นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕: "ย่ำรุ่ง" คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไร? .. ต่อ
["ตอนที่  ๑ อยู่บล็อกล่างจากนี้ค่ะ"]

 
โดย ปรามินทร์ เครือทอง

 


ภาพจาก news.voicetv.co.th

 

จาก “สถานกาแฟนรสิงห์” ถึง “หมุดคณะราษฎร”
 
“การก้าวออกมาจากร่มเงาของต้นโศกที่มืดครึ้มอยู่ในขณะนั้น เขาได้ก้าวออกมาปรากฏตนท่ามกลางแถวทหาร พร้อมด้วยการอ่านแถลงการณ์ยืดยาว ซึ่งสรุปแล้ว คือการประกาศยึดอำนาจการปกครอง จากพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นโดยสิ้นเชิง”

หนังสือ ๑๐๐ ปี พระยาพหลฯ ได้ให้รายละเอียด บรรยากาศ และอารมณ์ เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานว่าได้มาจากที่ใด

“ครั้นถึงเวลาย่ำรุ่งเศษ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในเครื่องแบบยศตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่ ก็ก้าวจากใต้ต้นโศกด้านสนามเสือป่า ซึ่งยืนรออยู่ท่ามกลางนายทหารผู้ใหญ่ด้วยกัน ไปปรากฏตัวเบื้องหน้าแถวทหาร โดยมีผู้บอกทำความเคารพแล้ว ก็คลี่กระดาษออกมาอ่านด้วยเสียงอันดัง แต่มิได้ขึ้นต้นแบบทักทหารเหล่านั้นเลย เพราะฝ่ายพลเรือนเขียนให้อย่างนั้น”

นักหนังสือพิมพ์ทั้ง ๒ ท่านที่เขียนเล่าเหตุการณ์ “วันปฏิวัติ” นี้อาจจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง แต่อาศัยคำบอกเล่าและการสัมภาษณ์เป็นพื้น จึงอาจมีการ “เติมสีสัน” เข้าไปเจือปนบางส่วน

ต่างจากบทสัมภาษณ์ของพระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้น มีรายละเอียดชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย 

“เมื่อเห็นกำลังทหารหน่วยต่างๆ พากันพรั่งพร้อมสมความมุ่งหมายแล้ว พระยาพหลฯ ก็เริ่มดำเนินงานตามแผนทันที โดยเรียกประชุมบรรดาผู้บังคับบัญชาทางทหารทั้งหมด ให้ไปประชุมพร้อมกันที่กลางลานพระบรมรูปทรงม้า เบื้องหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช

ทหารที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นั้น ต่างก็พากันยืนล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลม เบื้องหน้าพระยาพหลฯ นายทหารเหล่านี้มีอยู่มากด้วยกันที่คิดว่ามาเพื่อฝึกฝนยุทธวิธี กับมีนายทหารผู้ก่อการที่ทราบเรื่องดีแล้วแทรกกระจายอยู่ทั่วไป พวกก่อการฝ่ายพลเรือนก็มีไปรวมอยู่ ณ ที่นั้นบ้าง

เบื้องหลังพระยาพหลฯ มีนายทหารเสือของคณะปฏิวัติกับบุคคลชั้นหัวหน้าสำคัญ ได้แก่ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ พระยาประศาสน์ฯ ยืนคุมเชิงอยู่ห่างๆ

ครั้นแล้ว พระยาพหลฯ ก็อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่ามกลางนายทหารเหล่านั้น”

หากจินตนาการตาม “คำให้การ” ของพระยาฤทธิอัคเนย์แล้ว ดูเหมือนว่า พระยาพหลฯ จะอ่านประกาศยึดอำนาจ ทางด้าน “หัวม้า” เพราะเป็น “เบื้องหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช” โดยมีกองทหารล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลมอยู่ด้านหน้าพระยาพหลฯ ด้านหลังเป็น “๓ ทหารเสือ” ซึ่งมีพระยาฤทธิอัคเนย์ผู้บอกเล่าเหตุการณ์รวมอยู่ด้วย 

