 |
|
|
|
 |
|
อย่าทิ้งความคิดปรุงแต่งทันที ปรุงแต่งดีได้ถึงฌานสมาบัติ |
|
อย่าทิ้งความคิดปรุงแต่งเสียทันที ถ้าปรุงแต่งดีได้ถึงฌานสมาบัติอย่างสูง
ยังมีการกล่อมอีกอย่างหนึ่ง ที่ชาวพุทธต้องระวัง ชาวพุทธปฏิบัติธรรมไป บางทีก็มากล่อมตัวเองด้วยธรรมที่ลึกซึ้งลงไปอีก คือ สมาธิ
สมาธิ นั้น เป็นองค์ธรรมแกนของสมถะ หรือเป็นตัวสมถะนั่นเองยังเป็นธรรมระดับปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้าไม่ห้ามในการปรุงแต่ง ปรุงแต่งเป็น ก็ดีเป็นประโยชน์ มนุษย์เราอยู่ด้วยการปรุงแต่งมาก แต่ว่าให้ปรุงแต่งให้ดี
ได้พูดแล้วว่า การคิดมีสองอย่าง คือ การคิดปรุงแต่ง กับ การคิดเชิงปัญญา เช่น สืบสาวหาเหตุปัจจัย การคิดแบบปรุงแต่งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเสียอย่างเดียว ที่ดีก็มี คือ การคิดปรุงแต่งกุศลขึ้นมา
ยกหลักมาว่ากัน ความคิดปรุงแต่ง ท่านเรียกว่า อภิสังขาร ซึ่งมี ๓ อย่าง ปรุงแต่งไม่ดี เป็นบาป ก็เป็นอปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งดี ก็เป็นปุญญาภิสังขาร เหนือขึ้นไปอีก ปรุงแต่งสูงสุด ก็เป็นอาเนญชาภิสังขาร
การคิดปรุงแต่งที่เป็นตัวร้าย ท่านเรียกเป็นภาษาพระว่า อปุญญาภิสังขาร คือปรุงแต่งความคิดและสภาพจิตที่ไม่ดี รวมทั้งปรุงแต่งใจให้เป็นทุกข์ บีบคั้นใจตัวเอง ปรุงแต่งความโลภ ความโกรธ เช่น เห็นอารมณ์ที่ไม่สบายตาแล้วเกิดความชัง เกิดความยินร้าย เกิดความไม่สบายใจ เก็บเอาสิ่งโน้นถ้อยคำคนนี้มาปรุงแต่ง ทำให้ใจตัวเองมีความทุกข์ ปรุงแต่งความกลุ้ม ความกังวลอะไรต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่าปรุงแต่งอกุศล เป็น อปุญญาภิสังขาร
ส่วนการปรุงแต่งดี ปรุงแต่งเป็นบุญ ปรุงแต่งเป็นความสุข ทำให้เกิดกุศล ทำให้สร้างสรรค์ ทำให้ความดีงามเจริญเพิ่มพูน ทำให้ใจสดชื่นผ่องใส อย่างที่เราเดินทางบุญจาริกมา ได้เห็นได้ฟังแล้วคิดไปในทางกุศล มีศรัทธาแรงขึ้น เกิดปีติปลาบปลื้ม เป็นต้นนี้ เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร มนุษย์เราที่อยู่ในระดับของปุถุชน หนีไม่พ้นการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปติเตียนการปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง ให้ปรุงแต่งดีเถอะ ปรุงแต่งเป็นบุญเป็นกุศล ทำใจให้มีสุข ปรุงแต่งใจให้สบาย ปรุงแต่งความดี ท่านไม่ว่า ท่านเรียกว่า เป็นปุญญาภิสังขาร แม้กระทั่งเจริญสมาธิได้ฌาน ก็เป็นปุญญาภิสังขาร ยังปรุงแต่งดีอยู่นั่นแหละ จนกระทั่งถึงอรูปฌานก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นอาเนญชาภิสังขาร เป็นการปรุงแต่งที่ประณีตขึ้นไป ก็ยังไม่พ้นการปรุงแต่งอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น สมาธิที่เราบำเพ็ญกันนี่ อย่าว่าแต่สมาธิธรรมดาเล็กน้อยเลย แม้แต่สมาธิสูงเยี่ยมยอดขนาดอรูปฌาน ได้สมาบัติสมบูรณ์แล้ว ก็ยังเป็นการปรุงแต่งอยู่คือเป็นอาเนญชาภิสังขาร การปรุงแต่งอย่างนี้ ก็ทำให้จิตพัฒนาไปถึงขั้นสูง แต่ก็ต้องระวัง ต้องมีสติอยู่เสมอ มิฉะนั้นมันก็จะเป็นการกล่อม สมาธิ นี้ ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่ง ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องกล่อมจิตใจได้ เพราะฉะนั้น คนที่บำเพ็ญปฏิบัติได้สมาธิแล้วก็อาจจะเพลินกับสมาธิ พอได้สมาธิเข้าก็สบาย ติดเพลินแล้ว มีปัญหาอะไรต่ออะไรเกิดขึ้น ก็มานั่งสมาธิแล้วใจสบาย หายทุกข์หายร้อน ลืมปัญหา มีความสุข เพลิดเพลินติดในความสุขนั้น นี่ก็กล่อมเหมือนกัน คือกล่อมด้วยสมาธิ เป็นแบบพวกโยคีฤษีดาบสก่อนพุทธกาล ได้ฌานสมาบัติแล้วก็เข้าสมาธิ เล่นฌานกีฬาอยู่ในป่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วย ก่อนที่พระพุทธเจ้าอุบัติ เขาได้สมาธิกันสูงแล้ว โยคีในอินเดียนี่ เราก็ได้เรียนในพุทธประวัติมาแล้ว เช่น อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้อรูปฌานจนถึงขั้นอากิญจัญญายตนะ ท่านอุททกดาบส รามบุตร ยิ่งได้สูงกว่านั้น คือได้อรูปฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ จบสมาบัติ ๘ เลย พระพุทธเจ้าไปเรียนกับดาบสจนจบความรู้ของเขา และบำเพ็ญฌานได้ครบหมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ร่วมสำนัก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าไม่ใช่ทาง ก็เสด็จหลีกไป เราอย่าไปมัวเพลินว่า สมาธินี่ดีนะ สุขสงบดีเหลือเกิน ดีนั้นดีแน่ แต่ต้องใช้ให้ถูก ถ้าใช้ไม่เป็น สมาธิที่สุขสงบนั้นก็จะเป็นแค่สิ่งกล่อม ที่เราใช้หนีปัญหาหลบทุกข์ แต่ไม่แก้ปัญหา ไม่ดับทุกข์ กิเลสไม่หมดไป ปัญหาไม่หมดไป ทุกข์ก็ไม่หมดไป ตราบใดอยู่ในสมาธิก็สบายไป ก็เลยเพลินอยู่แค่นั้น ข้างนอกก็ไม่แก้ปัญหา ข้างในก็ไม่เดินหน้าสู่อธิปัญญา นั่นคือเอาสมาธิเป็นสิ่งกล่อม คือกล่อมใจตัวเองด้วย (ความสุขสงบของ) สมาธิ สบาย แต่ตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้น ในทางธรรมท่านจึงเตือนไว้ ว่าธรรมทั้งหลายนั้น ต้องรู้จักพิจารณา ต้องใช้โดยแยบคาย ไม่ใช้ในทางที่จะเกิดโทษ ไม่ทำให้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล สมาธิ นั้น เข้ากันได้กับโกสัชชะ คือ ความเกียจคร้าน แม้ว่าตัวมันเองเป็นกุศล และเป็นกุศลที่สำคัญมาก แต่มันก็เป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อย่างที่ท่านเตือนไว้ให้ระวังว่า ถ้าสมาธิแรง แต่ความเพียรอ่อน ความเกียจคร้านก็จะครอบงำ เพราะสมาธิเป็นพวกเดียวกับความเกียจคร้าน (สมาธิสฺส โกสชฺชปกฺขตฺตา - เช่น ที.อ.๒/๔๐๓; วิสุทธิ.๑/๑๖๕; ฯลฯ) ที่ว่าโกสัชชะเข้าครอบงำ ก็คือตอนที่สุขสงบ สบาย ก็ติด เพลิน เรื่อยเฉื่อย อะไรที่ควรจะทำก็ปล่อยไว้ก่อน ปัญหาที่ค้างอยู่ก็ทิ้งไว้ไม่แก้ กิจหน้าที่โดยเฉพาะการเจริญไตรสิกขา ก็ไม่เร่งรัดดำเนินไป กลายเป็นขี้เกียจ นี่คือกล่อมให้เพลินสบาย เพราะฉะนั้นกิเลสไม่หมด ทุกข์ไม่หมด และพัฒนาไม่ไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสหลักอินทรียสมตากำกับไว้ คือให้ปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอสมดุลกัน ให้วิริยะคือความเพียรควบคู่สมาธินั้น เช่นเดียวกับที่ต้องให้ศรัทธามีปัญญามาคู่กัน โดยมีสติคอยดูแลตรวจตราไม่ให้เผลอไม่ได้พลาด ไม่ให้ล้าไม่ให้ล้ำเกินกัน (วินย.๕/๒; อง.ปญจก .๒๒/๓๒๖)
ขอย้ำเป็นการทบทวนอีกครั้งว่า สิ่งกล่อมนั้นไม่ใช่ว่าจะร้ายอย่างเดียว ถ้าใช้เป็น และรู้จักประมาณ ไม่ติดหลง ก็เป็นประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งกล่อมระดับต่ำ คือ สุรา ยาเสพติด และการพนัน ควรงดเว้นโดยสิ้นเชิง สิ่งกล่อมบางอย่าง เช่นยากล่อมประสาท บางครั้งก็ยังจำเป็นต้องใช้ เช่น คนเป็นโรคนอนไม่หลับ อาจต้องใช้ยานอนหลับช่วย เพื่อแก้ไขให้พ้นปัญหาเฉพาะหน้า แต่เมื่อใช้ชั่วระยะหนึ่งให้หายอาการนั้นแล้วก็ควรจะผ่านไป ไม่ควรจะให้ต้องอยู่ด้วยยานอนหลับตลอดไป คือไม่ให้กลายเป็นติด ระหว่างสิ่งกล่อมอย่างหยาบ กับ สิ่งกล่อมอย่างประณีต การใช้สิ่งกล่อมอย่างประณีตย่อมดีกว่า เช่น เมื่อนอนไม่หลับ ถ้าใช้สมาธิทำให้หลับได้ ย่อมดีกว่าใช้ยานอนหลับ เพราะมีโทษน้อยกว่า และเป็นอิสระ โดยเป็นความสามารถของตัวเอง ประโยชน์ของสิ่งกล่อมโดยทั่วไป คือ ช่วยให้ได้พัก ช่วยให้สดชื่น สงบลงได้ สบาย มีความสุข หลีกปัญหา หลบทุกข์ไปได้ชั่วคราว ใช้เป็นเครื่องระงับความเร่าร้อนกระวนกระวาย ความระโหยโรยแรง หรือ โทรมจากความเครียดฟุ้งซ่านหวาดหวั่น เป็นต้น เป็นเครื่องเตรียมตัวให้กระชุ่มกระชวย มีแรงมีกำลังขึ้น และพร้อมที่จะลุกขึ้นเดินหน้าต่อไป