 |
|
|
|
 |
|
|
ถึงความรักจะดี ก็ไม่พอที่จะเลี้ยงลูกและอภิบาลโลก
ขอย้อนกลับมาพูดอีกทีว่า แม้เมตตาจะเป็นความดี แต่ก็ยังมีโทษ มีข้อเสีย หรือมีจุดอ่อนได้ ถ้าตราบใดเรายังไม่ไปถึงข้อที่ ๓ คือ ทําจิตให้บริสุทธิ์
เมตตาก็ดีแล้ว เป็นคุณธรรมอย่างที่ว่ามา จะมีโทษได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องค่อยๆ พูดกันไป
เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวก่อน เมตตาถ้ามีไม่เป็น ก็เกิดโทษได้ ในครอบครัวนั้น พ่อแม่อยากให้ลูกมีความสุขแน่นอน เมื่ออยากให้ลูกมีความสุข ก็จะดูแลเอาใจใส่ลูก
แต่ถ้าแม่พ่อมีเมตตามากเกินไปจนไม่ลืมหูลืมตา ขาดปัญญา ก็กลายเป็นเมตตาแบบมืดมัว ก็จะตั้งหน้าตั้งตาเอาอกเอาใจ และคอยตามใจลูก เอาใจใส่บำรุง จนกลายเป็นปรนเปรอ เพราะคิดแต่จะให้ลูกมีความสุข ก็เลยตามใจทุกอย่าง ลูกอยากได้อะไร ก็ให้ พ่อแม่ไม่หวงอยู่แล้ว อยากจะให้ เพราะการให้ของพ่อแม่นั้นเป็นความสุขของตัวเองด้วย
แต่การให้ที่เป็นการแสดงเมตตาสุดโต่งอย่างนี้ จะขาดคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ปัญญา แล้วมันจะกลายเป็นความรักแบบคิดสั้น ไม่ใช่ความรักที่คิดยาว
ความรักแบบคิดสั้น คือ มองแค่ประโยชน์เฉพาะหน้า ทำให้ลูกมีความสุขสมใจปรารถนา แต่ในระยะยาว เมื่อพ่อแม่โอ๋เกินไป ลูกอาจจะเสียได้ เพราะด้วยเมตตากรุณา พ่อแม่ก็เลยทำให้ทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้ลูกลำบาก ไม่อยากให้ลูกปวดเมื่อย ไม่อยากให้ลูกต้องใช้สมองหรือใช้กำลังอะไรทั้งสิ้น อะไรๆก็ทำให้หมด ลูกก็เลยกลายเป็นคนไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น
นอกจากว่าลูกจะเสียนิสัย ในการที่เป็นคนเอาแต่ใจตัว หรือเป็นแต่นักเรียกร้องแล้ว ยิ่งเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งคือ จะทำอะไรไม่เป็น จึงกลายเป็นว่า ชีวิตของเขาในระยะยาว จะไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ดี เป็นความเสียหายต่อตนเองคือชีวิตของเขาตลอดไป
การที่พ่อแม่เอาแต่รักใคร่เมตตา คิดอยู่อย่างนี้ ก็เท่ากับว่ารักลูกระยะสั้น ระยะยาวไม่ได้รักจริง เพราะไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาอยู่ได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ตรัสธรรมแค่เมตตา
นี่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสธรรมเป็นชุดๆ เพื่อให้มีดุลยภาพที่จะต้องปฏิบัติให้ครบ ถ้าเราเอาธรรมมาแยกกระจายออกใช้เป็นข้อๆ อาจเป็นอันตราย
ในสังคมของเรา แม้แต่ในการเรียนการสอน ก็นิยมเอาธรรมมาแยกออกเป็นข้อๆ เอาเมตตามาข้อหนึ่ง เอากรุณามาข้อหนึ่ง จนไม่รู้ว่าชุดของมันอยู่ที่ไหน
การที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมไว้เป็นชุดๆ นี้ มีเหตุผล เพราะธรรมนั้นอยู่ในระบบองค์รวม ต้องปฏิบัติให้ครบ จึงจะมีความสมบูรณ์ในตัว ถ้าทำไม่ครบก็จะมีโทษ
เมตตากรุณา นี้ ถ้าปฏิบัติไม่เข้าเป็นชุดและไม่ครบชุด ก็มีโทษได้ เช่นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือตามใจลูก แล้วลูกก็ไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง
เพราะฉะนั้น พ่อแม่จะต้องก้าวไปสู่การใช้ปัญญา ซึ่งทำให้มีธรรมข้ออื่นมารับ มาทำให้เกิดดุลยภาพ ธรรมชุดนี้ ก็คือหลักที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ซึ่งไม่ใช่มีแค่รัก เพราะมีแค่รักไม่พอ
พระพุทธศาสนาสอนให้ก้าวเป็นขั้นๆ จากรักที่ผิด มาสู่รักที่ถูก แต่รักที่ถูกก็ยังไม่พอ ต้องก้าวต่อไปอีก โดยมีธรรมข้ออื่นมาช่วยเสริม
พระพุทธเจ้าตรัสธรรมที่อยู่ในชุดของความรักต่อไปอีก ๓ ข้อ รวมเรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ คือ
๑. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุขตัวที่ว่านี้ล่ะ
๒. กรุณา ความพลอยหวั่นใจสะเทือนใจ สงสาร อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยยินดีด้วย เมื่อเขาได้ดีมีสุข เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง หรือประสบความสำเร็จ
๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ข้อนี้ยากที่สุด เดี๋ยวจะอธิบายอีกที
เรื่องพรหมวิหาร ๔ ที่ครบชุด มีดุลยภาพ นี้ สำคัญมาก โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว เป็นธรรมที่จะต้องปฏิบัติให้เกิดสมดุล ต้องขออธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ๔ ข้อนี้ก่อน
๑. เมตตา แสดงออกต่อคนอื่นในสถานการณ์ ที่เขาอยู่เป็นปกติ ถ้าเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร อยู่สบายดี เราก็มีเมตตา ปรารถนาดี มีความเป็นมิตร
เมตตา แปลว่า น้ำใจของมิตร เป็นคำเดียวกับคำว่า มิตตะ มาจากรากศัพท์เดียวกัน มิตตะ แผลง อิ เป็น เอ ก็เป็นเมตตา แล้วก็ทำตามไวยากรณ์ กลายเป็นเมตตา แปลว่า น้ำใจของมิตร คือ คุณสมบัติของมิตร ได้แก่ ความปรารถนาดี มีความรัก
๒. กรุณา แสดงออกต่อคนอื่นในสถานการณ์ ที่เขาตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ คือ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป บุคคลนั้นพลาดพลั้งตกต่ำลงไป เราก็ย้ายจากเมตตา มาเป็นข้อที่สอง คือ กรุณา
พึงสังเกตวิธีแยกระหว่าง ข้อหนึ่ง กับ ข้อสอง คนหลายคนแยกไม่ออกว่า เมตตา กับ กรุณา ต่างกันอย่างไร วิธีแยกที่ง่ายที่สุด คือ ดูคนที่เราไปเกี่ยวข้อง ถ้าคนนั้นเขาอยู่เป็นปกติ เราใช้เมตตา ถ้าคนนั้นเขาตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ เราใช้กรุณา
๓. มุทิตา แสดงออกต่อคนอื่นในสถานการณ์ ที่เขาขึ้นสูง ได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จ ทำอะไรๆ ได้ถูกต้องดีแล้ว คือเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปอีก คนนั้นก้าวไปในทางที่น่าสนใจ เราก็มาสู่ข้อที่สาม คือมุทิตา
๑. เขาเป็นปกติ เราเมตตา
๒. เขาตกต่ำ เรากรุณา
๓. เขาขึ้นสูง เรามุทิตา
สถานการณ์เพื่อนมนุษย์ของเรา จะมี ๓ อย่างนี้ ตอนนี้ ครบแล้ว นี่แหละจะต้องปฏิบัติให้ครบ
แต่ท่านบอกว่า แค่นี้ยังไม่พอ ถ้าพอก็ไม่ต้องตรัสข้อที่ ๔ ขอย้ำว่าข้อที่ ๔ นี่แหละสำคัญมาก
อ้าว แล้วในสถานการณ์ไหนล่ะ จะใช้ข้อที่ ๔ สามสถานการณ์แรกก็ครบแล้วนี่ คนทั้งหลายนั้น ถ้าไม่ปกติ ก็ต้องตกต่ำเป็นทุกข์ ถ้าไม่ตกต่ำเป็นทุกข์ ก็ต้องได้ดีมีสุข แล้วจะเอาอย่างไรอีก สถานการณ์ที่สี่นี่ ยากที่สุด
Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2567 14:37:42 น. |
|
0 comments
|
Counter : 215 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|