คอลัมน์ที่ 13
เว็บไซต์ของราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นกรณีพิเศษ
นับเป็นสายสะพายเส้นที่ 2 ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทาน หลังจากได้รับพระทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2554
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (The Most Noble Order of the Crown of Thailand) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2412 สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน ชาวต่างประเทศ และผู้กระทำความดี ทั้งบุรุษและสตรี ปัจจุบันมี 8 ชั้น
โดยพระราชทานแก่ราชการหรือสาธารณชน พิจารณาเสนอขอพระราชทานของรัฐบาล เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบ และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศอย่างสูง แก่ผู้ได้รับพระราชทาน พระราชทานทั้งบุรุษและสตรี
หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว ให้ประกาศรายนามในราชกิจจานุเบกษา ปกติจะประกาศในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมของทุกปี แยกเป็น 2 ฉบับ คือชั้นต่ำกว่าสายสะพาย และชั้นสายสะพาย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เดิมมีชื่อว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2484
เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย มีศักดิ์รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกในชั้นที่เท่ากัน เช่น ชั้นที่ 3 ต้องประดับ ดวงตราช้างเผือกก่อนแล้วจึงต่อด้วยดวงตรามงกุฎไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย มีทั้งหมด 8 ชั้น คือ
ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ ประกอบด้วย
1. สายสะพาย เป็นแพรแถบมีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีครามแก่ มีริ้วแดงและขาว อยู่ริมทั้งสองข้าง สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
2. ดวงตรา เป็นกลีบบัวทอง แววลงยาสีแดงสี่กลีบ มีพระมหาวชิราวุธเงินแทรกสลับตามระหว่าง กลางดวงตรามีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. กับเลข 6 ไทย เป็นเพชรสร่ง มีเนื่องเงินล้อมรอบอยู่ภายใต้พระมหามงกุฎทอง เบื้องบนมีพระมหาเศวตฉัตร รัศมีทอง
3. ดารา เป็นรัศมีเงินสี่ทิศ มีรัศมีสายฟ้าทองแทรกสลับตามระหว่าง กลางดาราเหมือนอย่างดวงตรา แต่อักษรพระปรมาภิไธยย่อประดับเพชร และไม่มีพระมหาเศวตฉัตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นรองลงไป ได้แก่
ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
ขั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
ชั้นที่ 6 เหรียญทองมงกุฎไทย (ร.ท.ม.)
ชั้นที่ 7 เหรียญเงินมงกุฎไทย (ร.ง.ม.)
การเสนอขอพระราชทานกำหนดให้พิจารณาถึงตำแหน่ง ระดับ ชั้น ชั้นยศ ระยะเวลา และความดีความชอบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2536
ในกรณีข้าราชการ จะต้องรับราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันเริ่มเข้ารับราชการจนถึงวันที่ 5 ต.ค.ของปี โดยให้เริ่มจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกสลับกัน
หน้า 6