คดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน-2

คดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

โดย กรมประชาสัมพันธ์ วัน ศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 15:46 น.
(แม้ว่าจะมีการคัดค้านมากมายจากประชาชน แต่นักการเมืองก็ดันทุรังสร้างจนได้ เช่นเดียวกับ ความล้มเหลวที่นิวซีแลนด์ บ่อบำบัดใช้รวมกับน้ำจากอุตสาหกรรม ก็ทำงานไม่ได้ ---ปัจจุบัน บ่อน้ำเสียคลองด่านก็ใช้งานไม่ได้)

หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เข้าทำการปฏิรูปและยึดอำนาจจากรัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นั่งเป็นประธาน ป.ป.ช. เพื่อนำคดีที่ค้างกว่า 10,000 คดี และคดีความที่กำลังใกล้จะหมดอายุความ โดยเฉพาะคดีการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ที่จะหมดอายุความปลายปี 2549 นี้ รวมไปถึงคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และคดีของนักการเมือง
คดีการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี ปัจจุบันคดีนี้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ คดีอาญาที่กรมควบคุมมลพิษฟ้อง บริษัทร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับเหมาก่อสร้าง มีจำเลยรวม 18 ราย โดยศาลประทับรับฟ้องแล้วว่ามีมูลความผิดจริง จึงได้สั่งสืบพยาน คาดว่า ภายใน 1 - 2 ปี จะแล้วเสร็จ หากพบมีบุคคลใดกระทำผิดก็จะส่งฟ้องศาลแพ่งต่อไป และคดีที่ ป.ป.ช. ดูแลอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำสำนวนเสร็จแล้วเช่นกัน แต่ติดอยู่เรื่องข้าราชการที่ลาออก หรือเกษียณอายุราชการไปแล้วเกิน 2 ปี จะพ้นความผิดไปเลยหรือต้องพิจารณา
ซึ่งคดีนี้ มีข้าราชการและนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องมากกว่า 20 ราย ทั้งที่เกษียณอายุ หรือลาออกจากราชการมากกว่า 2 ปี และเรื่องที่อนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายกับบริษัทร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จำนวน 6,200 ล้านบาท ก็ไม่มีความคืบหน้าและไม่มีการเรียกบุคคลใดมาสอบสวนเพิ่มเติม
เป็นที่น่าสังเกตในความไม่โปร่งใสของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีการใช้งบประมาณสูงถึง 26,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในการประมูลโครงการครั้งแรกใช้งบประมาณเพียง 10,500 ล้านบาทเท่านั้น รวมทั้งเหตุใดต้องต่อท่อยาวกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อดึงน้ำเสียจากที่ต่างๆ เข้ามาบ่อบำบัดในสถานที่เพียงแห่งเดียว และมีการเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งมีชาวบ้านคลองด่านส่วนหนึ่ง นำโดยนายเฉลา ทิมทอง และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี เป็นแกนนำร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและอาชีพประมงเลี้ยงหอยแมลงภู่ จะได้รับหลังจากก่อสร้างโครงการ
สำหรับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อเนื่องยาวนานกว่า 7 รัฐบาล จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 15 ปีเต็ม ซึ่งมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้อนุมัติ 3 คน ได้แก่ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีการเซ็นสัญญาโครงการบำบัดน้ำเสียกับผู้รับเหมา ในเดือนสิงหาคม 2540 ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว พนักงานสอบสวนจะทำสำนวนความเห็นเสนอสั่งไม่ฟ้องต่อไป
นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกกล่าวหา ว่า ซื้อที่ดินในบริเวณที่จะใช้ก่อสร้างโครงการ แล้วนำมาขายต่อให้กับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ในสมัยดำรงตำแหน่ง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งอดีตข้าราชการระดับ 10 และข้าราชการระดับ 10 จำนวน 2 คน ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ รวมกับข้าราชการกรมที่ดินอีกประมาณ 20 ราย รวมทั้งบริษัทเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดหลายข้อหา
สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการโดยตรง จนกระทั้ง นำไปสู่การสั่งหยุดโครงการ ดำเนินคดีฟ้องร้อง และส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. ส่วนที่ดินที่ตั้งโครงการพบมีมูลความผิดว่า เจ้าหน้าที่กรมที่ดินออกโฉนดโดยมิชอบ ทับพื้นที่คลองสาธารณะและออกโฉนดโดยไม่มีหลักฐานที่ดินเดิมบางส่วน ทำให้กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดรวม 5 แปลง เนื้อที่ 1,357 ไร่ พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่ดินที่เกี่ยวข้อง และส่งรายชื่อให้ ป.ป.ช.จัดการ ด้านการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย พบการกระทำผิดตั้งแต่ขั้นตอนการประมูล การเซ็นสัญญา โดยบริษัทที่ชนะการประมูลขาดคุณสมบัติ เนื่องจากบริษัท นอสต์เวสท์ฯ ที่เชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดน้ำเสียถอนตัวไปก่อน
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการพิจารณาผลการประมูลที่มี นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษในสมัยนั้น กลับเพิกเฉย และปล่อยให้มีการเซ็นสัญญา แม้หลักฐานได้แสดงว่ามีมูลความผิดที่ชัดเจนแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการกลับล่าช้าและมีแนวโน้มช่วยเหลือฝ่ายผู้กระทำผิดด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เข้ามานั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีทั้งบุคคลและนิติบุคคล เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก จะดำเนินการไปในทิศทางใด และสามารถยุติคดีลงได้ทันเวลาหรือไม่นั้น คงต้องติดตามการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ ต่อไป

อ่านข่าวทั้งหมดของ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ที่นี่

-----------------------------------------------
ว่าหนึ่งทศวรรษบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : บนเส้นทางการต่อสู้ของ เฉลา ทิมทอง
เขียนโดย Administrator
วันจันทร์ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2010 เวลา 08:38 น.

กว่าหนึ่งทศวรรษบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : บนเส้นทางการต่อสู้ของเฉลา ทิมทอง

กว่าหนึ่งทศวรรษบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : บนเส้นทางการต่อสู้ของเฉลา ทิมทอง เรื่องบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แต่กลับกลายเป็นเรื่องสนุก ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นความรับผิดชอบอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับภาระเพื่อคลองด่านบ้านเกิด

สืบเสาะความจริงที่มาโครงการ : คำถามที่ไร้คำตอบ
ด้วยความหวงแหนคลองด่านบ้านเกิด กลัวว่าหากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียมาตั้งแล้วลุงเฉลาและชาวบ้านจะทำมาหากินกันอย่างไร ปู ปลา กุ้ง และหอยที่เป็นเงินไปเกาะไม้จะตายหรือไม่ ถ้าไม่มีสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตนเองและชาวบ้านจะไปทำอะไรเป็น เพราะเติบโตมากับอาชีพทำประมงสุขภาพร่างกายจะได้รับผลกระทบหรือไม่ และต่อไปลูกหลานจะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร ที่สำคัญก็คือ ทำไมชาวคลองด่านจึงไม่รู้เรื่องการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อนเลยแม้แต่น้อย
ลุงเฉลาเริ่มค้นหาความจริงด้วยการสอบถามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้ความกระจ่างได้ จนปลายเดือนธันวาคม 2541 ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชี้แจงเหตุผลของกรมควบคุมมลพิษ ขณะนั้นสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นครั้งแรกให้กับชาวคลองด่าน ทั้งๆ ที่โครงการได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 โดยก่อนหน้านั้น ขบวนการจัดหาที่ดินเพื่อขายให้กับกรมควบคุมมลพิษเพื่อสร้างโครงการบ่อบำบัดเริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี 2531 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัน เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เห็นชอบในหลักการ โดยมีประเด็นสำคัญของมติ เห็นควรรวมแผนงานโครงการจัดการน้ำเสียของกรมโยธาธิการ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านั้น รวมไว้ในแผนงานด้วย
การชี้แจงของกรมควบคุมมลพิษไม่ได้สร้างความกระจ่างให้กับชาวคลองด่านและลุงเฉลาในหลายประเด็น เช่น ปัญหาสารพิษ และกากตะกอน ในที่สุดลุงเฉลากับชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งและหอยอีก 2 คนจึงตัดสินใจคัดค้านการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ขณะนั้นในใจก็กลัวอิทธิพลของนักการเมืองที่ลุงเฉลารู้ดีว่าเป็นผู้กว้านซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าวจากชาวบ้าน



