น่าศึกษา เอาย้ำอีกที
ชาวพุทธ บางทีแม้จะนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่ยังเป็นปุถุชน พอให้มีอะไรมาเป็นเครื่องรวมใจ ก็อนุโลมได้ ให้เป็นการนับถือในช่วงต่อที่จะเข้าหรือขึ้นสู่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะว่า ปุถุชนย่อมยังมีความหวาดหวั่นที่เป็นความอ่อนแออย่างหนึ่ง เนื่องจากไม่รู้ความจริง ถ้าไปเจออะไรเข้า ที่น่าตื่นตระหนกหวาดกลัวอย่างฉับพลันทันที ใจจะหวั่นไหว ตระหนก ตื่นเต้น ใจรวมไม่ทัน สติไม่มา ปัญญาหาย สมาธิไม่มี จิตใจอาจจะเตลิดไปเลย ทีนี้ ถ้าใจรวมไม่ติด ไม่ตั้งมั่น เตลิด ขวัญหาย คุมสติไม่อยู่เสียแล้ว มันก็เสีย ทำอะไรไม่ถูก ไม่ได้ผล บางทีทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงต้องมีอะไรมาเป็นเครื่องช่วยรวมใจ พอให้ตั้งเป็นศูนย์รวมได้ พอตั้งหลัก ตั้งตัวได้ สติคุมอยู่ มีสมาธิขึ้นมา ก็เริ่มทำการได้ ในกรณีอย่างนี้ ถ้าสิ่งใดมาช่วยให้จิตรวมได้ ให้สติอยู่ จิตไม่เตลิดไป ก็ยังพออาศัย แต่ขออย่างเดียว คืออย่าให้กล่อมจนกระทั่งว่า อุ่นใจ และนอนใจ แล้วก็นอนรอเลย ไม่เพียรทำ ถ้าอย่างนั้นละผิดแน่ เป็นอันว่า ถ้ามันช่วยให้เรารวมใจให้มีกำลังได้แล้ว เรายิ่งมีกำลังใจทำการด้วยความเพียรมากยิ่งขึ้น ก็เรียกว่าไม่เสียหลักกรรม เรื่องจิตเตลิด คุมสติไม่อยู่นี้สำคัญ จึงต้องไม่ประมาท เพราะเป็นเรื่องลงถึงจิตไร้สำนึกเลยทีเดียว ไม่อยู่ในระดับที่จะคิดเหตุผล เช่น เข้าป่า พอได้ยินว่า เสือมา! ไม่ต้องคิดเลยว่าเสือคืออะไร มันเป็นอันตรายอย่างไร มันจะทำอะไรเราได้ ไม่ทันคิดด้วยซ้ำ ตัวสั่นงันงกทันที นี่คือออกจากจิตไร้สำนึก ในการแก้ปัญหาอย่างนี้ จะมัวคิดเหตุผลอยู่ไม่สำเร็จ สิ่งที่จะแก้ก็ต้องลงถึงจิตไร้สำนึกเหมือนกัน ในกรณีอย่างนี้ ถ้ามีปัญญารู้ชัดว่าจะทำอะไร จะแก้ไขเหตุการณ์อย่างไร ยิ่งรู้เท่าไรก็ยิ่งมั่นใจเท่านั้น การที่จะอกสั่นขวัญหายก็ไม่มี เหมือนคนที่รู้ว่าตัวอยู่ในที่ปลอดภัย อาการขวัญหายก็ไม่เกิดขึ้น นี่ก็ฉับพลันทันที เป็นเรื่องลึกถึงจิตไร้สำนึกเหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีความรู้นี้ ความมั่นใจก็ต้องอาศัยศรัทธา และสิ่งที่ศรัทธาหรือเชื่อนั้น ก็ต้องลงถึงจิตไร้สำนึกเช่นเดียวกัน พอเกิดเหตุร้ายแรงปัจจุบันทันด่วน คนที่ปัญญายังไม่ถึง ใจไม่เข้มแข็งพอ สติก็คว้าอะไรไม่ทัน เลยคว้างหรือเตลิด ทำอะไรไม่ถูก ตอนนี้ ศรัทธาก็ทำให้จิตไม่เตลิดไป แต่รวมอยู่ได้ แล้วสติก็มาได้ ก็ไม่เตลิดไป เพราะศรัทธาทำให้สติมีจุดจับ การนับถือพระรัตนตรัยในขั้นนี้จึงมีความสำคัญอยู่เหมือนกัน
เพื่อให้ประสบการณ์ตรงมันสอนเรา จิตจึงต้องฝึกด้วยการปฏิบัติตรง ในขณะนั้นๆ ประสบกับสภาวะใดๆแล้วต้องกำหนดรู้เพื่อให้ผ่านให้ได้
คือปกติเราเป็นคนเข้าวัด ทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระปกตินะคะ ตั้งแต่เด็ก จิตก็ฟุ้งบ้างสงบบ้างธรรมดา แต่พื้นฐานเป็นคนคิดมาก คิดไปไกล บางทีคิดมั่วจนตัวเองงง ทีนี้ โดยปกติแล้ว จิตเรามันก็ดีบ้างชั่วบ้าง แวบไปมา แต่ก่อนเวลาจิตมันคิดชั่วก็ปัดๆทิ้ง นานๆมันมาที ก็ไม่เดือดร้อนอะไร
ทีนี้เรามาสวดแบบทำกรรมฐานค่ะ สวดแบบตั้งสัจจะอธิษฐาน แล้วก็เกิดศรัทธาท่วมท้น เหมือนคนพบแนวทาง รู้สึกเกิดความแน่ใจ เราสวดเช้าเย็น ว่างก็ฟังธรรม นึกได้ก็สวดในหัว ทีนี้ไม่นาน เรารู้สึกว่าจิตมันเบาขึ้น สวดได้นิ่งขึ้น ปัญหาก็ตามมา คือพอรู้สึกว่าตัวเองเริ่มทำดีแล้วเนี่ย จิตอกุศลมันมากวนบ่อย แล้วมันมาแบบชั่วช้ามากกว่าแต่ก่อน มันเกิดกับครูบาที่เราเคารพมากๆด้วย กับท่านอื่นไม่เป็นนะคะ ตอนแรกตกใจมากๆ ทำตัวไม่ถูก ก็ปัดๆออก แต่มันก็มาอีกเรื่อยๆ จนเราคิดว่าหรือเราหมกมุ่นอะไรมากไปไหม เราก็เริ่มกลัวแล้วก็ถอยๆออกมา หาเรื่องอื่นมาใส่หัว ไม่กล้ามองรูปท่าน ไม่กล้านึกถึงท่านมากเท่าไร ใจมันกังวล
Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2567 19:59:56 น. |
|
0 comments
|
Counter : 213 Pageviews. |
 |
|