 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
ดูพุทธพจน์แล้ว อ่านธรรมโองการเทียบ |
|
ดูพุทธพจน์แล้ว อ่านธรรมโองการเทียบ
เห็นได้ชัดว่า ธรรมในศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่และที่กล่าวถึงบ่อย เป็นเรื่องของการปฏิบัติชอบต่อกัน หรือต่อบุคคลประเภทต่างๆ ที่แต่ละคนควรดูแลรับผิดชอบหรือช่วยเหลือกัน ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับพระสูตรที่ยกมาให้ดูแล้ว จึงขอยกข้อความในศิลาจารึกนั้นมาให้ดูบ้าง
ขอเริ่มด้วยจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ซึ่งตรัสเล่าความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการทำศิลาจารึกประกาศธรรมไว้ด้วยอันเป็นเรื่องที่น่ารู้
๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวย เทพ ตรัสไว้ ดังนี้:-
ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ทรงปรารถนาว่า ทําไฉนประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่…ก็แลด้วยอุบายวิธีอันใดหนอ ประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตาม…
๓. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ ดังนี้:-
ข้าฯ ได้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรม ประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมนี้แล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้า ขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมอย่างมั่นคง
เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลายที่ ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจํานวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนําสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูแลชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคําสั่งจาก ข้าฯ ว่า ท่านทั้งหลายจงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ
๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ว่า:-
เมื่อได้พิจารณาใครครวญในเรื่องนโดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้าฯ จึงให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้ แต่งตั้งธรรมมหาอํามาตย์ขึ้นไว้และจัดให้มีการประกาศธรรม
๕. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ ดังนี้:-
แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯ ก็ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้เพื่อจักได้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรศะ* ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจํานวนมากมายขึ้นไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย
แต่การใช้ประโยชน์เช่นนี้ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้าฯ ก็ดี ต่างก็ได้บํารุงประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขด้วยวิธีการบํารุงสุขประการต่างๆ แต่ที่ข้า ฯ ได้ กระทําการเช่นนี้ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม…
๘. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ ดังนี้
กรรมดีใดๆก็ตาม ที่ข้าฯ ได้กระทําแล้ว ประชาชนทั้งหลายก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ ตามอย่างแล้ว และยังคงดําเนินตามกรรมดีนั้นๆ อยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนั้น ประชาชนทั้งหลายก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังจักเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย:
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังครูทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา
- การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะ
- (การปฏิบัติชอบ) ต่อคนยากจน และคนตกทุกข์
- ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย
จารึกศิลา ฉบับที่ ๓ ระบุธรรมที่พึงเผยแพร่ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้
ข้า ฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๒ ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า ทุกหนทุกแห่งในแว่นแคว้นของข้าฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศิกะ จงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ ๕ ปีเพื่อประโยชน์อันนี้ คือ เพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ อย่างอื่น
(เจ้าหน้าที่เหล่านั้นพึงสั่งสอน) ว่า
- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี
- การให้ปันแก่มิตรสหาย ญาติ แก่พราหมณ์ และสมณะ เป็นความดี
- การไม่ฆ่าสัตว์เป็นความดี
- การประหยัดใช้จ่ายแต่น้อย การสะสมแต่น้อย (เลี้ยงชีวิตแต่พอดี ?) เป็นความดี
จารึกศิลา ฉบับที่ ๙ กล่าวถึงธรรมที่พึงปฏิบัติดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสว่า ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นอันมาก…อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์…โดยนัยตรงข้าม ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าธรรมมงคล ซึ่งเป็นพิธิกรรมมีผลมาก ในธรรมมงคลนั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์
- การสํารวมตนต่อสัตว์ทั้งหลาย
- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์
ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๑ นอกจากธรรมปฏิบัติที่คล้ายกับในจารึกอื่นแล้ว มีข้อพึงสังเกตพิเศษ คือเรื่องธรรมทาน และการบูชายัญ ที่จะพูดถึงเพิ่มเติมอีกข้างหน้า ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ ดังนี้
ไม่มีทานใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธักันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทาน เป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้ และคนงาน
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตรและคนคุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้าน พึงกล่าวคํานี้ (แก่กัน) ว่า 'นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทํา'
บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทําความสุขในโลกนี้ให้สําเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า ย่อมประสพบุญหาที่สุดมิได้เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย.
ธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม พบในจารึก เพียง ๒ แห่ง คือจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ ดังนี้ :
- ธรรมเป็นสิ่งดีงาม ก็สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้น ได้แก่สิ่งต่อไปนี้คือ
- การมีความเสียหายน้อย (อัปปาทีนวะ?)
- การมีความดีมาก (พหุกัลยาณะ)
- ความเมตตา กรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไจย)
อีกแห่งหนึ่งที่พบธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณ ธรรม ได้แก่จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ดังนี้
๗. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ ดังนี้
เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้และพวกอื่นๆ อีกจํานวนมาก ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทําการจําแนกแจกทาน ทั้งในนามของ ข้าฯ เอง และในนามแห่งพระราชเทวีทั้งหลาย ทั่วทุกฝ่ายในของข้าฯ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถจัดดําเนินการในกิจต่างๆ ที่มุ่งหมาย จนเป็นที่น่าพอใจได้ด้วยวิธีการมากหลาย ทั้งใน (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ)
อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้า ฯ และเจ้าชายอื่นๆ ซึ่งประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทําการ (จําแนกแจกทาน) เช่นนี้ โอรสของข้าฯ เหล่านี้ จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจําแนกแจกทาน อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมหลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตาม ธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ
- ความเมตตา กรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไจย)
- ความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะ)
- ความเป็นสาธุชน (สาธวะ)
จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน
ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นหัวข้อธรรมหรือคุณธรรมที่จะสอนโดยตรง แต่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายที่ตั้งไว้นั้น จะต้องทําตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ ดังนี้:-
ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สําเร็จได้โดยยาก หากปราศจาก
- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด (อัคค-ธัมมกามตา)
- การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด (อัคค-ปริกขา)
- การตั้งใจฟังคําสั่งสอนอย่างยิ่งยวด (อัคค-สุสสูสา)
- ความเกรงกลัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด (อัคค-ภยะ)
- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด (อัคค-อุสสาหะ) *
บัดนี้ ด้วยอาศัยคำสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังทางธรรม และความฝักใฝ่ใคร่ธรรม ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุกๆวัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป.
* คำศัพท์ในวงเล็บทั้งหมดนี้ พึงทราบว่า ไมใช่รูปเดิมในศิลาจารึก แตเป็นการถอดรูปออกมาและ เขียนเทียบเป็นคำภาษาบาลีเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการศึกษามากขึ้น (เช่น ข้อ ๒ ที่ถอดเป็น “อัคค-ปรกขา” นั้น คำในจารึกเป็น “อคาย ปลีขาย”) แต่ที่นี่ มิใช่โอกาสที่จะอธิบายมากกว่านี้
Create Date : 31 มกราคม 2567 |
Last Update : 31 มกราคม 2567 15:42:39 น. |
|
0 comments
|
Counter : 395 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|