กำเนิดแกนนำ
ภายหลังตัดสินใจคัดค้านโครงการ ลุงเฉลาได้รวมรวมสมัครพรรคพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างและชาวบ้านเชื่อถือมาเป็นแกนนำ แกนนำหลักๆ ประกอบด้วย เฉลา ทิมทอง ทำหน้าที่วิชาการ ศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริง ดาวัลย์ จันทรหัสดี ทำหน้าที่ประสานงานกับเอ็นจีโอ กรีนพีซในการตรวจสอบโครงการ ตลอดจนการร้องเรียนไปยังเอดีบี. ระงับการให้เงินกู้แก่โครงการ เชิดพรรณ บุญเกิด แกนนำจากตำบลสองคลอง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับชาวสองคลอง ซึ่งมีเขตพื้นที่ติดต่อกับคลองด่านและเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเช่นกัน เรียกว่ามีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจนระหว่างแกนนำ
งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการมาจากชาวบ้านช่วยกันลงขันกันออกค่าใช้จ่าย แกนนำและชาวบ้านใช้ศาลเจ้าเป็นที่ประชุม ช่วงแรกนี้การจัดองค์กรของแกนนำยังขาดหน่วยงานสนับสนุนความรู้ด้านเทคนิค ทำให้ลุงเฉลา แกนนำหลักรู้สึกกังวลและเครียดกับความไม่รู้จำนวนมากที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า

กลยุทธ์ทุกรูปแบบ
เนื่องจากโครงการเกิดขึ้นโดยที่ชาวบ้านคลองด่านไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน เฉลาใช้ใบปลิวแจกให้ชาวบ้านในช่วงกลางคืนอย่างเงียบๆ เขียนข้อมูลชี้ให้เห็นความเดือดร้อนที่จะได้รับหากปล่อยให้เกิดโครงการนี้ ตลอดจนชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมที่คลองด่านต้องมาเป็นสถานที่รองรับของเสียมีพิษทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น
ต่อมาชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งน่าจะเป็นหน่วยงานแรกที่เข้ามาตรวจสอบการใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ไม่เหมาะสมและการทุจริตการจัดซื้อที่ดิน
นอกจากนั้นในวันที่ 23 มีนาคม 2542 ชาวบ้านกว่า 1,500 คนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินในโครงการ โดยขอให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน ต่อมาในวันที่ 16 เมษายน 2542 กรมควบคุมมลพิษได้ชี้แจงต่อชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการอีกครั้ง
ก่อนหน้านั้นแกนนำซักซ้อมประเด็นการไฮปาร์คและแจกใบปลิวเพื่อรวบรวมชาวบ้านให้มาร่วมชุมนุมมากๆ แกนนำยังจัดเตรียมรถ แบตเตอรี่ เพราะอาจถูกตัดไฟได้ การไฮปาร์คเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน ทว่าเมื่อเกิดไฟดับ ชาวบ้านไม่พอใจได้ทำการปิดล้อมอธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่ให้เดินทางกลับ
การชี้แจงของกรมควบคุมมลพิษอีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านบรรเทาลง แต่กลับยิ่งเพิ่มความไม่พอใจของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ข้อสังเกตก็คือลุงเฉลาไม่เคยบอกชาวบ้านว่าใครคือเฉลา ทิมทอง ด้วยความที่ลุงเฉลาเกรงว่าความรู้ที่มีเพียงแค่ประถม 4 ฐานะก็ค่อนข้างยากจน หากชาวบ้านรู้ความจริงจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาลงได้ ลุงเฉลาจึงต้องปิดบังทิ้งให้เป็นปริศนาว่าเฉลา ทิมทองคือใครต่อไป

ศึกษาข้อมูลหักล้างโครงการ
ผลของการคัดค้านในวันที่ 16 เมษายน 2542 ลุงเฉลาเรียนรู้ว่าจำเป็นอย่างยิ่งมี่ต้องหาหลักฐานมาหักล้างความไม่ถูกต้องของโครงการ ลุงเฉลาเริ่มติดต่อนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับระบบบำบัด พร้อมๆ กันนั้นลุงเฉลาพยายามศึกษา ค้นหาข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการอย่างไม่ลดละ

เปิดตัวแกนนำ เฉลา ทิมทอง
การออกรายการกรองสถานการณ์ นอกจากจะทำให้ชาวบ้านรู้ว่าลุงเฉลา คือคนๆ เดียวกับเปี๊ยกที่พวกเขารู้จักแล้ว เหตุการณ์ในวันนั้นยังทำให้ลุงเฉลาได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการส่งเอกสารหลักฐานสำคัญมาให้มากมายทั้งนำมาให้ด้วยตนเองและฝากมาให้ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ชาวบ้านที่ดูรายการในวันนั้นจึงรู้ที่แท้เฉลา ทิมทองก็คือ เปี๊ยก ชาวคลองด่านที่พวกเขาคุ้นเคยนั่นเอง

ปะทะฝ่ายสนับสนุน
การออกรายการกรองสถานการณ์ของฝ่ายที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการ ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจประท้วงอีกครั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2543 เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าชาวบ้านคลองด่านจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับโครงการมิใช่มีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่ไม่เห็นด้วยดังที่ปรากฏในรายการวันนั้น
ใบปลิวคงถูกใช้เป็นเครืองมือในการกระจายข่าวการชุมนุม ชาวบ้านจึงรวมตัวกันที่วัดมงคลโคธาวาสแล้วเดินขบวนไปที่หน่วยงานก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย แม้ว่าจะมีส่วนราชการมาช่วยดูแลความเรียบร้อยแต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อคนงานของบริษัทผู้รับเหมาประท้วงชาวคลองด่านอยู่ด้านในโรงงานและกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 50 คน ถือเหล็กปล้องอ้อยเป็นอาวุธฝ่าแนวตำรวจเข้ามาที่ชาวบ้านที่กำลังนั่งกินข้าว เกิดการปะทะ ชาวบ้านบาดเจ็บ ส่วนชาวบ้านที่เหลือ เมื่อได้ทราบก็แห่กันมาช่วยประท้วง จนในที่สุดแกนนำสั่งยุติการชุมนุมเพราะชาวบ้านเริ่มอ่อนเพลีย

แสวงหาแนวร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง
นอกจากนั้นชาวบ้านได้ใช้วิธีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ขอให้ยับยั้งโครงการ ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2545 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามตรวจสอบโครงการ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมาธิการด้วยกัน 4 คณะ ได้แก่ ด้านประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรม ด้านประเด็นปัญหากฎหมายและคณะทำงานพิจารณาศึกษาและเสนอแนะทางเลือกในกรณีที่โครงการจะต้องยุติลง ในทุกคณะลุงเฉลามีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทำให้เกิดการเรียนรู้และได้ข้อเท็จจริงจำนวนมาก

