Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

อาหารเสริมหรือเสริมอาหาร จะเอาอะไรกันแน่ ??? อาหารต้านอนุมูลอิสระ ??? ... นำมาฝากจากเวบ หมอชาวบ้าน


นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม : 224
เดือน-ปี : 12/2540
คอลัมน์ : บทความพิเศษ

//www.doctor.or.th/node/2912


อาหารเสริมหรือเสริมอาหาร จะเอาอะไรกันแน่


“สวัสดี ครับ (ค่ะ) ผม (ดิฉัน) เป็นสมาชิกหมอชาวบ้านมานานมีเรื่องอยากขอปรึกษาหน่อยครับ (ค่ะ) คือเพื่อนแนะนำให้กินอาหารเสริม เขาบอกว่าเขาก็กินอยู่ กินแล้วรู้สึกดีจัง มาแนะนำต่อ

แต่ผม (ดิฉัน) ยังไม่แน่ใจ และอาหารเสริมเหล่านี้มีราคาแพงมาก ไม่ทราบว่าจะกินดีมั้ย?”



หมอชาวบ้านมักจะได้รับคำถามในทำนองนี้ทาง โทรศัพท์และจดหมายอยู่เสมอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ที่เข้าใจกันว่าเป็นอาหารเสริม หมอชาวบ้านจึงได้นำเรื่องนี้มาเสนอให้ทราบ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ยังคงเป็นของผู้บริโภค ก่อนตัดสินใจอยากขอให้อ่านบทความนี้ก่อนสักนิดนะคะ

ก่อนอื่นเรามาทำ ความเข้าใจถึงคำว่า “อาหารเสริม” และ “เสริมอาหาร” ก่อนว่ามีความหมายอย่างไร ในกรณีใดจึงจะใช้คำว่า “อาหารเสริม” และในกรณีใดจึงใช้คำว่า “เสริมอาหาร”

อาหารเสริมหรือคอมพลีเมนต์ทารี ฟู้ด (complementary food) คือ อาหารเสริมตามธรรมชาติ ซึ่งจะให้ในเด็กทารกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง ๑ ปี ให้ควบคู่กับนมแม่ หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพื่อให้ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและ ไม่ขาดสารอาหาร

อาหารเสริมหรือซับพลีเมนต์ทารีฟู้ด (supple mentary food) คำนี้ใช้ขยายสำหรับวัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะหมายถึง อาหารที่ใช้เสริมอาหารหลักในภาวะขาดสารอาหาร

คำว่า อาหารเสริมหรือซับพลีเมนต์ทารีฟู้ดคำนี้เองที่ก่อให้เกิดความสับสน จนคนส่วนใหญ่คิดว่า หมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ออกมาในท้องตลาด เช่น นมผึ้ง ซุปไก่สกัด น้ำมันปลา วิตามินสังเคราะห์ ฯลฯ เพื่อแก้ไขความสับสนและความเข้าใจผิด คณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมา สำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือฟู้ดซับพลีเมนต์ (food supplement) ซึ่ง หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่กินเพื่อเสริมอาหารหลักที่กินตามปกติ


สุขภาพ ดี สุขภาพเสีย

ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในประเทศ ถือว่าเป็นช่วงขาขึ้น ค่าเงินบาทแข็งตัว กลุ่มคนในเมืองจะเป็นกลุ่มที่มีฐานะดีขึ้น รายได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการปรับเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิต มีการออกกำลังกายน้อยลงเพราะสามารถซื้อหรือผ่อนรถได้ จะไปไหนก็ใช้รถ มีการเดินแค่ช่วงสั้นๆ การทำงานบ้านก็พึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกหรือจ้างคนมาทำงานบ้าน ทำให้มีการใช้พลังงานน้อย อาหารที่กินเข้าไปก็เกิดสะสมเป็นไขมัน

ส่วน เรื่องอาหารการกิน เมื่อฐานะดีขึ้นจะกินข้าวน้อยลง จะกินเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำตาลมากขึ้น พวกพืชผักผลไม้อาจจะกินเท่าเดิมหรือลดน้อยลงในบางราย ผลที่สุดภาพรวมทั้งหมดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเสีย เช่น อ้วน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันเลือดสูง เมื่อถึงจุดที่รู้สึกว่าสุขภาพไม่ค่อยดี ก็จะมองว่าจะแก้ปัญหาด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้หรือไม่ ในที่สุดก็ไปซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นเหยื่อของการโฆษณาและการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อต้องการให้สุขภาพดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า จะซื้อสุขภาพด้วยเงินได้หรือไม่?


แนวความคิดหรือ ความเชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

การที่คนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารอย่างแพร่หลายนั้น เกิดมาจากแนวความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะประมวลแนวความคิดหรือความเชื่อได้ ดังนี้

๑. เพื่อเสริมอาหาร

กลุ่มนี้มีแนวคิดว่าอาหารที่กินอยู่นั้นมี คุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงใช้ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารเพื่อให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ

๒. เพื่อเสริมสุขภาพ

คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีแนวความคิด ใหม่ๆ มีความคิดว่าการป้องกันดีกว่าการแก้ไข ดังนั้นจึงคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดี พยายามจะดูแลสุขภาพตนเองให้ดีที่สุด เมื่อมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาก็คิดว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะช่วยเสริมสุขภาพได้

๓. กลัวโรคภัยไข้เจ็บ

เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มักจะกลัวโรคร้าย แรง เช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง ฯลฯ และกลัวการรักษาทางการแพทย์ เช่น เป็นโรคมะเร็งต้องผ่าตัด ต้องฉายแสง ดังนั้นเมื่อมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดโฆษณาว่าสามารถป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ ได้ คนกลุ่มนี้ก็จะหาซื้อผลิตภัณฑ์นั้นมาบริโภค

๔. เชื่อตามผลการวิจัยโดยไม่ได้ศึกษาติดตาม

ในต่างประเทศจะมี การวิจัยต่างๆออกมามาก พอมีผลงานวิจัยออกมาชิ้นหนึ่งก็จะมีคนผลิตสิ้นค้าออกมาขาย เช่น กระดูกอ่อนปลาฉลาม เขาพบว่า กระดูกอ่อนปลาฉลามไม่มีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยง และก้อนมะเร็งที่โตได้เพราะมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยง เขาก็มีความคิดว่าถ้าเอากระดูกอ่อนปลาฉลามมาให้คนไข้กินสารในนั้นซึ่งไม่รู้ ว่าเป็นอะไรจะไปป้องกันไม่ให้เส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วมะเร็งก็ไม่โต นี้คือ สมมติฐานขั้นต้นของเขา และเขากำลังจะวิจัยต่อไปอีกว่าสารตัวนั้นคืออะไร ในปัจจุบันก็ทราบแล้วแต่ยังวิจัยไปไม่ถึงขั้นไหน ผู้ผลิตก็พร้อมใจกันไปล่าปลาฉลามมาใส่แคปซูลขาย โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลงานวิจัยนั้นผิดหรือถูก คนที่มีสตางค์หน่อยก็แห่ไปซื้อมากิน ทั้งที่ราคาก็สูงมาก

