หลุดพ้นแบบฉับพลัน ภาค12 --หลวงพ่อแช่ม-8

ยิ่งมียิ่งติด

ยิ่งคิดผิด ยิ่งพูดผิด ติดขันธ์ห้า
ยิ่งใฝ่หา ทางออก หลอกให้หลง
ยิ่งเรียนมาก ยิ่งถลำ ทำให้งง
ยิ่งพูดมาก ก็ยิ่งส่ง ลงอุบาย
ยิ่งนั่งเงียบ เหมือนเหยียบ โมหะอยู่
ยิ่งอยากรู้ ยิ่งติดรู้ อยู่เหลือหลาย
ยิ่งพากเพียร ยิ่งติดเรียน จนแก่ตาย
ยิ่งเกิดใหม่ ก็ยิ่งตาย ตามตามกัน
หมดยิ่งยิ่ง ทุกสิ่งสรรพ ดับไม่เหลือ
หมดชาติเชื้อ หมดทุกอย่าง หมดสร้างสรรค์
แม้แต่หมด ก็หมดจด หมดนิพพาน
หมดกล่าวขาน หมดคำพูด หมดหยุดเลย

กตธุโร

ข้ามโคตร

เมื่อเอาจิตดูจิตไม่ติดอื่น
จิตจะชื่นสดใสได้ความว่าง
ที่วุ่นวายเพราะมีเราเข้าไปบัง
จิตไม่ว่างทั้งวันดูวุ่นวาย
ต้องขจัดความเป็นเรานั้นเอาออก
ใครจะบอกหรือไม่บอกออกไม่ได้
ต้องหมดเราจริงๆ ทิ้งกายใจ
จึงจะหมดวุ่นวายเพราะจิตเบา
ใครประสบพบเห็นจะเต้นผาง
พบความว่างไม่วุ่นหมุนเหมือนเก่า
หลุดแล้วโว้ยหยุดแล้วหวาข้าฆ่าเรา
เหลือเปล่าเปล่าดังประกาศประหลาดจริง

กตธุโร
คนละฟาก

ฝั่งฟากนี้มีอยู่คู่กับโลก
มีสุขโศกปนเศร้าไม่เหงาหงอย
พอยามสุขก็เพริศพริ้งยิ่งเลิศลอย
ถึงยามเศร้าก็เหงาหงอยไม่งดงาม
ฝั่งฟากโน้นโพ้นไกลไปจากโลก
ไม่สุขโศกเศร้าสร้อยตอบถ้อยถาม
ไม่มีงามไม่มีงด เพราะหมดงาม
ผู้เดินตามก็ยังงดหมดแม้เงา
ใครไปถึงทะลึ่งพรวดความอวดหมด
มันหายหดหมดไปได้เปล่าเปล่า
ไม่มีอะไรจะให้เห็นหรือเป็นเงา
มันเปล่าเปล่าว่างว่างอย่างนั้นเอง

กตธุโร

ตรวจดูกายใจ

ให้ตรวจดูกายใจในทุกคน
จะได้ผลไม่ได้ผลตนย่อมรู้
รู้สึกตัวทั่วพร้อมน้อมเป็นครู
ถ้าหมดกูหมดหลอกเขาบอกเอง
กายมันบอกให้รู้หรือตู่เอา
หรือว่าใจตู่เอาว่าเราเก่ง
หรือว่าใจตู่ใจไม่กลัวเกรง
หรือว่าตู่เอาเองทั้งกายใจ

กตธุโร

อย่าหยุดจิต

อย่าหยุดจิตหรือคิดให้จิตหยุด
คนที่พูดคนที่ทำตามวิสัย
ได้แต่พูดได้แต่ทำตามกันไป
ผลสุดท้ายหยุดได้ประเดี๋ยวเดียว
จิตเกิดทุกข์ทุกทีที่ขันธ์ห้า
จิตก็เป็นอนัตตาข้าไม่เกี่ยว
จิตก็จิตกายก็กายตายทีเดียว
ถ้าใครเกี่ยวใครข้องต้องเกิดตาย
จิตจะนิ่งหรือไม่นิ่งทิ้งมันก่อน
อาจารย์สอนลูกศิษย์ติดไม่ได้
จิตไม่มีเราไม่มีจะมีใคร
อ้ายที่เกิดที่ตายโลกสร้างเอง

กตธุโร

ที่พักใจ

อันกายใจจะต้องมีที่ให้พัก
ใครจะรักหรือไม่รักพักถูกที่
ถ้าปล่อยไปผิดผิดไปติดดี
ไหลไปชั่วก็มีอยู่มากมาย
ใจมันหลงพากายไปทุกเมื่อ
ไม่ยอมเบื่อสุขทุกข์สนุกหลาย
ไปหลงเรื่องเล่นเล่นเต้นจนตาย
กว่าจะรู้ก็สายตายตามกัน
จะต้องหาที่พักให้ถูกที่
ละทั้งชั่วทั้งดีที่กล่าวขาน
อยู่กับว่างใสสดเพราะหมดงาน
เพราะกายใจเป็นมัน ไม่มีเรา