โค่นเจ้าพ่อ
ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชาวคลองด่านดำเนินมาโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จนกระทั่งรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 กล่าวอ้างนิติกรรมเป็นโมฆะถึงกลุ่มกิจการร่วมค้า ระบุให้กิจการร่วมค้ายุติการก่อสร้างโครงการ แต่กลุ่มกิจการร่วมค้ามิได้ดำเนินการตามกล่าวข้างต้น นับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ลุงเฉลานำหลักฐานร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 95/2546 ลงวันที่ 3 เมษายน 2546 ให้มีการตรวจสอบการทุจริตโครงการ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 กรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องกิจการร่วมค้าในคดีแพ่งเรียกคืนเงินที่จ่ายไปจากการบอกเลิกสัญญาเป็นโมฆะ
ในที่สุด วันที่ 18 สิงหาคม 2550 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 8 ต่อ 1 ตัดสินจำคุก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นเวลา 10 ปี ในคดีใช้อำนาจข่มขู่เจ้าหน้าที่ที่ดิน หรือชักจูงใจให้ร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สำหรับคดีแพ่งก็ยังดำเนินต่อไป

ปลุกผีคลองด่าน
ภายหลังจากคำตัดสินของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคดีแพ่งที่ยังดำเนินอยู่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบให้กรมควบคุมมลพิษนำโครงการบ่อบำบัดขึ้นมาทบทวน ลุงเฉลาจึงมีหนังสือร้องเรียนไปยังนางอนงค์วรรณ มิให้ดำเนินการโครงการต่อไป แต่รัฐบาลกลับมีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 อนุมัติในหลักการให้เดินหน้าโครงการให้แล้วเสร็จ หรือที่ลุงเฉลาเรียกมติดังกล่าวว่า “มติอัปยศ”

การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด
เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษนับตั้งแต่การรับรู้ถึงภัยคุกคามจากการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียลุงเฉลาได้ใช้การต่อสู้ทุกรูปแบบที่เกิดจากสติปัญญา ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองก็มาก จากความช่วยเหลือของเครือข่ายนักวิชาการ ส่วนราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน สมาชิกวุฒิสภา ด้านข้อมูลเอกสาร ในหลายต่อหลายครั้ง ลุงเฉลาต้องทำวิจัยโดยไม่รู้ตัว วิ่งค้นคว้าหาข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ บ้างก็ถามผู้รู้
ทว่าใครจะรู้บ้างว่าวันเวลาที่ลุงเฉลาทุ่มเทให้กับการต้อสู้แบบยิบตานี้ เบื้องหลังคือป้าแดงและลูกๆ ที่เสียสละความสุขที่ครอบครัวพึงมีเฉกเช่นคนอื่นๆ เพียงด้วยเหตุผลที่เป็นคำตอบที่มักจะบอกทุกคนเสมอว่า “ก็ทำมาถึงนี้แล้วก็ต้องทำต่อไป ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ ไม่ทำต่อไปลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร” ป้าแดงพูดไปดวงตาของป้าก็แดงและมีน้ำตาคลอ ลึกๆ แล้วคำพูดนั้นคงเป็นการข่มความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตที่ไม่มีทางเลือกและไม่มีวันสิ้นสุดที่ต้องเสียสละความสุขของครอบครัวเพื่อพี่น้อง และลูกหลานชาวคลองด่าน แม้ในอีกด้านหนึ่งลุงเฉลาและป้าแดงจะรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำเพื่อชาวคลองด่านก็ตาม
บทเรียนคลองด่านคือปัญหาการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การทำประชาพิจารณ์เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการที่ขาดความชอบธรรม หากรัฐบาลดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมายแล้ว เชื่อแน่ว่าปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในหลายๆ โครงการรวมทั้งคลองด่านคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

บนเส้นทางการต่อสู้ยังอีกยาวไกลนัก สู้ต่อไปลุงเฉลา ทิมทอง...


