 |
|
|
|
 |
|
วินัยเป็นบรรทัดฐานแห่งพฤติกรรมที่ถูกต้องตามธรรม |
|
ธรรมเป็นบรรทัดฐานแห่งความถูกต้องของวินัย วินัยเป็นบรรทัดฐานแห่งพฤติกรรมที่ถูกต้องตามธรรม
วินัย นั้น จัดสรรทั้งวัตถุปัจจัย จัดสรรสภาพแวดล้อม และจัดระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมและทำกิจการร่วมกัน จัดทำไม ก็เพื่อให้มันเกื้อหนุนต่อการที่คนจะพัฒนาตัวให้เข้าถึงธรรม มีชีวิตที่ดีงาม ในสังคมที่มีสันติสุข ในโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย การดำเนินสังฆกรรม การจัดกิจกรรมของหมู่คณะ วิธีดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด ระเบียบการบริหารการคณะสงฆ์ เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยของวินัย จะเห็นว่า วินัยของสงฆ์ให้ความสำคัญแก่ปัจจัย ๔ เรื่องวัตถุ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องระบบการบริหาร การปกครอง เรื่องของระเบียบสังคมทุกอย่าง ในฐานะเป็นฐานที่จะเกื้อหนุนให้คนเป็นอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรม และได้ประโยชน์จากธรรม บางคนมองแต่ธรรมอย่างเดียว เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องจิตใจ ไม่เกี่ยวกับสังคม เป็นเรื่องเฉพาะตัว บางคนพูดว่า ถ้าคนแต่ละคนดีแล้ว สังคมก็ดีเอง นี่เป็นการตอบแบบธรรม ถูกต้อง ถ้าทุกคนดีแล้ว สังคมก็ดีเอง อันนี้ไม่ผิด แต่เป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ใช่ซิ ถ้าทุกคนดี สังคมมันก็ดี แต่ปัญหาต่อไปว่า ทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี นี่คือปัญหาของวินัย ถ้าแต่ละคนดี สังคมก็จะดี นี้เป็นเงื่อนไขของธรรม เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ ทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี นี้เป็นเงื่อนไขของวินัย ที่เป็นปฏิบัติการทางสังคมของมนุษย์ ปฏิบัติการทางสังคมของมนุษย์ด้วยวินัยนั้น จะต้องให้เป็นไปตามธรรม เริ่มตั้งแต่รู้ถูกต้องว่า คนดีเป็นอย่างไร สังคมดีเป็นอย่างไร ปัญหาของวินัยจับจุดตรงที่ว่า ทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี ต่อด้วย > ได้รับประโยชน์ มีความสุข ฯลฯ คำตอบก็คือ ต้องจัดวางระเบียบ ระบบ แบบแผน ระบบความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลขึ้น เพื่อจะได้ตะล่อมช่วยป้องกันคนจากการทำชั่ว หรือทำในทางที่ผิดเสียหาย และสร้างสภาพที่เอื้อเกื้อหนุนต่อการทำความดี และต่อการดำเนินกระบวนการการศึกษาการพัฒนาตนของทุกบุคคลเพื่อให้มีชีวิตและสังคมที่มีสันติสุขเป็นอิสระ พูดง่ายๆ ว่า เพื่อปิดกั้นโอกาสแห่งความชั่ว ส่งเสริมโอกาสแห่งความดีการอยู่ร่วมกันดี และการพัฒนาชีวิตของทุกคน อย่างนี้คือวินัย ฉะนั้น วินัยจึงมาช่วยในการที่ว่าทำอย่างไรจะให้แต่ละคนกลายเป็นคนดีขึ้นมา โดยมีเครื่องชักนำให้เขาเข้าสู่ธรรม ธรรมนั้น เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาติ ที่ชีวิตของคนต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เป็นเรื่องของชีวิตแต่ละชีวิต เป็นเรื่องของการที่ทุกคนรับผิดชอบต่อกรรมของตัวเอง เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อกฎธรรมชาติ เช่น การที่ชีวิตของแต่ละคนต้องขึ้นต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนของโลหิต ระบบความรู้สึกนึกคิด จนถึงว่าไปตามคติธรรมดาของสังขาร คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ธรรมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองตามกฎธรรมชาติ แต่วินัยกำหนดให้บุคคลแต่ละคนนั้นรับผิดชอบต่อสังคม เพราะฉะนั้น เมื่อมีพระภิกษุทำความผิด ๑. ในแง่ของธรรม