๕. หลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อนจะผลิต หรือนำเข้ามาจำหน่ายได้ จะต้องขออนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียนต่อคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.) โดย อย.จะจัดผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และห้ามมีการโฆษณาสรรพคุณ ในแง่การรักษาโรคได้ ที่ผ่านมามักมีการลักลอบโฆษณาหรืออวดอ้างสรรพคุณว่า สามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็ง อัมพาต หอบหืด ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำอวดอ้างดังกล่าวก็จะซื้อหาผลิตภัณฑ์นั้นมาบริโภค

๖. เห่อตามฝรั่ง

คนไทยมักมีค่านิยมตามฝรั่ง อะไรที่เป็นของฝรั่งต้องดี เมื่อฝรั่งแนะนำว่าดีคนไทยก็ว่าดีตาม และไปซื้อหามาบริโภคตามอย่างฝรั่ง

๗. ของที่หาได้ยากและแพงต้องดี

เช่น รังนก กว่านกแต่ละตัวจะสร้างรังได้ต้องใช้น้ำลายเท่าไร เมื่อคนไปเก็บมา นกก็ต้องสร้างรังใหม่ เพราะนกนางแอ่นจะไม่วางไข่บนรังนกชนิดอื่น บางตัวสร้างจนน้ำลายมีเลือดปน เมื่อได้มาลำบากราคาจึงต้องแพง คนบางกลุ่มจะคิดว่า ของหายาก ของแพงต้องดี หากได้กินคงดีต่อสุขภาพ

จริงๆ แล้วความเชื่อต่าง ๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังมีอีกมากมาย แต่ขอนำเสนอแค่พอสังเขป ความเชื่อเหล่านี้ทำให้คนเกิดความมั่นใจผิดๆ จนไม่สนใจอาหารประจำวัน ไม่ปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพที่ดี

การจะมีสุขภาพที่ดีนั้นมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น พันธุกรรม การออกกำลังกาย อาหาร ดังนั้นสารอาหารเพียงตัวใดตัวหนึ่งจึงไม่สามารถทำให้สุขภาพดีได้



ข้อปฏิบัติด้านโภชนาการสู่สุขภาพ

ดังได้กล่าวแล้วว่า การจะมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน คือ พันธุกรรม โภชนาการ การออกกำลังกาย การผ่อนคลายกายและจิต การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษต่างๆ การมีโภชนาการดีก็เป็นหนึ่งในหลายข้อที่ทำให้มีสุขภาพดี ข้อปฏิบัติที่มีการแนะนำในเรื่องการบริโภคอาหาร มีดังนี้

๑. กินอาหารครบ ๕ หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว

ข้อปฏิบัตินี้เป็นคำแนะนำหลัก เพื่อให้ทุกๆคนบริโภคอาหารที่หลากหลาย คือ บริโภคอาหารชนิดต่างๆให้ได้วันละ ๑๕-๒๕ ชนิด และให้มีการหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน ผลรวบยอดของการบริโภคอาหารที่หลากหลายคือ น้ำหนักตัวเป็นปกติ ไม่อ้วนไม่ผอม และภาวะโภชนาการในด้านอื่นๆ ก็เป็นปกติด้วย โดยไม่มีปัญหาการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ

๒. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยซึ่งควรได้รับการส่งเสริมต่อไป ถ้าเป็นไปได้ควรบริโภคข้าวซ้อมมือ เพราะได้วิตามิน แร่ธาตุ ตลอดจนใยอาหารควบคู่ไปกับการได้แป้ง อันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ

สำหรับอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน หรือ ขนมปัง ก็อาจจะกินเป็นบางมื้อ อาหารธัญพืชเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะให้แป้ง ซึ่งจะถูกย่อยไปใช้เป็นพลังงานวันต่อวัน แต่ถ้าได้พลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันได้

๓. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ

พืชผักและผลไม้ทั้งสีเขียวและเหลือง นอกจากจะให้ทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ แล้วยังให้ใยอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของลำไส้ในการขับถ่ายของเสียหรือสิ่ง ที่เหลือจากการย่อยและยังช่วยดูดซับสารพิษ และช่วยขับถ่ายโคเลสเตอรอลอีกด้วย

นอกจากนี้ยังให้สิ่งที่ไม่ใช่สารอาหาร เช่น แอนตี้ออกซิแดนท์ และสารอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ทางสมุนไพรอันจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลและป้องกันอนุมูล อิสระไม่ให้ทำลายเนื้อเยื่อและผนังเซลล์ซึ่งนำไปสู่การป้องกันไม่ให้ไขมัน เกาะผนังหลอดเลือดและป้องกันการเกิดมะเร็งอีกด้วย

๔. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ

อาหารที่แนะนำในข้อนี้จะให้โปรตีน ซึ่งมีจุดเน้น คือ ปลา และอาหารประเภทถั่วต่างๆ เช่น เต้าหู้ขาว และเต้าหู้เหลือง สำหรับเนื้อสัตว์นั้น กินพอประมาณและเลือกเฉพาะมีมันน้อยๆ ไข่เป็นอาหารที่ดี ควรบริโภคเป็นประจำ เช่น วันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละ ๒ ฟอง

๕. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย

นมเป็นแหล่งของโปรตีน แคลเซียม วิตามินบี ๒ และแร่ธาตุต่างๆ

๖. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร

ไขมันจากพืชและสัตว์จะให้พลังงานวันต่อวัน และพลังงานสะสม ถ้าได้เกินว่าที่ร่างกายต้องการจะเกิดปัญหาไขมันในเลือดสูงและปัญหาโรคอ้วน ยิ่งถ้ากินอาหารที่ไม่สมดุล คือ ขาดพวกพืชผักผลไม้ และขาดการออกกำลังกายจะทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดแดงได้ง่ายขึ้น จนเกิดการแข็งตัว ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดความดันเลือดสูง และโรคหัวใจขาดเลือด

อาหารไทยดั้งเดิมมีไขมันไม่มาก เช่น น้ำพริกผักจิ้ม แกงไม่ใส่กะทิ ถือว่าเป็นอาหารที่เสริมสุขภาพ อาหารไทยปัจจุบันมีการทอด และผัดมากตลอดจนมีการใช้กะทิในแกงต่างๆ ไขมันจึงมีมาก จึงควรเลือกกินเป็นครั้งคราวในปริมาณที่ไม่มากนัก เมื่อกินพร้อมข้าวจะทำให้ไขมันที่บริโภคอยู่ในปริมาณพอดี

๗. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด

อาหารหวานจัดที่มีน้ำตาลทรายเป็นองค์ประกอบ เช่น น้ำเชื่อม น้ำอัดลม ขนมหวาน ถ้ากินมากๆ เป็นประจำมักจะเป็นพลังงานส่วนเกิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและร่างกายจะพยายามเปลี่ยนไปเป็นไขมัน จึงมีส่วนทำให้ไขมันสูงในเลือดได้ และยังไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ ในทางปฏิบัติจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด

อาหาร ที่มีรสเค็มจัดจะให้เกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งช่วยให้ดึงน้ำเข้าสู่หลอดเลือด ถ้ากินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำจะทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้ อาหารไทยจะให้โซเดียมประมาณวันละ ๖-๑๐ กรัมซึ่งมากเกินพออยู่แล้ว ควรจะพยายามฝึกกินอาหารที่มีรสธรรมดา และไม่ควรเติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหารที่ปรุงมาแล้ว