ปิยากร หวังมหาพร
มหาวิทยาลัยศรีปทุม piyakorn@spu.ac.th
------------------------------------------------------------
คดีคลองด่าน "วัฒนา"

คดีคลองด่าน "วัฒนา" ไม่รอด จำคุก10ปี! มติ 8:1 ศาลฎีกา - อ่านลับหลัง

ออกหมายจับ-อายุความ "15ปี" "จงรัก" แจ้งตุลาการยังอยู่เขมร

"วัฒนา อัศวเหม"เจอคุก 10 ปี ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง มีมติ 8 ต่อ 1 คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ให้รับพระผงสุพรรณเลี่ยมทองที่มอบแก่ จนท.ที่ดินเพื่อช่วยออกโฉนดคลองด่าน 1,900 ไร่ ทับคลองสาธารณประโยชน์-ที่เทขยะ ออกหมายจับซ้ำมารับโทษ อายุความ 15 ปี ตร.-อัยการเล็งขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากเขมร ลูกชายบอกพ่อรู้คำตัดสินแล้ว

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 8 ต่อ 1 ตัดสินจำคุกนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นเวลา 10 ปี ในคดีใช้อำนาจข่มขู่เจ้าหน้าที่ที่ดิน หรือชักจูงใจให้ร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ศาลฎีกาฯ โดย ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน นัดอ่านคำพิพากษา คดี อม.2/2550 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวัฒนา เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใด มอบให้ หรือหามาซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนศาลฎีกาฯจะอ่านคำพิพากษา พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามจับกุมตัวนายวัฒนา ตามหมายจับของศาลฎีกาฯ แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ในการติดตามตัวได้ทราบข้อมูลจาก พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยภิญโญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) สระแก้ว เชื่อว่าจำเลยได้หลบหนีไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งจำเลยมีความรู้จักกับนักการเมืองและนักธุรกิจประเทศกัมพูชา รวมทั้งมีบ่อนกาสิโนในกัมพูชาด้วย ซึ่งมีผู้พบเห็นจำเลยอยู่ที่ฝั่งปอยเปตและกรุงพนมเปญ อีกทั้งได้มีผู้พบเห็นบุคคลในครอบครัวเดินทางข้ามไปในประเทศกัมพูชา จึงเชื่อว่าจำเลยได้หลบหนีไปอยู่ประเทศกัมพูชาก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษา และวันนี้ยังไม่สามารถนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้

ต่อมาศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โดยมีอัยการโจทก์ และทนายความมาร่วมฟังคำพิพากษา สรุปว่า องค์คณะผู้พิพากษาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรังวัดกรมที่ดิน รวมทั้งพยานเอกสารอื่นๆ ประกอบรวมทั้งราษฎรที่ขายที่ดินให้กับจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรวบรวมที่ดินเพื่อขายให้กับบริษัท ปาล์มบีช ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งมีบริษัทของจำเลยถือหุ้นอยู่ด้วย และการดำเนินการขออนุมัติที่ดินเพื่อนำไปก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเห็นว่า จำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 องค์คณะมีมติ 8 ต่อ 1 จำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ริบทรัพย์พระผงสุพรรณเลี่ยมทองคำ ของกลางกระทำผิดคดีนี้ ที่จำเลยมอบให้เจ้าหน้าที่รังวัดกรมที่ดินเป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือออกโฉนด ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญา ที่ถูกฟ้องต่อศาลอาญา คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ จ.พังงา องค์คณะเห็นว่า คดีดังกล่าว ศาลอาญายังไม่มีคำพิพากษา จึงให้ยกคำร้อง

ส่วนกรณีจำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯได้ออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา และปรับจำเลยตามสัญญาประกัน แต่ก็ไม่ได้ตัวมาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯจึงได้ออกหมายจับจำเลยรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป การที่จำเลยหลบหนีคดีนี้มีอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่จำเลยหลบหนี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98

นายไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความของนายวัฒนา กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากนายวัฒนา การมาศาลในวันนี้ถือเป็นการทำหน้าที่ทนายความครั้งสุดท้าย เมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยก็ต้องยอมรับผลคำพิพากษา ยืนยันว่า ได้ทำหน้าที่ทนายความต่อสู้แก้ต่างให้จำเลยอย่างดีที่สุดแล้ว หลังจากนี้คงไม่แจ้งผลให้นายวัฒนาทราบ เพราะนายวัฒนาคงจะทราบผลจากสื่อมวลชนเอง