ข้อเสียของสิ่งกล่อม แม้แต่อย่างประณีตที่สุด ก็คือ ถ้าติด ถ้าหลง เพลิน ก็จะอยู่ด้วยสิ่งกล่อม กลายเป็นตกอยู่ในความประมาท แล้วก็กลายเป็นขัดขวางการพัฒนาตัวเอง และสะสมหมักหมมปัญหา นำมาซึ่งความเสื่อมทั้งแก่ชีวิตและสังคม เป็นผู้ไม่ได้ประโยชน์แท้จริงที่พึงได้จากพระพุทธศาสนา รวมแล้ว สิ่งที่คนเอามาใช้เป็นสิ่งกล่อมทั้งหมดนั้น อาจจะจัดกลุ่มจัดพวกได้คร่าว ๆ ทำนองนี้ คือ พวกที่ ๑ สุรา ยาเสพติด การพนัน เป็นสิ่งกล่อมร้าย ที่ไม่เพียงทำให้ประมาท แต่พาชีวิตและสังคมให้อ่อนแอเสียคุณภาพ ยิ่งเสื่อมทรุดลงไป พร้อมนั้นก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือล่อเหยื่อเอาเปรียบหรือทำลายเพื่อนมนุษย์ หรือชาติประเทศที่ถือเป็นคู่แข่งหรือเป็นศัตรู พวกที่ ๒ กีฬา การบันเทิง - เป็นสิ่งกล่อมเสี่ยง ถ้าใช้ไม่ถูก - ไม่เป็น อาจทำให้ลุ่มหลงมัวเมาหมกมุ่น ติดเพลิน ประมาท บ่อยครั้ง และบ่อยขึ้น ที่สิ่งเหล่านี้ถูกใช้ ทั้งในแง่ที่พ่วงไปด้วยกันกับพวกที่ ๑ และในแง่เป็นสื่อของพวกที่ ๑ นั้น เฉพาะอย่างยิ่งในการพนัน รวมทั้งในการล่าเหยื่อและหาผลประโยชน์ แต่ถ้าใช้ถูก - ใช้เป็น ก็เป็นที่พัก ที่ผ่อนคลาย ทำให้หายเครียด ตลอดจนเป็นเครื่องบริหารกาย บริหารสมอง และฝึกวินัย เช่น ความมีใจนักกีฬา และการรู้จักควบคุมตนเอง (แต่ดูเหมือนมีการใช้ในทางที่ทำให้เกิดผลตรงข้ามมากขึ้น) พวกที่ ๓ ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี - เป็นสิ่งกล่อมเสี่ยง ถ้าใช้ไม่ถูก - ไม่เป็น อาจทำให้ลุ่มหลงมัวเมา หมกมุ่น ติดเพลิน ประมาท แม้กระทั่งชักพาไปในทางตกต่ำ หรือปลุกเร้าในทางชั่วร้ายทำให้รุนแรง และอาจใช้ในความหมายอย่างพวกที่ ๒ - แต่ถ้าใช้ถูก - ใช้เป็น ก็เป็นที่พัก ที่ผ่อนคลาย ทำให้หายเครียด หายกลุ้ม หายท้อถอย สงบ สดชื่น ช่วยให้พร้อมที่จะก้าวต่อไป - เป็นสิ่งกล่อมเกลา ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ที่ประณีต งดงาม สร้างสรรค์ สามารถกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ดีงาม งดงาม และกระตุ้นเตือน ปลุกเร้า โน้มนำให้ก้าวไปในการสร้างสรรค์พัฒนาทั้งวัฒนธรรม จิตใจ ปัญญา และสังคม พวกที่ ๔ ไสยศาสตร์ อิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ อำนาจดลบันดาล - เป็นสิ่งกล่อมเสี่ยง ช่วยให้เกิดกำลังใจ เข้มแข็ง แกล้วกล้า แม้แต่ถึงขั้นอึกเหิม หรือเกิดความหวัง เป็นที่พึ่งแก่ผู้ไม่มีทางออกหรือหมดทางไปอย่างอื่น แต่มักทำให้มัวโอ้เอ้ รอคอย พึ่งพา อยู่ด้วยความหวัง งอมือ งอเท้า ประมาท ขาดการดิ้นรนขวนขวาย อ่อนแอหรือติดจม พวกที่ ๕ สมาธิ - เป็นสิ่งกล่อมเสี่ยง ถ้าใช้ไม่ถูก - ไม่เป็น แม้จะมีโทษไม่ร้ายแรง แต่อาจทำให้ติดเพลิน เฉื่อยชา ประมาท แต่ถ้าใช้ถูก - ใช้เป็น ก็เป็นที่พัก ที่ผ่อนคลาย ทำให้หายเครียด หายทุกข์ สุข สงบ สดชื่น มีกำลังที่จะก้าวต่อไป - เป็นสิ่งกล่อมเกล่า ทำจิตใจให้สงบ อ่อนโยน ดีงาม งดงาม เข้มแข็ง มั่นคง เป็นแกนของการพัฒนาจิตใจ - เป็นบาทแห่งโพธิ ถ้าใช้ถูกต้องแท้จริง จะทำให้จิตใจสงบ มีพลัง พร้อมที่จะใช้งานในการพัฒนาชีวิต แม้แต่ในขั้นสูงสุดแห่งการพัฒนาปัญญาให้เป็นโพธิ อีกอย่างหนึ่ง อาจถือเอาผลการใช้เป็นเครื่องตัดสิน ดังนี้ ก) อย่างต่ำสุด ทำให้สูญเสียเสื่อมโทรม เช่น แก่ทรัพย์สิน แก่สุขภาพ แก่ครอบครัว แก่สังคม มีอาชญากรรม เป็นต้น ข) อย่างต่ำ เกิดความลุ่มหลง มัวเมา ติดเพลิน ประมาท ค) อย่างกลาง เกิดภาวะพึ่งพา หรือขึ้นต่อมัน ง) อย่างสูง เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เกิดความดีงามและความเจริญงอกงาม ข้อที่ควรยอมรับได้จริง คือ ง) อย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อย่างมีคุณค่า เป็นประโยชน์ พูดสั้นๆ ว่า ทำให้อกุศลธรรมลดน้อยลง และทำให้กุศลธรรมเพิ่มพูนขึ้น เพื่อช่วยให้พ้นจากข้อเสียของสิ่งเหล่านี้ และได้แต่คุณประโยชน์ให้มากที่สุด จึงมีหลักในการฝึกฝนพัฒนาชีวิต ที่รับช่วงกันให้ก้าวสู่ขั้นสูงขึ้นไป เริ่มด้วยผู้ปฏิบัติในระดับศีล ๕ คือชาวบ้านพุทธทั่วไป สามารถงดเว้นสิ่งกล่อมพวกที่ ๑ (สุรา ยาเสพติด การพนัน) ได้ทั้งหมด และใช้สิ่งกล่อมพวกที่ ๒-๓ คือ กีฬา การบันเทิง ดนตรี และศิลปะ เป็นต้น ในแง่ที่จะเป็นสิ่งกล่อมเกลา เพื่อส่งเสริมความดีงาม และในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ก้าวต่อไป ผู้ปฏิบัติในระดับศีล ๘ จะหันไปสู่ความมีชีวิตที่เป็นอิสระ ซึ่งเน้นการพัฒนาด้านจิตใจและปัญญามากขึ้น โดยฝึกตนให้ลดการพึ่งพาสิ่งเสพบริโภค และวัตถุบำรุงบำเรอความสุข สามารถมากขึ้นๆ ที่จะเป็นอยู่ดีได้ง่าย และมีความสุขอยู่ในตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพา หรือเที่ยววิ่งหา
พ่อสุดทน คว้าปืนยิงลูกชายดับ เผยติดยาหนัก คลั่งไล่แทง ทำร้ายพ่อแม่ประจำ (msn.com)
Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2567 21:09:59 น. |
|
0 comments
|
Counter : 179 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|