ส่วนพระยาพหลฯ จะหันหน้าเข้าพระบรมรูปทรงม้า โดยมีกองทหารเข้าแถวชิดอยู่กับอนุสาวรีย์ หรือพระยาพหลฯ จะหันหน้าออก โดยยืนชิดกับอนุสาวรีย์นั้น และมีคณะทหารอยู่ถัดออกไปด้านนอกหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏใน “คำให้การ”

ปัญหาก็คือ หากพระยาพหลฯ ไปยืนอ่านประกาศด้าน “หัวม้า” แล้ว เหตุใด “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น “จุด” ที่พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ จึงถูกฝังไว้ทางด้าน “ซ้ายมือ” ของพระบรมรูปทรงม้า?

อีกทั้งยังมีคำจารึกยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “ณ ที่นี้” อาจหมายถึง “บริเวณ” ลานพระบรมรูปทรงม้าทั้งหมด ซึ่งต่างจากคำว่า “ณ จุดนี้”

หรือความทรงจำของพระยาฤทธิอัคเนย์คลาดเคลื่อน 

หรือหมุดทองเหลืองของคณะราษฎร ถูกย้าย!?

โชคยังดีที่พระยาพหลฯ ราวกับจะรู้ว่า วันหนึ่งคนจะลืม และมาถกเถียงหา “จุดกำเนิด” ของรัฐธรรมนูญในกาลข้างหน้า 

พระยาพหลฯ จึงตกลงใจที่จะสร้าง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ฝังไว้ ณ จุดที่ท่านได้ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ เมื่อเวลาเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสยาม 

จุดประสงค์เพื่อเตือนความทรงจำของคณะผู้ก่อการฯ เอง ที่อาจจะลืมเลือนไป หรือผู้ก่อการฯ บางคน ที่วันนั้นไปปฏิบัติงานที่อื่น ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะพระยาพหลฯ อ่านประกาศยึดอำนาจ รวมทั้งเพื่อความทรงจำของประชาชนชาวสยามทั้งปวง

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือนๆ ส่วนบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงจะไม่ทราบ ว่าจุดนั้นอยู่แห่งใดแน่

ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย, เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม ซึ่งเสมือนดังว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย...”

พระยาพหลฯ ยังได้เดินทางไปเป็นประธานทำพิธีฝังหมุดทองเหลืองนี้ด้วยตัวเอง

พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า

---------------
                                                          
๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙

เวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา อาสนสงฆ์ไว้พร้อมสรรพ

เวลาบ่าย ๑๔.๓๐ นาฬิกา พระสงฆ์วัดเบ็ญจมบพิตรมีพระธรรมโกศาจารย์เป็นประธาน รวม ๙ รูป พร้อมกัน ณ อาสนสงฆ์ที่เตรียมไว้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมายังโรงพิธี เจ้าพนักงานสังฆการีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระปริตต์ตามสมควร เสร็จแล้วพรมน้ำมนตร์และเจิมหมุดที่หลุม ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรี เริ่มจับหมุดฝังเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาจบแล้ว นายกรัฐมนตรีประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเป็นเสร็จพิธี.

น่าเสียดายที่เอกสารของพระยาพหลฯ ก็ยังไม่ให้ความชัดเจนอยู่ดี เพราะร่างสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ที่ใช้กล่าวในวันพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” แม้จะยืนยันว่า “จุด” ที่จะฝังหมุดนั้นเป็นจุดเดียวกับที่ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจ แต่ก็ไม่ได้บอก “พิกัด” ชัดเจนไว้ในเอกสารว่า “จุด” นั้น อยู่ตำแหน่งไหนในลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากสุนทรพจน์นั้นใช้กล่าวก่อนจะทำพิธีฝังหมุด ซึ่งทุกคนในที่นั้นย่อมเห็นด้วยตาอยู่เอง จึงไม่จำเป็นต้องบอกซ้ำอีก

อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มักจะมีข่าวเรื่อง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” นี้ ถูกแงะไปเก็บบ้าง ถูกย้ายที่แก้เคล็ดบ้าง แต่ก็ขาดหลักฐานยืนยันว่า ย้ายจากไหนไปไหน แล้วนำกลับมาไว้ตำแหน่งเดิม “แป๊ะๆ” เลยหรือไม่

เนื่องจาก “พิกัด” ที่แท้จริงไม่มี หลักฐานการเคลื่อนย้ายยังไม่ชัด จึงต้องถือ “เสมือนว่า” ณ “จุดยืน” ที่พระยาพหลฯ อ่านประกาศยึดอำนาจ หรือจุดที่ฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ยังคง “แน่นิ่ง” อยู่ที่เดิม ไม่ได้มีการ “เปลี่ยนแปลง” เลยในช่วงเวลา ๘๐ ปีมานี้

พระยาพหลฯ ไม่ได้อ่านประกาศคณะราษฎร?

ปัญหาสุดท้าย ที่ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงใหญ่โต แต่เอกสารชั้นหลังๆ มักจะ “เชื่อว่า” เมื่อเวลา “ย่ำรุ่ง” นั้น พระยาพหลฯ ได้อ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ต่อหน้าเหล่าทหารกองผสม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งที่จริงบรรดา “คำให้การ” หรือบทสัมภาษณ์ของ “๔ ทหารเสือ” ก็ไม่ได้บอกเลยว่าสิ่งที่ พระยาพหลฯ ยืนอ่านขณะนั้นคือ “ประกาศคณะราษฎร” (ฉบับที่พิมพ์แจกประชาชนโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม)

บทสัมภาษณ์ของพระยาพหลฯ ผู้อ่านประกาศยึดอำนาจ ที่เรียบเรียงโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า

“เมื่อได้จัดการชุมนุมกำลังทหารในพระนคร และเชิญเสด็จเจ้านายมากักตัวไว้เป็นประกันสำเร็จลุล่วงตามอุบายและแผนการแล้ว พระยาพหลฯ ก็ประกาศวัตถุประสงค์ของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย”

บันทึกของพระยาทรงฯ ก็ไม่ได้ยืนยันว่าเป็น “ประกาศคณะราษฎร” เช่นกัน

“ผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ได้ต้อนทหารทั้งหมดเข้าประตูรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันต์ฯ ภายหลังที่พระยา พหลฯ ได้อ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ถูกตะโกนแต่งตั้งขณะนั้นเป็นต้นไป”

คำสัมภาษณ์ของพระฤทธิอัคเนย์ก็ตรงกับพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ

“ครั้นแล้ว พระยาพหลฯ ก็อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่ามกลางนายทหารเหล่านั้น”

สุดท้ายคือบันทึกของพระประศาสน์ฯ ก็เช่นเดียวกับพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระยาฤทธิอัคเนย์

“เจ้าคุณพหลฯ ก็ประกาศเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน”

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือ “ย่ำรุ่ง” ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ อ่านอะไร?

หลักฐานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ให้ความชัดเจนในเรื่องนี้คือหนังสือเรื่อง ทหารเรือปฏิวัติ ของ นายหนหวย ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ผู้ก่อการฯ ฝ่ายทหารเรือเป็นหลัก ได้กล่าวว่า

“ที่นี้ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ สองสหายก็พากันร่างคำแถลงการณ์ขึ้นเพื่อประกาศแทนคำสมมุติในการฝึก คำแถลงการณ์นี้ได้เขียนเป็นภาษาเยอรมัน คำแถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับที่พิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชน”

เหตุที่ต้องเขียนคำแถลงการณ์นี้เป็นภาษาเยอรมัน น่าจะเพื่อป้องกันการมีหลักฐานมัดตัวหากถูกจับ และเข้าใจการ “แทรก” คำสมมุติในการฝึก คือการกำหนดรูปแบบการฝึก การแบ่งฝ่ายรุกรับ ก็น่าจะเป็นการอำพราง “เนื้อหา” ในคำประกาศ (เช่นเดียวกับ “คำประกาศคณะราษฎร” ก็มีการอำพรางด้วยการพิมพ์ “แทรก” อยู่ในเนื้อหาอื่นๆ ก่อนจะตัดเนื้อหานั้นทิ้ง เหลือแต่คำประกาศ)

