 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
ทรัพย์และอํานาจ สู่ความหมายและคุณค่าใหม่ |
|
ทรัพย์และอํานาจ สู่ความหมายและคุณค่าใหม่
ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ คติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทอง ดังต่อไปนี้
ตามปกติพระเจ้าอโศกนี้ก็เช่นเดียวกับกษัตริย์สมัยโบราณจํานวนมาก ที่มุ่งแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตัว และบํารุงบําเรอความสุขส่วนตน อย่างที่เรียกว่า แสวงหาโภคะและอำนาจ หรือทรัพย์และอํานาจ เพื่อบํารุงบําเรอตัวเอง และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน
ทรัพย์และอํานาจ โดยทั่วไปมักจะมีความหมายอย่างนี้
ทีนี้ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมสอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและความยิ่งใหญ่ทกอย่างล้วนเป็น อนิจจิง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรหวังความสุข หรือความ ประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทองและอํานาจ
ฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่มีความหมายที่แท้จริง
เมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มีความหมายแล้ว มองในแง่หนึ่ง ก็จะทํา ให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเมื่อมองเห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียง ของนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรเอาใจใส่ นี่คือท่าทีอย่างหนึ่งต่อทรัพย์สมบัติ
ถ้าพระเจ้าอโศกทรงมองเห็นอย่างนั้น พระองค์ก็คงจะไม่เอาพระทัยใส่กับพระราชทรัพย์ และอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะต้องตั้งคําถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่
ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกได้ทําสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญคือ พระเจ้าอโศกนั้นไม่ได้ทรงทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอํานาจเสียใหม่
อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกี้ว่า ทรัพย์และอํานาจนั้น มีความหมาย สําหรับปุถุชนจํานวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตน และแสดงความยิ่งใหญ่
แต่พระเจ้าอโศกได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอํานาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ทําความดีงาม และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน
ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็ทรงนําเอาทรัพย์และอํานาจที่พระองค์เคยมีนั่นแหละมาใช้ แต่เปลี่ยนใหม่ คือแทนที่จะเอามาบํารุง บำเรอตนเอง ก็เอามาใช้สร้างสรรค์ ความดีงามและประโยชน์สุขอย่างที่ว่า
จึงได้ทรงสร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสตว์ ทั่วพระราชอาณาจักร สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนําไปสั่งสอนประชาชน ตลอดจนอุปถัมภ์ พระศาสนาอย่างมากมาย
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ได้ทรงสร้างวัดขึ้นทั้งหมด เรียกว่า “มหาวิหาร” จํานวน ๘๔,๐๐๐ วัด ทั่วมหาอาณาจักรของพระองค์ คือแคว้นมคธนี่แหละ แคว้นมคธเป็นศูนย์กลางของมหาอาณาจักรของ พระเจ้าอโศก คือบริเวณแถบนี้ที่เรากําลังเดินทางกันอยู่
ในแคว้นมคธนี้มีวัดจํานวนมากมาย วัด ภาษาบาลีเรียกว่า วิหาร มหาวิหารก็คือ วัดใหญ่ คําว่า “วิหาร” นี้ถ้าแผลง ว. เป็น พ. ก็จะเป็น พิหาร เหมือนอย่างในประเทศไทยเรานิยมแปลง ว. เป็น พ. เยอะแยะไป ในอินเดีย ว. เป็น พ. ก็แผลงกันได้วิหารก็กลายเป็นพิหาร แปลว่า “วัด”
ต่อมา เมื่ออาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสื่อมสลายลงไป ก็มีซากวัดวาอารามเหลืออยู่มากมาย เนื่องจากแคว้นมคธนี้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยซากของวัด คือวิหาร หรือพิหาร
ฉะนั้น ต่อมาก็เลยเรียกชื่อดินแดนแถบนี้ตั้งชื่อเป็นแคว้น หรือรัฐว่า แคว้นพิหาร หรือรัฐวิหาร อย่างที่เรารู้จักกัน เป็นชื่อทางการใน ปัจจุบัน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีวัดมากมายเหลือเกิน ซึ่งพระเจ้าอโศกสร้างไว้ยังมีซากเหลืออยู่
พระเจ้าอโศกสร้างวิหารทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร และวัดเหล่านั้นก็ได้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา
บางแห่งได้เจริญเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัย เช่นที่เรากําลังจะไป คือ นาลันทา ซึ่งเดิมก็เป็นวิหารหนึ่ง แล้วได้ขยายเป็นมหาวิหาร คือวัดใหญ่ โดยเกิดจากการรวมกันของวัดเล็กวัดน้อยที่เป็นศูนย์การศึกษา แล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา
ชื่อในภาษาบาลี เรียกว่า่ นาลันทามหาวิหาร ก็ค็อวัดใหญ่นั่นเอง ซึ่งเราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของวัดที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา เมื่อเดินทางกันต่อไป
นี้คือความเป็นมาในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองที่เรียกว่า ปาฏลีบุตร พระเจ้าอโศกมหาราชได้ ทรงให้ความหมายใหม่ แก่ทรัพย์และอำนาจแล้วก็ทรงจารึกไว้ในศิลาจารึกของพระองค์
ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่ง มีข้อความจารึกไว้ว่า ยศ คือ ความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนได้ประพฤติธรรม
หมายความว่า พระเจ้าอโศกได้ทรงใช้ทรัพย์และอํานาจเป็นเครื่องมือแห่งธรรม เพื่อเผยแพร่ธรรมหรือสร้างสรรค์ธรรม ทําให้ความดีงาม หรือธรรมนี้แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุข อันแท้จริง อันนี้เป็นคติที่สําคัญมาก
ขอยกข้อความในศิลาจารึก คือ ธรรมโองการ ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ มาให้ดูดังนี้
