 |
|
|
|
 |
|
ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ดีกว่าปล่อยให้มักง่าย |
|
ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ดีกว่าปล่อยให้มักง่าย แต่ผลที่ได้ไม่ยั่งยืน
คนอีกพวกหนึ่งก็ยังเป็นปุถุชนเหมือนกัน พอถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็กระตือรือร้นขวนขวายดิ้นรนพยายามแก้ไข ยิ่งกว่านั้น การที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี้ จะสามารถผลักดันให้ความรู้สึกเดือดร้อนดิ้นรนยิ่งแรงขึ้นด้วยอำนาจกิเลส โดยเอาโลภะ โทสะ มาเร่งเร้า ทำให้ความรู้สึกบีบคั้นในจิตมันแรงขึ้น พอเอาโลภ เอาโกรธมาผลักดันบีบคั้นจิตใจเข้า มันจะดิ้นกันใหญ่ มันเลยเร่งให้กระตือรือร้นขวนขวายกันใหญ่ ปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่าระบบแข่งขัน ก็เป็นวิธีการเอาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม มาเร่งมาเร้า มาขับมาดัน มาเผาลน ทำให้คนกระตือรือร้น ขวนขวาย เพราะระบบแข่งขันจะทำให้คนต้องตัวใครตัวมัน จะหวังพึ่งกันไม่ได้ แต่ละคนต้องคิดแต่ว่าจะต้องเดินหน้าให้ชนะเขา ต้องเลยหน้าคนอื่น ถ้าไม่เร่งขวนขวาย ไม่กระตือรือร้นก็ตาย ไม่มีใครช่วยเหลือ เป็นการเอาสภาพสังคมหรือเอาระบบมาบีบคั้นคน ก็เป็นเรื่องของการเอาทุกข์มาบีบคั้นเอาภัยมาคุกคามนั่นแหละ แต่มันกลายเป็นระบบสังคมและวิถีชีวิตของคนไปเลย สภาพอย่างนี้ขอใช้คำว่า “ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์” ก็คือระบบแข่งขันตัวใครตัวมันที่คนสร้างขึ้นมา ซึ่งจะให้คนที่อยู่ในสังคมนั้นต้องถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม และต้องดิ้นรนตลอดเวลา ตรงข้าม ในสังคมที่ใช้พรหมวิหาร อย่างไม่มีดุลยภาพ คนมีเมตตากรุณาดี ก็ช่วยเหลือกัน มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่เมื่อเอียงสุดไป คือไม่มีอุเบกขามาคุม ก็กลายเป็นสังคมที่หวังพึ่งกันได้ง่าย อยู่สบาย ไม่มีอะไรบีบคั้น ก็จะทำให้คนไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ทำให้โน้มไปในทางที่จะตกอยู่ในความประมาท กลายเป็นสู้สังคมที่มีระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ไม่ได้ จึงต้องแก้ด้วยความไม่ประมาทอยู่เสมอ ทั้งไม่ประมาทโดยไม่ให้เมตตากรุณาเกินเลยจนเสียอุเบกขา และไม่ประมาทโดยไม่ยอมปล่อยตัวให้ติดเพลินในความสุขสบายจนตกไปในความเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา ตัวแกนของความไม่ประมาท ก็คือสติ ความไม่ประมาทนั้น ท่านแปลว่า ความไม่อยู่ปราศจากสติ คือเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติเลย สติ คืออะไร คือความระลึก คอยนึก เหมือนคอยจับตาดูอยู่ และคอยจับเอามาดู ทั้งตื่นตัว และคอยตรวจสอบ ที่ว่าจับตาดู และจับเอามาดูนั้น เป็นการทำงานประสานกันของสติ กับ ปัญญา สติเหมือนมือที่จับหรือเชือกที่ใช้ดึง ปัญญา เหมือนตาที่มองดู เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป ที่จะทำให้เกิดผลกระทบในทางที่เสียหายไม่ดีไม่งาม จะทำให้เกิดความเสื่อม สติที่ตื่นตัวคอยดูหรือจ้องอยู่ ก็จับเอามาส่งให้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาเหตุปัจจัย เป็นต้น และหาทางแก้ไขป้องกัน ถ้ามีอะไรที่จะเป็นโอกาสทำให้เกิดความดีงามความเจริญ สติก็รีบ จับเอามาส่งให้ปัญญาพิจารณาหาทางปฏิบัติหรือดำเนินการ ย้ำว่า สติสร้างความตื่นตัว และคอยตรวจสอบ สติจะคอยตรวจสอบอยู่เสมอ คอยจับตาและคอยจับเอามาดู เพราะฉะนั้น เราจะไม่เพลี่ยงพล้ำ เพราะสติที่คอยตรวจตราไว้ทำให้ไม่ประมาท และปัญญาก็ได้โอกาสที่จะทำงาน แต่ถ้าเราขาดสติ เราจะพลาดอยู่เรื่อย โดยทำผิดพลาดบ้าง พลาดโอกาสบ้าง ติดในความสุขสบายมัวหลงเพลิดเพลินก็เลยไม่สร้างและไม่ใช้โอกาสเสียบ้าง ข้อสำคัญ เมื่อสติไม่อยู่ ปัญญาก็มาไม่ได้ เมื่อสติไม่ทำหน้าที่ ปัญญาก็ไม่มีโอกาสที่จะทำงาน เมื่อคนขาดสติ ปัญญาก็หายไปด้วย เป็นอันว่า ในสังคมที่มีน้ำใจช่วยเหลือกันมากเกินไป จนกระทั่งไม่เอาหลักเกณฑ์ ก็จะทำให้คนหวังพึ่งผู้อื่น คอยรับความช่วยเหลือ ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ในที่สุดก็เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม ในอีกสังคมหนึ่ง คนไม่ช่วยเหลือกัน ก็บีบคั้นว่าใครไม่ดิ้นก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องช่วยตัวเอง ไม่มีใครมาเอาด้วย ตัวใครตัวมัน ดิ้นรนขวนขวายไป ก็กลับกลายเป็นเจริญก้าวหน้า ก็ดีไปอย่าง แต่ก็เสียดุล อีกอย่างหนึ่ง ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้เป็นระบบกิเลส เมื่อเป็นระบบกิเลส มันก็ไม่มองผลดีผลเสีย ไม่ใช้ปัญญาที่เป็นกลาง ไม่นึกถึงใคร ไม่คำนึงว่าจะดีจะชั่ว เอาแต่ตัวเข้าว่า หมายความว่า ที่ดิ้นรนนั้นก็เพื่อปกป้องตัวเอง เพื่อเอาตัวรอด และมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ดิ้นรนขวนขวายไป แต่เป็นไปตามอำนาจกิเลส มุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น ก็ทำให้เกิดการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน สังคมก็ยิ่งต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมากั้นเขตกัน ในที่สุด ระยะยาวก็ไม่เป็นไปเพื่อความดีงาม และความเจริญความสุขที่แท้จริงของสังคม แต่จะนำไปสู่ความวิบัติพินาศ ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้ แม้จะทำให้เกิดความไม่ประมาท แต่ไม่เป็นทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริง เพราะเป็นความไม่ประมาทที่เกิดจากการใช้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามตามประสาปุถุชน โดยเอากิเลสมาเป็นตัวเร่งรัด ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้ แต่เป็นความไม่ประมาทเทียม พระพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับ ถ้ามนุษย์ใช้ความไม่ประมาทเทียมแบบนี้ เขาก็มีทางไปอยู่ ๒ อย่าง คือ ทางหนึ่ง ก็ต้องรักษาระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้ไว้ให้มั่นคง โดยต้องยอมแลกความเจริญ กับความทุกข์ความเครียดเป็นโรคจิตโรคประสาทของบุคคล และความตึงเครียดเบียดเบียนครอบงำกันในสังคม หรือมิฉะนั้น อีกทางหนึ่ง พอเจริญพรั่งพร้อมในระดับหนึ่ง ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ก็คุมไม่อยู่ คนก็จะกลายเป็นนักเสพ ลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมา และตกลงไปในวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญแบบปุถุชนเช่นเดิมอีก ถ้ามนุษย์อยู่ใต้อำนาจระบบนี้ วงจรแห่งความเสื่อมความเจริญ และวงจรแห่งความทุกข์ความเครียดก็มีเรื่อยไป แล้วก็จะไม่สามารถเข้าถึงความเจริญแท้แบบที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ให้มีแต่ความเจริญไม่มีเสื่อม เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาชีวิตและสังคมให้เจริญงอกงามยั่งยืน เราจะต้องใช้ความไม่ประมาทที่แท้ คือ ตื่นตัวที่จะทำการทุกอย่างด้วยสติและปัญญา โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์ภัยมาบีบคั้นคุกคาม
Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2567 10:06:28 น. |
|
0 comments
|
Counter : 296 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|