๘. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน สารเคมี

อาหารที่สะอาดจะปราศจากเชื้อโรค ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และพยาธิ หรือสารตกค้างต่างๆ ในทางปฏิบัติ จึงควรเลือกกินที่สะอาด โดยการเลือกซื้อและการล้างที่ถูกต้อง อาหารที่สด และปรุงใหม่ๆ หรืออาหารที่ร้อนๆ ซึ่งเชื้อโรคจะถูกทำลายจนหมดไป

๙. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์เป็นสารที่อาจจะทำให้เสพติดได้ คนที่ติดเหล้าจนเรื้อรังมักจะมีการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ และมักจะเป็นโรคตับแข็งควบคู่กันไป ด้วยเหตุนี้ถ้าลดหรือเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ก็จะเป็นผลดีต่อ สุขภาพ


จะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดีหรือไม่


อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะยังตัดสินใจไม่ได้ว่าแล้วควรจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดี หรือไม่จะพิจารณาอย่างไร จึงขอเสนอหลัก ๒ ข้อ ในการพิจารณาว่าควรจะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดีมั้ยหรือมีความคุ้มค่า ในการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแค่ไหน

๑. วิเคราะห์ปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้วเปรียบเทียบกับความต้องการของร่างกายและเปรียบเทียบดูด้วยว่าอาหารที่เรากินอยู่มีปริมาณสารอาหารพอเพียงต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่

เช่น โปรตีนแคปซูล ๑ แคปซูลจะมีโปรตีน ๑ กรัม สมมติว่าขายแคปซูลละ ๕ บาท ในวัยผู้ใหญ่เฉลี่ยต้องการโปรตีนวันละ ๕๐ กรัม ถ้าเผื่อเราต้องการกินโปรตีนแคปซูลให้เพียงพอต้องกินถึง ๕๐ เม็ด เป็นจำนวนเงิน ๒๕๐ บาท

ทีนี้ลองมาดูทางเลือกอื่น ไข่ ๑ ฟอง มีโปรตีน ๗ กรัม ราคา ๒ บาทกว่า ปลาทูทอด ๒ ตัว มีโปรตีนประมาณ ๒๐ กรัม ราคาประมาณ ๒๐-๓๐ บาท หรือนม ๑ กล่อง มีโปรตีน ๘ กรัม ราคา ๘ บาท

ฉะนั้นในการบริโภค ให้พิจารณาดูคุณค่าประโยชน์และราคา แล้วพิจารณาทางเลือกอื่นด้วย ว่ามีทาง เลือกอื่นที่ดีกว่าไหม

๒. วิเคราะห์ดูว่ามีสารอะไรบ้างที่ออกฤทธิ์ และสารออกฤทธิ์นั้นมีปริมาณมากพอที่จะออกฤทธิ์หรือไม่

เช่น วิตามินซี มีการโฆษณาสรรพคุณว่าเป็นสารแอนติออกซิเด้นท์หรือต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งป้องกันการเกิดมะเร็ง ทีนี้มาเปรียบเทียบปริมาณของวิตามินซีที่ร่างกายต้องการใน ๑ วัน กับปริมาณของวิตามินซีในผลิตภัณฑ์นั้น และต้องกินเป็นปริมาณเท่าไรจึงจะออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้

โดยทั่วๆ ไปสารอาหารจากผลิตภัณฑ์จะมีน้อยมากจนแทบไม่มีความหมายเลย จากนั้นลองดูทางเลือกอื่นที่ว่าวิตามินซีมีในพืชผักผลไม้และอาหารประเภทใด บ้าง ลองเปรียบเทียบประโยชน์ และทางเลือกว่าทางไหนจะดีกว่า เหมาะสมกว่าแล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือก



ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในท้องตลาดมีมากมายหลายชนิด จึงขอรวบรวมเท่าที่จะรวบรวมได้มานำเสนอให้ท่านได้ทราบ ในแต่ละชนิดก็จะมีการโฆษณาสรรพคุณต่างๆ นานา

• นมผึ้ง Royal Jelly

นมผึ้งมีลักษณะคล้ายนมข้นสีครีม ซึ่งผลิตจากต่อมหนึ่งบนหัวของผึ้งงานหรือผึ้งพี่เลี้ยง นมผึ้งนี้จะผลิตขึ้นเพื่อป้อนตัวอ่อนหรือนางพญาผึ้ง

• น้ำมันตับปลา

น้ำมันตับปลาเป็นน้ำมันที่สกัดได้จากปลาคอด (Cod) นิยมใช้เป็นอาหารเสริมในเด็กกำลังโต เพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงร่างกาย และช่วยให้เด็กเจริญอาหาร

• กระเทียมสังเคราะห์

กระเทียม เป็นพืชที่คนแถบเอเชียนิยมใช้แต่งกลิ้นและรสของอาหาร ในต่างประเทศ พบว่า มีสรรพคุณเป็นยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ

• กากใย Fiber

กากใย คือ เส้นใยของอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ไม่มีคุณค่าทางอาหารอื่นแต่ร่างกายควรจะได้รับเพื่อให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็น ปกติ และลดโอกาสที่สารพิษจะสัมผัสกับผนังได้

อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ เม็ดแมงลัก ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด ข้าวซ้อมมือ บวบเหลี่ยม ฟักทอง ผักใบเขียว และผลไม้ทุกชนิด

• รำข้าว

รำข้าว คือ จมูกข้าวที่ได้จากการขัดสีข้าวกล้องให้เป็นข้าวขาว ในรำข้าวนี้จะมีคุณค่าทางอาหารมาก ดังนั้นคนที่กินข้าวกล้องก็จะได้รับรำข้าวด้วย

• สาหร่ายเกลียวทอง

คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ที่มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น ในสาหร่ายเกลียวทอง พบว่า มีโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ นอกจากนี้ยังย่อยง่ายอีกด้วย

• สาหร่ายทะเล

คือ พืชทะเลชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเส้นผม สีดำออกน้ำตาล มีเกลือแร่หลายชนิด เป็นแหล่งไอโอดีนที่ดี นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น แกงจืด ยำ หรือกินกับน้ำพริก

• เลซิติน

เลซิตินเป็นสารชนิด หนึ่งที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองซึ่งจะพบมากในสมอง ตับ ไต กระดูกอ่อน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวสาลี ฯลฯ

• น้ำมันอิเวนนิ่งพริมโรส (Evening Primrose oil)

น้ำมันอิเวนนิ่งพริมโรสสกัดได้จากเมล็ด ดอกพริมโรสซึ่งจะบานในตอนเย็น ในน้ำมันอิเวนนิ่งพริมโรสมีกรดไขมันแกมมาไลโนเลอิก (gamma-linolenic acid) มักเรียกสั้นๆว่า จีแอลเอ (GLA) จีแอลเอเป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง

• วิตามินอี

วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินอีจะเก็บอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย คือ ตับ เนื้อเยื่อ ไขมัน หัวใจ กล้ามเนื้อ มดลูก อัณฑะ เลือด ต่อมอะดรีนัน ต่อมพิทูอิทารี และผิวหนัง

