ทุจริตโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ 2

ความเดิมตอนที่แล้ว: วังวนของทหารในการเมืองไทย: มองผ่านโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ [1]



มรุต วันทนากร นักศึกษาปริญญาเอก
บัณฑิตวิทยาลัยเอเชีย แปซิฟิกศึกษา
มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น


แม้ทหารจะมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยตรงโดยการเป็นรัฐบาลอย่างในยุคก่อนหน้าก็ตาม แต่ก็มิอาจปฏิเสธอิทธิพลของทหารต่อการเมืองมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐต่อกรณีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า เพราะผู้เขียนพบว่าในยุคต่อมาทหารยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดท่าทีและความเป็นไปของสนามบินแห่งใหม่ กล่าวคือ กองทัพในยุคสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ต้องการให้รัฐบาลที่เรามักเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ (คือ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร แต่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง) เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทหารในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่มากนัก ทั้งที่นักการเมืองคนสำคัญๆ ในยุคนั้นต่างสนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างดี เช่น นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช (พรรคกิจสังคม) พล.ร.อ.อมร ศิริกายะ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร นาวาอากาศโททินกร พันกระวี และ นายชุมพล ศิลปอาชา (พรรคชาติไทย) เป็นต้น


นักการเมืองต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแสดงบทบาทอย่างชัดเจนในเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะทหารไม่ต้องการจะให้กลุ่มนักการเมืองซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในโครงการก่อสร้างสนามบิน อีกทั้งนักการเมืองเองก็กล่าวไม่ได้ว่ามีจิตใจที่บริสุทธิ์ในการผลักดันโครงการดังกล่าวมากนัก การแทรกแซงของทหารในกระบวนการทางการเมืองจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่น การแสดงท่าทีของ พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ [34]ในขณะนั้นว่า ทหารไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่าโดยอ้างว่าที่บริเวณนั้นเป็นดินเลน ไม่เหมาะต่อการสร้างสนามบิน การสร้างสนามบินบริเวณนั้นเปรียบเสมือนการวาง "คอนกรีตบนเยลลี่" [35] หรือ การที่ทหารยอมย้ายบางส่วนของกองทัพอากาศออกไปจากสนามบินดอนเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลขยายและปรับปรุงสนามบินดอนเมืองแทนการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ หรือแม้กระทั่งการประกาศสนับสนุนนักการเมืองที่มีนโยบายต่อต้านการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่อย่างนายสมัคร สุนทรเวช ให้ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลเปรม 3 เป็นต้น [36]



ภาพ พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ซ้าย) และ


นายสมัคร สุนทรเวช (ขวา) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


ผู้คัดค้านการก่อสร้างสนามบินกรุงเทพแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า


จากการศึกษาของผู้เขียนพบว่า สาเหตุหลักที่ทหารในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ มีอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง ทหารไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือตักตวงผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งคิดว่าผลประโยชน์ตรงนั้นเป็นสิ่งที่ทหารควรจะได้ เพราะทหารเป็นผู้คุมการบินพลเรือนและพาณิชย์ของไทยมาตลอดในประวัติศาสตร์การบินของไทย


สอง ทหาร โดยเฉพาะกองทัพอากาศในยุคนั้นได้รับผลประโยชน์และเงินตอบแทนเป็นจำนวนมหาศาลจากสนามบินดอนเมือง กล่าวกันว่า "สนามบินดอนเมืองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพอากาศ" ก็ว่าได้ [37] ดังนั้นการสูญเสียการบินพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมืองไป แล้วไปสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


กล่าวได้ว่า ความพยายามของนักการเมืองในการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่าที่มีมาตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีระหว่าง พ.ศ. 2517 - 2533 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับแรงต่อต้านจากทหารผู้ซึ่งเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่ยังทรงอิทธิพลต่อกระบวนการในการตัดสินใจของรัฐไทยอยู่มาก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 โครงสร้างอำนาจรัฐของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งเมื่อพลังของทหารและระบบราชการกลับเข้ามารวมกันอีกครั้งเมื่อ มีการทำรัฐประหารขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเงียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) การทำรัฐประหารในครั้งนี้ทำให้อำนาจนิยมโดยทหาร กับ อำมาตยาธิปไตยโคจรมาพบกันอีกครั้งและร่วมมือกันผลักดันโครงการดังกล่าวผ่านรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีครั้งประวัติศาสตร์อนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า ซึ่งถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ที่อนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ (ครั้งที่ 1 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ครั้งที่ 2 ยุคปฏิวัติของจอมพลถนอม)