กตธุโร
บทสนทนาธรรม ตอนที่ ๒๐
---------------------
ผู้ใหญ่มา :นมัสการครับหลวงพ่อ
หลวงพ่อแช่ม :สวัสดีโยมผู้ใหญ่ วันนี้ทำไมมาแต่เช้าได้ มีธุระอะไรหรือ?
ผู้ใหญ่มา :ผมกะว่าจะส่งลูกชายไปนครสวรรค์ตอนบ่าย เพื่อไปพบอาเขา แต่เขาฝากมาถามปัญหากับหลวงพ่อบางเรื่อง เช่น “ทำไมอาจารย์แต่ละองค์จึงสอนธรรมไม่เหมือนกัน?” และเรื่อง “พรหมวิหาร ๔” เป็นอย่างไร?”
หลวงพ่อแช่ม :อ้าว... ฟังนะ ก็พระสงฆ์แต่ละองค์ท่านศึกษาและปฏิบัติธรรมมาไม่เหมือนกัน บางองค์เรียนปริยัติมามาก แล้วจึงปฏิบัติจนเห็นธรรมชัดแจ้งจากใจโดยใช้หลัก “ศีล สมาธิ ปัญญา” ไปตามลำดับเป็นบาทฐานต่อกันไปเรื่อยๆ บางองค์ก็ถนัด เดินธุดงค์ จาริกไป แสวงธรรมไปตามป่า เขา ถ้ำ ที่ทุรกันดาร เพื่อฝึกความอดทนและความเพียรที่จะละกิเลสออกจากใจ บางองค์ก็ถนัดทำ สมาธิภาวนา อย่างเคร่งครัดและอดทน แล้วนำมาพิจารณาดูจิตเข้าสู่พระไตรลักษณ์เป็น วิปัสสนาภาวนา ในภายหลัง แต่ก็เห็นธรรมและเข้าถึงธรรมในที่สุดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะช้าหรือเร็วก็ได้ แล้วแต่ว่าผู้ปฏิบัติจะใช้อะไรนำ ฝ่ายที่มีจริตทางปัญญาก็ใช้ปัญญานำ ฝ่ายที่ชอบทำสมาธิก็ใช้สมาธินำปัญญา ฝ่ายที่ชอบสมาทานศีล เคร่งในศีล ก็ใช้ศีลนำสมาธิและปัญญา แต่ทั้ง ๓ แบบล้วนต้องอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา ครบองค์และรวมเป็นหนึ่งเดียว จึงจะเกิด ปัญญาญาณ เห็นแจ้งสภาวธรรมตามที่เป็นจริงว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (สัพเพ ธัมมา อนัตตา) จึงแสดงอนิจจัง ทุกขัง ให้เห็นควบคู่กันไป และยึดถือเป็นของใครไม่ได้ จึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น จะเป็นทุกข์ (สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)
เมื่อรู้อย่างไร เห็นอย่างไร อาจารย์เหล่านั้นก็สอนศิษย์ไปตามที่ท่านเรียนรู้มา เห็นมา จึงอาจจะมีวิธีการและโวหารไม่เหมือนกัน ขอแต่เพียงให้ดับทุกข์ได้จริงเท่านั้น เมื่อนำไปปฏิบัติ และหมดความยึดถือว่ามีตัวตน-ของตนเด็ดขาด ซึ่งผู้เรียนผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เห็นได้เฉพาะตน (เป็นปัจจัตตัง) จริงๆ และเชื่อถือได้ว่าเป็นธรรมแท้ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ แต่มีพระบางองค์สอนจากความรู้และความเข้าใจของท่านโดยปริยัติเท่านั้น ก็นับว่ายังเป็นประโยชน์ที่จะช่วยปูพื้นฐานให้กับผู้ที่เริ่มสนใจธรรมะ เพียงแต่ต้องเน้นให้เข้าถึงการปฏิบัติจริงๆด้วย
สำหรับเรื่อง “พรหมวิหาร ๔” ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่ามีทั้งขั้นโลกียะและโลกุตตระ หากจะให้หลุดพ้นสิ้นเชิง ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องและให้เข้าถึงขั้นโลกุตตระ คือไม่ยึดว่ามีตัวตน เป็นของตน หลวงพ่อจะอธิบายเป็นข้อๆ ไปดังนี้
เมตตา หมายถึงความรัก ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข คิดทำประโยชน์ต่อกัน แบ่งปันสิ่งของความสุขให้แก่กันมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน เห็นอกเห็นใจกันแต่ต้องไม่หลงว่ามีเราเข้าไปอยู่ในเมตตานั้นๆ เพราะเมตตาแบบโลกๆ นั้นทำเพื่อเอาหน้า เพื่อเพิ่มอัตตาให้ตนและเอาบุญคุณต่อกัน ยังไม่ใช่เมตตาแท้ที่บริสุทธิ์
