การเฉลิมพระยศเจ้านาย



ยศเจ้านาย ในราชสกุลมี 2 ประเภทคือ สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้าชั้นใดในเบื้องต้น เจ้านายที่เกิดในสกุลยศชั้นใด ก็อยู่ในชั้นยศชั้นนั้น เป็นยศที่ได้โดยการเกิด และ อิสริยยศ คือยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาแต่งตั้งให้้ทางราชการในภายหลัง


สกุลยศ

สกุลยศของเจ้านายนั้น บรรดาผู้ที่เกิดในราชตระกูลจะเป็นราชบุตร ราชธิดา หรือราชนัดดาก็ตาม จะเรียกว่า เจ้า สกุลยศนั้น แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

เจ้าฟ้า มีความแตกต่างกัน 3 ชั้น คือ

เจ้่่าฟ้าชั้นเอก มีพระมารดาเป็นพระอัครมเหสี หรือ พระราชธิดา ในพระมหากษัตริย์์รัชกาลก่อน เรียกว่า "ทูลกระหม่อม"

เจ้าฟ้าชั้นโท มีพระมารดาทรงศักดิ์รองลงมา หรือ เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์์รัชกาลก่อน เรียกว่า "สมเด็จ"

เจ้าฟ้าชั้นตรี เป็นพระยศที่พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานเป็นกรณีพิเศษและมักไม่ค่อยถือประสูติมากนักหรือไม่มีเลย ส่วนใหญ่จะเป็นชั้นหลานหลวง "สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ" โดยอาศัยการตั้งราชวงศ์ (ปฐมราชวงศ์ครั้งแรก)

หรืออีกนัยหนึ่งต้องถือประสูติจากจากพระบิดาดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า(ลูกหลวง) และพระมารดามีพระยศเป็นเจ้าฟ้าด้วยกันหรือพระมารดาดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า (ลูกหลวง) พระบิดาเป็นพระองค์เจ้า

เจ้าฟ้าชั้นนี้เสมอพระยศพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง และพระยศเจ้าฟ้าชั้นนี้มีปรากฎในต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์ช่วงสมัยรัชกาลที่1 เท่นนั้น (มีคำเรียกที่ว่า พระกำเนิด เป็นอุภโตสุชาติ = มีชาติพระกำเนิดที่ประเสริฐทั้งสองฝ่าย) เรียกว่า"สมเด็จ หรือบางแห่ง เรียกว่า เจ้าฟ้า"

พระองค์เจ้า มีความแตกต่างกัน 3 ชั้น คือ

พระองค์เจ้าชั้นเอก เป็นพระราชบุตรหรือพระราชธิดาอันเกิดด้วยพระสนม (เจ้าจอมมารดา) ตรงกับที่เรียกในกฎมณเทียรบาลว่า "พระเยาวราช" ใช้คำนำสกุลยศว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ" เรียกว่า"เสด็จ" (เป็นพระยศชั้นพระองค์เจ้า สูงสุดในชั้นนี้)

พระองค์เจ้าชั้นโท เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระบิดาเป็นเ้จ้าฟ้าและพระมารดาเป็นเจ้า (ที่มีศักดิ์พระอัครชายาของเจ้าฟ้าเสมอเป็นเจ้าเป็นพิเศษ) หรืิอเป็นพระโอรสหรือพระธิดาของพระมหาอุปราชใช้คำนำสกุลยศ "พระเจ้าวรวงศเธอ,พระเจ้าหลานเธอ" เรียกว่า "พระองค์"

พระองค์เจ้าชั้นตรี เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระบิดาและพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าด้วยกัน หรือพระบิดาเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก แต่พระมารดามิได้เป็นเจ้า ใช้คำนำสกุลยศ "พระวรวงศ์เธอ" เรียกว่า พระองค์ หาก เป็นพระองค์เจ้าตั้ง เรียกว่า ท่านพระองค์" (พระองค์เจ้าชั้นนี้เทียบเสมอสกุลยศ หม่อมเจ้า เพราะ พระโอรสธิดา มีสกุลยศ หม่อมราชวงศ์)

หม่อมเจ้า เป็นพระโอรสและพระธิดาของเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าโดยสกุลยศ (เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะเป็นพระโอรสหรือพระธิดาของพระมหาอุปราช แต่มารดามิได้เป็นเจ้า จะเป็นเพียงแค่หม่อมเ้จ้า เช่น หม่อมเจ้าอาทิตย์ ในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เรียกว่า "ท่าน"

หม่อมราชวงศ์ เป็นโอรสและธิดาของพระองค์เจ้าตั้ง และโอรสธิดาของหม่อมเจ้า เรียกว่า "คุณชาย , คุณหญิง"

หม่อมหลวง เป็นโอรสและธิดาของหม่ีอมราชวงศ์ เรียกว่า "คุณ"

สกุลยศลำดับที่ 4 และ 5 เป็นเพียงราชนิกุล และเป็นสามัญชน จะไม่นับเป็นเจ้าและเป็นสกุลยศที่ถือกำเนิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ตามลำดับ

อิสริยยศ

อิสริยยศ คือ ยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาเจ้านายให้มีศักดิ์สูงขึ้น อิสริยยศชั้นสูงสุด คือ พระราชกุมารที่จะรับราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์สืบต่อไป โดยในกฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2001 บัญญัติไว้ว่า

พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสี (มียศ) เป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่พระแม่หยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช

อิสริยยศสำหรับราชตระกูลรองแต่พระมหาอุปราชลงมา พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาให้มีพระนามขึ้นต้นด้วยคำว่า "พระ" ซึ่งสันนิษฐานว่าจะนำแบบของขอมมาอนุโลมใช้เป็นราชประเพณีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เช่น พระราเมศวร พระนเรศวร พระมหินทร์ พระเอกาทศรถ พระอาทิตยวงศ์ พระศรีศีลป์ เป็นต้น

ประเพณีเรียกพระนามเจ้านายเป็นกรมต่างๆ อย่างในทุกวันนี้ ปรากฏขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่ทรงสถาปนาพระน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาเทพ

นับเป็นครั้งแรกที่เรียกการพระนามอิสริยยศเจ้านายตามกรม ใช้เป็นแบบแผนนับแต่นั้นมา สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงการสถาปนาอิสริยยศเจ้านายขึ้นเป็น "พระ"

ตามประเพณีเดิมนั้น เนื่องจากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นอริกับเจ้าฟ้าชายหลายพระองค์ ที่มีมาตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้าประสาททอง จึงมิได้ทรงยกย่องเจ้าฟ้าผู้ใดให้มียศสูงขึ้นตลอดรัชกาล

จากจดหมายเหตุของมองสิเออร์ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส กล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงยกย่องพระราชธิดาให้มีข้าคนบริวารและมีเมืองส่วยขึ้นเท่ากับพระอัครมเหสี

ดังนั้น การสถาปนาเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์นี้ ในแต่เดิม ไม่ได้เป็นการสถาปนาพระอิสริยยศ แต่เป็นการรวบรวมกำลังคนในระบบไพร่ ตั้งกรมใหม่ขึ้นสองกรม คือ กรมที่มีหลวงโยธาทิพ และหลวงโยธาเทพ เป็นเจ้ากรม

และโปรดให้ไปขึ้นกับ เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์นั้น และคนไทยโบราณ ไม่นิยมเรียกชื่อ เจ้านาย ตรงๆ จึงเรียกเป็น กรมหลวงโยธาทิพ หรือ กรมหลวงโยธาเทพเป็นต้น

การทรงกรม จึงเทียบได้กับ การกินเมือง (การกินเมือง คือ การมีเมืองส่วยขึ้นในพระองค์เจ้านาย ประชาชนในอาณาเขตของเมืองนั้นๆ ต้องส่งส่วยแก่เจ้านาย) ในสมัยโบราณ

คือแทนที่จะส่งเจ้านายไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ก็ทรงให้อยู่ในพระนคร และให้มีกรมขึ้นเพื่อเป็นรายได้ ของเจ้านายนั้นๆ

พระอิสริยศในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี มี 4 ชั้นคือ

ชั้นที่ 1 กรมพระ เป็นอิสริยยศสำหรับ พระพันปีหลวง (พระราชมารดา) พระมหาอุปราช และวังหลัง

ชั้นที่ 2 กรมหลวง เป็นอิสริยยศ สำหรับ พระมเหสี โดยมากกรมหลวงมักมีแต่ เจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระยศนี้เป็นที่สุด

ชั้นที่ 3 กรมขุน เป็นอิสริยยศสำหรับ เจ้าฟ้าราชกุมาร

ชั้นที่ 4 กรมหมื่น เป็นอิสริยยศสำหรับ พระองค์เจ้า

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีการเลื่อนชั้น อิสริยยศเจ้านาย จากที่ได้รับแต่เดิมแต่ประการใด (ยกเว้นการเลื่อนกรมพระราชมารดา หรือผู้ที่ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชขึ้นเป็น กรมพระ)

ประเพณี การเลื่อนอิสริยยศเจ้านายเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชการที่ 2 ให้เรียก กรมของสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า "กรมสมเด็จพระ"

ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดให้ พระองค์เจ้าทรงกรมชั้นผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นไปได้เป็น "กรมสมเด็จพระ" สูงกว่า "กรมพระ" เดิม และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้แก้ไข "กรมสมเด็จพระ" เป็น "กรมพระยา" ดังนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทธิ์ อิสริยยศเจ้านายจึงมี 5 ชั้นคือ

ชั้นที่ 1 กรมพระยา หรือ กรมสมเด็จพระ (ในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ว่า "สมเด็จพระ" แทน "กรมสมเด็จพระ" สำหรับเจ้านายฝ่ายใน-ผู้หญิง)

ชั้นที่ 2 กรมพระ นอกจากเป็นกรมสำหร้บพระราชมารดา วังหน้า และวังหลัง แล้วรัชกาลที่ 1 ยังตั้งสมเด็จพระพี่นางเธอให้ดำรงพระอิสริยยศนี้

ชั้นที่ 3 กรมหลวง สำหรับเจ้าฟ้าชั้นใหญ่ และทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง

ชั้นที่ 4 กรมขุน สำหรับเจ้าฟ้าชั้นเล็ก แล้วจึงเลื่อนเป็นกรมหลวง

ชั้นที่ 5 กรมหมื่น สำหรับพระองค์เจ้า

เจ้าทรงกรม จะมีขุนนางเป็น เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี โดยบรรดาศักดิ์ของเจ้ากรม คือบรรดาศักดิ์สูงสุดของอิสริยยศนั้น เช่น กรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ มี เจ้ากรม บรรดาศักดิ์เป็น พระยาดำรงค์ราชานุภาพ ศักดินา 1,000 ไร่ ปลัดกรม คือ พระปราบบรพล ศักดินา 800 ไร่ สมุห์บัญชี คือ หลวงสกลคณารักษ์ ศักดินา 500 ไร่


การเฉลิมพระยศเจ้านาย

ประเพณีการเฉลิมพระยศ เจ้านายแต่โบราณ ถือเอาการสองอย่างเป็นหลัก คือ การอภิเษกอย่างหนึ่ง และ การจารึกพระสุพรรณบัฎอย่างหนึ่ง

การอภิเษก คือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (คือพระเจ้าแผ่นดิน) รดน้ำให้บนศีรษะ คือ สัญลักษณ์ของการมอบหมายทั้งยศและหน้าที่

พระสุพรรณบัฎ คือ แผ่นทองจารึกพระนามของเจ้านายพระองค์นั้น และจะทรงพระราชทานจากพระหัตถ์ ให้แก่เจ้านายที่ได้รับการเฉลิมพระยศ

การเฉลิมพระยศเจ้านายนั้น ถือเอาการ จารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นสำคัญ โดยจะต้องทำพิธีสำคัญดังต่อไปนี้

ต้องหาวันฤกษ์งามยามดีที่จะจารึก

ต้องทำพิธีจารึกในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ต้องมีสมณะและพราหมณ์พร้อมกันอวยขัยในพิธี
ต้องประชุมเสนาบดีนั่งเป็นสักขีพยาน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากทรงยกเลิกระบบไพร่แล้ว การ "ทรงกรม" ของเจ้านาย จึงเป็นเพียงแต่การให้พระเกียรติยศ แก่เจ้านายพระองค์นั้น แต่ไม่มีไพร่สังกัดกรมแต่อย่างใด

ส่วนพระนามของเจ้านายที่ทรงกรมได้แบบธรรมเนียมมาจากยุโรป โดยทรงตั้งพระนามเจ้านายที่ทรงกรมตามชื่อเมืองต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ เป็นต้น

เจ้านายที่ทรงกรมพระองค์ล่าสุด คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ (72 พรรษา) แต่ไม่มีประเพณี เจ้ากรม ปลัดกรม ตามโบราณ เนื่องจากไทยได้ยกเลิกระบบไพร่ซึ่งสังกัดกรมเจ้านายไปแล้วรัชกาลที่ 5 และเลิกบรรดาศักดิ์ของขุนนางไปแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม


รายพระนามเจ้าต่างกรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ

แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา

พระเจ้าสรศักดิ์ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช

นายจบคชประสิทธิ์ ทรงบาศขวา กรมช้าง (เป็นคู่คิดเอาราชสมบัติ) เป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

พระองค์เจ้าหญิงแก้ว พระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระนารายณ์ เป็น กรมขุนเสนาบริรักษ์

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ

เจ้าแม่วัดดุสิต พระมเหสีกลางของสมเด็จพระเพทราชาที่เป็นพระราชมารดาเลี้ยง เป็น กรมพระเทพามาตย์

เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสองค์ใหญ่ (พระเจ้าท้ายสระ) เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
เจ้าฟ้าพร เป็นพระบัณทูรน้อย