ภาพ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ซ้าย)


และ นายอานันท์ ปันยารชุน (ขวา)


รัฐบาลที่มีมติให้มีการก่อสร้างสนามบินกรุงเทพแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า


กล่าวได้ว่า การอนุมัติโครงการดังกล่าวในยุคสมัยของรสช.นั้น เป็นผลพวงมาจากความพยายามของระบบราชการที่ใช้ความพยายามร่วมกับนักการเมืองมากว่า 17 ปีแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านโดยกองทัพ แต่เมื่อทหารกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 ก็ถือเป็นโอกาสอันดีของทหารที่จะเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งสมกับความต้องการของระบบราชการที่ใช้พยายามผลักดันโครงการดังกล่าวมานานผ่านรัฐบาลของนักการเมืองแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

มติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของกรุงเทพที่หนองงูเห่าในปี พ.ศ. 2534 [38] จึงเป็นผลผลิตของกระบวนการทางการเมืองที่ไม่มีสาระสำคัญอะไรแตกต่างไปกระบวนการทางการเมืองในการก่อสร้างสนามบินเมื่อปี พ.ศ. 2503 - 2516 เลย นั่นก็คือ ทหารและระบบราชการที่ยังคงแสดงบทบาทและมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมืองไทยอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสื่อกลางคือผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่พยายามจะอธิบายว่าทหารและระบบราชการลดบทบาทลงไปมากแล้วก็ตาม


ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ดูเหมือนบทบาทของทหารจะลดลงไปจากฉากหน้าของการเมืองไทย แต่สำหรับนโยบายการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้ว ผู้เขียนพบว่าทหารยังคงมีบทบาทอยู่มากในกระบวนการกำหนดนโยบายการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่าอยู่มาก โดยทหารเข้าแทรกแซงหรือมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายดังกล่าวผ่านองค์กรที่ทำหน้ารับผิดชอบโครงการดังกล่าวนี้โดยตรง ซึ่งก็คือ "การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)"


หากพิจารณาจากผู้บริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว แล้วพบว่า ผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 7 ใน 12 คนมาจากกองทัพอากาศทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะเวลา 12 ปีแรก กองทัพอากาศส่งนายพลเข้าเป็นผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 6 คนติดต่อกัน ได้แก่ พลอากาศโท ไสว ช่วงสุวนิช พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ พลอากาศเอก ถาวร เกิดสินธุ์ พลอากาศเอก ชนินทร์ จันทรุเบกษา พลอากาศเอก นิพนธ์ สาครเย็น พลอากาศเอก เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์


ไม่เฉพาะแต่ผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศเท่านั้น คณะกรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแต่ชุดก็ล้วนแล้วแต่มีคนของกองทัพอากาศเข้าไปนั่งอยู่ด้วยทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแล้ว บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พ. ค. 2538 ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามบินสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 [39] ก็มีตัวแทนจากองทัพเข้ามานั่งอยู่เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร หรือ เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารในยุคสมัยที่แตกต่างกัน เช่น พล.อ.อ.ประชุม ฉายศิริ หรือ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฐฎ์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทหารยังคงทรงอิทธิพลในการกำกับดูแลนโยบายในการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ก็คือ การประลองกำลังกันระหว่าง "กองทัพอากาศ" กับ "นักการเมืองจากพรรคกิจสังคม" ในปี พ.ศ. 2538 ที่พรรคกิจสังคม โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมผู้กำกับดูแลการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พยายามจะผลักดันคนของตนเข้ามาเป็นผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแทนคนจากกองทัพอากาศและยังสั่งปลด พล.อ.อ.อมร แนวมาลี เสนาธิการทหารออกจากกรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและชัดเจนมากที่สุดในยุคนั้นระหว่างกองทัพและนักการเมือง