วิตามินอีพบได้ในอาหารธรรมชาติ เช่น น้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันตับปลา น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันฝ้าย น้ำมันมะกอก น้ำมันหมู เนยเทียม น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กะหล่ำปลี แครอต ผักกาด หอมใหญ่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวโพด ข้าวสาลี ผักใบเขียว ไข่ และเนื้อ

• เบต้าแคโรทีน

แคโรทีนหรือแคโรทินอยส์ (carotinoids) เป็นโปรวิตามินเอ เป็นสารที่เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายแล้วจะให้วิตามินเอ มีสีเหลือง ส้ม แดง และเขียว

อาหารที่มีแคโรทีนมาก ได้แก่ หัวแค่รอตมีแคโรทีนมากเป็นอันดับหนึ่ง ผักใบเขียว (ผักโขม บรอกโคลี กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดเขียว ฯลฯ) ผักสีเหลือง (ข้าวโพด ฝักทอง ผักกินหัวต่างๆ) ผลไม้สีเหลือง (แตงไทย ลูกพลับ มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ) น้ำมันตับปลา

• แคลเซียม

แคลเซียมเป็นเกลือแร่ หลักที่พบในร่างกายมากที่สุดประมาณร้อยละ ๙๙ ของเกลือแร่จะพบในกระดูก ฟัน เล็บ และผม ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๑ จะมีอยู่ทั่วไปในระบบประสาทกล้ามเนื้อ

แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม ได้แก่ นม เนย ไข่ หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาตากแห้ง ปลาซาดีน ปลาเล็กทีกินได้ทั้งตัว (เช่น ปลากะตัก ปลาไส้ตัน ปลารากกล้วย) กะปิ ผักขม ผักคะน้า ผักกระเฉด ผักขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ใบยอ ใบขี้เหล็ก ยอดแค หัวผักกาด หัวหอม ฝักทอง มะเขือเทศ มะรุม มะนาว มะม่วงหิมพานต์ แตงโม ลูกพรุน ถั่วต่างๆ (ถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฝักทอง งา และรำข้าว)

• เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือชอบขึ้นกับต้นไม้ที่หมดอายุแล้ว บางครั้งจะพบขึ้นอยู่ตามผิวดิน ด้านหลังของดอกจะมัน คล้ายเคลือบด้วยเล็กเกอร์ ในประเทศจีนเชื่อว่าเห็ดหลินจือคือยาอายุวัฒนะ มีหลายประเทศให้ความสนใจและศึกษาถึงสรรพคุณของเห็ดหลินจือรวมทั้งประเทศไทย ด้วย และในหลายประเทศได้ใช้เห็ดหลินจือเพื่อบำรุงสุขภาพ รักษาโรคต่างๆ และเสริมความงามโดยทำเป็นเครื่องสำอาง

• ซุบไก่สกัด

ซุบไก่สกัดซึ่งมีการโฆษณาสรรพคุณว่า บำรุงร่างกาย เสริมสร้างร่างกาย ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และปัจจุบันยังมีการเติมโน่นเติมนี่ เช่น ผสมถังเช่า เพื่อให้ผู้บริโภคคิดว่ามีคุณค่าเพิ่มขึ้น

• วิตามินซี

ทุก คนทราบกันอยู่แล้วว่า วิตามินซีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันมีการโฆษณาสรรพคุณว่า เป็นสารแอนติออกซิเด้นท์หรือต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง รวมทั้งมีส่วนลดโคเลสเตอรอล ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

อาหารที่มีวิตามินซีมาก ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม มะเขือเทศ มันฝรั่ง แตงโม สับปะรด มะละกอ มะนาว สตรอเบอรี่ แตงไทย ส้มโอ ลิ้นจี่ ผักใบเขียว กะหล่ำ ผักบุ้ง ผักโขม มะเขือยาว ผักคะน้า บรอกโคลี่ ฯลฯ


จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในท้องตลาดมีมาก จริงๆ ความจริงยังมีนอกเหนือจากที่นำเสนอนี้ แต่ขาดข้อมูลจึงมิได้นำมาเสนอ อยากย้ำอีกครั้งว่า ผัก ผลไม้ของไทย เราล้วนอุดมไปด้วยสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ หากกินในปริมาณที่มากพอก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งผลิตภัณฑ์ใดๆอีก

ปัจจุบัน การโฆษณามีผลต่อการตัดสินใจบริโภคมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีการโฆษณา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บริโภคคงต้องพิจารณาเลือกสักนิด อย่าตกเป็นทาสของการโฆษณา และในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การบริโภคแต่เพียงพอดี พอเหมาะ เป็นอีกหนทางที่จะช่วยกู้ภาวะเศรษฐกิจได้นะคะ



ข้อมูล จาก
๑. ศ.น.พ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผ.อ.สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
๒. ผ.อ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ
๓. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
๔. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
๕. การบรรยายเรื่อง “รับประทานอาหารเสริมคุณหรือโทษ” ณ โรงพยาบาลศิริราช วิทยากรคือ ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัฒน์, ภ.ก.สรจักร ศิริบริรักษ์
๖. เปรมจิตต์ สิทธิศิริ, สุทิน เกตุแก้ว : กินอยู่เพื่อสุขภาพ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราช-วิทยาลัย กรุงเทพฯ:๒๕๓๘






ไหน ๆ ก็อ่านแล้ว ต่ออีกหน่อยละกัน .. จะได้ครบถ้วน


อาหารต้านอนุมูลอิสระ

//www.doctor.or.th/node/4568

⇒ สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในร่างกายและจัดเป็นเอนไซม์ ได้แก่

o เอนไซม์ซุปเปอร์ออกไซด์ไดมิวเตส (superoxide dismutase)
ซึ่งต้องการแร่ธาตุทองแดงเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ และแหล่งอาหารที่ให้แร่ธาตุทองแดง ได้แก่ ตับ เนื้อ อาหารทะเล

o เอนไซม์คะตะเลส (catalase)

เอนไซม์ตัวนี้จะใช้ธาตุ เหล็กเป็นองค์ประกอบ และธาตุเหล็กพบมากในเครื่องในสัตว์ ตับ ไต หัวใจ เลือด เนื้อวัว เนื้อปลา ไข่ ผักใบเขียว ธัญพืช (cereal) ที่เสริมเหล็ก

o กลุ่มเอนไซม์กลูตาไทโอน ได้แก่

กลูตาไทโอนเพอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase) กลูตาไทโอนรีดักเทส (glutathione reductase) กลูตาไทโอน-เอส-ทรานส์เฟอเรส (glutathione S-transferase)

เอนไซม์กลูตาไทโอนเพอร์ออก-ซิเดสต้องการเซเลเนียมเป็นองค์ประกอบ เซเลเนียมพบว่ามีมากในอาหารทะเล ตับ ไต และเนื้อสัตว์

กรณีของกลุ่มเอนไซม์กลูตาไทโอนนี้ จะทำงานโดยมีไตรเพ็ปไทด์กลูตาไทโอนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งองค์ประกอบของไตรเพ็ปไทด์กลูตาไทโอนจะประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิด ได้แก่กรดอะมิโนไกลซีน กลูตาเมต และซีสเตอีน

นอกจากกรด อะมิโน 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีสารอาหารหลายชนิดที่มีผลช่วยเพิ่มระดับกลูตาไทโอน ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ธาตุซีลีเนียม สังกะสี และแหล่งอาหารที่ให้สารอาหารเหล่านี้ได้แก่ ถั่วเหลือง นม ไข่ กระเทียม เห็ด ดอกกะหล่ำ เนื้อปลา



