 |
|
|
|
 |
|
ต้นโพธิ์ พระสถูป พระพุทธรูป |
|
ต้นโพธิ์ พระสถูป พระพุทธรูป ทยอยมา อชันตา-เอลโลรา แถมมีโพธิสัตวรูปด้วย
ในเรื่องถ้ำเหล่านี้ยังมีสิ่งที่ควรรู้ซ่อนอยู่อีก ดังได้พูดไปแล้วว่า ถ้ำพระพุทธศาสนายุคแรกเป็นเถรวาท แล้วต่อมายุคหลังเป็นมหายาน ความแตกต่างที่จะเห็นได้ชัดระหว่างถ้ำเถรวาท กับ ถ้ำมหายานก็ คือ ในพุทธศาสนาเถรวาทยุคแรกนั้นไม่มีพระพุทธรูป เหมือนในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งยังไม่มีพระพุทธรูป เพราะว่าชาวอินเดียแต่โบราณนับถือพระพุทธเจ้ามาก จนไม่กล้าสร้างรูป ไม่ใช่หมายความว่า รังเกียจรูป แต่เคารพมาก จึงไม่กล้าสร้างรูป ต่อมา พวกกรีกที่สืบสายมาจากแม่ทัพต่างๆ ที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์ตั้งทิ้งไว้ ได้มาเป็นมหากษัตริย์ปกครองดินแดนถิ่นแคว้นต่างๆ ในอินเดียสืบกันมา พวกเชื้อสายกรีกเหล่านี้ก็มีความนิยมตามแนววัฒนธรรมเดิมของตนเองในการสร้างรูปเคารพ เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็เลยสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา ประมาณกันว่าราว พ.ศ. ๕๐๐ ได้เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาโดยศิลปะแบบกรีก ถ้ำของเถรวาทนั้น เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่าสร้างประมาณ พ.ศ. ๓๕๐ ถึง ๕๐๐ หรือ ๕๕๐ ในยุคนั้นเริ่มต้นก็ยังไม่มีพระพุทธรูป มีแต่พระสถูป ต่อมาตอนหลังๆ เมื่อถึงยุคมหายาน ก็มีพระพุทธรูปชัดเจน แต่ถ้ำยุคแรกๆเอง ต่อมาก็มีการไปสร้างพระพุทธรูปเติมเข้าในภายหลัง ที่ว่าไม่มีพระพุทธรูปนั้น หมายถึงเถรวาทยุคแรก แต่เถรวาทยุคต่อมาก็มีพระพุทธรูปเหมือนกัน ยิ่งกว่านี้ ยังมีตำนาน แต่ไม่ใช่ตำนานของเก่าแท้ ที่บอกว่า มีการสร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังอยู่ แต่มิใช่เป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ในสมัยเดิมนั้น ถึงแม้ไม่มีพระพุทธรูป ก็มีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นที่ระลึกแทนพระพุทธเจ้า เช่น ต้นโพธิ์ ยกตัวอย่างตอนที่พระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่พระเชตวัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็คิดว่า ทำอย่างไรดีจะได้มีอะไรเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็เลยได้ปลูกต้นโพธิ์ขึ้นต้นหนึ่ง ต้นโพธิ์นั้นอยู่ที่พระเชตวัน เรียกว่า อานันทโพธิ คือต้นโพธิ์ของพระอานนท์ สำหรับเป็นเครื่องระลึกถึงแทนองค์พระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม เรื่องพระพุทธรูปยังไม่สำคัญเท่าไร อันนั้นเป็นเรื่องประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านมา ชาวพุทธเถรวาทก็มีพระพุทธรูปตามสมัย ที่สำคัญก็คือคติพระโพธิสัตว์ ที่โยมไปทุกถ้ำของมหายาน จะมีพระโพธิสัตว์เป็นเหมือนองครักษ์อยู่ ๒ ข้างของพระพุทธรูป และโดยทั่วไปจะมีองค์ขวา ชื่อว่าปัทมปาณี กับ องค์ซ้าย ชื่อว่าวัชรปาณี ที่ว่าปัทมปาณี ก็มาจาก ปัทม หรือปทุม แปลว่า ดอกบัว + ปาณี แปลว่ามือ ปัทมปาณี จึงแปลว่า มีดอกบัวอยู่ในมือ ส่วนวัชรปาณี ก็แปลว่า มีวัชระคือสายฟ้าอยู่ในมือ นี้เป็นพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ ที่เป็นเหมือนองค์รักษ์อยู่ ๒ ข้างของพระพุทธรูปในถ้ำของมหายาน ปัทมปาณี นั้น เป็นนามหนึ่งของพระอวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แห่งมหากรุณา ส่วนวัชรปาณีเป็นพระโพธิสัตว์แห่งฤทธานุภาพ (ในชุด ๓ จะมีพระมัญชุศรี พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา อีกองค์หนึ่ง) คติพระโพธิสัตว์นี้แหละที่เป็นเรื่องน่าสังเกต และเป็นเรื่องที่สันนิษฐานว่า เป็นวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนายุคที่จะเริ่มกลมกลืนเข้า กับ ศาสนาฮินดู ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการเสียหลักของพระพุทธศาสนา เสียหลักอย่างไร ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า ศาสนาฮินดู หรือศาสนาพราหมณ์นั้น ถือเรื่องเทพเจ้าเป็นใหญ่ และมีพิธีบูชายัญ หมายความว่า ตัวเทพเจ้าเองเป็นสิ่งสูงสุด มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และอำนาจดลบันดาล ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ เทพเหล่านั้น คือการอ้อนวอนเพื่อขอผล ให้แก่ตนเอง ครั้นมาในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท คือเดิมแท้นี้ พระพุทธเจ้าได้ดึงจากเทพมาสู่ธรรม โดยถือคติของกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ กฎธรรมชาติ คือการกระทำเหตุ นั่นคือหลักกรรม ต่างจากศาสนาพราหมณ์ ที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพ คือการเซ่นสรวงอ้อนวอน เอาอกเอาใจ บูชายัญ ความสัมพันธ์ตามหลักพระพุทธศาสนา ระหว่างมนุษย์กับธรรม คือกรรมนี้ โยมคงแยกได้นะ ของเขามีเทพ แล้วมนุษย์สัมพันธ์กับเทพโดยวิธีบูชายัญ ส่วนของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธศาสนาสอนธรรมคือตัวกฎธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม คือ กรรม ได้แก่การกระทำตามเหตุผลด้วยความรู้ธรรมนั้น ถ้าเรายิ่งรู้ธรรมด้วยปัญญามากเท่าไร เราก็พัฒนากรรมของเราให้ดีขึ้นเท่านั้น เราพัฒนากรรมด้วยการที่มีสิกขา คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน พระพุทธศาสนาแบบเดิมมีหลักการมาอย่างนี้
Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2567 11:02:48 น. |
|
0 comments
|
Counter : 168 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|