กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
22 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ความไม่ยึดมั่นที่แท้ ต้องดูจากคติพระอรหันต์


 
 
235 ความไม่ยึดมั่นที่แท้   ต้องดูจากคติพระอรหันต์

 
     คติพระอรหันต์  เป็นอย่างไร  คติพระอรหันต์บอกแล้วว่า  พระอรหันต์  คือ  ผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว  มีประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้ว  ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก
 
     ตรงที่ว่าไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก  นี่แหละสำคัญนัก เพราะฉะนั้น  ต่อจากนี้ ชีวิตของพระอรหันต์ ซึ่งมีความสมบูรณ์  มีอิสรภาพสมบูรณ์ภายใน  มีความสุขเต็มอิ่มภายใน  มีความสุขอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ต้องหาความสุขแล้ว
 
     ด้วยความสมบูรณ์เต็มอิ่ม ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองนี้ จึงอุทิศพลังชีวิตให้แก่มนุษยชาติได้หมด มีแต่จะทำการเพื่อผู้อื่นทั้งสิ้น
 
     ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงเหนือกว่าพระโพธิสัตว์
 
     พระโพธิสัตว์แสนจะเก่งแล้ว คือยอมสละชีวิตของตน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่พระโพธิสัตว์นั้น ต้องทำความดีด้วยปณิธาน  คือ ต้องตั้งใจ ต้องมุ่งมั่น อธิษฐานจิตไว้ว่าจะทำความดีนั้นๆ
 
     แต่พระอรหันต์และพระพุทธเจ้า ท่านทำความดีโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นธรรมดาของท่านเองที่จะทำอย่างนั้น  พระอรหันต์และพระพุทธเจ้าเก่งกว่าพระโพธิสัตว์ตรงนี้ คือ ไม่ต้องตั้งจุดหมาย ไม่ต้องระดมพลังจิตใจที่จะทำ แต่ท่านทำความดีโดยเป็นธรรมดาของท่านเอง เป็นอัตโนมัติ  เพราะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกแล้ว
 
     ในเมื่อพระอรหันต์  ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก  ท่านจะเอาธรรมแห่งความไม่ยึดมั่นอันสูง  มาอ้างทับวินัย  เพียงที่จะให้คนนั้นคนนี้นวดให้ทำไม  ท่านจะคำนึงถึงผู้อื่นเท่านั้น  ความสุขก็เต็มในตัว  ไม่ต้องหาความสุขให้แก่ตัวแล้ว  หลักการอะไรที่มีไว้ตั้งไว้เพื่อความดีงามและประโยชน์สุขของหมู่มนุษย์หรือสังคม ท่านจะถือปฏิบัติอย่างมั่นคงจริงจัง
 
     นี้คือคติพระอรหันต์  อันเป็นสุดยอดของการบำเพ็ญความดีอย่างบริสุทธิ์  ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในการส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา   การดำรงรักษาพระศาสนา และการประกาศปรารภในการสังคายนา  คือวัตถุประสงค์ที่ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย  (วินย.๔/๓๒; ที.ปา.๑๑/๒๒๕)
 

     คติชีวิตพระอรหันต์  ก็คือ  ดำรงอยู่  ดำเนินชีวิต  จาริกไป  และทำกิจทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก  ด้วยเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก
 
     พระอรหันต์มีชีวิตอยู่   เพื่อวัตถุประสงค์นี้ และอีกคติหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกันก็คือ ปจฺฉิมา ชนตา ทิฏฺฐานุคตึ  อาปชฺชติ  (เช่น องฺ.จตุกก.๒๑/๑๖๐ ฯลฯ)  แปลว่า  เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง หรือชนผู้จะเกิดตามมาภายหลังคืออนุชน จะได้ถือเป็นแบบอย่าง
 
     รวมความว่า พระอรหันต์มีคติสำคัญ ๒ อย่าง คือ
 
        ๑. ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก ด้วยเห็นแก่ชาวโลก
 
        ๒. ประพฤติทุกอย่างเป็นหลักไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนที่จะเกิดภายหลัง
 
     มีตัวอย่างน่าจำไว้เรื่องหนึ่ง คือ พระมหากสสปะมีอายุมาก   แก่กว่าพระพุทธเจ้าอีก และท่านถือธุดงค์ตลอดชีวิต  
 