เพราะเมื่อถึงเวลาที่พระยาพหลฯ อ่านประกาศจริงๆ ก็เหลือเฉพาะ เนื้อหาเรื่องการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการกำชับกำลังพลในที่นั้นให้เชื่อฟังแต่โดยดี โดยควักคำประกาศออกมาจากกระเป๋าเสื้อ อ่านด้วยเสียงสนั่นดังลั่นลานพระบรมรูปทรงม้า

“แถลงการณ์ภาษาเยอรมันแต่อ่านเป็นภาษาไทย ของพระยาพหลฯ ฉบับนั้น มีใจความสำคัญแต่เพียงว่าบัดนี้คณะราษฎร, ทหาร, พลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อลบล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอันเก่าแก่ลง และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นตามแบบอารยะชาติทั้งหลาย 

ขอให้นายทหารที่มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอยู่ในความสงบอย่าทำการขัดขวาง และออกจากลานพระรูปฯ ไปไม่ได้จนกว่าจะได้สั่งให้กลับไป หากจะพอใจให้ความร่วมมือสนับสนุนแก่คณะราษฎร ซึ่งยึดอำนาจการปกครองก็ยินดียิ่ง ทั้งนี้เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง”

ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องต้องกัน กับร่างสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในวันพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกัน

“ณ จุดที่ข้าพเจ้าได้รับอุปโลกน์จากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการให้เป็นผู้นำ และที่นั้นข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการอย่างเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการต่อไป และได้กำหนดโทษไว้อย่างหนัก ถ้าผู้ใดขัดขืนคำสั่งและละเมิดวินัยในการกระทำหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น”

จึงน่าจะเป็นที่แน่นอนว่า วันนั้น พระยาพหลฯ ไม่ได้อ่าน “ประกาศคณะราษฎร” แต่เป็นแถลงการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการปลุกใจ และสั่งการควบคุมทหารให้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเด็ดขาด

สรุป

ในวันยึดอำนาจการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กองทหารผสมมาชุมนุมพร้อมกันเวลา “ย่ำรุ่ง” ๐๖.๐๕ น. จากนั้นเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. พระยาพหลฯ ก้าวมายืนอยู่ ณ จุดที่ฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในลานพระบรมรูปทรงม้า ท่ามกลางเหล่าทหารกองผสม เพื่ออ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง และปลุกใจเพื่อนทหารที่มาชุมนุมอยู่ที่นั้น 

เมื่อกล่าวจบคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารก็นำทหารเปล่งเสียงขึ้น ๓ ครั้ง 

ไชโย, ไชโย, ไชโย

ปัจจุบัน “สถานกาแฟนรสิงห์” อันเป็น “ก้าวแรก” ของรัฐธรรมนูญ ได้เลิกกิจการไปแล้ว คณะราษฎรรุ่นก่อตั้งก็ไม่เหลือแล้ว หลัก ๖ ประการในคำประกาศคณะราษฎร ก็เหลือเป็นเพียงอนุสาวรีย์ สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียง “จุดยืน” ของรัฐธรรมนูญที่หลายคน “ไม่รู้จัก” ซึ่งถูกฝังสนิทอยู่ “เบื้องล่าง” พระบรมรูปทรงม้า ที่ยังคงมีผู้ “เซ่นไหว้” ไม่เสื่อมคลาย

(อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ พร้อมภาพประกอบและเชิงอรรถ ได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2555)


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์  
คุณปรามินทร์ เครือทอง
news.voicetv.co.th 

อาทิตยวารสวัสดิ์วิบูลย์ค่ะ


["ตอนที่  ๑ อยู่บล็อกล่างจากนี้ค่ะ"]



Create Date : 24 มิถุนายน 2555
Last Update : 24 มิถุนายน 2555 8:21:25 น.
Counter : 3003 Pageviews.

0 comments
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด