ชาตรี ประกิตนนทการ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

พระพุทธรูปปางสมาธิ : ศีรษะแผ่นดินกลางชมพูทวีป ตามคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย
เมื่อเป็นดังนี้ จึงนำมาสู่ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อมาคือ เพราะเหตุใด พระองค์จึงมีพระราชนิยมดังกล่าว อันเป็นคำถามอีกข้อที่งานศึกษาชิ้นนี้ต้องการหาคำตอบ
จากการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับคติ การออกแบบก่อสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยเฉพาะที่วัดพระเชตุพนฯ ทำให้พบสมมติฐานว่า การเลือกพระพุทธรูปปางสมาธิที่วัดพระเชตุพนฯ นี้
มีความเกี่ยวข้องกับคตินิยมในการออกแบบ ที่ต้องการให้ผังพุทธาวาสของวัดเป็นภาพจำลองของ ศีรษะแผ่นดิน กลาง มัชฌิมประเทศ ในชมพูทวีป ตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ไตรภูมิโลกวินิจฉัย และสมุดภาพไตรภูมิฉบับต่างๆ
กล่าวอย่างรวบรัด ไตรภูมิโลกวินิจฉัย เป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่มีความสำคัญมาก ต่อโลกทรรศน์ของผู้คนในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีผลโดยตรง ต่อการก่อรูปแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคสมัยดังกล่าว
รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้แต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๖ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ชำระขึ้นใหม่เป็นสำนวนที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๕
ซึ่งเนื้อหาในคัมภีร์ส่วนที่ว่าด้วยกำเนิดโลกและจักรวาลนั้น ได้มีการอธิบายโดยเน้นความสำคัญเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับตำแหน่งของ โพธิบัลลังก์ ที่จะเกิดขึ้นบนใจกลาง ชมพูทวีป ในส่วนที่เรียกว่า ศีรษะแผ่นดิน
ความสำคัญของ ชมพูทวีป คืออะไร ในไตรโลกวินิจฉัยได้กล่าวไว้ว่า
...เหตุว่าเปนที่เกิดแก่นสาร คือ พระพุทธิเจ้า พระประเจกกะโพธิเจ้า แลพุทธสาวก พุทธอุปถาก พุทธบิดา พุทธมานดา อสีติมะหาสาวก แลคะหบดีพราหมณมหาศาล ผู้มีสัมภารกุศลแลธรัพยมาก คือ ท้าวพญาบรมจักรพัตราธิราชเหล่านี้ ย่อมบังเกิดแต่ในมัชฌิมประเทศแห่งเดียวนี้...
นอกจากนี้ยังได้อธิบายความสำคัญของ ศีรษะแผ่นดิน เอาไว้ว่า
...อันว่า ศีศะแผ่นดิน อันเปนที่ต้งงบันลังก์พระมหาโพธิเปนที่ ถวายพุทธาพิเศก ทรงพระวิมุดิเศวตรฉัตรนั้นเมื่อโลกยจฉิบหายที่อันนั้น ก็ฉิบหายต่อภายหลัง
เมื่อโลกยต้งงขึ้นที่นั้นก็ต้งงขึ้นก่อน ที่ทังปวงจึ่งต้งงขึ้นตามต่อภายหลัง ที่นั้นจึ่งชื่อว่าศีศแผ่นดิน ด้วยอรรถว่าเปนประทานแก่พื้นชมภูทวีป...
ศีรษะแผ่นดิน ตามคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ยังปรากฏความสำคัญอีกประการคือ หลังจากเกิดศีรษะแผ่นดินขึ้นในโลกแล้ว ก่อนที่จะเกิดมนุษย์ ในแผ่นดินที่ตั้งโพธิบัลลังก์นี้จะปรากฏดอกบัวบุพนิมิตขึ้น
ซึ่งจะแสดงว่า ในกัลป์นี้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้กี่พระองค์ โดยจะมีพระพรหมจากชั้นสุทธาวาส เหาะมาดูบุพนิมิตดังกล่าว อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการกำเนิดโลกและพุทธศาสนา
แม้ว่าความเชื่อเหล่านี้ จะมีปรากฏให้เห็นในคัมภีร์ทางศาสนาก่อนหน้านี้บ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีฉบับใดที่จะเน้นความสำคัญและมีรายละเอียดในเชิงเนื้อหา
ตลอดจนคำอธิบายมากเท่ากับ ในไตรภูมิโลกวินิจฉัยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ความคิดนี้ได้ถูกเน้นขึ้นเป็นพิเศษสมัยรัชกาลที่ ๑
ความสำคัญดังกล่าว มิใช่จำกัดอยู่เพียงแค่ในมิติทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังสำคัญยิ่งต่อความคิดของชนชั้นนำไทย สมัยรัชกาลที่ ๑ สำคัญยิ่งต่อนโยบายการฟื้นฟูพระศาสนา ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาอุดมการณ์รัฐขึ้นใหม่ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์
ด้วยเหตุนี้ วัดสำคัญที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหรือบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ จึงถูกออกแบบให้เป็นภาพจำลองของแผนผังโครงสร้างชมพูทวีป
ที่มีศีรษะแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของโพธิบัลลังก์อยู่ตรงกลาง ตามความเชื่อที่ปรากฏในไตรโลกวินิจฉัย เพื่อเป็นการจำลองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในเชิงนามธรรมดังกล่าว ให้ปรากฏขึ้นในเชิงรูปธรรมทางสถาปัตยกรรม
ตามคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยได้แสดงแผนผัง โครงสร้างชมพูทวีปเอาไว้ซึ่งสรุปโดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้