     ธุดงค์ นั้น  ไม่ใช่  หมายความว่า เที่ยวจาริกไป นะ  คนมักจะเข้าใจผิด
 
     ธุดงค์  คือ   ข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส  มีตั้ง  ๑๓  ข้อ   เช่นว่า  ใช้แต่จีวรบังสุกุล  คือ  ผ้าที่เขาทิ้ง  ไปเที่ยวเก็บเอาของที่เขาทิ้งมาแล้วก็เอามาต้ม   มาตัด   มาเย็บ  มาย้อม  ไม่ใช้จีวรอย่างดีที่เขาถวาย  หรืออีกข้อหนึ่งว่าถือ นุ่งห่มแค่ไตรจีวร คือ ๓ ผืน เกินนั้นไม่ใช้   ไม่ยอมใช้อดิเรก  อีกข้อหนึ่งว่าถือออกบิณฑบาตเป็นประจำ  ไม่รับนิมนต์  อีกข้อหนึ่งว่าถือฉันมื้อเดียว  อีกข้อหนึ่งว่าถืออยู่ป่าตลอดชีวิต ฯลฯ   
 
     เคยมีคนมาชมพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เป็นผู้มีชีวิตที่ขัดเกลา  อยู่เรียบง่าย  อยู่ปลีกหลีกเร้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า  เธอชมเรานี่ไม่ถูก  การที่สาวกเคารพยกย่องเรา ไม่ใช่เพราะเหตุนี้  ถ้าจะเคารพนับถือ  เพราะฉันอาหารน้อย  ใช้จีวรน้อย  อยู่ขัดเกลา  สาวกของเราหลายองค์ถือปฏิบัติ เคร่งครัด เข้มงวดกว่าเราเยอะ
 
     แต่เรานี้สาวกเคารพบูชา   ก็เพราะว่าเป็นผู้ค้นพบทาง และเป็นผู้ที่ชี้ทางให้แก่ผู้อื่น ช่วยให้สาวกทั้งหลายสามารถบรรลุธรรมสูงสุดได้   พระองค์ตรัสว่า  ในเรื่องฉันอาหาร  พระองค์ก็รับนิมนต์ไป  เดี๋ยวที่โน่น  เดี๋ยวที่นี่  พระองค์เกี่ยวข้องมากทีเดียวกับทั้งพระสงฆ์ และชาวบ้าน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ไปทีเดียว  ในเรื่องจีวร  มีผู้ศรัทธาถวายจีวรดีๆ พระองค์ก็รับมาใช้ เป็นต้น (ม.ม.๑๓/๓๑๙-๓๕๕)
 
     พระมหากัสสปะถือธุดงค์หลายข้อ  ต่อมาตอนท่านแก่แล้ว ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า กัสสปะ เธอก็แก่แล้ว ผ้าบังสุกุลเนื้อหยาบ ใช้ลำบาก น้ำหนักมาก เธอเปลี่ยนมารับผ้าที่คฤหบดีถวายเถอะ เนื้อผ้าละเอียด จะได้เบาหน่อย
 
    แต่พระมหากัสสปะกราบทูลขอโอกาสว่า จะขอปฏิบัติไปตามเดิม พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า เธอมีเหตุผลอะไรถึงจะปฏิบัติไปตามเดิม   ท่านก็บอกว่า  ปจฺฉิมา ชนตา ทิฏฺฐานุคตึ  อาปชฺเชยฺย  (สํ.นิ.๑๖/๔๘๑)  เพื่อเป็นหลักให้คนที่เกิดมาภายหลังยึดถือเป็นแบบอย่าง   นี่แหละพระอรหันต์ท่านไม่ทำเพื่อตัวเองเลย
 
     เป็นอันว่า ในการรักษาวินัยและปฏิบัติกิจต่างๆ พระอรหันต์จะประพฤติเป็นหลัก เพราะท่านต้องทำตัวเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ใครจะมาอ้างว่า ไม่ผิดวินัยเพราะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสแล้วนี่ ฟังไม่ขึ้น
 
     ครั้งหนึ่ง   มีผู้หญิงศรัทธาในพระมหากัสสปะมาก   ก็มาช่วยกวาดในกุฏิให้   พระมหากัสสปะท่านมาเจอ  ท่านบอกว่าขอเชิญไป   อย่ามาทำให้   เขาก็บอกว่า  เขามาช่วยท่านเพราะเลื่อมใสศรัทธา    ท่านบอกว่าจะเป็นที่ติฉินนินทา ไม่ดี  จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
 
     นี่คือคติพระอรหันต์ในอดีตที่ท่านทำมา โดยยกตัวอย่างพระมหากัสสปะ ธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส  พระมหากัสสปะหมดกิเลสแล้ว  จะไปขัดเกลากิเลสอะไรอีก ท่านไม่จำเป็นต้องไปถือธุดงค์   แต่ที่ท่านถือ เพราะว่า ท่านรักษาหลักไว้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลัง
 
 


Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2567 16:27:13 น. 0 comments
Counter : 183 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space