ลองย้อนกลับไปมองพระพุทธองค์เป็นตัวอย่างสิ พระองค์มีพระเมตตาอันบริสุทธิ์สูงสุดอย่างหาที่เปรียบมิได้ แม้พระองค์ท่านจะตรัสรู้ธรรมอันยอด และพบบรมสุขอันยิ่งแล้ว พระองค์ยังเสียสละแม้พระราชวัง และลาภยศทั้งปวง ไม่ทรงคิดหวลกลับไปอยู่ในวัง ทั้งๆ ที่พระองค์ไม่ทรงยึดติดอะไรๆ แล้วและพระราชบิดาทรงยินดีต้อนรับพระองค์เข้าสู่วังเสมอ แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะจาริกไปตามป่าเขา เพื่อนำธรรมะไปโปรดสอนสัตว์โลกทั้งปวงให้ถึงความดับแห่งทุกข์จนหมดคน หมดตัวตน หมดโลภ-โกรธ-หลง พบความสุขนิรันดรได้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต อย่างไม่ทรงเห็นแก่พระองค์เลย นี่แหละเมตตาแบบโลกตุตระ เป็นเมตตาที่กว้างใหญ่ไพศาล ให้เท่าไรก็ไม่หมด ไม่เหมือนกับการให้อย่างอื่นเป็นทาน ซึ่งให้เท่าไรก็ไม่พอไม่จบไม่สิ้น เมื่อฝ่ายที่ได้รับมากพอแล้วแทนที่จะคิดรักษาและทำประโยชน์ให้งอกเงยขึ้น กลับนำไปแสวงหา กิน กาม เกียรติ ต่อไป จนหลง จนลืมตัว และเห็นแก่ตัว โดยลืมไปว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องคืนให้โลกในที่สุด
แบบเดียวกับการก่อพระเจดีย์ทรายที่ชายทะเล จะก่ออย่างวิจิตรพิสดารอย่างไรก็ตาม พอมีคลื่นชัดมาลูกเดียวเจดีย์ก็หายไปหมด เพราะฉะนั้นเมตตาแบบโลกๆ ยังเป็นการทำเพื่อตัว เพื่อหวังผลอยู่ จึงไม่เป็นแก่นสารและไม่พ้นทุกข์ จนกว่าจะก่อเป็นเมตตาขึ้นในจิต เช่นพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์ท่าน ตลอดจนพระอริยสงฆ์ที่หมดตัวตนจากจิต ซึ่งจะมีเมตตาธรรมค้ำจุนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้เลิกยึดถือว่ามีตัวตนเป็นของคนจริงๆ และเข้าสู่สภาวะสันติสุขที่แท้จริงได้
กรุณา หมายถึงความสงสาร,คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ โดยตัวเองต้องพ้นทุกข์ได้ด้วยจึงจะถูกต้อง ถ้าจิตยังหวั่นไหวเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ก็ยังเป็นกรุณาที่ประกอบด้วยอวิชชาหรือโมหะ ถึงแม้จะช่วยผู้อื่นได้แต่ตัวเองก็ยังเดือดร้อนไปด้วย จึงต้องเป็นกรุณาที่จะปลดเปลื้องทุกข์ของผู้อื่นโดยบริสุทธิ์ใจ เท่าที่มีเหตุปัจจัยพอจะช่วยได้ โดยหมดความรู้สึกว่ามีตัวตน-ของตน
มุทิตา คือความชื่นบาน ยินดีไปกับผู้อื่นที่เขาได้ดีมีสุข แต่ต้องไม่เลือกยินดีเฉพาะผู้ที่ตนพอใจหรือมีส่วนได้ส่วนเสียด้วยกันเท่านั้น ต้องเป็นดวามยินดีที่ปราศจากตัวตน เรา–เขา จึงจะไม่เกิดทุกข์เกิดโทษ ทั้งตนเองและผู้อื่น
อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลางด้วยปัญญา ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง ไม่ดีใจเสียใจ เมื่อเห็นผู้อื่นประสบกับความวิบัติ รู้จักวางใจเฉยเป็นปกติได้ เมื่อมีโอกาสหรือจังหวะที่จะช่วยใครตรงไหนได้ ก็ช่วยทันที แต่ช่วยด้วยสติปัญญาและปราศจากความรู้สึกว่ามีเขามีเราเป็นตัวเป็นตนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่อุเบกขาแบบโมหะ คือช่วยได้ก็ไม่ช่วยกลับเมินเฉยเสีย หรือในขณะที่ยังไม่สมควรจะช่วยก็ตัดสินใจเข้าไปช่วยจนตัวเองต้องเดือดร้อนไปด้วยก็ยังใช้ไม่ได้ จึงต้องพิจารณาเรื่องพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นเครื่องอาศัยอย่างถูกต้องด้วยสติปัญญาเสมอ
ผู้ใหญ่มา :แหม... หลวงพ่อช่างอธิบายได้แจ่มแจ้งจริงๆ ผมเองเคยฟังคุณประพันธ์เล่าถึงเมตตาแบบนี้เหมือนกัน เพระอาจารย์กตธุโรสอนว่าไม่ให้หลงเมตตา ให้รู้จักใช้เมตตาที่เป็นความบริสุทธิ์จากใจ ซึ่งไม่ยึดถือว่ามีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาในใจ เป็นโลกุตตรเมตตาและมหาเมตตา อย่างที่หลวงพ่อแยกแยะให้ฟังนั่นแหละครับ
ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมจนเห็นธรรม นำไปใช้พร่ำเพรื่อไม่ถูกกาละเทศะหรือเรียกว่าขาด สัปปุริสธรรม ๗ (ธรรมของผู้รู้ผู้ดีหรือสัตบุรุษ ๗ อย่าง ได้แก่ รู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน (บริษัท) บุคคล ) จะถูกหาว่าเป็นบ้าได้ ผู้รับก็จะปฎิเสธ พร้อมทั้งหมดโอกาสที่จะรู้ธรรมเห็นธรรม มิหนำซ้ำจะไปบังนิพพานเขาเสียอีก อาจารย์กตธุโรจึงเน้นกับลูกศิษย์เสมอว่า อย่าได้นำธรรมะไปแจกแก่ผู้ที่ไม่เห็นคุณค่า ไม่ต้องการ เพราะเขายังไม่เห็นทุกข์ ไม่ต้องการดับทุกข์ทั้งๆ ที่มีความทุกข์ ผู้ที่ยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ยังไม่ต้องการให้ใครช่วยดึงกงจักรออกก็ต้องปล่อยเขาไว้ก่อน แต่จงให้แก่ผู้ที่เห็นทุกข์และต้องการออกจากทุกข์แล้วน้อมจิตเข้ามารับ จึงจะเกิดบารมีเห็นธรรมได้ง่าย ทั้งผู้ให้ก็ไม่เหนื่อยเปล่า ส่วนผู้รับก็ได้รับประโยชน์ตามอานิสงส์แห่งศรัทธาและความเพียรตลอดจนสติ สมาธิ ปัญญาเฉพาะตน
หลวงพ่อแช่ม :หลวงพ่อก็เห็นด้วย เพราะคนสมัยนี้มีความหลงมากกว่าสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ของเรามาก คนสมัยก่อนมีอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตนและเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่แล้ว อีกทั้งสิ่งยั่วยุให้เกิดความโลภ โกรธ หลง ก็มีน้อย จึงสามารถเรียนรู้ที่จะไม่ยึดถือกิเลสมาเป็นของตนได้ง่ายกว่าคนสมัยนี้ ว่าแต่ว่าผู้ใหญ่เคยถามคุณประพันธ์ไหมว่า เขาตรวจได้อย่างไรว่าออกจากขันธ์ใดขันธ์หนึ่งหรือทั้งหมดได้แล้ว?
ผู้ใหญ่มา :ผมเคยถามครับ เขาบอกว่าเมื่อไม่ยึดขันธ์ใดแล้ว เวทนานั้นจะอยู่ตามธรรมชาติ เช่นเวทนากายก็รู้ว่าเป็นเรื่องของกาย แต่เวทนาพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ มันจะหมดหรือมีบ้างแบบนันทิ (เผลอเพลิน) ก็ต้องตรวจกันอีก จนมันไม่โผล่ให้เห็นหรือรู้สึก เรื่องนันทินั้นจัดเป็นธรรมฝ่ายที่เผลอเพลินโดยไม่เจตนา จึงไม่ถือว่าเป็นกิเลส แต่ก็ต้องไม่ยึดติดและปล่อยวางให้หมด
ถ้าสัญญาขันธ์ยังทำงานจำได้หมายรู้ในสิ่งผิดหรือถูกอยู่ ก็ยังมีเราหลงอยู่ในสัญญาขันธ์นั้นๆ ยังก่อให้เกิดสังขารขันธ์และยึดถือในเรื่องกุศล อกุศลได้
ส่วนวิญญาณขันธ์ก็จะทำงานอย่างติดรู้ มีมานะในจิตวิญญาณได้อีก แม้จะเป็นเรื่องที่บางเบาเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
เพราะฉะนั้นอาจารย์จะกระหนาบลูกศิษย์ที่ไม่ต่อธรรมสม่ำเสมอ และเตือนให้ตรวจดูใจ จนหมดมานะหมดอวิชชา กันจริงๆ เหลือแต่ขันธ์ห้าล้วนๆ ทำงานกัน โดยไม่มีอุปาทานเลย จีงจะหมดความเป็นคน ข้ามพ้นโลก หมดโลภ โกรธ หลง กันเด็ดขาด ซึ่งรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น จึงต้องเรียนรู้ที่จิตที่ใจตนนี่เอง ไม่ให้ไปเที่ยววัดใจคนอื่นว่าหมดหรือยัง บางครั้งการแสดงออกตามบทของขันธ์ห้า อาจจะไม่ถูกใจผู้ฟัง แต่ผู้ฟังจะไปวัดว่าผู้พูดยังมีกิเลสอยู่ย่อมกล่าวเช่นนี้ไม่ได้
หลวงพ่อแช่ม :อือ... ก็นับว่าละเอียดลออดี หลวงพ่อเองยอมรับว่าไม่ถนัดที่จะสอนธรรมชนิดจี้ลูกศิษย์ แบบนิ้วจิ้มตาหรือตัวต่อตัว จิตต่อจิต ให้เห็นธรรมถึงตัวจริงตัวแท้ หรือเจาะเปลือกไข่ให้ลูกไก่ฟักออกมาได้เร็วๆ แบบเซ็นผสมสมถะ-วิปัสนา เช่นอาจารย์กตธุโร แต่ก็เข้าใจวิธีการของท่าน และให้การสนับสนุนเต็มที่ จะได้มีพุทธบริษัทที่เห็นธรรมจนพ้นทุกข์หรือวางทุกข์ได้จริงมากขึ้น
ผู้ใหญ่มา :ครับ ผมก็จะหาโอกาสไปเรียนเพิ่มเติมจากอาจารย์กตธุโรบ้าง มารับจากหลวงพ่อบ้าง หรืออาจจะไปคุยกับคุณประพันธ์และลูกศิษย์อาจารย์กตธุโรคนอื่นๆ บ้าง ตามแต่โอกาสจะอำนวยให้ ผมได้ฟังหลวงพ่อพูดวันนี้ก็รู้สึกซาบซึ้งใจจริงๆ ที่หลวงพ่อเป็นพระแท้ มีใจกว้าง และยอมรับฆราวาสซึ่งรู้ธรรมเห็นธรรมจริงเป็นกัลยาณมิตร จะได้มีผู้รู้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์และเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป จนเกิดผลพ้นทุกข์กันได้จริง ไม่ใช่มีแต่คนรู้ธรรม แต่ต้องเห็นธรรม ถึงธรรม ชนิดไม่ยึดติดธรรมทั้งปวงด้วย เพราะมันเป็นอนัตตาและสุญญตา ใช่ไหมครับ?
หลวงพ่อแช่ม :เอาหละ โยมผู้ใหญ่ก็ปฎิบัติถูกต้องแล้วและเห็นธรรมขึ้นมาในระดับสูงแล้ว ว่าแต่ว่า คุณประพัน์เขาบอกเรื่องความเป็นอยู่ของกายกับใจในขั้นสุดท้ายว่าอาจารย์เขาสอนให้อยู่อย่างไรหรือเปล่า?
ผู้ใหญ่มา :ครับ เขาบอกว่า ไม่ต้องไปจัดกายกับใจ หรือเอากายกับใจมาจัดให้มันหยุด ให้มันขาวให้มันว่าง หรือเล่นไม่พูด ไม่คิด ไม่ทำอะไร ไม่ใช่เช่นนั้น ขันธ์ห้าเขาต้องทำหน้าที่ไปตามปกติ จะไปหยุดเขาไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ กายและใจยังต้องบริหารควบคู่กันไปตามเหตุตามปัจจัยที่เข้ามา เวลาจะหยุดก็หยุดของเขาเอง เวลาจะใช้เขาก็ใช้อย่างปกติธรรมดา เหมือนกับที่เคยเป็นคนโดยสมมุติ แต่เขารู้แจ้งขึ้นมาจากใจแล้วว่าอะไรเป็นอะไร มันเป็นสักแต่ว่าสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ความยึดถือในสิ่งทั้งปวงก็จะหายไป ธรรมชาติเขาเปลี่ยนของเขาเอง บังคับไม่ได้ ปล่อยให้เขาทำหน้าที่ในโลกสมมุติอย่างถูกต้องตามสมมุติโดยใจไม่ยึดถือว่าเป็นจริง เพราะสมมุติทุกชนิดมีไม่จริง แต่ต้องทำไปตามเหตุที่ถูกต้องเสมอ
เมื่อเขาได้เรียนรู้แล้ว สัญชาตญาณได้ถูกพัฒนาแล้ว มีธาตุรู้ที่รู้แล้วด้วยสติปัญญา และเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งทั้งปวงแล้ว เท่ากับได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ที่เคยหลงยึดถือว่าเป็นจริง และวางความรู้ทั้งหมดลงได้ เพราะรู้นั้นไม่ใช่เรา-ไม่ใช่ของเรา ไม่มีทั้งผู้รู้และผู้ไม่รู้ ไม่มีทั้งผู้บรรลุและไม่บรรลุธรรม ไม่มีผู้มาและผู้ไป จึงเป็นอิสระ ว่าง และหมดปัญหาจริงๆ สิ่งที่มิใช่ตัวตนและเป็นสิ่งปรุงของธรรมชาติ จึงสลายไปสู่ธรรมชาติตามเรื่องของธรรมชาติ โดยกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บังคับอยู่
สิ่งที่ยังรู้ไม่ได้ก็ย่อมจะมี แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปสงสัยอะไรอีก ก็เป็นอันว่าจบสิ้นการเรียนรู้ เพราะสิ่งที่รู้และถูกรู้ต่างก็เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ หาใช่ตัวตนของอะไรไม่ มันจะเป็นอยู่อย่างนั้นๆ จนกว่าเหตุปัจจัยจะดับไป แม้ไม่มีการรู้เขาก็เป็นเช่นนั้น เมื่อถูกรู้แล้วเขาก็เป็นเช่นนั้น
“การที่จิตเข้าไปรู้ว่าอะไรๆ ก็มีไม่จริงในสังขารธรรม ไม่มีตัวตนที่คงที่อยู่เที่ยงแท้ถาวรเป็นอะไรๆ ให้ยึดถือได้จริงๆ มีแต่สภาวะที่เป็นอยู่ชั่วคราวในปัจจุบันขณะเท่านั้น โดยไม่บอกว่ามีอะไรเป็นอะไร ซึ่งรู้ได้เฉพาะเหตุปัจจัยของธาตุนั้นๆ แล้วสลายไปหมดตามกฎพระไตรลักษณ์ นี่แหละคือการเห็นความจริง
สังขารธรรมเดิมนั้นเป็น สังขาร ใน วิสังขาร อยู่แล้ว เพราะบอกไม่ได้ว่าเป็นอะไรมาแต่เดิม และยังไม่มีความหมายใดๆ จนกว่าจะมีสมมุติบัญญัติตั้งให้เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาด้วย อวิชชา เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังยึดถือว่ามีอะไร เป็นอะไรจริงในสังขารธรรม แม้แต่ความไม่จริงที่เข้าไปเห็น ก็จะยังไม่พบกับความจริงแท้ที่เป็น โลกุตตรธรรม
ผมกราบลาก่อนละครับ จะรีบไปบอกลูกชายถึงเรื่องที่เขาฝากให้มาถามหลวงพ่อ และส่งเขาขึ้นนครสวรรค์ในตอนบ่าย
หลวงพ่อแช่ม :เจริญสุขๆ เถอะโยมผู้ใหญ่ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ให้สมกับที่ได้มาพบพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และเรียนรู้จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

“อยู่อย่างไม่จริง (ไม่มีตัวตน-ของตน) นั่นแหละเป็นสุขจริง ของจริงย่อมไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงย่อมไม่จริงแท้ ( อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) แน่ยิ่งกว่าแน่ คือการเห็นสังขารธรรมด้วยสติปัญญาว่าเป็นมายาของความจริงแท้ จึงหมดการปรุงแต่งและหมดอยาก ก็จะถึงที่สุดแห่งการเรียนรู้และเห็นแจ้งสภาวธรรมตามที่ป็นจริง อยู่กับความว่างที่แท้จริงและเป็นจริงตลอดกาล คือ “นิพพาน”

ถ้าหมดยึดสิ่งใดใจก็ว่าง
อย่าได้ตั้งสิ่งใดให้ใจหลง
เพราะมันว่างมาแต่เดิมเติมไม่ลง
อย่าแบกหลงไปล้างหลงกันอีกเลย

กตธุโร
--------------------------
อย่าหยุดจิต

อย่าหยุดจิตหรือคิดให้จิตหยุด
คนที่พูดคนที่ทำตามวิสัย
ได้แต่พูดได้แต่ทำตามกันไป
ผลสุดท้ายหยุดได้ประเดี๋ยวเดียว
จิตเกิดทุกข์ทุกทีที่ขันธ์ห้า
จิตก็เป็นอนัตตาข้าไม่เกี่ยว
จิตก็จิตกายก็กายตายทีเดียว
ถ้าใครเกี่ยวใครข้องต้องเกิดตาย
จิตจะนิ่งหรือไม่นิ่งทิ้งมันก่อน
อาจารย์สอนลูกศิษย์ติดไม่ได้
จิตไม่มีเราไม่มีจะมีใคร
อ้ายที่เกิดที่ตายโลกสร้างเอง

กตธุโร

อะไรอะไรก็หมด

มันไม่มีอะไรในอะไรไร้สำนึก
จะต้องฝึกจะต้องฝันกันอีกหรือ
ปั้นทั้งจิตจัดทั้งกายให้ร่ำลือ
ประกาศชื่อออกชัดวิปัสสนา
ทำอะไรได้อะไรได้อีกเล่า
ไม่มีเราผู้เสวยเลยนี่หนา
มีแต่กายกับใจไร้เวทนา
ก็รู้ว่าเขาเป็นเช่นนั้นเอง

กตธุโร



ต้องเลี้ยงกาย

กายใจไม่ใช่เราต้องเฝ้าเลี้ยง
เฝ้าถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเขา
เล่นสมมุติบัญญัติแล้วขัดเกลา
ทิ้งของเก่าของใหม่ไม่ต่อเติม
เราไม่ได้เกิดมาน่าจะรู้
ที่มีอยู่ไม่ใช่เราอย่ากล่าวเสริม
เพราะมีโลกจึงมีคนปนของเดิม
ถึงต่อเติมเขาก็เป็นเช่นนั้นเอง

กตธุโร

ข. อาจารย์กตธุโรตอบปัญหาธรรมแก่ศิษย์
ปัญหาที่ ๑
ศิษย์ :อาจารย์ครับผมมีปัญหาจะถามอาจารย์อย่างนี้ครับ คือผมเห็นแล้วว่าอะไรก็ยึดไม่ได้แม้แต่ความว่างที่อาจารย์เคยสอนไว้ ผมเห็นสัญญามันเข้าไปยึดครับ ต่อไปผมจะไม่เอาอะไรทั้งหมด เพราะยึดไม่ได้แม้สัญญา ถูกไหมครับอาจารย์?
อาจารย์ :มันก็ถูกตามที่เธอว่า ถูกตามสัญญา แต่มันยังมียึดที่จะไม่ยึดที่จะอยู่อีกนะ เลยกลายเป็น สัญญาไม่ยึด ติดอยู่อีก
ศิษย์ :แสดงว่าแม้ไม่มีอะไรแล้ว ก็ไม่ให้ยึดว่าไม่มีอะไร ใช่ไหมครับ?
อาจารย์ :ใช่
ศิษย์ :ก็ต้องปล่อยอีกซิคร้บ?
อาจารย์ :ถ้ายังมีปล่อยก็มีการยึดติดสัญญาปล่อยอีกนะ
ศิษย์ :อ้าว... อาจารย์จะให้ทำอย่างไรล่ะครับ?
อาจารย์ :เพียงแต่รู้ตามสัญญาเท่านั้น ให้เห็นว่าเป็นสักแต่สัญญาเท่านั้น
ศิษย์ :โอ้โฮ... ผมกระจ่างแจ้งจากใจแล้วครับ เจ้าสัญญานี่เองเป็นตัวทำให้ยึดทั้งขึ้นทั้งล่องเลย กระผมขอลาก่อนนะครับ
อาจารย์ :สวัสดี สาธุ
-----------------
ปัญหาที่ ๒
ศิษย์ :สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันโทรศัพท์ทางไกลมาจากชลบุรีค่ะ
อาจารย์ :สวัสดี มีอะไรว่าไป
ศิษย์ :คือดิฉันทำตามที่อาจารย์สอน ว่ามันเป็นมันนั้นพอจะเข้าใจและมองเห็น แต่มันคอยจะเผลอค่ะ
อาจารย์ :ก็ใครเผลอล่ะ?
ศิษย์ :มันแหละค่ะ ทำอย่างไรจึงจะไม่เผลอคะ?
อาจารย์ :มันเผลอจริงหรือ?
ศิษย์ :ไม่จริงค่ะ
อาจารย์ :เมื่อไม่จริงจะมัวไปตั้งให้มันเผลอ-ไม่เผลอทำไมอีก? ถ้าไม่เผลอก็ไม่ได้อะไรจริง เผลอก็ไม่ได้อะไรจริง มันมีค่าเท่ากันจึงต้องปล่อยมัน ได้แต่รู้ตามเท่านั้น
ศิษย์ :อ๋อ ดิฉันเข้าใจแล้วค่ะอาจารย์ ขอบพระคุณค่ะ กราบลาค่ะ
อาจารย์ :สวัสดี
----------------------
ปัญหาที่ ๓
ศิษย์ :สวัสดีครับอาจารย์ ผมเป็นศิษย์ใหม่ ขอกราบอาจารย์และฝากตัวเป็นศิษย์ด้วย
อาจารย์ :สวัสดี เธอมีปัญหาอะไรค่อยๆ คุยกับอาจารย์และยกปัญหาของเธอมาคุยกันนะ
ศิษย์ :ครับ อาจารย์ ผมได้เรียนรู้ธรรมมาพอสมควร ได้อ่านหนังสือ “อะไร ๆ ก็ไม่จริง” ก็รู้ว่ากายไม่ใช่ของเรา และมีไม่จริง แต่ผมอยากทราบว่า ทำไมยังไม่ออกจากความอึดอัด? มันไม่แจ้ง อยากจะเห็นลงไปเลยให้กระจ่างจากใจ
อาจารย์ :เธอฟังอาจารย์นะ ที่ไม่ออกเพราะมีเธอตั้งเอาว่าไม่ออก มันไม่แจ้งเธอก็ตั้งเอาอีก มีเธออยากเห็นอยากแจ้งอยากออก ตั้งเอาทั้งหมด แล้วทำไมไม่ยกเอาความอยากเห็น อยากแจ้ง อยากออกจากความอึดอัดนั้น ออกจากความรู้สึกเสียเลยล่ะ? ถ้ายกออกไปเสียแล้ว จะมีอะไรให้เป็นของเธอตกค้างอยู่อีกเล่า?
ศิษย์ :อ๋อ... ผมมาตั้งเอา ยึดเอา เป็นความเห็นความรู้สึกยึดเอาเท่านั้น ไม่ใช่ของจริง
อาจารย์ :อือ... ใช่แล้ว หมดความเห็นก็ไม่มีอะไรเหลือ
ศิษย์ :ก็เปล่าๆ น่ะซีครับอาจารย์
อาจารย์ :เออ! ใช่ ก็เปล่าๆ ปลี้ๆ จะมีอะไร เหมือนเอาเพชรกับกาวอย่างดีไปติดกับอากาศ มันจะติดได้ไหมเล่า?
ศิษย์ :ไม่ได้ครับ
อาจารย์ :ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเหลืออีกเลย มันเป็นมัน เป็นของมันจริงๆ อย่างเปล่าๆ
ศิษย์ :โอ้โฮ! อาจารย์ครับผมหลงติดอยู่นานจนอายุ ๓๘ ปี เพิ่งจะรู้ได้วันนี้เอง ว่าคนเราเกิดมาเปล่าๆ ปลี้ๆ ผมขอกราบคารวะอาจารย์อีกครั้งครับ ผมไม่สงสัยและไม่อึดอัดอะไรอีกแล้ว
อาจารย์ :สาธุ... เธอใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาทีก็เปิดกระแสธรรมได้ อนุโมทนาด้วย
ศิษย์ :ผมกราบลาไปทำงานก่อนละครับ
อาจารย์ :สวัสดี
------------------
ปัญหาที่ ๔
ศิษย์ :สวัสดีครับอาจารย์
อาจารย์ :สวัสดี เธอมีปัญหาอะไรหรือ?
ศิษย์ :ผมรู้เรื่องกายกับใจดีแล้ว ไม่ติดใจอะไรทั้งหมด ทั้งรู้ทั้งเห็นว่ามันเป็นมัน เป็นของมัน และมันทำงานกันเป็นขบวนการ ทั้งข้างนอกข้างใน แต่ทำไมความคิดปรุงแต่งจึงไม่หมดไปได้? ทั้งๆที่รู้ว่ามันก็ปรุงของมัน แล้วมันก็ดับของมัน ไม่มีเราเข้าไปสนใจมัน
อาจารย์ :เอ้า... เธอฟังให้ดีนะ เพราะมันมีเหตุมันจึงคิดปรุงแต่ง เธอก็ได้แต่รู้-เห็นมัน แต่ยังไม่แจ้งในเหตุและไม่หมดการยึดมันจากใจ ก็เลยออกจากมันยังไม่ได้ ถ้าเห็นแจ้งในเหตุและหมดการยึด เหตุก็จะหมด แล้วมันจะคิดเอาอะไร? เพราะไม่ได้อะไรจริง ก็จะเหลือแต่ปรุงเปล่าๆ คิดเปล่าๆ ไม่มีเราในมัน จะเหลือแต่ความคิดเกิด-ดับ เป็นสักแต่เวทนา สังขาร วิญญาณเท่านั้น เข้าใจไหม?
ศิษย์ :ผมเข้าใจแล้วครับอาจารย์ กราบลาละครับ
อาจารย์ :สาธุ...
--------------------
ปัญหาที่ ๕
ศิษย์ :สวัสดีครับอาจารย์ ผมมีปัญหามาไม่ได้จึงได้โทรศัพท์ถึงอาจารย์
อาจารย์ :สวัสดี มีปัญหาอะไรว่ามาเลย
ศิษย์ :ผมอยากถามว่า พระอริยเจ้าชั้นสูงนั้น ท่านอยู่อย่างไร? การวางจิตของท่านเป็นอย่างไร? ท่านไม่คิดนึกอะไรเลยหรือ?
อาจารย์ :เออ... ก็แปลกดีนะ ไม่รู้ว่าจะถามไปทำไม? ถึงเธอจะรู้ไปก็ทำตามลำบากมากนะ อาจารย์จะบอกให้ก็ได้ เป็นปริศนาธรรมให้เธอเข้าใจเอาเอง
เหมือนกับมีถนนอยู่สายหนึ่ง มีผู้คนมากมายเดินอยู่ ข้างถนนมีอะไรวางอยู่หลายอย่างเป็นระยะๆไป หรืออาจจะมีบางสิ่งตกเรี่ยราดอยู่ คนส่วนมากเมื่อพบของเล่นที่เคยชอบ ก็ชอบจะเล่นอยู่เสมอในจิตไม่มากก็น้อย ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ได้อะไรจากการเล่น แต่อดที่จะแวะดูหรือที่จะหยิบมาเล่นไม่ได้
ส่วนพระอริยะนั้นท่านเดินผ่านไปเฉยๆไม่ใยดีเลย ไม่ใส่ใจเลยจริงๆ ซึ่งผิดกันมาก ความคิดของท่านไม่มีแบบคนๆ ไม่คิดเรื่องเหลวไหลใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่รู้เท่านั้น ทั้งเรื่องดี เรื่องชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่ว ท่านพ้นภาวะเหล่านั้นมาแล้ว ท่านเลยอยู่อย่างปกติ หากท่านจะคิดก็คิดแบบเปล่าๆ ไม่ติดในความคิดนั้นๆ คิดเพื่อจะใช้เป็นประโยชน์กับศิษย์เป็นต้น เลยเหมือนกับท่านไม่ได้คิดอะไรทั้งเดือน ทั้งปี แค่นี้พอไหม?
ศิษย์ :ขอบคุณมากครับอาจารย์ สวัสดี
อาจารย์ :สวัสดี
--------------------
ปัญหาที่ ๖
ศิษย์ :สวัสดีค่ะ การเรียนธรรมแบบที่อาจารย์สอน รู้สึกว่ามันยังใหม่ต่อการรับฟัง จะต้องค่อยเป็นค่อยไป ดิฉันฟังและรับจากที่อื่นมาก็มาก มันยังตัดไม่ค่อยออก จึงเรียนช้ากว่าสามีและเพื่อนๆ
อาจารย์ :ไม่เป็นไร ตามสบาย เมื่อไรก็ได้ เธอคิดว่ามีเร็วมีช้าด้วยหรือ? ช้าหรือเร็วเธอตั้งเอาใช่ไหม? เธอตั้งให้มันเดี๋ยวนี้เอง
ศิษย์ :ก็มันยังติดอยู่นี่อาจารย์
อาจารย์ :เออ... ใช่ เธอก็ตั้งเอาอีกว่ามีติดหรือออก เธอตั้งให้มันอยู่เรื่อย มันจะเปิดได้อย่างไรเล่า?
ศิษย์ :ถ้าดิฉันไม่ยึดติดใดๆ มันก็ไม่มีอะไรน่ะซีคะ แล้วจะอยู่อย่างไรล่ะคะ?
อาจารย์ :ก็อยู่อย่างไม่มีอะไรน่ะซี ก็เปล่าๆ ไงล่ะ
ศิษย์ :อ้อ! รู้แล้ว ก็เราไม่ใช่คนไม่ใช่ขันธ์ห้า ก็เหลือแต่ขันธ์ห้าเปล่าๆเท่านั้นเอง เมื่อเราหมดไป คนไม่มี อะไรๆก็ไม่จริงทั้งหมด
อาจารย์ :ใช่แล้ว เธอเข้าใจธรรมแล้วนี่ อย่างนี้แหละเรียกว่าเปิดกระแสแห่งธรรม จบขั้นตอนแรกแล้ว
ศิษย์ :ขอบพระคุณค่ะอาจารย์
อาจารย์ :สาธุ...



Create Date : 20 สิงหาคม 2554
Last Update : 20 สิงหาคม 2554 4:53:54 น. 1 comments
Counter : 1696 Pageviews.

 
คืนนี้มีเพื่อนโพสคำสอนของพระรูปหนึ่งใน fb. เราอ่านแล้ว
เห็นว่าเป็นคำสอนแนวเซน เช่นเดียวกับคำสอนของอาจารย์
ทำให้รู้สึกคิดถึงอาจารย์ขึ้นมาแบบฉับพลัน นึกสนุกลองโพสชื่อ
อาจารย์ลงไป ไม่คิดว่าจะได้เจอกับกลอนคำสอนของอาจารย์
อีกครั้ง..ต้องขอบคุณเพื่อนคนนั้นและขอขอบคุณเจ้าของ blog นี้
ด้วยเช่นกัน


โดย: มด IP: 103.1.167.35 วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:23:58:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jesdath
Location :
เชียงราย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jesdath's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.