พล.อ.อ.อมร แนวมาลี (ซ้าย) เสนาธิการทหารอากาศ และ


กรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2538 ที่ถูกปลดโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน


พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฐฎ์ (ขวา) อดีตประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด


อดีตนายทหารอากาศซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเปิดเผยนามได้ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนถึงกรณีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2538 นี้ว่า "ผมถือว่าเป็นการแทรกแซงอย่างไม่มีความรับผิดชอบเพราะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการปลดบอร์ด แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อกรรมการคนดังกล่าวลาออก ตาย ทุจริต หรือบกพร่องในหน้าที่ หรือขาดประชุมติดต่อกัน 3 ครั้ง จึงสามารถปลดบุคคลดังกล่าวได้ เพื่อความเหมาะสมแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าไม่เป็นธรรมกับคนของกองทัพอากาศ" [40] ในขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในขณะนั้นว่า "ยุคนี้ (ทอท.) ไม่ต้องพึ่งพาทหารแล้ว เพราะแบ่งพื้นที่และหน้าที่กันชัดเจนอยู่แล้ว" [41]


อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวยุติลงด้วย ชัยชนะของกองทัพอากาศ ที่สามารถทัดทานการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ โดยสามารถผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกคำสั่งของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในการปลด พล.อ.อ.อมร แนวมาลี และแต่งตั้งให้พล.อ.อ.ชนินทร์ จันทรุเบกษา เป็นผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยแทน

จะเห็นได้ว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2535 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2544 อิทธิพลของทหารต่อกระบวนการทางการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไปจากการเข้ามามีบทบาทในการเมืองอย่างตรงไปตรงมาบนฉากหน้าการเมืองไทย กลายมาเป็นการแทรกแซงผ่านระบบราชการที่หลบซ้อนตัวอยู่เบื้องหลังและยังคงไว้ซึ่งอิทธิพลในการกำกับดูแลเป็นอย่างมาก จนฝ่ายการเมืองมิอาจเข้าไปแทรกแซงได้อย่างง่ายดายนัก


อย่างไรก็ดี บทบาทของทหารต่อกระบวนการทางการเมืองในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิดูจะลดน้อยลงไปอย่างถนัดตา เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้าสู่อำนาจการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลเลือกตั้งโดยพรรคไทยรักไทยกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแทนกองทัพ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และ พรรคไทยรักไทย เดินหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิไปอย่างรวดเร็วภายใต้ "ข่าวคาว" ความไม่ชอบมาพากลในการประมูลงานส่วนต่างๆ ของสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร งานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและวัตถุระเบิด งานระบบไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟและเครื่องปั่นไฟ งานทางวิ่งและทางขับ และการประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีภายในอาคารผู้โดยสาร เป็นต้น

กองทัพจากที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้กำหนดนโยบายดังกล่าวไม่ว่าจะในทางตรง(อย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์จนถึงสมัยรสช.) หรือทางอ้อม (หลังพฤษภาทมิฬ - พ.ศ. 2544) กลายมาเป็นผู้ถูกกระทำและผู้ถูกแทรกแซง ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของโครงการถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของนักการเมืองร่วมมือและประสานประโยชน์กันโดยอาศัยกลไกของระบบราชการเป็นเครื่องมือ อีกทั้งยังจำกัดบทบาทของกองทัพในกระบวนการทางการเมืองและการกำหนดนโยบายที่มีมาอยู่อย่างต่อเนื่องอย่างนานหลายทศวรรษอย่างสิ้นเชิง นอกจากการถูกจำกัดบทบาทดังกล่าวแล้ว กองทัพยังถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในหลายประการดังเช่นกรณี การโยกย้ายนายทหารประจำปีที่ค่อยๆ สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพมาโดยตลอดในระหว่างที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณและพรรคไทยรักไทยอยู่ในอำนาจ

อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่า กองทัพจะหมดบทบาทในการกำกับดูแลการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ไปเสียทีเดียว หากแต่เป็นการประนีประนอมกันระหว่างกองทัพกับฝ่ายการเมือง โดยฝ่ายกองทัพสามารถเข้ามามีบทบาทได้ภายใต้ความยินยอมของนักการเมือง ตัวอย่างเช่น การที่พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่เร่งรัดการก่อสร้างสนามบินสุวรรรภูมิให้เปิดใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

แต่ พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวได้ไม่นาน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยรักไทยกับพล.อ.ชัยนันท์ก็เกิดขึ้น เมื่อพล.อ.ชัยนันท์ เข้าไปพบความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมากมายโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท Thai Airport Ground Services (TAGS) ให้ได้รับสิทธิในการบริหารเขตปลอดอากรและเช่าพื้นที่ รับจ้างสร้างศูนย์โลจิสติกส์ รวมถึงพื้นที่อาคารจอดรถในสนามบินสุวรรณภูมิ 6 แสนตารางเมตร นาน 10 ปี ด้วยวิธีการพิเศษแบบโดยไม่มีการแข่งขัน [42]

การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมีความคืบหน้ามากขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งรัฐบาลไทยรักไทยได้กำหนดวันเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการไว้ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตามยังไม่ทันที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณจะได้เป็นผู้เปิดใช้สนามบินดังกล่าว กองทัพก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญญรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก่อนกำหนดการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการเพียง 9 วัน ถือเป็นการสิ้นสุดยุคที่ทหารถูกจำกัดบทบาทและอิทธิพลต่อการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลา 6 ปี

การกลับเข้ามาของทหารในครั้งนี้ ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายสุวรรณภูมิโดยตรงอีกครั้งและเป็นครั้งที่มีบทบาทมากที่สุดยุคหนึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา กล่าวคือ มีการแต่งตั้งนายทหารจำนวนมากเข้าไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสุวรรณภูมิหลายตำแหน่ง เช่น พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศและรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คนที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ดูแลการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังมี พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.สพรั่ง กลัยาณมิตร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทท่าอากาศยานแห่งไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นต้น

จากการสัมภาษณ์ข้าราชการระดับสูงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการ พบว่า สาเหตุของการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ทหารต้องการกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในกระบวนการทางการเมืองต่อโครงการดังกล่าวซึ่งทหารเคยมีบทบาทและอิทธิพลมาก่อนเป็นระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์และยืนยันภายหลังต่อมา จากหลายกรณีที่ คปค. พยายามเข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายในโครงการ คปค.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งพบว่า คตส. ได้หยิบยกคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการสนามบินสุวรรณภูมิอย่างน้อย 2 คดีขึ้นมาพิจารณา คือ คดีกรณีจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ และคดีกรณีจัดจ้างวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ [43] นอกจากนี้ รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคปค.) ยังได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายกรณีในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น กรณีทางวิ่งและทางขับของสนามบินเกิดรอยแตกร้าวทั้งที่เพิ่งเปิดใช้สนามบินได้ไม่กี่เดือน หรือ กรณีตรวจสอบพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย เป็นต้น


จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า "ทหาร" เป็นผู้มีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดนโยบายในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคริเริ่มโครงการ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ผู้ดำริแนวคิดในการก่อสร้างทั้งที่ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสนามบินแห่งใหม่เป็นเรื่องของอนาคตในระยะยาว รัฐบาลทหารสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเวนคืนและซื้อที่ดินเกือบ 20,000 ไร่ และเป็นผู้เร่งรัดผลักดันให้บริษัทนอร์ทรอปแห่งสหรัฐอเมริกาเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างสนามบินซึ่งจะผูกขาดกิจการพาณิชย์ภายในสนามบินเป็นเวลา 20 ปี บทบาทของกองทัพในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้คัดค้านสำคัญมิให้รัฐบาลของนักการเมืองดำเนินการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ได้ในยุคที่ทหารมิได้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง รัฐบาลในยุครสช.เป็นผู้อนุมัติโครงการโดยลงมติคณะรัฐมนตรีประวัติศาสตร์ให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่าที่ล่าช้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี ความพยายามของกองทัพในการประนีประนอมกับฝ่ายการเมืองในการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิในยุคที่ไทยรักไทยเรืองอำนาจ หรือ แม้กระทั่งการเปิดใช้สนามบินในยุคที่ทหารเข้ามามีอิทธิพลโดยตรงต่อโครงสร้างอำนาจการเมืองของไทย

การทำรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 การเปิดใช้สนามบิน และการรื้อฟื้นเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างสนามบินเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า "ทหาร" ยังคงเป็นตัวแสดงหลักที่มีอิทธิพลและบทบาทในการเมืองไทยมาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัยในรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การศึกษากระบวนการทางการเมืองและกระบวนการกำหนดนโยบายของไทย ผ่านการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 50 ปี สามารถทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยได้ว่า กระบวนการทางการเมืองไทยยังมิได้เปิดกว้างต่อภาคส่วนและตัวแสดงอื่นๆ เท่าใดนัก ตัวแสดงหลักทางการเมืองไทยยังคงคล้ายกับตัวแสดงทางการเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน คือ ทหาร และ ระบบราชการ ผ่านการสมประโยชน์กันของทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่ภาคส่วนและตัวแสดงอื่นๆ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน สื่อสารมวลชน อาจเข้ามามีบทบาทได้บ้างในบางช่วงบางระยะเวลาทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอดทนของทหารในกระบวนการทางการเมืองของไทย

ผู้เขียนมองว่า การเมืองในรูปแบบต่างๆ ที่นักวิชาการทั้งหลายที่ผู้เขียนหยิบยกมาให้เห็นข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็น การเมืองแบบพหุรัฐสังคม การเมืองของนักธุรกิจการเมือง การเมืองของนักเลือกตั้ง การเมืองของกลุ่มทุนเบ็ดเสร็จ การเมืองภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เรียกกันว่า ตุลาการภิวัฒน์ หรือ ประชาภิวัฒน์นั้น อาจมีหรือเกิดขึ้นได้ แต่เป็นเพียงแค่ "ปรากฎการณ์ชั่วคราว" ในระบบการเมืองไทยเท่านั้น ในขณะที่ "การเมืองโดยทหาร" และ "การเมืองของระบบราชการ" กลับกลายเป็นสิ่งที่ "ฝั่งแน่น" ในระบบการเมืองไทยที่เรามิอาจปฏิเสธได้ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา


เชิงอรรถ


[34] พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2520 - 2524


[35] หนังสือพิมพ์มติชน, วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2521


[36] เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในขณะนั้นว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอย่างเต็มที่ทั้งในการเลือกตั้งและการเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.เปรมในปี พ.ศ. 2529 เนื่องจากนายสมัครเคยมีบทบาทสำคัญในการปกป้องกองทัพในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งส่งผลให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำถึงขีดสุด ดู รายละเอียดเพิ่มเติมความสัมพันธ์ระหว่างนายสมัคร กับ กองทัพได้ในรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2626


[37] สัมภาษณ์ พจนา สิมะเสถียร, ที่บ้านพัก ถนนสาทร, วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551, เวลา 10.00 - 14.40 น. โดยประมาณ


พจนา สิมะเสถียร เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และ รองผู้จัดการบริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) (เป็นบริษัทลูกของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้ประสบความสำเร็จ), นายพจนา ถือเป็นบุคคลสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ในยุคเริ่มต้น ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า "สนามบินดอนเมืองก็คืออู่ข้าวอู่น้ำของกองทัพอากาศ" มานานแล้ว (อ่านต่อหน้าถัดไป)


ประกอบกับการสัมภาษณ์ พล.อ.ท.สุรยุทธ์ นิวาศะบุตร, บ้านพักหมู่บ้านทหารอากาศ ดอนเมือง, วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551


พล.อ.ท.สุรยุทธ์ นิวาศะบุตร เป็นอดีตเจ้ากรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2519 - 2520 กรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารกิจการในสนามบินดอนเมืองก่อนมีการจัดตั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2522 พล.อ.ท.สุรยุทธ์ ยอมรับกับผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า รายของกองทัพอากาศที่ได้จากสนามบินดอนเมืองในแต่ละปีมีค่อนข้างมากและสามารถทำกำไรในการบริหารสนามบินดอนเมืองได้ทุกปี


[38] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน หนังสือเลขที่ นร.0202/7565, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เรื่องโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่สอง, วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2534, ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2534


[39] ดูรายละเอีดเพิ่มเติมใน หนังสือเลขที่ นร.0206/5083, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เรื่อง แผนการเงินและองค์กรโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2, วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2538, ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2538


[40] สัมภาษณ์, ที่บ้านพัก ถนนพหลโยธิน, วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 9.00 - 12.30 น. โดยประมาณ


[41] หนังสือพิมพ์มติชน, วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538


[42] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2548


[43] ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (บรรณาธิการ), ตุลาการภิวัตน์ ปฏิวัติการเมืองไทย, (กรุเทพฯ : มติชน), 2551.


บทความ

#172990 » ความคิดเห็นของ นวมทอง (visitor) (127.0.0.1 ) .. Sat, 2009-03-07 20:49

เข้าใจได้ดีว่าหม้อข้าวใครหม้อข้าวมัน

ทหารไม่กิน

ก็นักการเมืองกิน

ถ้าคนไทยไม่อดยังมีกิน

พวกมรึงก็กินกันไป
(ความเห็นคนทั่วไปติดมา)
อภิมหาคอร์รัปชัน! อันน่าสลดหดหู่ใจคนไทยที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหาการทุจริตใน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ 'ทอท.' ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในเรื่องการให้บริการและความปลอดภัยทางการบิน จนอาจจะมีการย้ายกลับมาใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) เพื่อซ่อมแซมสนามบินราคาแสนล้านแห่งนี้ ก็เป็นได้
และต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงบอร์ด ทอท. ที่มี 'บิ๊กเปย' พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ) เข้ามาเป็นประธานกรรมการ อท. นั่นเป็นสัญญาณการรุกของศูนย์อำนาจใหม่ เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาทุจริตที่กลุ่มอำนาจเก่าทิ้งไว้
พล.อ.สพรั่ง มิได้มาคนเดียว หากแต่ดึงเพื่อนร่วมรุ่น (ตท.7) พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาเป็นประธาน กมธ.วิสามัญ ติดตามแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มาเป็นประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสัญญาดำเนินการของ 'คิง เพาเวอร์' ที่ส่อเค้าว่าจะมีการทุจริตในการใช้พื้นที่สนามบินอีกด้วย
หากไล่เรียงการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ก็พบว่าปัญหา 'รอยร้าวแท็กซี่เวย์' และ 'รันเวย์ชำรุด' ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนถึงการทุจริตในการก่อสร้าง รวมไปถึงปัญหาการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบปรับอากาศ (แอร์ไม่เย็น), จำนวนห้องน้ำไม่เพียงพอ, น้ำท่วมพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง, สิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ, สายพานรับ-ส่งกระเป๋าขัดข้อง เป็นต้น
จากปฏิบัติการชำระล้างความสกปรกในสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกาศลาออกไปพร้อมกับการย้าย สมชัย สวัสดิผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกจากตำแหน่งเดิม
ขณะเดียวกัน การตรวจสอบทุจริตการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 13 เรื่อง คือ 1.เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 'CTX 9000' 2.แอร์พอร์ตลิงค์ 3.ระบบท่อร้อยสายไฟฟ้า 4.ระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ 5.คลองระบายน้ำ 6.โครงการผลิตน้ำร้อนไอเย็น 7.รถลีมูซีน 8.ระบบสารสนเทศของท่าอากาศยาน 9.ลานจดรถ (คาร์ปาร์ค) 10.ครัวการบิน 11.คาร์โก้ 12.จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย และ 13.การใช้พื้นที่ของคิง เพาเวอร์ นั้น มีเพียง 2 เรื่องที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการตรวจสอบ และตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตแล้วคือ กรณี CTX 9000 และระบบท่อร้อยสายไฟฟ้า
โดยการตรวจสอบที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ กรณีการทุจริตโครงการจัดซื้อ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX 9000 และ สายพานลำเลียงกระเป๋า
ล่าสุด สัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. แถลงว่า ที่ประชุมมีมติยกคำร้องคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่มีผู้ร้องค้านจำนวน 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุดและอดีตบอร์ด ทอท. และธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข โดยทั้งหมดร้องคัดค้าน 1.คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ด้วยเหตุว่ารู้เห็นเหตุการณ์เรื่องที่กล่าวหามาก่อน มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่กล่าวหา และมีความโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีการสรรหาผู้ว่าการ สตง. ที่ผ่านมา
2.พ.ต.อ.ชัยทัศน์ รัตนพันธุ์ เนื่องจากเป็นอนุกรรมการตรวจสอบการยุบพรรคไทยรักไทยของ กกต. มาก่อน 3.อำนวย ธันธรา ประธานอนุกรรมการไต่สวน เนื่องจากรู้เห็นเหตุการณ์และมีส่วนได้เสีย และ 4.ไพฑูรย์ ทิพยทัศน์ ผอ.สำนักตรวจสอบที่ 1 สตง. เนื่องจากรู้เห็นเหตุการณ์มาก่อนเพราะเคยตรวจสอบเรื่องนี้ในช่วงที่คดีอยู่ที่ สตง.
เหตุผลที่ คตส.ยกคำร้อง เนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณ และไพฑูรย์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ จึงไม่ถือว่ามีส่วนได้เสียและไม่มีข้อห้ามว่าผู้ที่เป็นอนุกรรมการตรวจสอบจะเป็นอนุกรรมการไต่สวนไม่ได้ ส่วน พ.ต.อ.ชัยทัศน์ ไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการยุบพรรคไทยรักไทย เป็นเพียงการทำหน้าที่อนุกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นการทำความเห็นเบื้องต้นเท่านั้น และกรณี อำนวย ธันธรา นั้น คตส.เห็นว่าไม่เคยรู้เห็นเหตุการณ์ และไม่มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด
พลันที่ คตส. มีมติเห็นชอบตามที่ประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีซีทีเอ็กซ์ เสนอให้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มอีกจำนวน 8 ราย จากเดิมที่แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 23 ราย
โดยทั้ง 8 ราย จะถูกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานในองค์กรรัฐ แต่กลับปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และปฏิบัติหน้าที่ทุจริตอันมีความผิดตาม พ.ร.บ.พนักงานในองค์กรรัฐและหน่วยงานรัฐ มาตรา 3 มาตรา 11 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, 86, 91
ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ พร้อมให้ความร่วมมือกับ คตส. และทำงานอย่างเป็นระบบ ถ้า คตส.ต้องการความช่วยเหลือก็ขอให้ทำก่อนอยู่แล้ว อีกทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีการ่างกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ คตส.อีกด้วย จึงขอให้ทุกฝ่ายเร่งทำงาน และไม่นานการตรวจสอบทุจริตจะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย
อีกทั้งรัฐบาล ได้มีมติฟื้นสนามบินดอนเมือง (6 กุมภาพันธ์ 2550) กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อแบ่งเบาภาระสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาให้ปรับปรุงสนามบินดอนเมือง เพื่อใช้เป็นสนามบินนานาชาติ ควบคู่ไปกับสนามบินสุวรรณภูมิ
พร้อมกับให้เร่งสรุปถึงข้อบกพร่องของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสิ่งที่เราต้องเตรียมการในอนาคตอีกด้วย แต่จะชะลอการดำเนินการส่วนต่อเติมขยายสนามบินสุวรรณภูมิไว้ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และน่าจะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย!
เหนืออื่นใด การเข้ามาตรวจสอบปัญหาการทุจริตในสุวรรณภูมิ ก็แยกไม่ออกจากเรื่องการเมือง ซึ่งทาง คมช.และรัฐบาลขิงแก่ ก็ต้องระมัดระวังการเพิ่มปัญหาใหม่ ซึ่งมีการตีปลาหน้าไซเอาไว้แล้วว่า สนามบินสุวรรณภูมิ กำลังจะเป็นขุมทองของนักการเมืองในสายอำนาจใหม่
หากข้อสังเกตนี้เป็นจริง..ก็จะเป็นซ้ำเติมปัญหาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เสียหายหนักยิ่งกว่าแท็กซี่เวย์หรือรันเวย์ทรุด อีกหลายร้อยเท่า





Create Date : 22 มีนาคม 2554
Last Update : 22 มีนาคม 2554 2:09:41 น. 1 comments
Counter : 3331 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

@ เสาเข็มเจาะ @


โดย: zaygutae วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:1:08:19 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

jesdath
Location :
เชียงราย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
22 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jesdath's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.