ภิกษุนั้นรับผิดชอบต่อกรรมที่ตัวทำตามความเป็นไปของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เมื่อทำกรรมชั่วก็มีผลชั่ว อันนั้นกรรมทางธรรม (ของธรรมชาติ) ว่าไป แต่ ๒. ในแง่ของวินัย ภิกษุนั้นต้องรับผิดชอบต่อชุมชนสงฆ์ สงฆ์จะเอาตัวมาชำระคดี มาตัดสินความผิด มาลงโทษ ในการนี้สงฆ์มีเครื่องมือ คือ กรรมทางวินัย ที่จะใช้จัดการกับภิกษุนั้น โดยไม่ต้องรอกรรมของธรรมชาติ ถึงแม้วินัยจะเป็นเรื่องสมมติ แต่วินัยกำกับการกระทำของคน เมื่อคนทำอะไรก็ตาม การกระทำของเขาก็เป็นเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ วินัยจึงเป็นการเอาปัจจัยฝ่ายมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีคุณสมบัติพิเศษ (เฉพาะอย่างยิ่งปัญญา และเจตนาซึ่งมุ่งสู่จุดหมายที่ปัญญาชี้บอก) เข้าไปร่วมในกระบวนการของธรรมตามกฎธรรมชาติ ที่จะผลักดันกระบวนเหตุปัจจัยให้ดำเนินไปในทางที่จะให้เกิดผลที่มนุษย์ต้องการ เป็นอันว่ามี ๒ ส่วนซึ่งสัมพันธ์กันเชิงเหตุผลว่าเพื่ออะไร วินัยจัดตั้งเพื่ออะไร ก็เพื่อจะให้ธรรมบังเกิดผลในสังคมมนุษย์ วินัยเปิดช่องให้ธรรมแสดงผล แต่วินัยนั้นจะมีผลจริง ก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม ถ้าวินัยไม่ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งเหตุปัจจัย วินัยนั้นก็ไม่ถูกต้อง ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นจริง ไม่มีผล ไร้ความหมาย ดังนั้น วินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตั้งอยู่บนฐานของความจริงแห่งเหตุปัจจัย โดยสร้างฐานที่สอดคล้องขึ้นจากความรู้ในกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น บุคคลที่จะจัดตั้งวินัยได้ถูกต้องเกิดผลดี จึงต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน ๒ ประการ คือ ๑. มีปัญญารู้แจ้งจริง เข้าถึงสัจธรรม ใครรู้ธรรม รู้ตัวความจริง เข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของกฎธรรมชาติได้เท่าไร การวางวินัยก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น ๒. มีเจตนาดีงามบริสุทธิ์ คือต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีโลภะ โทสะ เคลือบแฝง มุ่งเพื่อประโยชน์สุขแก่หมู่มนุษย์ทั่วไป พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ คือ ๑. ทรงมีพระปัญญา ทรงเข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาติ ความรู้นี้ทำให้จัดโครงสร้าง ตั้งระบบ วางกฎระเบียบแบบแผนที่สอดคล้องกับธรรม คือตัวความจริงของระบบความสัมพันธ์ในกฎธรรมชาติ ทำให้วินัยสอดคล้องกับธรรม ๒. ทรงมีพระมหากรุณา คือทรงมีพระหฤทัยที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา ไม่มีอกุศลธรรม ไม่มีเจตนาร้ายต่อผู้ใด ไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนพระองค์ แต่ทรงกระทำเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์บนฐานแห่งพระวิสุทธิคุณ ด้วยพระปัญญารู้แจ้งธรรม และด้วยพระเจตนาบริสุทธิ์ ประกอบด้วยมหากรุณา ก็ทำให้พระพุทธองค์ทรงวางวินัยที่ได้ผล ซึ่งทำให้เกิดระบบคณะสงฆ์ขึ้นมา อันเป็นสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ฝรั่งยอมรับว่า ปัจจุบันสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในโลก คือ “สังฆะ” หรือสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ยังไม่มีสถาบันใด องค์กรใด ที่ยั่งยืนเท่าสงฆ์ ที่อยู่มากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว ยังอยู่ได้
Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2567 8:19:53 น. |
|
0 comments
|
Counter : 305 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|