สุรชาติ บำรุงสุข : ประจำสถานีรบ สถานการณ์การต่อสู้ในการเมืองไทย

 

(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 15-21 มิถุนายน 2555)



"สังคมไทยในปัจจุบัน เป็นสังคมที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เนื่องจากการเป็นฝักเป็นฝ่ายทางการเมือง ไม่สามารถจะพูดคุยกันแบบผู้ดีบนหลักของวิชาการโดยมีข้อมูลและหลักฐานเพื่อให้เกิดภูมิปัญญา เมื่อต่างฝ่ายต่างมีนโนทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน แม้จะใช้ภาษาเดียวกันคือภาษาไทยในการสื่อสาร ก็ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ และมักจะลงเอยด้วยการถกเถียงโดยใช้อารมณ์อย่างรุนแรง"

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ราชบัณฑิต

29 กันยายน 2554




ท่านทั้งหลายที่ติดตามและสนใจการเมืองไทย คงพอคาดเดาได้ไม่ยากนักว่า ความพยายามในการก่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในการเมืองไทยนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่สัมฤทธิผลเท่าใดนัก

ยิ่งเมื่อเกิดเหตุในรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายปรองดอง ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ความพยายามที่จะทำให้การเมืองไทยกลับสู่ "ภาวะปกติ" หลังจากการรัฐประหาร 2549 และหลังความขัดแย้งใหญ่ในการเมืองไทย เป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้แต่อย่างใด

หรือบางทีเราอาจจะต้องยอมรับ ความเป็นจริงอันเจ็บปวดประการสำคัญว่า ความขัดแย้งในการเมืองไทยได้เดินผ่านโอกาสของความปรองดองไปแล้ว

และจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ "เปิดเกม" การเมืองในรัฐสภาแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของพรรคฝ่ายค้านนั้น ดูจะให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า โอกาสของการปรองดองน่าจะจบสิ้นแล้วในสังคมการเมืองไทย!

ถ้าข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นเป็นสมมติฐานที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าในการเมืองไทยก็คงจะหนีไม่พ้น "ความขัดแย้งใหญ่" ในสังคมไทย

ถ้าแนวโน้มเช่นนี้เป็นจริง เราก็คงกล่าวได้ว่า การเมืองไทยกำลังเดินเข้าสู่ "สถานการณ์สู้รบ" นั่นเอง

การต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภา แม้จะเป็นไปในลักษณะของการสร้างเกมการต่อสู้ในลักษณะของการชิงไหวชิงพริบ จนถึงมาตรการสำคัญของฝ่ายค้านในการบุก "ยื้อยุดจับตัว" ประธานรัฐสภาในวันแรก และตามมาในวันที่สองด้วยการ "ปา" เอกสารใส่ประธานรัฐสภา

แต่อย่างน้อยเราก็คงพอคาดหวังได้ในระดับหนึ่งว่า ถ้าการต่อสู้นี้ยังคงถูกจำกัดอยู่ในกรอบของรัฐสภาแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงการทะเลาะวิวาทของบรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างกับสิ่งที่เราเคยพบเห็นได้จากภาพข่าวในกรณีของปัญหาความขัดแย้งในรัฐสภาไต้หวันหรือเกาหลีใต้ เป็นต้น

และอย่างน้อยเราก็อาจจะพอเบาใจได้อยู่บ้างว่า ตราบเท่าที่ ส.ส. วิวาทกันในรัฐสภา ก็ยังดีกว่าพวกเขาลากเกมให้ปัญหาความขัดแย้งนี้ไปสู่การเมืองบนถนน และอาจจะจบลงด้วยการปิดเกมแบบ "รถถัง"

ดังนั้น ไม่ว่าการเมืองจะขัดแย้งกันเท่าใดก็ตาม แต่ตราบเท่าที่เรื่องทั้งหมดถูกตีกรอบไว้ด้วยกระบวนการทางรัฐสภา แม้จะมีการยื้อยุดหรือขว้างปากันบ้าง ก็อาจจะต้องยอมรับว่าเรื่องราวทั้งหมดก็ยังอยู่ในรัฐสภา แม้จะต้องเสียภาพลักษณ์แห่ง "สถาบันอันทรงเกียรติ" ของบรรดาสมาชิกผู้แทนราษฎรไป ผู้คนอาจจะรู้สึกแย่กับภาพลบที่พวกเขากระทำกันในรัฐสภา

แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ยังอยู่ในรัฐสภาเท่านั้นเอง

สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ การต่อสู้ของพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาอาจจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้ปัญหาอยู่ในสภาเท่านั้น

หากแต่การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนการเปิดการรุกทางการเมืองใน "แนวรบรัฐสภา" ด้วยการใช้วิธีการต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดความชะงักงันของกระบวนการทางรัฐสภา

เพราะกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่ใช้พรรคฝ่ายค้านเป็นกลไกของการขับเคลื่อนในรัฐสภาต่างก็ตระหนักดีว่า หากปล่อยให้รัฐสภาเดินไปตามครรลองที่ใช้วิธีการลงเสียงแล้ว พวกเขาก็ต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน

ดังจะเห็นชัดเจนถึงคะแนนเสียงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านที่แตกต่างกัน จนมองไม่เห็นว่า กลุ่มอนุรักษนิยมจะชนะการลงเสียงในรัฐสภาได้อย่างไร

ในอีกด้านหนึ่งก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกันว่า แม้การกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายทางการเมืองแก่พรรคฝ่ายค้านเอง

แต่พวกเขาก็ดูจะประเมินแล้วว่า ความเสียหายดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างวาทกรรมเพื่อสื่อสารออกไปสู่กลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มเป็นกลาง



ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งจึงขับเคลื่อนโดยการอาศัยกระบวนการทางกฎหมายในลักษณะของ "ตุลาการภิวัฒน์" ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีอำนาจในการหยุดยั้งพรรคการเมืองมาแล้วจากกรณียุบพรรคที่ผ่านๆ มา การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงกระบวนการทางรัฐสภา

เช่น ในกรณีการยื่นตีความของกลุ่ม ส.ว. ต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก่อให้เกิดข้อถกเถียงทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติอย่างมาก

กล่าวคือ ในทางทฤษฎี หากอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการซึ่งต่างก็เป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย และทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระต่อกันนั้น เส้นแบ่งอำนาจของสถาบันตุลาการที่จะก้าวล่วงเข้ามาสู่การปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันนิติบัญญัตินั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในบริบทใดและเส้นนี้อยู่ตรงไหนในกระบวนการเมืองไทย

เพราะหากการใช้อำนาจนี้เกินเลยจากกรอบของความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว การใช้อำนาจดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็น "เผด็จการตุลาการ" ได้ไม่ยากนัก

หรือกลายเป็นกระบวนการทางการเมืองที่สถาบันตุลาการเป็นผู้มีอำนาจหลัก และมีอำนาจเหนือสถาบันการเมืองอื่นของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร

ส่วนข้อถกเถียงในทางปฏิบัติว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะต้องผ่านฝ่ายอัยการก่อนหรือไม่นั้น ว่าที่จริงแล้วเป็นประเด็นทางเทคนิค และเมื่อกลุ่มอำนาจในปีกจารีตนิยมสามารถผลักดันให้กระบวนการตุลาการภิวัตน์เดินหน้าไปได้แล้ว พวกเขาก็ดูจะมีข้ออ้างที่รองรับไว้ได้เสมอ

เช่น การอ้างอิงบทบัญญัติของศาลที่เป็นภาษาอังกฤษ (แต่ไม่ยอมรับในส่วนที่เป็นภาษาไทย)

แต่สิ่งที่จะต้องตระหนักจากกรณีนี้ก็คือ กระบวนการทางกฎหมายของไทยกำลังกลายเป็นสิ่ง "ไม่มีบรรทัดฐาน" ไปเรื่อยๆ และก็ยิ่งทำให้วาทกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่นำเสนอมาโดยตลอดในประเด็นเรื่อง "สองมาตรฐาน" ของการบังคับใช้กฎหมายไทยก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้น

ซึ่งราคาที่สถาบันและองค์กรทางกฎหมายต้องจ่ายนั้นดูจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ

จนบางทีอาจจะกลายเป็นความไม่คุ้มค่าในทางการเมืองเท่าใดนัก เพราะการกระทำที่ละเลยต่อความเป็นมาตรฐานทางกฎหมาย ก็เท่ากับยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรทางกฎหมายของไทยติดลบมากขึ้นไม่ว่าจะในสายตาของคนไทยหรือคนภายนอกก็ตาม

ในขณะเดียวกัน การจะทำให้กระบวนการทางการเมืองเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ ไม่เพียงแต่จะต้องอาศัยพลังของตุลาการภิวัฒน์เท่านั้น หากยังจะต้องอาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนเป็นพื้นฐานอีกด้วย

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งห่างหายไปและมีท่าทีถดถอยนั้น ก็ถูกปลุกให้ฟื้นตัวขึ้นมา โดยอาศัยเงื่อนไขการเสนอกฎหมายปรองดองเป็นตัวจุดชนวน

ดังนั้น แม้กลุ่มนี้กับพรรคฝ่ายค้านจะมีท่าทีเหินห่างจากกันในช่วงที่ผ่านมา แต่ในสถานการณ์ของการเปิดการรุกทางการเมืองครั้งใหม่ พวกเขาจำเป็นต้องเกาะกระแสและพึ่งพากันไป

กล่าวคือ มวลชนเสื้อเหลืองเปิดเกมหน้าสภา ส่วนพรรคฝ่ายค้านรุกเปิดเกมในสภา

ในการต่อสู้เช่นนี้ พลังการเมืองของปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมจึงถูกขับเคลื่อนด้วยกลไก "สามประสาน" คือ กลุ่มพันธมิตรฯ พรรคฝ่ายค้าน และตุลาการภิวัฒน์ อันเป็นการขับเคลื่อนแบบสอดประสานและคู่ขนานกันไป

สภาพดังกล่าวทำให้นักสังเกตการณ์การเมืองทั้งหลายมีทัศนะที่ใกล้เคียงกันว่า สถานการณ์มีความคล้ายคลึงกับการเมืองไทยก่อนรัฐประหาร 2549 อย่างมาก

ซึ่งพอจะสรุปได้ง่ายๆ ว่า พันธมิตรฯ ขับเคลื่อน พรรคฝ่ายค้านเปิดเกม และตุลาการภิวัฒน์แทรกแซง (กรณีการเลือกตั้งเป็นโมฆะ)

จนในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้น...

แม้รัฐประหารจะเป็นการเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ชนชั้นนำก็ยังยินดีที่จะเลือกหนทางเช่นนี้ เมื่อพวกเขาต้องการควบคุมระบบการเมืองที่ออกนอกลู่นอกทางและไม่เป็นตามความต้องการเมื่อใดแล้ว เมื่อนั้นเครื่องมือทางทหารมักจะถูกหยิบใช้เป็นทางเลือกเสมอ

วันนี้หากพิจารณาด้วยความมีสติจะเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐประหาร 2549 มีราคาที่ชนชั้นนำและผู้นำทหารต้องจ่ายอย่างมาก แต่ก็มิใช่สิ่งที่เราจะนำมาตัดสินว่า รัฐประหาร 2549 น่าจะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย

เพราะในความเป็นจริงของการเมืองไทยในภาวะปัจจุบัน รัฐประหารยังเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ชนชั้นนำและผู้นำทหารเชื่อเสมอว่า พวกเขากุมเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของการเมืองไทย เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาตัดสินใจใช้เครื่องมือนี้แล้ว เครื่องมืออื่นๆ ก็ดูจะอ่อนด้อยลงเป็นอย่างยิ่ง และไม่อาจนำมาใช้ต้านทานการเคลื่อนของทหารราบและรถถังใน "ยุทธการยึดเมือง" ได้เลย เว้นเสียแต่ฝ่ายรัฐบาลจะเปิด "ยุทธการต้านรัฐประหาร" เหมือนเมื่อครั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจสู้กับกลุ่มยังเติร์กที่ยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน 2525