ด้านนายพูนผล อัศวเหม บุตรชายนายวัฒนา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สั้นๆ ว่า "ทราบข่าวแล้วว่าพ่อโดนตัดสินอย่างไร แต่ตอนนี้ผมอยู่ต่างประเทศ ไม่สะดวกพูดคุยด้วย" เมื่อถามย้ำว่า นายวัฒนาทราบผลการตัดสินหรือยัง นายพูนผลกล่าวว่า "ทราบแล้ว" ก่อนที่วางสายโทรศัพท์

พล.ต.อ.จงรักกล่าวว่า จะประสานประเทศกัมพูชา เพื่อขอส่งตัวนายวัฒนา ตามสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่เข้าข่ายส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การขอตัวนายวัฒนา กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไทยกับกัมพูชาไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต้องใช้การเจรจาระหว่างรัฐบาล

นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์กูล รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า ต้องรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานมาที่อัยการเพื่อทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 สิงหาคม 2551 หน้า 1

----------------------------------------------------------------]
บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : โครงการผลาญชาติ


คลองด่านเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่ริมทะเลอ่าวไทยตอนใน ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการประมง มีวิถีพึ่งพาอาศัยและผูกพันแนบแน่นทั้งกับแผ่นดินและท้องทะเล ความรักความหวงถิ่นคือ แรงขับทำให้ไม่อาจยอมรับโครงการบำบัดน้ำเสียที่ถูกยัดเยียดเข้ามา... โดยไม่บอกกล่าว ครั้นเมื่อคนที่นี่ลุกขึ้นออกเสียงติดตาม ตรวจสอบ และขุดคุ้ย จึงได้ตระหนักว่า นอกจากโทษภัย - ผลกระทบ โครงการนี้ยังไม่มีประโยชน์สมราคามีก็แต่การสมรู้ร่วมคิด การปกปิด การบิดเบือน และมีการไม่ชอบมาพากล...ในแทบทุกขั้นตอน จนสรุปได้ว่า "นี่คือ โครงการผลาญชาติ..." โดย สมบูรณ์แบบ

ผู้แต่ง : กลุ่มพิทักษ์รักษ์ท้องถิ่นคลองด่าน.
พิมพ์ครั้งที่ : 2
พิมพ์ลักษณ์ : นนทบุรี : กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม, 2546
บรรณลักษณ์ : 219 หน้า : ตาราง : ภาพประกอบ ; 21 ซ.ม.
เลขเรียกหนังสือ(Call Number) : 628.43 ก174บ
-----------------------------------------------


Create Date : 22 มีนาคม 2554
Last Update : 22 มีนาคม 2554 1:42:02 น. 2 comments
Counter : 3354 Pageviews.

 
สนใจในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เพื่อ จะนำไปศึกษาหาความรู้ในเชิงกฎหมายต่อไป


โดย: ปิยะ สมรศาสตร์ IP: 125.24.106.58 วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:20:14:14 น.  

 
ผมเคยติดต่อจะขายเครื่องAir Compressors เพื่อเติม Oxigen ด้วยเครื่อง Centrifugal heavy duty แต่ owner สั่งเปลี่ยน spec เป็น root Blower แทน ซึ่งราคาถูกลงมาก และอายุการใช้งานสั้น ค่าซ่อมบำรุงสูง ผมว่าค่าปรับนี้ข้าราชการผู้รับผิดชอบคงไม่ชอบมาพากล
ขอให้เงินค่าปรับเป็นเชื้อเพลิงเผาศพผู้โกงเงินแผ่นดิน


โดย: Choon IP: 113.53.158.245 วันที่: 23 พฤศจิกายน 2558 เวลา:22:34:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jesdath
Location :
เชียงราย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
22 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jesdath's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.