 |
|
|
|
 |
|
จากยุคมุสลิมอาหรับ เข้าสู่ยุคมุสลิมเตอร์ก |
|
จากยุคมุสลิมอาหรับ เข้าสู่ยุคมุสลิมเตอร์ก กาหลิฟเป็นใหญ่ แล้วกลายเป็นหุ่นเชิดของสุลต่าน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวงศ์กาหลิฟบาสิตนี้จะอยู่ยืนยาวถึง ๓๐๕ ปี (750-1055/๑๒๙๓-๑๕๙๘) แต่มีช่วงเวลาที่ทรงอำนาจแท้จริงเพียงประมาณศตวรรษเดียว
ปัญหาตั้งเค้าแต่ต้น เมื่อวงศ์กาหลิฟอูมัยยัตที่ดามัสกัสถูกทำลาย เจ้าชายองค์หนึ่งหนีไปสเปน และได้ตั้งวงศ์กาหลิฟอูมัยยัตที่สองขึ้นที่นั่นแล้วสืบกันมาจนถึงปี 1031/๑๕๗๔
อีกสายหนึ่ง ผู้สืบวงศ์ของท่านอาลี (บุตรของฮะซัน) ก็หนีไปตั้งอาณาจักรอิสระขึ้นที่มอรอคโค
ต่อมา เจ้าครองนครของอับบาสิตเองที่ทูนิเซียและอียิปต์ ก็แยกตัวตั้งเป็นอิสระ
ปรากฏว่า ในช่วงปี 929-1031/๑๔๗๒-๑๕๗๔ มีกาหลิบแข่งกัน ๓ องค์ คือ กาหลิบอับบาสิต ที่แบกแดด กาหลิบอูมัยยัตที่สเปน และกาหลิบปะติมิต (คือสายท่านอาลี) ที่อาฟริกาเหนือ ซึ่งต่อมาย้ายมาที่อียิปต์
รวมเป็นสุหนี่ ๒ และชีอะฮ์ ๑
อีกด้านหนึ่ง ในอาเซียกลาง พวกเตอร์กที่ได้รับอิสลามจากมุสลิมอาหรับเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อนนั้น ครั้นเวลาผ่านมา ก็เจริญเข้มแข็งขึ้น แล้วก็เริ่มขยายอำนาจแผ่อิสลามบ้าง จนในที่สุดมุสลิมเตอร์กก็เข้าแทนที่มุสลิมอาหรับ
เส้นทางของมุสลิมเตอร์ก ก็คือย้อนทางมาของมุสลิมอาหรับโดยทางสายไหม ลงมาในอาฟกานิสถาน แล้วไปตะวันออกกลาง เริ่มแต่อิหร่าน จากนั้น เข้าแบกแดด และไปที่อื่นๆ จนสุดแดนของอาหรับ จบที่เตอร์กี (ที่ราชการให้อ่านว่าตุรกี)
แต่เมื่อลงมาในอาฟกานิสถาน หรือส่วนเหนือสุดของปากีสถาน ใกล้กับอาฟกานิสถานนั้นแล้ว แทนที่จะเลี้ยวขวาเข้าอิหร่านผ่านไปสู่ตะวันออกกลาง ก็อาจจะมุ่งลงใต้และเลี้ยวซ้ายเข้าในอินเดีย
เส้นทางแผ่ขยายของมุสลิมเตอร์ก ก็คือสองทางที่ว่ามานี้ ได้แก่ ไปตะวันออกลาง หรือลงมาอินเดีย
คราวนี้จะต้องรวบรัด ได้ความว่า กาหลิบอับบาสิตที่แบกแดดได้อ่อนกำลังลง แล้วจากนั้นนับแต่ปี 945/๑๔๘๘ เป็นต้นมา ก็มีอำนาจเพียงในนาม โดยเป็นหุ่นเชิดของนักรบหรือนายทหารใหญ่
ในปี 977/๑๕๒๐ ได้เกิดอาณาจักรมุสลิมเตอร์ก ที่ตั้งตัวเป็นสุลต่านขึ้นในอาฟกานิสถาน ซึ่งแผ่อำนาจเข้าในอิหร่าน และยกทัพเข้ามาตีอินเดียถึงปัญจาบและลุ่มน้ำสินธุ
แต่ต่อมาถึงปี 1040/๑๕๘๓ มีเตอร์กอีกพวกหนึ่งที่สำคัญมาก เรียกว่า เซลจูกเตอร์ก (Seljuq หรือ Seljud Turks) รบชนะอาณาจักรเตอร์กพวกนั้น แล้วรุกผ่านอิหร่านเข้ามายึดกรุงแบกแดดได้ในปี 1055/๑๕๙๘ โดยอ้างตัวว่ามาปกป้องกาหลิบสุหนี่ ให้พ้นจากอำนาจของพวกชีอะฮ์
แล้วพวกเซลจูกเตอร์กนี้ก็ขึ้นเป็นสุลต่าน เป็นผู้ครองอำนาจที่แท้จริง อย่างที่ว่าเอากาหลิฟเป็นหุ่นเชิด และได้แผ่อำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคู่ต่อสู้ของจักรวรรดิบีแซนทีน และกั้นปะทะประเทศตะวันตก ทำให้เกิดสงครามครูเสดส์ ๒๐๐ ปี ระหว่างคริสต์ กับ อิสลาม (Crusades, 1095-1291/๑๖๓๘-๑๘๓๔)