หรือตัวแบบจากภายนอก แม้จะเป็นเรื่องในอดีต เช่น กรณีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในฮังการี หรือในเชโกสโลวะเกีย ที่ผู้ชุมนุมไม่กลัวรถถัง เพราะสำหรับการต่อสู้ในเมืองแล้ว รถถังและทหารราบก็มีข้อจำกัดอย่างมาก เป็นต้น

แม้รัฐประหารยังเกิดขึ้นได้ แต่ทุกฝ่ายก็ดูจะคิดคล้ายๆ กันว่า การยึดอำนาจครั้งใหม่จะไม่ง่ายเหมือนเก่า และจะเผชิญกับการต่อต้านอย่างแน่นอน ตัวแบบของ "อาหรับสปริง" ด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชนกับอำนาจรัฐเผด็จการเป็นข้อเตือนใจอย่างดีในกรณีนี้

ดังนั้น การตัดสินใจที่จะใช้เครื่องมือเก่าอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์แบบเดิมเช่นที่ชนชั้นนำและผู้นำทหารคาดหวัง

นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองรอบบ้านก็ดูจะไม่เอื้อกับแนวคิดเก่า เพราะพม่าในปัจจุบันอยู่ในกระบวนการของการสร้างประชาธิปไตย และมีแนวโน้มที่จะเปิดประเทศมากขึ้น จนทำให้เกิดข้อสังเกตว่า รัฐประหารในพม่าน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นอีก

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้นำทหารยอมที่จะอยู่ร่วมกับโลกาภิวัตน์ที่มีประชาธิปไตยเป็นแนวคิดหลักทางการเมืองนั่นเอง

ในอินโดนีเซียและในฟิลิปปินส์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดูเหมือนว่ารัฐประหารในจาการ์ตาหรือในมะนิลากลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นอีกแต่ประการใด

ซึ่งหากมองในกรอบของการเมืองในภูมิภาคก็คือ สังคมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็เห็นชัดเจนถึงการขยายตัวของความเป็นเสรีนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมของประเทศเหล่านั้น และทั้งยังถูกสำทับด้วยการเตรียมภูมิภาคที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย

นอกจากนี้ ก็มีความหวังในหมู่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจว่า รัฐประหารครั้งใหม่ที่กรุงเทพฯ น่าจะไม่ใช่สิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจภายนอกเท่าใดนัก เพราะการอนุญาตให้ชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยยึดอำนาจได้อีกนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้

และยังก่อให้เกิดภาพลบว่า ยังมีประเทศในภูมิภาคนี้ที่ยังอยู่กับระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการรัฐประหาร

แต่ที่สำคัญก็คือจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในการเมืองไทยอย่างรุนแรง จนอาจกลายเป็น "สงครามกลางเมือง" ได้ไม่ยากนัก

แต่แม้นจะไม่มีการก่อรัฐประหาร แนวโน้มของสถานการณ์ความขัดแย้งที่โอกาสของการประนีประนอมผ่านเลยไปแล้วจึงอาจขยายตัวเป็นสถานการณ์ใหญ่ได้ตลอดเวลา

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่วันนี้ฝ่ายต่างๆ อยู่ในที่ตั้ง แต่ก็อยู่ในลักษณะ "ประจำสถานีรบ" และเฝ้ารอวันเวลาของการรบจริง!

 
ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

อาทิตยวารสิริสวัสดิ์ค่ะ




Create Date : 17 มิถุนายน 2555
Last Update : 17 มิถุนายน 2555 10:49:33 น.
Counter : 1104 Pageviews.

0 comments
คุณปู่ผู้อยู่นิ่งไม่เป็น สวยสุดซอย
(11 เม.ย. 2567 15:42:02 น.)
ถนนสายนี้มีตะพาบ ประจำหลักกิโลเมตรที่ 349 : วันใดที่เธอรู้สึกเหมือนไม่มีใคร โปรดมองมาทางนี้ ฯ The Kop Civil
(10 เม.ย. 2567 16:44:58 น.)
ความรักของพ่อ (ความประทับใจของลูก) chobkid
(5 เม.ย. 2567 09:42:49 น.)
:) peaceplay
(4 เม.ย. 2567 08:14:28 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด