 |
|
|
|
 |
|
วัดพุทธ ต้นกําเนิดมหาวิทยาลัยของโลก |
|
วัดในพระพุทธศาสนา: ต้นกําเนิดมหาวิทยาลัยของโลก
หลังพุทธกาลแล้ว พระพทธศาสนาเจริญขึ้นอีก การศึกษาก็เจริญขึ้นด้วย อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า แหล่งกําเนิดของมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็คือ วัดเล็กๆ ต่างๆ ที่รวมกันเข้า โดยมีการสร้างกําแพงล้อมรอบประมาณ ๖ วัด รวมเป็นวัดเดียวก่อน แล้วกลายเป็นมหาวิหาร ต่อจากนั้น ก็ขยายตัวขึ้นมาเป็นลําดับตามยุคตามสมัย
เวลาที่แน่นอนแห่งการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ ยังไม่มีใครทราบชัดแต่จากหลักฐานที่ตารนาถ นักประวัติศาสตร์ ชาวทิเบตเขียนไว้ว่า นาคารชุน ปราชญ์คนสำคัญของมหายาน ผู้ตั้งปรัชญามาธยมิก ได้อยู่ที่นาลันทานี้มาก ก็แสดงว่า ในสมัยของนาคารชุน (ราว พ.ศ.๖๑๓- ๗๑๓) นาลันทามหาวิหารได้เกิดมีอยู่แล้ว
ทีนี้ พระราชามหากษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อมีพระมาเล่าเรียนกันอยู่มาก ก็ทรงอุปถัมภ์บํารุง จนถึงยุคสมัยหนึ่ง พระมหากษัตริย์ก็ให้เอาภาษีที่เก็บจากหมู่บ้านจํานวนหนึ่งแถบใกล้เคียงมหาวิทยาลัยนั้น มาบํารุงมหาวิทยาลัยนาลันทา พระที่มาเล่าเรียนก็สะดวกสบาย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนกันได้เต็มที่ มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ขยายใหญ่โต จนกระทั่งเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ
เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น แผ่ไพศาลไปตามประเทศต่างๆ ก็มีพระสงฆ์จากอาณาจักร หรือดินแดนอื่นๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา เดินทางมาศึกษาที่นาลันทา
ตัวอย่างเช่น อาณาจักรศรีวิชัย ที่ปัจจุบันเป็นประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตลอดถึงตอนใต้ของประเทศไทย คือทางนครศรีธรรมราช ดินแดนเหล่านี้เวลานั้นล้วนอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย ตอนนั้น ที่นั่นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ก็มีพระสงฆ์เดินทางจากศรีวิชัยมาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้
ทางฝ่ายจีนก็มีพระมาเรียน ที่สําคัญ คือ หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือที่เรารู้จักกันในนามพระถังซัมจั๋ง (เขียนเฮี่ยนจัง,ถังซําจั๋งก็มีไม่ถือเป็นยุติ)
พระถังซัมจั๋งก็เดินทางมาเรียนที่นี่ จบแล้วยังแถมได้เป็นผู้บริหารท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย เป็นที่เลี่องลืออยู่ในประวัติศาสตร์ แล้วท่านก็นําความรู้ทางพระพุทธศาสนากลับไปให้แก่ประเทศจีน
นอกจากนั้น ก็ยังมีพระจากประเทศทิเบตมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา หรือบางท่านที่เป็นปราชญ์ชาวอินเดียเอง ก็ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนในประเทศทิเบต บางท่านก็ไปสอนในประเทศจีน มหาวิทยาลัยนาลันทาจึงเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
ขอย้อนกลับไปเริ่มต้นเรื่องนิดหน่อย เพื่อพูดถึงกําเนิดของมหาวิทยาลัยนาลันทา เนื่องจากสถานที่นี้อยู่ในถิ่นกําเนิดของพระมหาสาวกองค์สําคัญ คือ พระสารีบุตร เรื่องจึงโยงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะสถานที่ที่เป็นอนุสรณ์ของพระสารีบุตรด้วย
เพราะเหตุว่า พระสารีบุตรพระมหาสาวกผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางปัญญา ได้ถือกําเนิดที่หมู่บ้านนาลันทา เรียกว่า นาลันทคาม หรือนาลกะ ซึ่งอยู่ในบริเวณนี้
เมื่อมหาวิทยาลัยนี้สร้างขึ้นแล้ว ก็ปรากฏว่า มีการสร้างอนุสรณ์สําคัญ เรียกว่าเป็นสถูปหรือเป็นเจดีย์คือสิ่งก่อสร้างใหญ่โตสูงที่สุด ที่เราขึ้นไปเมื่อกี้นี้ นั่นคืออนุสรณ์สถานซึ่งเป็นอนุสาวรีย์หรือสถูปที่รําลึกถึงพระมหาเถระ คือ พระสารีบุตรนี้
การที่มีมหาวิทยาลัยนาลันทาเกิดขึ้นที่นี่ ก็เป็นความพอเหมาะอย่างหนึ่ง กล่าวคือ มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องทางปัญญา ก็พอดีตรงกับที่เกิดของพระสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งเป็นผู้เลิศทางปัญญา เก่งกล้าสามารถในการสั่งสอน ให้ความรู้ เพราะฉะนั้น กิจกรรมของมหาวิทยาลัยนี้จึงสอดคล้องกับความเป็นเลิศของพระสารีบุตร คือเป็นแหล่งที่สร้างสรรค์ให้ปัญญา
พระสารีบุตรนั้น ตั้งแต่เมื่อท่านดํารงอยู่ มีลักษณะสําคัญอย่างหนึ่งคือ ท่านเอาใจใส่การศึกษาเล่าเรียนอบรมสั่งสอน อย่าลืมว่า พระสารีบุตรนี่แหละ ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้เป็นผู้บวชให้พระราหุล สามเณรราหุล ซึ่งเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ก็เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นผู้ดูแลให้การศึกษาอบรม
ว่าถึงประวัติโดยทั่วไป พระสารีบุตรท่านเอาใจใส่ดูแลเด็กๆ เช่น เมื่อไปพบเด็กยากจน ท่านก็ชวนมาบวชเป็นสามเณร ดูแลอบรม ให้การศึกษา แสดงถึงลักษณะของพระสารีบุตรที่ท่านชอบช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีการศึกษา ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติที่เราน่าจะนํามาใช้เป็นตัวอย่าง
ควรจะเน้นกันว่า พระเถระที่เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านเอาใจใส่การศึกษาของเด็กและเยาวชนในรูปที่เป็นสามเณร โดยไปเอาเด็กๆ มาบวชเณร เด็กๆ ที่ท่านดูแล มีตั้งแต่เด็กลูกเจ้า คือ พระราหลุ ไปจนถึงเด็กยากจนที่ท่านบังเอิญไปพบ เด็กบางคนไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งห่ม ท่านก็ชวนมาบวชเณร แล้วก็ให้การศึกษา
อันนี้เป็นจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างของพระสารีบุตร และมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นอนุสรณ์สําหรับพระสารีบุตร
ทีนี้หวนกลับมาถึงเรึองมหาวิทยาลัยนาลนทา ซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองสืบ ต่อมาจนกระทั่งเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยของพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ กล่าวคือ เราอาจจะมองความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ในอินเดียนี้โดยสัมพันธ์กับประวัติของมหาวิทยาลัยนาลันทา
มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด ถ้าจะเทียบกับทางยุโรป ทางตะวันตกนั้นเขาบอกว่า มหาวิทยาลัยโบโลนยา (Bologna) และปารีส (Paris) เป็นมหาวิทยาลัยยุคแรก แต่เมื่อมาเทียบกับมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ก็กลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยนาลันทาของเรานี้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลก เกิดขึ้นก่อน
ทีนี้ มหาวิทยาลัยนาลันทาเกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญสืบมาจนระยะ หลังๆ มาถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ เศษ มหากษัตริย์ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องการทํานุบํารุงการศึกษา ก็ได้สร้างมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ยุคหลังขึ้นมาอีกหลายแห่งด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา โอทันต ปุรีชคัททละหรือวเรนทรี และโสมปุระ เป็นต้น
มีมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ที่รุ่งเรืองคู่กันกับมหาวิทยาลัยนาลันทา แต่ก็ไม่มีชื่อเสียงมากเท่ามหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้น ทางด้านเถรวาท
ขอชี้แจงแทรกหน่อยว่า ในสมัยหลังนี้ เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นมา ก็มีการแยกตัวเป็นเถรวาทและมหายาน ที่เราเรียกกันว่าหินยาน และมหายาน ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นหนักไปในการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง อยู่ทางริมทะเลแถวอ่าวแคมเบย์ (Gulf of Cambay) เหนือบอมเบย์ขึ้นไป ชื่อว่า วลภีตามชื่อของเมืองที่ตั้งอยู่ (เมืองวลภีตั้ง พ.ศ. ๑๐๑๓ มหาวิทยาลัยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุฑฑา ตามพระนามเจ้าหญิงที่ทรงริเริ่มสร้างวัด) เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางเถรวาท
มหาวิทยาลัยวลภีนี้ ถูกทําลายหมดสิ้นไปก่อน ในระยะ พ.ศ.๑๓๕๐ ส่วนนาลันทาเจริญและเสื่อมต่อมาจนถึง พ.ศ.๑๗๐๐ จึงถูก ทำลายหมดไป ในช่วงเวลาเดียวกันกับมหาวิทยาลัยอื่นทั้งหมดมีวิกรมศิลา เป็นต้น ที่สร้างในยุคหลัง
ยุคของมหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลายนั้น เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองในอินเดีย
เป็นที่รู้กันว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทรุ่งเรืองอยู่ราว ๕ ศตวรรษ ต่อมาก็ค่อยๆ เสื่อมไปจากอินเดีย แล้วก็ไปมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่ศรีลังกา แม้แต่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยพ่อขุนรามคําแหง ก็ได้ไปจากประเทศศรีลังกานี้ ดังที่เรียกว่า ลังกาวงศ์
ส่วนพระพุทธศาสนาแบบเดิม ที่มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเข้ามาถึงประเทศไทยเรา โดยมีหลักฐานอยู่ที่นครปฐมนั้น ก็เลือนรางจางหายไป และได้อาศัยสายใหม่คือสายลังกาที่ว่านี้สืบต่อมา เป็นสายปัจจุบัน
Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2567 13:46:34 น. |
|
0 comments
|
Counter : 384 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|