การที่พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย เราต้องมองปัจจัยหลายด้าน แม้ว่าเหตุสําคัญที่เป็นตัวตัดสินสุดท้ายคือ สงคราม (เรียกได้ไม่เต็มปากว่าเป็นสงคราม เพราะแทบจะเป็นเพียงการรุกรานหรือบุกทําลายข้างเดียว) จากการทําลายของชาวมุสลิมเตอร์ก แต่ก่อนหน้านั้น ก็ได้มีความผุกร่อน ความโทรมของพระพุทธศาสนาเอง จากการที่เข้าไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดู รวมทั้งความวิปลาสคลาดเคลื่อนของวัตรปฏิบัติ ความรู้เข้าใจธรรม และความประพฤติทั่วไป
โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธ ซึ่งเป็นข้อที่สําคัญมาก พุทธบริษัท ๔ ไม่มีความสัมพันธ์ที่รับผิดชอบต่อกัน ไม่ร่วมมือกันเท่าที่ควร พระก็ไม่ทําหน้าที่ด้วยดีต่อประชาชน และฝ่ายชาวบ้านก็เอาพระพุทธศาสนามาฝากไว้กับพระฝ่ายเดียว เป็นต้น จนในที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมจนสูญสิ้นไป
วันนี้เรามาในสถานที่นี้ คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา ก็เท่ากับว่าเรามาดูสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึง
• ด้านหนึ่ง คือ ความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น โดยอาศัยการศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทา นี้เป็นปัจจัย และพร้อมกันนั้น
• อีกด้านหนึ่งก็คือ ความเป็นมาที่มีทั้งความเสื่อมและความเจริญ ทําให้รู้ว่าเจริญขึ้นมาอย่างไร แล้วก็เสื่อมสูญไปอย่างไร
เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็จะได้ประโยชน์ ได้สติปัญญาในการที่จะมารักษาพระพุทธศาสนาต่อไป คือ เอาอดีตมาเป็นบทเรียน
สิ่งที่เราได้ศึกษาและได้เห็นที่นาลันทานี้ ไม่ใช่แค่ว่ามาชื่นชมความเจริญ และความยิ่งใหญ่ในอดีตว่า โอ้โฮ นี่ใหญ่ตั้งขนาดนี้แสดงว่า ต้องเจริญมากมายหนอ แล้วก็จบเท่านั้น แค่นี้ไม่พอ ต้องมองในแง่ว่า จะได้คติมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันอย่างไร
นี่แหละเป็นบทเรียนสําคัญ ที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์ในการรักษาพระพุทธศาสนาในขณะนี้ ถ้าไม่สามารถโยงมาสู่ปัจจุบันได้ ประโยชน์นั้นก็น้อย คุณค่าในการมาที่นี่ก็ไม่ค่อยมี
ฉะนั้นจึงขอให้โยมได้ประโยชน์จากเรื่องที่อาตมภาพเล่ามาให้ฟังนี้ สําหรับวันนี้เวลาจํากัด จึงขออนุโมทนาโยมอีกครั้งหนึ่ง บัดนี้มาถึงที่นี่แล้ว และได้มาเห็นสิ่งที่เป็นอนุสรณ์เตือนใจมากมาย
ถ้ามองในแง่ของความเจริญในอดีต เราก็ได้ปีติคือความอิ่มใจ ถ้ามองในแง่ ว่าอ้อ ความเจริญนั้นหมดไปแล้วนี่ เหลือแต่ซาก เราก็อาจจะสลดหดหู่ใจ
แต่ถ้าจะให้ได้ผลดี ก็คือใช้มันมากระตุ้นเร้าใจเรา ว่า เอ้อ ความเจริญอย่างนี้เคยมีมาในอดีต บัดนี้ความเจริญนั้นสูญไปแล้ว เราจะต้องทําใหม่ให้ได้
ในแง่ของความเสื่อมทำลายไป ก็มาเตือนใจว่า เอ้อ เราจะต้องได้บทเรียนเอามาใช้ประโยชน์ป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมอย่างนี้อีก
ถ้าคิดอย่างนี้ มองอย่างนี้ เราก็จะได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ประการ แล้วเราก็มาช่วยกันทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป
ขอให้ทุกท่าน มีกําลังกาย กําลังใจ กําลังปัญญา ที่จะช่วยกันปฏิบัติบําเพ็ญเพื่อความเจริญงอกงาม ความดี ความประเสริฐของชีวิต และได้ช่วยกันดํารงรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมั่นคง เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน และชาวโลกตลอดไปชั่วกาลนาน เทอญ.
Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2567 11:03:34 น. |
|
0 comments
|
Counter : 160 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|