นอกจากทางด้านตะวันออกกลางนี้แล้ว ทางด้านชมพูทวีป มุสลิมเตอร์กกลุ่มอื่นก็พยายามรุกเข้าไป และขับเคี่ยวกับเจ้าถิ่นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี 1206/๑๗๔๙ มุสลิมเตอร์กก็สามารถตั้งรัฐสุลต่านแห่งเดลีขึ้นเป็นอาณาจักรมุสลิมเริ่มแรกในชมพูทวีป
พระพุทธศาสนาก็ได้สูญสิ้นไปจากอินเดียระหว่างการรุกรานทำลายคราวนี้
ในช่วงนี้เอง ราวปี 1207/๑๗๕๐ เจงกิสข่าน (Genghis khan หรือ Jenghis khan ชื่อเดิมว่า เตมูจิน / Temujin) ยกทัพมองโกล บุกตะลุยบดขยี้อาณาจักรทั้งหลายตั้งแต่จีนภาคเหนือลงมา ยึดครองกรุงปักกิ่งในปี 1215/๑๗๕๘ ตะลุยผ่านอาเซียกลาง ตลอดดินแดนแถบที่เป็นอาฟกานิสถานปัจจุบัน
ณ จุดผ่านสำคัญนี้ เจงกิสข่าน ไม่ลงทางอินเดีย แต่เลี้ยวขวาไป ผ่านทะลุอิหร่าน เข้ายุโรปตะวันออก ทำลายบ้านเมืองและสังหารผู้คนไปจนจดรัสเซียตอนใต้
พวกมองโกลชนะและทำลายแล้วก็มักผ่านเลยไป เมื่อเจงกิสข่านสิ้นชีพในปี 1227/๑๗๗๐ แล้ว ข่านที่เป็นบุตรหลานสืบต่อมาอีกไม่นาน ก็กลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นหมดไป
โดยนัยนี้ อาณาจักรมุสลิมเตอร์กในอินเดีย คือ รัฐสุลต่านแห่งเดลีก็ได้รอดพ้นภัยจากพวกมองโกลนี้มา ขณะที่ทางด้านตะวันตก คือแถบตะวันออกกลาง มุสลิมเตอร์กพวกเซลจูก ซึ่งอ่อนกำลังอยู่ก่อนแล้ว ก็ถูกพิฆาตพินาศไป เช่นเดียวกับกาหลิฟอับบาสิตมุสลิมอาหรับแบบแดด ซึ่งเป็นหุ่นเชิดมานาน ก็สูญสิ้นวงศ์แต่บัดนั้น
ในช่องว่างนี้เอง มุสลิมเตอร์กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นทหารรับจ้างของพวกเซลจูกเตอร์ก มีถิ่นปกครองเล็กๆ อยู่ในอนาโตเลีย (Anatolia บางทีเรียก Asia Minor คือ เอเชียน้อยได้แก่ตุรกีฟากทวีปเอเซีย) มีหัวหน้าเรียกว่า ออสมาน ที่ ๑ ได้ประกาศตั้งอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman) เป็นอิสระ เมื่อประมาณปี 1290/1833
ภายในศตวรรษเดียว อาณาจักรออตโตมาน ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง แม้ว่าในช่วงปี 1402/๑๙๔๕ จะถูกพวกมองโกลระลอกใหม่ นำโดยตีมูร์ (Timur หรือ Tamerlane เป็น Tatar คือเป็นตาดมองโกล) มาพิชิต ทำให้แตกกระสานซ่านเซ็นกันไป ก็กลับผนึกกำลังได้อีก แล้วเรืองอำนาจยิ่งขึ้น
ในที่สุด ถึงปี 1453/๑๙๙๖ ออตโตมานเตอร์กก็ได้ชนะสงครามใหญ่ ยึดกรุงคอนสแตนดิโนเปิล (Constantinople) เมืองหลวงของจักรวรรดิบิแซนทีน (Byzantine) ได้ ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันออกล่มสลายลง อันถือกันว่าเป็นจุดสิ้นสุดแห่งสมัยกลางของยุโรป (Middle Ages) ที่เคยเรียกว่าเป็นยุคมืด (Dark Ages) หรือมีช่วงต้นเป็นยุคมืด (คือเฉพาะช่วง 476-1000/๑๐๑๙-๑๕๔๓)
จักรวรรดิออตโตมานเตอร์กได้ยกกรุงคอนสแตนดิโนเปิลเป็นเมืองหลวงของตน และต่อมาก็ปราบราชวงศ์ทหารทาสลง ยึดอียิปต์และซีเรียได้ แล้วก็ได้อีรัค ครองอำนาจเหนือมุสลิมอาหรับทั้งหมด ตลอดจนแผ่อำนาจเข้าไปในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงฮังการี กลายเป็นมหาอาณาจักรในยุโรป (รุ่งเรืองสุดในช่วงปี 1520-66/๒๐๖๓-๒๑๐๙)
Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2567 12:20:35 น. |
|
0 comments
|
Counter : 181 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|