"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศ หรือเกียรติจะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศ หรือเกียรติเพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลายจงตั้งใจ สดับฟังคําสอนธรรมของข้าฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติทางธรรม"
คําว่า “ยศ” ในภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆว่า ความยิ่งใหญ่ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เกียรติยศ ยศ คือเกียรติ ได้แก่ ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ
๒. อิสสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่
๓. บริวารยศ ยศ คือ บริวาร
คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสตี ปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความดีงาม หรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมาว่าจะทําการที่ดีเป็นประโยชน์สักอย่าง แต่ไม่มีเงิน ไม่มีบริวาร ไม่มีอํานาจ จะทําได้แค่ไหน ทําได้นิดเดียวก็จบ แต่ถ้ามีทรัพย์ มีอํานาจ มีบริวาร มีความคิดดี มีสติปัญญาดี ก็สามารถออกผลกระจายขยายออกไปได้กว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราช
เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ จึงเป็นคติเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ให้หลักแก่เราในด้านการปฏิบัติต่อทรัพย์และอํานาจอย่างที่กล่าวมานี้
ชาวพุทธมีคติว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมแล้วว่า ทรัพย์สินเงินทอง และอำนาจนี้เป็นของนอกกาย จึงไม่ควรยึดถือเป็นจุดหมายของชีวิต
ข้อนี้หมายความว่า เราไม่ได้เห็นความหมายของทรัพย์ และอํานาจในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตน และไม่ยึดติดตกเป็นทาสของมันให้เกิดก่อทุกข์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่เรามองอย่างพระเจ้าอโศก คือ คิดที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือของธรรม
ไม่ใช่หมายความว่า ทรัพย์และอํานาจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เลยไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องรู้จักเอามันมาใช้ เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและประโยชน์สุข อันนี้ถือว่า เป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์
แต่ถ้าไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอํานาจ ก็ออกบวชไปเลย จะได้ไปทําหน้าที่ทางธรรมอีกแบบหนึ่ง คือ นําธรรมที่เป็นตัวนามธรรม ได้แก่ สติปัญญา ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปดําเนินชีวิตให้ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา
ฉะนั้น จึงมีคติ ๒ อย่าง คือ
• ถ้าอยู่เป็นคฤหัสถ์ก็ให้ใช้ทรัพย์และอํานาจเป็นเครื่องมือของธรรม ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม หรือ
• ถ้าเบื่อหน่ายไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอํานาจ ก็ออกบวชไปเผยแพร่ธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ถ้ามิฉะนั้น จะกลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ มีทรัพย์มีอำนาจแล้วบอกว่าเบื่อหน่าย่ไม่เอาเรื่องเอาราว จะทำอย่างไรก็ไม่ทำ ไม่รับผิดชอบ ทรัพย์และอํานาจนั้นเมื่อไม่ได้รับการบริหาร ไม่มีคนรับผิดชอบ ก็เสียหายหมด ไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม และชีวิตของคนผู้นั้นเองก็ไม่ได้เจริญงอกงามอะไรขึ้นมา
เรื่องพระเจ้าอโศก อย่างน้อยก็ให้คติแก่เราอย่างนี้
นอกจากนั้น ยังมีคติที่สําคัญ อันเนื่องมาจากสถานที่นี้เอง คือวัดอโศการาม ซึ่งเป็นที่ทําสังคายนาครั้งที่ ๓
เรื่องของการทําสังคายนานั้น คือ
• สังคายนาอะไร ทางพระท่านเรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย
• ธรรมวินัย คืออะไร ก็คือ คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
• สังคายนาเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้คง อยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นหลักเป็นฐาน คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าหลัก คําสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออะไร และจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เมื่อหลักธรรมวินัยเรียบร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงและแพร่หลายต่อไป
มีข้อน่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการสังคายนานั้น ท่านแสดงไว้ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก
หมายความว่า ที่ทำสังคายนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ และที่ให้พระศาสนาเจริญมั่นคงนั้น วัตถุประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวพระศาสนาเอง พระศาสนาไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง พระศาสนานั้นมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากและชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา
เป็นอันว่า ในการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน การที่เราทํานุบํารุงพระพุทธศาสนานี้ก็เพื่อให้ พระพุทธศาสนาอยู่ยั่งยืน จะได้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก และแก่ชาวโลกสืบต่อไปตลอดกาลนาน
คติอิกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตัวธรรมวินัยเอง ซึ่งประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ธรรม และ วินัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทําความเข้าใจกันต่อไป
ในตอนเริ่มต้นนี้ แนะนําเกริ่นไว้ก่อน พอเป็นเครื่องเชื่อมเรื่องราวของสถานที่นี้กับความเป็นไปในพระพุทธศาสนา อย่างน้อยก็อยากให้ได้ภาพรวมของดินแดนพระพุทธศาสนาแห่งนี้ เข้าใจว่าคงจะพอเห็นกันลางๆ แล้ว
วันนี้ เรายังต้องเดินทางกันต่อไป จึงขอกล่าวไว้เพียงเท่านี้ก่อน
Create Date : 29 มกราคม 2567 |
Last Update : 1 เมษายน 2567 12:16:00 น. |
|
0 comments
|
Counter : 280 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|