กลางแผ่นดิน ชมพูทวีป จะเป็นที่ตั้งของ โพธิบัลลังก์ ที่ถูกล้อมรอบด้วย มหาสถานทั้ง ๖ ถัดออกมาจะล้อมรอบด้วย อัฏฐมหาสถาน ถัดออกไปจะเป็น มหานครใหญ่ ชนบทนคร ป่าหิมพานต์ และ พื้นที่น้ำท่วม โดยลำดับ
ซึ่งมหาสถานทั้ง ๖ แห่งที่ล้อมรอบอยู่วงแรกนี้ เมื่อนับรวมเข้ากับโพธิบัลลังก์ ซึ่งก็นับเป็นมหาสถานหนึ่งด้วยแล้ว ก็คือคติเรื่อง สัตตมหาสถาน อันเป็นสถานที่เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ของพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้ นั่นเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑ เสด็จประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิที่ทรงตรัสรู้ (โพธิบัลลังก์)
สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จประทับที่ อนิมิสเจดีย์ ทิศอีสานของโพธิบัลลังก์ทรงยืนจ้องพระเนตรดูต้นมหาโพธิ โดยมิได้กะพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จประทับที่ รัตนจงกรมเจดีย์ อยู่ระหว่างอนิมิสเจดีย์กับโพธิบัลลังก์ทรงนิมิตจงกรมขึ้น แล้วเสด็จจงกรมอยู่ที่นี้เป็นเวลา ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จประทับที่ รัตนฆรเจดีย์ ทิศปัจฉิมของโพธิบัลลังก์ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้ว ซึ่งเทวดานิรมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปประทับใต้ร่มไม้ไทร ชื่อว่า อชปาลนิโครธเจดีย์ ทิศตะวันออกของโพธิบัลลังก์ ซึ่งเป็นที่พักของคนเลี้ยงแพะ
สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิภายใต้ต้นจิก ชื่อว่า มุจลินทรเจดีย์ ทิศอาคเนย์ของโพธิบัลลังก์ ในสัปดาห์นี้มีพญานาคขึ้นมาแผ่พังพานบังลมและฝนให้แก่พระพุทธเจ้า
สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จไปประทับภายใต้ร่มไม้เกดโดยมีชื่อว่า ราชายตนะเจดีย์ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ตลอด ๗ วัน ในสัปดาห์นี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง
ที่สำคัญคือ พระอินทร์ถวายผลสมอ ตปุสสะ และภัลลิกะ พ่อค้า ๒ คนเข้าเฝ้าถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้า และปวารณาขอเป็นพุทธมามกะคนแรก จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงลูบพระเศียร และประทานพระเกศาให้แก่ทั้ง ๒ คน
การวางตำแหน่งของสัตตมหาสถาน ตามที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉัย จะจัดวางตำแหน่ง โพธิบัลลังก์ เอาไว้ตรงกลางและวางมหาสถานอีก ๖ แห่งไว้โดยรอบ
ถัดออกไปจากวงรอบของมหาสถานทั้ง ๖ แห่ง จะเป็นที่ตั้งของวงรอบ อัฏฐมหาสถาน อันเป็นสถานที่สำคัญ ๘ แห่งที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มหาสถานอันดับ ๑ สถานที่ประสูติในป่าลุมพินีวัน
มหาสถานอันดับ ๒ โพธิบัลลังก์ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
มหาสถานอันดับ ๓ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
มหาสถานอันดับ ๔ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษาในป่าพระองค์เดียว และมีช้างปาลิไลยก์คอยดูแล
มหาสถานอันดับ ๕ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างธนบาลหัตถี ซึ่งพระเทวทัตปล่อยออกมาหมายทำร้ายพระองค์
มหาสถานอันดับ ๖ สถานที่ที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรมานติติตยนิครนถ์ที่เมืองสาวัตถี และเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มหาสถานอันดับ ๗ สถานที่ที่พระองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์คราวโปรดพุทธมารดา โดยเสด็จลงมาที่ประตูเมืองสังกัสสะ และพระองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก (โลกวิวรณ์)
มหาสถานอันดับ ๘ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ระหว่างต้นรังคู่ในสาลวันอุทยาน เมืองกุสินารา
การวางตำแหน่งของอัฏฐมหาสถาน ตามที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉัย จะจัดวางตำแหน่ง โพธิบัลลังก์ อันหมายถึงเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ (มหาสถานอันดับที่ ๒) ด้วยนั้น เอาไว้ตรงกลาง และวางมหาสถานอีก ๗ แห่งไว้โดยรอบ
ถัดออกไปจากวงรอบนี้ จะเป็นการล้อมด้วย มหานครใหญ่ ๑ ชั้น และ ชนบทนคร อีก ๑ ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นวงรอบชั้นสุดท้าย โดยโครงสร้างทั้งหมดนับตั้งแต่ โพธิบัลลังก์
จนถึง ชนบทนคร จะเรียกรวมว่า มัชฌิมประเทศ ถัดออกไปจากพื้นที่ มัชฌิมประเทศ คือ ป่าหิมพานต์ และพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งจะเป็นพื้นที่ขอบนอกสุดของชมพูทวีป
มีต่อตอนที่ ๕ ค่ะ
ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณชาตรี ประกิตนนทการ
สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