⇒ ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในอาหารและไม่จัดเป็นเอนไซม์ ได้แก่ วิตามิน อี วิตามินเอ วิตามินซี เป็นต้น

⇒ แหล่งอาหารที่ให้วิตามินอี

วิตามินอีพบมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด เมล็ดฝ้าย และดอกคำฝอย นอกจากนั้นยังพบว่ามีสูงในต้นอ่อนของเมล็ดข้าวสาลี ถั่วเปลือกแข็งชนิดต่างๆ

และเนื่องจากอาหารกลุ่มที่ให้วิตามินอีเป็นแหล่งอาหารที่ให้ไขมันค่อนข้างสูง จึงมีข้อแนะนำว่า หากเป็นผู้หญิงไม่ควรบริโภคน้ำมันเกิน 6 ช้อนกาแฟ ผู้ชายไม่ควรบริโภคเกิน 9 ช้อนกาแฟ ส่วนถั่วเปลือกแข็งเช่น ถั่วลิสง 1 ช้อนโต๊ะจะให้ไขมันเท่ากับน้ำมัน 1 ช้อนชา ด้วยเหตุนี้หากกินมากเกินไปอาจได้ของแถมคือไขมันสะสมมากเกิน

⇒ แหล่งอาหารที่ให้สารบีตาแคโรทีน

บีตาแคโรทีน (betacarotene) เป็นสารสีส้ม มีอยู่มาก ในผักผลไม้ที่มีสีออกส้มหรือเหลือง เช่น มะละกอ แครอต มันเทศ ฟักทอง พริก มะม่วงสุก นอกจากนี้ ยังพบได้มากในผักที่มีใบเขียวเข้ม เช่น ตำลึง ปวยเล้ง ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น

⇒ แหล่งอาหารที่ให้วิตามินซี

ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม มะนาว มะเขือเทศ คะน้า บรอกโคลี วิตามินซี หรือ L-ascorbic acid ซึ่งคนไม่สามารถสร้างได้ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น คนเราควรได้รับวิตามินซีวันละ 60 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับการกินส้มเขียวหวานขนาดกลาง 1 ผล หรือฝรั่งประมาณ 1/4 ผลกลาง

⇒ แหล่งอาหารที่ให้เซเลเนียม

เซเลเนียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของ เอนไซม์กลูตาไทโอนเพอร์ออกซิเดสซึ่งเร่งการทำลายของอนุมูลอิสระชนิดไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ นอกจากนี้ เซเลเนียมยังทำหน้าที่ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมันไม่อิ่มตัวอีก ด้วย

เซเลเนียมเป็นเกลือแร่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานการทำงานของเอนไซม์ ระหว่างวิตามินอี เอ และซี ได้จากข้าว หอมแดง หอมใหญ่ กระเทียม ต้นหอม ต้นกระเทียม มะเขือเทศ และส่วนใหญ่จะพบมากในอาหารทะเล ตับ ไต และเนื้อสัตว์




Create Date : 11 พฤษภาคม 2553
Last Update : 11 พฤษภาคม 2553 16:16:25 น. 3 comments
Counter : 7867 Pageviews.  

 
ทักทายยามเย็น ทานข้าวให้อร่อยนะคะ :)


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:21:23 น.  

 

วิตามินเสริม...ดีจริงหรือ?

//www.doctor.or.th/node/7835

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม :363
เดือน-ปี :07/2552
คอลัมน์ :เรื่องเด่นจากปก
นักเขียนหมอชาวบ้าน :ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด


ถือเป็นเรื่องร้อนที่สังคมให้ความสนใจ คาดว่าคงโดนใจผู้อ่านที่รักสุขภาพกันทุกคน ประมาณว่าปีหนึ่งๆ มีพลโลกจัดซื้อจัดหายาเม็ดวิตามิน มากินกันมากมายทั่วโลกเป็นมูลค่ามหาศาล ด้วยความคาดหวังบนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจและความเชื่อว่า วิตามินจะช่วยส่งเสริมสุขภาพสร้างความสมบูรณ์ แข็งแรง และ/หรือช่วยป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ของมนุษย์ได้ซึ่งบทความนี้จะให้ความกระจ่างเรื่องวิตามินเป็นลำดับ



วิตามินคือ สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

ตั้งแต่เล็กแต่น้อยเราได้เรียน รู้มากันว่าวิตามินเป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่สำคัญต่อร่างกายของเรา มีหน้า
ที่ หลักช่วยให้การทำงานต่างๆ ของร่างกายเป็นปกติ และอาจรวมกับเกลือแร่ แล้วเรียกว่า "วิตามินและเกลือแร่ "ซึ่งเราทุกคนได้รับจาก อาหารมื้อต่างๆ ที่กินเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ

นอกจากนี้ ยังจำได้ว่าถ้าร่างกายได้รับวิตามินไม่เพียงพอ ก็จะเกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โรคลักปิดลักเปิดที่มีอาการเลือดออกตามไรฟันซึ่งเกิดจาก การขาดวิตามินซี หรือโรคเหน็บชา ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 หรือโรคตาฝ้ามัว ตาฟาง ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินเอ เป็นต้น

มักจะรวม เรียกโรคเหล่านี้ว่า " โรคที่ขาดวิตามิน " ซึ่งถ้าผู้ใด ไม่ได้รับวิตามินดังกล่าวเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เกิดความผิดปกติ หรือเกิดโรคต่างๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นโรคขาดวิตามินแล้ว ได้รับการรักษาด้วยการได้รับวิตามินชนิดนั้น โดยทั่วไปเมื่อร่างกายได้รับวิตามินปกติ โรคเหล่านี้ก็หายไป


วิตามิน ได้จากอาหารตามธรรมชาติดีที่สุด

ปัจจุบันแหล่งของวิตามินสำหรับ มนุษย์มี 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ แหล่งวิตามินที่ได้จากอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว เมล็ดพืช น้ำมัน นม ตับ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา เป็นต้น

อาหารเหล่านี้จะมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งในจำนวนนั้นจะมีวิตามินสะสมอยู่ด้วย เมื่อเรากินเข้าไป ร่างกายก็จะย่อย ดูดซึม และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับอวัยวะต่างๆ ช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ

การเลือกกินอาหารที่ดี มีหลักสำคัญง่ายๆ คือกิน " หลากหลายและครบ 5 หมู่ " ได้แก่ การกินอาหารที่มีสารอาหารสำคัญทั้ง 5 หมู่ อันได้แก่

โปรตีน (ได้จากเนื้อสัตว์ ปลา ไข่นม ถั่ว ฯลฯ)

แป้ง (ได้จาก ข้าว แป้ง น้ำตาล ฯลฯ)

ไขมัน (ได้จากน้ำมัน ไขมัน ฯลฯ)

วิตามิน และเกลือแร่ (ซึ่งได้จากผักและผลไม้เป็นส่วนใหญ่)

ซึ่งปริมาณอาหารแต่ละหมู่จะต้องเหมาะสมเป็นสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป และควรสลับสับเปลี่ยนชนิดของอาหารให้หลากหลาย ต่างๆ นานา ไม่ซ้ำซากจำเจ เพื่อให้ได้สารอาหารครอบคลุมหลากหลายชนิดตามความต้องการที่หลากหลายของร่างกายของมนุษย์

นอกจากนี้ ควรเน้นผักและผลไม้สดให้มากขึ้น ซึ่งจะอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา


แหล่งของวิตามินประเภทที่สอง ได้แก่ วิตามินที่มีการผลิตในรูปแบบของยาสำเร็จรูป ขอเรียกว่า "ยาเม็ดวิตามิน " ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในโรงงานอุตสาหกรรม

ในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งขนาดปกติที่พอดีกับความต้องการแต่ละวัน และขนาดสูงกว่าปกติ ตลอดจนมีทั้งสูตรที่มีวิตามินชนิดเดี่ยวๆ และ สูตรที่มีวิตามินหลายชนิดผสมกันหลากหลายชนิดที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เป็นจำนวนมาก

เมื่อเปรียบเทียบการนำไปใช้งานของร่างกาย คุณประโยชน์ที่ได้รับ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พบว่าวิตามินที่ได้จากอาหารตามธรรมชาติ โดยเฉพาะลักษณะอาหารของประเทศไทย จะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารต่างๆ ทั้ง 5 หมู่ รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ ทั้งด้านชนิดและปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคนทั่วๆ ไปได้เป็นอย่างดี

วิตามินที่ได้จากธรรมชาตินี้ก็จะถูกนำไปใช้งานได้โดยง่าย ทั้งยังมีประโยชน์โดยตรงต่อร่างกายของเรา ซึ่งคุ้มค่าและดีกว่า ยาเม็ดวิตามินที่สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีและ ผลิตในรูปของยาสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วๆ ไป


วิตามิน เป็นยาบำรุงจริงหรือ?

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม? ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อว่า " วิตามินเป็นยาบำรุง...ช่วยป้องกันและรักษาโรคบางอย่างได้ " ซึ่งเรื่องนี้เป็นทั้งความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเป็นความคาดหวังของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการ " สุขภาวะ " ต้อง การให้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้

ปัจจุบัน มีรายงานการศึกษาและข้อพิสูจน์เกี่ยวกับวิตามินกับโรคต่างๆ มากขึ้น มีทั้งได้ผลดี และไม่ได้ผลในการป้องกันหรือรักษาโรค

จึงควรเข้าใจวิตามินแต่ละชนิดและสภาวะโรคแต่ละอย่าง ว่าวิตามินชนิดใดที่ได้ผลดี (และอาจเลือกใช้) และวิตามินชนิดใดไม่ได้ผล (ซึ่งไม่ควรใช้ให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ) ดังนี้




โรค ที่ใช้วิตามินแล้ว... ไม่ได้ผล

1. วิตามิน รวมกับโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือด

จากการ ศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในผู้หญิงวัยทอง จำนวนกว่าแสนคนในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ใช้วิตามิน รวมมีโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่ใช้วิตามินรวม

ฟังดูอาจจะยัง งงอยู่นะครับ เพราะเป็นภาษาทางการวิจัยแต่สามารถแปลให้ฟังง่ายๆ ได้ว่าผู้ที่ใช้วิตามินรวมจะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดใกล้เคียงกันกับผู้ที่ไม่ใช้วิตามินรวม หรือ " การใช้วิตามินรวมไม่ได้ช่วยลดการเกิดเป็นโรคทั้งสามในหญิงวัยทองเลย "

2. วิตามิน บี 1 วิตามินบี 6 และโฟเลตกับโรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือด

อดีต มีรายงานทางการแพทย์ระบุว่า ระดับสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดสูงจะมีความสัมพันธ์ทำให้การเกิด โรคหัวใจขาดเลือดและโรคสมองขาดเลือด และมีการค้นพบว่า การใช้วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และ โฟเลต จะช่วยลดระดับสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดให้ต่ำลงได้

มี ผู้ตั้งสมมุติฐานและคาดคิดว่า ถ้าให้ผู้ป่วยได้รับวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และโฟเลต จะส่งผลลดระดับสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดให้ต่ำลงได้ และจะส่งผลลดโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดลงได้

แต่ เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วย ที่ได้รับวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และโฟเลตมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคสมองขาดเลือดได้ใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่ได้ใช้วิตามิน

จึงสรุปได้ว่าวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และโฟเลต ไม่ได้ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคสมองขาดเลือดลงได้ตามการศึกษาบวกกับความเชื่อทางการแพทย์ข้างต้น


3. วิตามินอี และบีตาแคโรทีนกับโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง

มีรายงานการ ศึกษาการใช้วิตามินอี และบีตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันว่าจะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง ได้หรือไม่? ตามแนวคิดและทฤษฎีของสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยชะลอความเสื่อมถอยและความสึกหรอของเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก็ให้ผลในทำนองเดียวกันว่า "วิตามินอีและบีตาแคโรทีน ไม่มีผลลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็งได้ "

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าวิตามินอีและ สารซีลีเนียมในขนาดสูงก็ไม่ได้ช่วยลดการเกิดมะเร็งของต่อมลูกหมากได้อีกด้วย

เหล่านี้ล้วนเป็นผลการวิจัยที่ช่วยเสริมบทบาทความเข้าใจอย่างถูกต้องเหมาะสมของ ชาวเราต่อการใช้วิตามิน ถึงแม้ว่าจะส่งผลให้ลบเลือนความคาดหวังที่มีวิตามินในการช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายของมนุษย์

นี่คืออีกหนึ่งความจริงที่จะต้องยอมรับพร้อมทั้งนำ มาประยุกต์กับการดำรงชีวิตของพวกเราทุกคนถ้ามองในแง่ดีก็จะได้ช่วยประหยัด ทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้วิตามินและลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงของ วิตามินขนาดสูง ที่ได้รับในปริมาณมากกว่าความต้องการ เป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกัน ก็จะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายของคนเราได้

อย่าไปคิดว่า " วิตามิน เป็นของปลอดภัย จะใช้มากเท่าใดก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งไม่เป็นความจริง " เพราะ มีวิตามินหลายชนิดที่สะสมและทำให้เป็นพิษได้




โรค ที่ใช้วิตามินแล้ว...ได้ผลดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโรคที่มีรายงานว่าการใช้วิตามินมีประโยชน์คุ้มค่า ช่วยป้องกันโรค ช่วยให้ร่างกายเป็นปกติได้ ตัวอย่างเช่น

1. โฟ เลตกับหญิงตั้งครรภ์

ในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรได้รับสารโฟเลต (folate) หรือกรดโฟลิก (folic acid) ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้

2. แคลเซียม และวิตามินดีกับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุทั้งผู้หญิงและผู้ชายควร ได้รับแคลเซียมและวิตามินดี เสริมให้กับร่างกายเป็นประจำทุกวัน จะเป็นรูปของนม ผลิตภัณฑ์นม หรือยาเม็ดสำเร็จรูปของวิตามินดี และแคลเซียมก็ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญของกระดูกหักในผู้สูงอายุได้

3. วิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดงกับโรคจอประสาทตาเสื่อม

นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ได้รับวิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดงจะช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาได้

ยิ่งกว่านั้น คนบางกลุ่มก็ควรได้รับวิตามินรวมเสริมเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก ผู้ที่กินอาหาร ชนิดมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากๆ และเป็นประจำ หรือผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจให้ วิตามินรวม เพื่อลดความบกพร่องจากการขาดวิตามินต่างๆ ได้



การใช้ยาเม็ดวิตามิน อย่างพอเพียง

ถึงตอนนี้คงได้รับความกระจ่างใน เรื่องประโยชน์ ความคุ้มค่า และโทษของวิตามิน

" การใช้ยาเม็ดวิตามิน...อย่างพอเพียง "

ควรใช้เมื่อจำเป็น ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้เกิดโทษ ได้ ตัวอย่างเช่น วิตามินซี ซึ่งปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่าเป็นวิตามิน เป็นยาบำรุง ซื้อและป้อน ให้บุตรหลานเหมือนกับลูกกวาด ลูกอม หรือขนมหวาน ซึ่งก็เกิดโทษได้ ถ้ามีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ไม่เหมาะสม ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือทำให้เด็กฟันผุได้ง่าย

ขอย้ำอีกครั้ง ว่ายามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์ จึงควรใช้อย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น และใช้อย่างถูกต้องแม่นยำ จะช่วยให้ได้ผลในการรักษา หายโรคภัยไข้เจ็บโดยเร็ว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สุขภาพกาย และสุขภาพใจ ให้กับทุกท่าน





โดย: หมอหมู วันที่: 26 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:10:12 น.  

 
กิน-ดื่ม ผลิตภัณฑ์ผสมสารอาหารดีชัวร์หรือมั่วนิ่ม

//www.cheewajit.com/articleView.aspx?cateId=1&articleId=1713


นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 251


คุณมาลี จิรวงศ์ศรี นักวิชาการอาหารและยา กองควบคุมอาหาร เล่าว่า “จริงๆแล้ว อาหารที่มีการเติมสารอาหารมีมานานแล้ว แต่ว่าได้รับความนิยมอยู่ในกลุ่มเล็กๆ แต่พอผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (อาหารรูปแบบ แคปซูลเม็ด) อยู่ในกระแสนิยมของผู้รักสุขภาพทั้งหลาย ทางยุโรปเขาก็มองว่า เราควรกินอาหารรูปแบบปกติ แต่ควรจะดึงดูดมากขึ้น โดยการเพิ่มสารอาหารลงไป จึงมีการขยายตัวของอาหารเติมสารอาหารมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง”

“การเติมสารต่างๆ ลงไปทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยขึ้นอยู่กับกระแสของสังคมตอนนั้นว่าสนใจอะไร ฉะนั้นการเติมสารตัวใดตัวหนึ่งจะเป็นเรื่องของการตลาดเป็นหลัก เป็นการเติมเพื่อสร้างจุดขายให้กับผู้บริโภคสนใจมากกว่า”



มีทั้งคุณและโทษในขวดเดียวกัน

คุณมาลีอธิบายเพิ่มเติมว่า “ถ้าเป็นการเติมวิตามินและแร่ธาตุในรูปแบบและปริมาณที่เรากำหนดลงไปในอาหาร ไม่มีโทษแน่นอน แต่ถ้าเติมเกินขนาดที่กำหนด และกินติดต่อกันเป็นเวลานานก็เป็นอันตรายต่อร่างกายได้เหมือนกัน”

“ส่วนสารอื่นๆที่ไม่ใช่วิตามินและแร่ธาตุ ถามว่าได้ประโยชน์ไหม เช่น ซอยเปปไทด์ ก็มีประโยชน์ตัวเช่นเดียวกับสารอาหารกลุ่มโปรตีน แต่ถามว่าได้แค่ไหน ไม่สามารถตอบได้เพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะสรุปประโยชน์ ในลักษณะอื่นๆได้ และเราไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ทางอาหารบนฉลาก”

ดร.เอกราช เกตวัลย์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยเสริมความรู้เรื่องอาหารเติมสารว่า “ร่างกายคนเราจะได้รับประโยชน์จากสารที่เติมลงไปนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง คือ

"หนึ่ง" กระบวนการผลิต เช่น วิตามินที่เติมลงในน้ำผลไม้หรือเติมลงในนม ขนมปัง ต้องผ่านการให้ความร้อนก่อน วิตามินบางตัว เช่น วิตามินซี เมื่อได้รับความร้อนจะถูกทำลายได้ง่าย

และอีกอย่างคือ เมื่อยู่ในรูปเครื่องดื่มอาจทำปฏิกิริยาระหว่างวิตามินหรือสารอาหารด้วยกัน เอง ยิ่งถ้ามีสารอาหารหลายๆชนิดที่เติมลงไปแล้วผู้ผลิตไม่ได้ศึกษาถึงความคงที่ ของสารที่เติมลงไป ร่างกายอาจไม่สามารถดูดซึมได้ดี

“สอง" ชนิดของสารอาหารที่เติมและสภาพร่างกาย เช่น คอลลาเจน เมื่อกินคอลลาเจนเข้าไปร่างกายจะย่อยให้แตกตัวเป็นกรดอะมิโนแอซิด แล้วจึงนำอะมิโนแอซิดที่ได้กลับไปสร้างเป็นคอลลาเจนใหม่ ไม่ใช่การดื่มเครื่องดื่มผสมคอลลาเจนเข้าแล้วจะได้เป็นคอลลาเจนเลย

จึงขึ้นอยู่กับว่าร่างกายมีความสามารถสังเคราะห์กลับมาได้เท่าไร และความสามารถในสังเคราะห์กลับคืนมาขึ้นอยู่กับ สภาพร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรงการสังเคราะห์คอลลาเจนจะลดลง เมื่อกินคอลลาเจนเข้าไปเท่าไร ร่างกายก็จะสังเคราะห์เท่าที่ทำได้ ไม่มีการสังเคราะห์เพิ่ม ดังนั้นกินเข้าไปมากเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์




สำรวจตลาดผลิตภัณฑ์เติมสารอาหาร

อาจารย์เอกราชจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้


* กลุ่มบำรุงสมอง

เปปไทด์ เปปไทด์ถั่วเหลือง (Soy Peptide) คือ โปรตีนหน่วยย่อยที่ได้จากการย่อยโปรตีนถั่วเหลืองด้วยเอนไซม์ ปัจจุบันมีการกล่าวอ้างคุณประโยชน์ของเปปไทด์ถั่วเหลืองที่มีต่อสุขภาพใน ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยจะช่วยเพิ่มการสร้างสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเปปไทด์ถั่วเหลือง (soy peptide) ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การเรียนรู้ ความจำ และมีคุณสมบัติในการลดความเครียด

แต่งานวิจัยในเรื่องดังกล่าวยังค่อนข้างจำกัดและไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

นอกจากนี้ร่างกายคนเรายังสามารถสร้างสื่อประสาทบางประเภทจากกรดอะมิโนหรือ เปปไทด์ที่ได้จากการย่อยโปรตีนจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไป และยังมีสารสื่อประสาทอื่นๆ ที่ไม่ได้สร้างขึ้นจากกรดอะมิโนหรือเปปไทด์ อีกทั้งสารสื่อประสาทนั้น ได้รับการควบคุมโดย DNA ของแต่ละคน ซึ่งจะสร้างขึ้นตามความจำเป็นของร่างกาย การมีเปปไทด์ในกระแสเลือดมากขึ้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารสื่อประสาทมากขึ้น

โอเมก้า 3 โอเมก้า 3 คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารทั่วไป แต่ก็มีอยู่ในปริมาณสัดส่วนที่ต่ำมาก โอเมก้า 3 มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับ และระบบประสาทที่เกี่ยวกับการพัฒนาเรียนรู้ รวมถึงเรตินาที่ช่วยการมองเห็น นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด


* กลุ่มชะลอวัย

คิวเทน (Q 10) ด้วยเหตุที่คิวเทนทำหน้าที่ในกระบวนการเสริมสร้างพลังงานให้แก่ทุกๆ เซลล์ และเป็นสารแอนตี้ออกซิแด้นท์ช่วยป้องกันการทำลายเซล์เนื้อเยื่อของร่างกาย จึงมีการนำมาใช้ในด้านความสวยงาม อย่างไรก็ตามคิวเทนที่ได้รับจากอาหารจะดูดซึมเข้าสู่เลือด และอวัยวะต่างๆ แต่จะดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้น้อย ซึ่งจะให้ผลในด้านสุขภาพโดยรวมมากกว่าด้านผิวพรรณ

คอลลาเจน คอลลาเจนคือโปรตีนชนิดหนึ่ง มีมากที่สุดในร่างกาย คือมีอยู่ประมาณ หนึ่ง ใน สาม คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนัง พบได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหนังตึงและเนียนเรียบ โดยทำหน้าที่คู่กับโปรตีนอีกชนิดหนึ่งคือ อีลาสติน (Elastin) ซึ่งช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผิว แต่จริงๆแล้วในเชิงโภชนาการ คอลลาเจนจัดเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำ ถ้าเราได้รับโปรตีนในรูปของคอลลาเจนเพียงชนิดเดียว เราก็อาจเกิดอาการขาดโปรตีนได้ และส่งผลเสียต่อร่างกาย

ที่สำคัญ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยที่ยืนยันว่าการกินคอลลาเจนจะช่วยชะลอผิวหนัง ที่เสื้อมสภาพตามวัยได้


* กลุ่มควบคุมน้ำหนัก

อินูลินและโอลิโกฟรุคโตส อินูลินและลิโกฟรุคโตสสเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ มีความสามารถในการละลายน้ำได้ดีกว่าใยอาหารที่ละลายน้ำชนิดอื่นๆ เนื่องจากมีขนาดโมเลกุลเล็กว่า จึงถูกแบคทีเรียย่อยสลายได้ กลายเป็นอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ของเรา โดยเฉพาะจุลินทรีย์สุขภาพ ใยอาหารจำพวกนี้จัดเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) และการที่สารทั้งสองเป้นใยอาหารจึงให้ผลลัพท์เช่นเดียวกับใยอาหารอื่นๆ ในแง่ของระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย

คาร์นิทีน ตามปกติร่างกายสังเคราะห์แอลคาร์นิทีนได้จากไลซีนและเมทไธโอนีนอยู่แล้ว การที่คนขายกล่าวอ้างว่า เมื่อรับประทานพร้อมกับการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ เผาผลาญอาหารให้ดีขึ้น และช่วยลดน้ำหนัก

ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันเรื่องนี้ชัดเจน


* กลุ่มสวยงามและบำรุงสุขภาพ

กลูต้าไทโอน (Gluta thione) เป็นกลุ่มอนุมูลย่อยของกรดอะมิโน 3 ชนิด (Tripetide) ได้แก่ Cysteine, Glycine และ Glutamic Acid มีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยสร้างเอนไซม์ชนิดต่างๆ ที่ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย เช่น พิษของโลหะหนัก สารระเหย ยาฆ่าแมลง แม้แต่ยาบางชนิดให้เป็นสารที่สะลายน้ำได้ดีขึ้น และง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย และจัดเป็นสารแอนตี้ออกวิเด้นท์ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ร่างกายสามารถสร้างกลูตาไทโอนได้เอง และกลุตาไทโอนไม่สามารถดุดซึมเข้าร่างกายได้ทันที ดังนั้นการกินกลูตาไทโอนที่เติมลงในอาหารจึงไม่ทำให้ผิวขาวได้

คลอโรฟิลล์ คลอโรฟิลล์เป็นกลุ่มของรงควัตถุที่มีสีเขียวพบในพืชทั่วไป ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์เป็นสารแอนตี้ออกวิเด้นท์ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียง กับ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี และวิตามินอี ปัจจุบันมีการเติมลงในเครื่องดื่ม หรือทำเป็นผงสำหรับชงดื่ม ที่อ้างว่าช่วยในการล้างพาในเลือดและทำให้ผิวหน้าใสนั้น

จากการศึกษาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีการสรุปในระดับที่น่าเชื่อถือได้ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

สำหรับสรรพคุณในเรื่องช่วยลดกลิ่นปาก ถ้าจะให้ได้ผลจริงจะต้องใช้คลอโรฟิลล์ในปริมาณเข้มข้นมากว่าที่ขายใน ปัจจุบันมาก โดยทั่วไปสินค้าหลายๆ ขนิดที่มีการใช้คลอโรฟิลล์จะเป็นการใช้เพื่อ “แต่งสี” ให้มีสีสันน่ากินเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อช่วยลดกลิ่นปาก และคลอโรฟิลล์เองไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นใย จึงไม่ช่วยขับสารพิษจากร่างกาย

กรดโฟลิก กรดโฟลิกเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ร่างกายนำไปใช้เพื่อสร้างเวลล์เม็ดเลือด รักษาบาดแผลสร้างกล้ามเนื้อ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเก็บกรดโฟลิกไว้ได้นาน จึงต้องกินอาหารที่มีกรดโฟลิกเป็นประจำ ถ้าได้รับน้อยเกินไปจะทำให้เป้นโรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และอัลไซเมอร์

ปัจจุบันมีอาหารหลายชนิดที่เติมกรดโฟลิก เช่น ขนมปัง และซีเรียส เพื่อเสริมคุณค่าอาหารและป้องกันโรคดังกล่าว แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้อง กับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูหมาก นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่เป็นโรคลมชักเกิดอาการกำเริบกระทันหัน

แครนเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถือเป็นผลไม้ที่มีวิตามินวีสูงมาก และประกอบไปด้วยสารพฤกษเคมีที่เป็นสาร แอนตี้ออกซิเด้นท์ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดการเจริยเติบโตของเซลลืมะเร็งเต้านมในสัตว์ทดลอง

แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุปริมาณที่ควรบริโภคเพื่อให้เกิดผลทางสุขภาพ เพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วยพอ

ผลิตภัณฑ์จากแครนเบอร์รี่ที่พบในท้องตลาดคือ น้ำแครนเบอร์รื่วึ่งใช้แครนเบอร์รี่เข้มข้นที่นำเข้าจากต่างประเทศมาละลาย น้ำและปรุงรสด้วยน้ำตาล ดังนั้นการบริโภคน้ำแครนเบอร์รี่สำเร็จรูปจึงควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาล ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีปับหาความอ้วนหรือเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน




โดย: หมอหมู วันที่: 23 กันยายน 2553 เวลา:12:30:38 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]