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

เจ้าฟ้าพร พระอนุชาธิราช (คือพระเจ้าบรมโกศ) เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช

เจ้าท้าวทองสุก พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหสี กรมหลวงราชานุรักษ์

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระองค์ขาว พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหสีขวา ทรงกรมเป็น กรมหลวงอภัยนุชิต

พระองค์พลับ พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหสีซ้าย ทรงกรมเป็น กรมหลวงพิพิธมนตรี

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระราชโอรส เป็น กรมขุนเสนาพิทักษ์ ภายหลังเป็น กรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ ที่พระมหาอุปราช

เจ้าฟ้าเอกทัศ ราชโอรส (คือพระเจ้าสุริยามรินทร์) เป็น กรมขุนอนุรักษ์มนตรี

เจ้าฟ้าอุทุมพร ราชโอรส (คือพระเจ้าอุทุมพรราชา ขุนหลวงหาวัด) เป็น กรมขุนพรพินิต

เจ้าฟ้าบรม พระราชธิดา เป็น กรมขุนเสนีย์นุรักษ์

เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี พระราชธิดา ภายหลังพระราชทานให้เป็นพระอัครมเหสีในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ เป็น กรมขุนยิสารเสนี บ้างว่าเป็น เจ้าฟ้านุ่ม ภายหลังพระราชทานให้เป็น กรมขุนพิศาลเสนี

เจ้าฟ้าจีด พระองค์เจ้าแก้วพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเพทราชาเป็น พระบิดา เจ้าฟ้าเทพพระธิดาพระเจ้าท้ายสระ เป็นพระมารดา เป็น กรมขุนสุรินทรสงคราม

เจ้าฟ้าพระนเรนทร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็น กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

พระองค์เจ้าแขก พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นเทพพิพิธ

พระองค์เจ้ามังคุด พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นจิตรสุนทร

พระองค์เจ้ารถ พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นสุนทรเทพ

พระองค์เจ้าปาน พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นเสพภักดี

เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ราชนิกูล ที่มีความชอบครั้งถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าเสือ เป็น กรมหมื่นอินทรภักดี

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์

เลื่อนกรมหลวงพิพิธมนตรี พระราชชนนี เป็น กรมพระเทพามาตย์

พระองค์เจ้าแมลงเม่า พระอัครมเหสี เป็น กรมขุนวิมลภักดี

หม่อมเจ้าอาทิตย์ ในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ เป็น กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์

รายพระนามเจ้าต่างกรมสมัยกรุงธนบุรี

พระราชชนนี เป็น กรมพระเทพามาตย์

พระมเหสีเดิม เป็น กรมหลวงบาทบริจา

พระน้านางเธอ เป็น กรมหลวงเทวินทรสุดา

เจ้าหญิงฉิม พระมเหสี เป็น กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ พระมเหสีฝ่ายซ้าย

พระญาติวงศ์ ไม่ทราบว่าชั้นใด เป็น กรมขุนอินทรพิทักษ์ (สิ้นพระชนม์ในเวลาไม่นาน)

เจ้าฟ้าจุ้ย พระราชโอรส เป็น กรมขุนอินทรพิทักษ์ (องค์ที่ 2)

เจ้าบุญมี ซึ่งเป็นเจ้ารามลักษณ์ ตำแหน่งราชนิกูลอยู่ก่อนแล้ว เป็น กรมขุนอนุรักษ์สงคราม

เจ้าบุญจันทร์ หลานเธอ เป็น กรมขุนรามภูเบศร

การเฉลิมพระยศเจ้านายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายในพระราชวงศ์ ก็ทรงตั้งเป็นต่างกรมตามชั้นยศซึ่งบัญญัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มีผิดกันบ้างเล็กน้อย


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


โสรวารสิริสวัสดิ์ โสมนัสสวัสดิ์สิริค่ะ



Create Date : 20 กรกฎาคม 2553
Last Update : 31 กรกฎาคม 2553 12:13:13 น.
Counter : 1663 Pageviews.

0 comments
วิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.6) เรื่องคำสุภาพ นายแว่นขยันเที่ยว
(25 มิ.ย. 2568 00:05:44 น.)
18 มิย 68 mcayenne94
(18 มิ.ย. 2568 17:08:30 น.)
ทายอักษร I 猜字谜 I toor36
(18 มิ.ย. 2568 00:11:41 น.)
แผ่นยิปซั่มกั้นห้องสามารถใช้งานกับห้องแบบไหน เลือกอย่างไรดี? gaopannakub
(13 มิ.ย. 2568 17:22:58 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด