โปรตุเกส - การเดินเรือ, เครื่องเทศ, และศรัทธา (จบ)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

การค้ากับอยุธยา ควรเข้าใจการค้าของโปรตุเกสกับอยุธยาในบริบท
ของการค้าของโปรตุเกสในเอเชีย อยุธยาไม่ใช่แหล่งผลิตหรือศูนย์
กลางการค้าเครื่องเทศเหมือนมะละกา แต่อยุธยาก็เป็นเมืองท่า
สำคัญที่มีสินค้าทั้งจากภายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ประเทศใน
ทะเลจีนเหนือ (จีน ญี่ปุ่น ริวกิว เกาหลี) กับประเทศใน
มหาสมุทรอินเดีย (รัฐต่างๆ ในอนุทวีปอินเดียจนถึงตะวันออกกลาง)

และดังที่กล่าวแล้วว่าโปรตุเกสสำนึกได้ดีว่า แหล่งกำไรสำคัญ
ในการค้าของตนคือการค้าระหว่างเมืองท่าต่างๆ ภายในเอเชีย
ด้วยกันเอง ฉะนั้นเป้าหมายทางการค้าของโปรตุเกสในอยุธยา
คือความสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อกัน เพื่อให้อยุธยาเป็นหนึ่งใน
เครือข่ายการค้าในเอเชียของโปรตุเกส

ก่อนที่จะยึดมะละกาได้ Albuquerque ก็ส่งผู้ถือสาส์นชื่อ
Duarte Fernandes ซึ่งสามารถพูดภาษามลายูได้มายังราชสำนัก
อยุธยา Fernandes ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระรามาธิบดีที่ ๒
ซึ่งได้จัดคณะทูตนำ (เข้าใจว่า) ศุภอักษรจากเสนาบดีกลับไปยัง
เมืองมะละกาพร้อมกับ Fernandes

เพื่อยื่นแก่ Albluquerque ดังนั้น Albuquerque จึงส่งทูตคณะที่ ๒
มายังอยุธยาในปี ค.ศ. ๑๕๑๒ (หลังจากยึดมะละกาได้เพียงปีเดียว)
มี Antonio de Miranda เป็นทูต อยุธยาตอบแทนด้วยการส่ง
พระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสที่เมืองกัว
อีก ๔ ปีต่อมา ข้าหลวงโปรตุเกสประจำมะละกาก็ส่งทูตชื่อ
Duarte de Coelho มายังอยุธยาอีก และมีการลงนามใน
หนังสือสัญญากันเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๕๑๖
 
ในหนังสือสัญญาฉบับนี้ ไทยอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งสถานีการค้า
(feitorias) ได้ที่อยุธยา นครศรีธรรมราช มะริด ตะนาวศรี และปัตตานี
(ในขณะนั้นอยุธยายังสามารถอ้างได้ว่าปัตตานีจริงเป็นประเทศราช
ในภายหลังปัตตานีก็แยกตัวออกจากอยุธยา

โปรตุเกสจึงต้องส่งทูตชื่อ Manuel Falcau ไปเจรจาทำสัญญาการค้า
กับรานีแห่งปัตตานีเองจนสำเร็จ) นอกจากนี้อยุธยายังอนุญาตให้ทำการ
เผยแผ่คริสต์ศาสนาได้โดยไม่ขัดขวาง ในเวลานั้นที่อยุธยามีประชากร
ที่ปฏิบัติศาสนาอื่นซึ่งไม่ใช่พุทธแบบไทยอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือมุสลิมนิกายชิอะห์ซึ่งพวกเปอร์เซียนำเข้ามา และลัทธิพิธีแบบจีน
เป็นอย่างน้อย การปฏิบัติศาสนาใหม่คือคริสต์เพิ่มขึ้นอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
สำหรับผู้ปกครองไทย ตราบเท่าที่การปฏิบัติศาสนานั้นๆ ไม่ทำลายอำนาจ
เหนือไพร่ของระบอบปกครอง
 
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและโปรตุเกสเป็นไปอย่างราบรื่นตามความมุ่งหวัง
ของโปรตุเกส ในระยะนั้น อยุธยาต้องทำสงครามกับหลายศูนย์อำนาจสืบกันมา
(เชียงใหม่ เชียงกราน และกัมพูชา) จึงต้องการอาวุธ “ทันสมัย” จากโปรตุเกส
พ่อค้าโปรตุเกสได้นำเอาปืนไฟ ดินปืนและกระสุนมาถวาย (คือแลกกับสินค้า
ในพระคลังหลวง) อยู่เนืองๆ

 จึงยิ่งเป็นที่พอใจแก่กษัตริย์อยุธยา ในขณะที่การ “เปิด” ประเทศของอยุธยาเอง
ก็เป็นที่พอใจแก่ฝ่ายโปรตุเกส เพราะมีหลักฐานว่าสถานีการค้าต่างๆ ที่โปรตุเกส
ตั้งขึ้นตามเมืองที่ได้รับอนุญาตจากอยุธยา ต่างทำกำไรได้มาก

ทั้งโปรตุเกสยังใช้เมืองเหล่านี้บางเมืองในการขยายเครือข่าย ทางการค้าของตน
ออกไปถึงเอเชียตะวันออก เช่นเรือที่เริ่มติดต่อกับจีนในสมัยราชวงศ์หมิงครั้งแรก
ในปี ค.ศ. ๑๕๑๗ ก็ไปจากปัตตานี โปรตุเกสเองก็อนุญาตให้พ่อค้าและช่างจาก
อยุธยา (คงจะจีน) ไปตั้งชุมชนของตนในมะละกา
 
อย่างไรก็ตาม บทบาททางการค้าของโปรตุเกสในอยุธยา ไม่มีผลกระทบให้เกิด
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแก่อยุธยา ดังที่กล่าวแล้วว่าโปรตุเกสค้าขายกับ
อยุธยาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างเอเชียด้วยกัน

เข้าใจว่าอยุธยาเองก็มองโปรตุเกสเหมือนเป็นพ่อค้าต่างชาติอีกชนิดหนึ่ง
ซึ่งก็เข้ามาค้าขายในอยุธยาหลายชาติหลายภาษาอยู่แล้ว สินค้าที่โปรตุเกส
ขนออกไปก็ไม่ได้ต่างไปจากที่พ่อค้าต่างชาติทั่วไปขน ได้แก่ของป่าและสินค้า
ส่งผ่าน การค้าของโปรตุเกสไม่ได้ทำให้เกิดการ “ผลิต” สินค้าใหม่

หรือขยายการ “ผลิต” เดิมที่มีอยู่ เพราะปริมาตรการค้าของกำปั่นโปรตุเกส
เมื่อเทียบกับสำเภาจีนและอาหรับ-อินเดีย  (ทั้งที่เป็นของพ่อค้าภายในและ
ต่างประเทศกับสำเภาหลวง) ก็เป็นสัดส่วนที่น้อย
 
สินค้านำเข้าของโปรตุเกสซึ่งอาจนับได้ว่ามีปริมาณมากสักหน่อย เห็นจะเป็น
ผ้าจากฝั่งมะละบาร์ของอินเดีย แต่คงไม่ใช่สินค้าใหม่ เพราะเรืออาหรับ-อินเดีย
ก็คงเคยนำมาขายในอยุธยาอยู่แล้ว

แม้ว่าในช่วงหนึ่งโปรตุเกสพยายามจะผูกขาดสินค้าประเภทนี้ เพราะมีความ
ต้องการในเอเชียสูง แต่ก็เหมือนสินค้าอื่นๆ โปรตุเกสไม่สามารถทำได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่ง ผ้าจากอินเดีย น่าจะเป็นสินค้าหลักของโปรตุเกส
ในอยุธยา

แต่ทั้งพ่อค้าที่รับซื้อผ้าจากโปรตุเกสหรือกรมพระคลังเอง ก็หาได้มีเครือข่าย
การค้าในประเทศที่กว้างขวาง ฉะนั้นตลาดภายในของอยุธยาจึงมีจำกัด
ปริมาณนำเข้าจึงจะสูงมากนักไม่ได้อยู่เอง

การค้าภายในเอเชียของโปรตุเกสขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็น
รายได้สำคัญของกรมอินเดียดังที่กล่าวแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเครื่องเทศไม่ทำกำไร
ให้อย่างเคย (ก่อนจะถึงกลางศตวรรษที่ ๑๖) ดังนั้นจึงมีพ่อค้าโปรตุเกส
ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามสถานีการค้าต่างๆ ในเอเชียจำนวนมาก

ในปี ค.ศ. ๑๕๓๘ มีรายงานว่า มีพ่อค้าโปรตุเกสประจำอยู่ในปัตตานีถึง ๓๐๐ คน
(อาจเป็นชุมชนโปรตุเกสในอุษาคเนย์ที่ใหญ่สุดนอกมะละกา) เข้าใจว่าจำนวน
ของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองท่าใหญ่อื่นๆ ก็คงมีใกล้เคียงกัน

ในระยะเวลาเดียวกันนี้ ปินโตรายงานว่ามีทหารโปรตุเกสอยู่ในกองทัพของ
พระชัยราชาถึง ๑๒๐ คน แต่ผู้เขียนยังไม่สามารถหาตัวเลขของชาวโปรตุเกส
(ผิวขาว) ทั้งหมดในอยุธยาช่วงนี้ได้ ในศตวรรษที่ ๑๗ หลักฐานของฝรั่งเศส
กล่าวว่า

ประชากรในชุมชนโปรตุเกสมีถึง ๖,๐๐๐ คน (แต่จะเป็นผิวขาวสักเท่าไรไม่ได้
ระบุไว้ - เข้าใจว่ามีไม่สู้มากนัก ดังจะเห็นเหตุผลได้เองข้างหน้า)
 
นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ชุมชนโปรตุเกสในเอเชียถูกปล่อย
ให้ดำเนินการไปเองมากขึ้น โดยที่กรมอินเดียไม่ได้เข้ามาควบคุม พอถึงศตวรรษ
ที่ ๑๗ ชาวโปรตุเกสเหล่านี้

เมื่อเดินทางออกจากยุโรปแล้ว ก็มักจะหลบออกไปจากราชการของกรมอินเดีย
ไม่กลับยุโรป ไม่คิดจะไต่เต้าในสังคมโปรตุเกสอีก แต่คนเหล่านี้ก็มักเป็น
นักเสี่ยงโชคผจญภัย เพื่อหาทางตั้งตัวในเอเชีย

นับตั้งแต่รับจ้างรบ เป็นโจรสลัด ปล้นสะดมเมืองชายฝั่งหรือตั้งตัวเป็นผู้ปกครอง
เสียเอง (เช่น De Brito) ไปถึงค้าขายอิสระ และคนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสีสัน
ของบทบาทโปรตุเกสในอุษาคเนย์ รวมทั้งในอยุธยาด้วย
 
ในปี ค.ศ. ๑๕๔๐ กษัตริย์โปรตุเกสส่งทูตพร้อมพระราชสาส์นเพื่อขอตัว
ชาวโปรตุเกส (ระบุชื่อ) ที่ถูกทางอยุธยาจับตัวไว้คืน แต่กลับปรากฏว่า
ชาวโปรตุเกสที่มีชื่อในพระราชสาส์นนั้น ที่แท้เป็นทหาร (รับจ้าง)
ในกองทัพของพระชัยราชาซึ่งยกไปทำสงครามปราบ

 “พวกที่อยู่บนภูเขาในภาคเหนือ” (สงครามกับเชียงใหม่?) พระชัยราชา
จึงส่งคืนบุคคลผู้นั้นพร้อมกับพรรคพวกอีก ๑๖ คนให้แก่ทางโปรตุเกส
พร้อมทั้งพระราชทานรางวัลก้อนใหญ่ไปด้วย
 
ปินโตรายงานว่า ในครั้งทำสงครามกับเชียงใหม่ มีทหารโปรตุเกสในกองทัพ
ของพระชัยราชา ๑๒๐ คน อีกทั้งทหารโปรตุเกสยังได้สอนทหารอยุธยา
ในการยิงปืนไฟ ทำปืนไฟเอง และหล่อปืนใหญ่ หมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยา
ก็เกิดขึ้นจากการพระราชทานที่ดินให้แก่ทหารรับจ้าง ๑๒๐ คนนี้ตั้งบ้านเรือน
 
ในกองทัพของราชอาณาจักรใหญ่ๆ ของอุษาคเนย์ช่วงนั้นสืบมาจนถึงคริสต์
ศตวรรษที่ ๑๗ ล้วนมีทหาร (รับจ้าง) ชาวโปรตุเกสอยู่ด้วยทั้งสิ้น ในอยุธยาเอง
ถึงกับรวบรวมกันขึ้นเป็นกรมต่างหากคือ “กรมฝรั่งแม่นปืน” ซึ่งบอกให้รู้ถึง
ภารกิจหลักของทหารโปรตุเกสเหล่านี้
 
ในที่นี้ควรกล่าวถึงผลกระทบด้านการทหารแก่อยุธยาอันเกิดจากการค้ากับ
โปรตุเกสไว้ด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือไม่เกิดผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญแต่อย่างไร

ดังได้กล่าวแล้วว่า ปืนใหญ่คงมีใช้กันอยู่แล้วในอุษาคเนย์ก่อนโปรตุเกสเข้ามา
โปรตุเกสนำเอาปืนใหญ่ที่มีอานุภาพมากขึ้นมาขาย แม้กระนั้นปืนใหญ่ก็ไม่ได้
เปลี่ยนยุทธวิธีของสงครามป้อมค่ายประชิดในอุษาคเนย์ไปมากนัก

กำแพงก่ออิฐอาจเข้ามาแทนที่เพนียดไม้ซุงในเมืองหลักที่ต้องเผชิญการล้อมเมือง
ปืนใหญ่ช่วยให้เมืองที่เข้าถึงปืนใหญ่ได้ - ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ การเมือง
หรือเศรษฐกิจก็ตาม - มีอำนาจเหนือแว่นแคว้นภายในของตนได้มั่นคงขึ้น

แต่เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ปืนใหญ่ไม่ได้ทำให้ยุทธวิธีของกองทัพในอุษาคเนย์
เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ เพราะการคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก (และการจัด
องค์กรทางสังคมไม่เอื้อ) จึงทำให้ปืนใหญ่ที่สามารถขนย้ายเข้าสู่สนามรบมี
ขนาดเล็ก และมีอานุภาพน้อย ยังไม่พูดถึงการจัดกำลังยิงให้มีประสิทธิภาพและ
สอดคล้องกันไปกับการตั้งรับหรือการเข้าตีของกำลังส่วนอื่น
 
อาวุธที่น่าจะเปลี่ยนกระบวนการรบและมีอานุภาพร้ายแรงกว่าคือปืนประจำกาย
ทหาร หรือปืนคาบศิลา (ซึ่งพัฒนาให้ยิงสะดวกขึ้นในเวลาต่อมา เช่น เมื่อสับนก
แล้วเกิดประกายไฟไปติดชุด) ซึ่งสามารถทำร้ายศัตรูได้ในระยะไกล แต่เพราะ
มีอานุภาพมากเช่นนี้

จึงอาจนำไปใช้ในการแย่งอำนาจการเมืองกันภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ดังนั้นปืนเหล่านี้จึงมักเก็บไว้ในพระคลังแสง และไม่อนุญาตให้เบิกไปใช้ได้
นอกเวลาสงคราม ยกเว้นแต่ทหารองครักษ์ซึ่งได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ
 
แม้ในยามสงคราม ปืนเหล่านี้ก็มีหน้าที่หลักคือให้ความปลอดภัยแก่แม่ทัพ
ที่เป็นกษัตริย์หรือเจ้านาย มิให้ข้าศึกบุกเข้ามาใกล้ได้ ดังนั้นหน้าที่หลักของ
อาวุธใหม่ที่มีอานุภาพร้ายแรงนี้ ในยุทธวิธีของหลายประเทศของอุษาคเนย์
โบราณ คือให้ความปกป้องคุ้มครองแม่ทัพ

โดยเฉพาะที่เป็นพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จึงทำให้ปืนประจำกาย
ทหารไม่เปลี่ยนยุทธวิธีของการรบในอุษาคเนย์ (อย่างน้อยก็ในอยุธยา) จนเมื่อ
มีการฝึกทหารในกองทัพประจำการในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว ความ
สัมพันธ์กับโปรตุเกสจึงมีผลกระทบด้านการทหารน้อยมากกว่าที่เข้าใจกัน

การเผยแผ่ศาสนาของโปรตุเกสในเอเชีย
 
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปตะวันตกด้วยกัน โปรตุเกสได้รับอิทธิพล
จากแนวคิดมนุษยนิยมในสมัยปุณภพน้อยมาก ในขณะที่มนุษยนิยมทำให้
เกิดความพยายามปฏิรูปคณะสงฆ์ (และศาสนา) ในประเทศอื่น

แต่คณะสงฆ์ของโปรตุเกสผ่านเข้าสู่ยุคนี้ โดยไม่ค่อยมีความพยายามจะปฏิรูป
พระคณะฟรันซิสกันของโปรตุเกส สร้างกระแสลัทธิ “พระจิต” ในคริสต์ศตวรรษ
ที่ ๑๕ แต่ลัทธินี้ก็มีลักษณะจิตนิยม ที่เน้นไปด้านประสบการณ์ทางจิตภายใน
ของผู้ศรัทธา

ไม่ใช่การเสนอและโต้เถียงกันทางสติปัญญาและความรู้ ดังที่เป็นความเคลื่อนไหว
ของศาสนาคาทอลิกในยุโรปส่วนอื่น วัตรปฏิบัติของพระโปรตุเกสจึงยังคงเดิม
เหมือนสมัยโบราณ (คือคล้ายกับพระในสมัยกลาง) และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ค่อย
มีบทบาทในสังคม

นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสยกตัวอย่างการโต้เถียงกันของสังคมโปรตุเกสใน
ศตวรรษที่ ๑๕ เกี่ยวกับการรับลูก “นอกสมรส” และการยอมรับการแต่งงาน
ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะทำในหรือนอกศาสนาว่าเป็นความสัมพันธ์ฉันสามี-ภรรยา
 ปรากฏว่าทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ได้อ้างหลักศาสนามาโต้แย้งในการโต้เถียงเลย
 
อย่างไรก็ตาม ความกระตือรือร้นที่จะเผยแผ่ศาสนาในต่างแดนในปลาย
ศตวรรษที่ ๑๕ ก็ทำให้เกิดการปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์ขึ้นเหมือนกัน
วัตรปฏิบัติของพระดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ผลจริงจังและถาวรนัก

เพราะในกลางศตวรรษที่ ๑๖ ก็ปรากฏคำฟ้องพระสงฆ์เกี่ยวกับการทุจริต
คดโกง ประพฤติผิดศีลธรรม หรือเขลาเพราะขาดความรู้พื้นฐานทางศาสนา
กลับขึ้นมาอีกจำนวนมาก ไม่ต่างจากที่เคยปรากฏมาก่อนการปรับปรุงการศึกษา
 
การปกครองของคณะสงฆ์ของโปรตุเกสมีลักษณะของช่วงชั้นยิ่งกว่าสเปนเสียอีก
พระชั้นผู้ใหญ่มักตกอยู่ในความควบคุมหรือเป็นพันธมิตรของชนชั้นสูง
(ทั้งที่เป็นข้าราชสำนักของส่วนกลางไปแล้ว หรือยังเป็นเจ้าศักดินาตามแว่นแคว้น)

ศาสนจักรโปรตุเกสจึงไม่ใช่พลังทางสังคมที่จะถ่วงดุลอำนาจของชนชั้นสูง หรือ
นำความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสติปัญญาครั้งใหญ่เหมือนอีกหลายประเทศ
ในยุโรปตะวันตก ในขณะเดียวกัน เมื่อเข้ามาในเอเชียพระโปรตุเกสก็ไม่ใช่
ตัวการแห่งความเปลี่ยนแปลง (agent of change) ที่มีนัยะสำคัญแก่
เอเชียเช่นเดียวกัน
 
พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสบังคับว่า เรือที่จะมาทางตะวันออกทุกลำจะต้องนำพระ
เพื่อมาเผยแผ่ศาสนาด้วย เล่ากันว่าเรือจำนวนมากที่จะมาเอเชีย ไม่สามารถหา
พระที่สมัครใจ จะมาเผยแผ่ศาสนาได้ทันการออกเรือ ก็มักจับพระที่เดินอยู่ใน
ถนนกรุงลิสบอน ขึ้นเรือแล้วออกจากท่ามาเลย เรื่องเล่านี้ จะจริงหรือไม่ก็ตาม

สะท้อนให้เห็นว่า โปรตุเกสไม่ได้มีแผนการเผยแผ่ศาสนาในตะวันออกอย่างเป็น
ระบบนัก อย่างไรก็ตามจากบันทึก (ที่ไม่น่าเชื่อถือนัก) ของพระเอง กล่าวว่า
ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาในเอเชียมาก บางคนกล่าวว่าต้อง
ทำพิธีศีลจุ่มแก่ศาสนิกใหม่ถึงวันละ ๑,๐๐๐ คน

แต่การเผยแผ่ศาสนาทำควบคู่กันไปกับอำนาจทางทหารของโปรตุเกส ฉะนั้น
ผู้กลับใจเหล่านี้จึงขาดความเข้าใจและศรัทธา จะยังคงเป็นชาวคริสต์ต่อไปนาน
เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บังคับให้เขา “กลับใจ” ยังดำรงอยู่ต่อไปนาน
เท่าไรเหมือนกัน
 
ดังจะเห็นได้ว่า ชาวคริสต์ที่พระโปรตุเกสกลับใจจะกระจุกตัวอยู่ตามเมืองป้อม
หรือเมืองท่าชายฝั่งที่อยู่ในการยึดครองของโปรตุเกส (ในปี ค.ศ. ๑๕๔๙
มีรายงานว่าในมะละกาและหมู่เกาะใกล้เคียง ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของโปรตุเกส
มีโบสถ์ของคณะโดมินิกันถึง ๑๘ โบสถ์) ในขณะที่นอกอาณาบริเวณเหล่านั้น
จำนวนของชาวคริสต์ก็ไม่สู้จะมีมากสักเท่าไร
 
แม้ได้รับอาณัติจากสันตะปาปารวมทั้งมีสัญญา Tordesillas กับสเปนในปี
ค.ศ. ๑๔๙๔ รับรองการแบ่งเขตเพื่อรับภาระการเผยแผ่ศาสนาที่เส้นซึ่งห่างจาก
หมู่เกาะ Cape Verde ไปทางตะวันตก ๓๗๐ ลี้ก หรือประมาณ ๒,๘๕๐ กิโลเมตร

แต่ในช่วงสองสามทศวรรษแรกที่โปรตุเกสมาถึงเอเชีย ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ
ในการเผยแผ่ศาสนานัก มุ่งไปที่การตั้งสถานีการค้าและการทหารมากกว่า
พระโดมินิกันเริ่มเข้าสู่อยุธยา กัมพูชา และจีน หลังกลางศตวรรษที่ ๑๖ ไปแล้ว
 
ในระยะแรกๆ พระคณะโดมินิกันมีบทบาทนำในการเผยแผ่ศาสนาในอินเดีย
ประมุขสังฆมณฑลคนแรกประจำอินเดียเป็นโดมินิกัน แต่ก็ได้นำเอา
พระฟรันซิสกันเข้ามาร่วมงานเผยแผ่อยู่ไม่น้อย ดังนั้นประมุขของศาสนจักร
(ซึ่งขึ้นอยู่กับสังฆมณฑลอีกทีหนึ่ง) ในมะละกาและเมืองอื่นอีกหลายเมืองที่ขึ้น
กับโปรตุเกส จึงเป็นพระจากคณะฟรันซิสกัน

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ พระส่วนใหญ่ในเอเชียคือพระจากคณะ
ฟรันซิสกัน มีพระคณะนี้ทั้งจากโปรตุเกสและประเทศอื่นทำงานในเอเชียถึง
๕๐๐ คน แม้ว่าการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในเอเชียมาเริ่มต้นจริงจังมากขึ้น
 เมื่อตั้งคณะเยซูอิตแล้ว และมีพระคณะนี้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในเอเชีย
(ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ นักบุญฟรันซิส เซเวียร์) แต่ก็มีจำนวนน้อยกว่ากันมาก
 
การเผยแผ่ศาสนาของโปรตุเกสในอยุธยา
 
ในสัญญาปี ค.ศ. ๑๕๑๖ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระราชทานอนุญาตให้
นับถือและปฏิบัติศาสนาคริสต์ได้โดยไม่ขัดขวาง ทั้งยังอนุญาตให้โปรตุเกสตั้ง
โรงสอนและทำพิธีทางศาสนา (padrao)  ขึ้นในอยุธยา๒๒ มีสัญลักษณ์
ไม้กางเขนตั้งอยู่เหนือจั่วหลังคา แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระเดินทางเข้ามา
ประจำในกรุงศรีอยุธยาหลังจากนั้นอีกนาน
 
จนถึงกลางศตวรรษที่ ๑๖ จึงเริ่มมีพระพยายามมาอยู่ประจำที่อยุธยา พระที่เข้า
มาสู่อยุธยารุ่นแรกๆ เป็นพระจากคณะโดมินิกัน เช่นเดียวกับกัมพูชาและจีน
จากหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือนัก กล่าวว่า บาทหลวง ๒ รูปแรกที่เข้ามาประจำ
อยุธยาเดินทางจากมะละกา มาถึงและทำงานที่อยุธยาประมาณปี ค.ศ. ๑๕๕๕
 (๓๙ ปีหลังสัญญาปี ค.ศ. ๑๕๑๖)

ใช้เวลาในการเรียนภาษาไทยที่อยุธยาไม่นาน หลังจากนั้นก็สามารถเผยแพร่
จนกลับใจคนได้มาก จึงทำให้พวกมุสลิมซึ่งมีอิทธิพลในอยุธยาอยู่สูง ไม่พอใจ
และได้พุ่งหอกฆ่าบาทหลวงไปคนหนึ่งด้วย บาทหลวงโดมินิกันที่เดินทางเข้ามา
สมทบรวมเป็น ๓ คนก็ถูกพวกมุสลิมฆ่าอย่างเดียวกัน โดยอาศัยความปั่นป่วน
วุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการล้อมเมืองของกองทัพพระเจ้าบุเรงนองในระหว่างปี
 ค.ศ. ๑๕๖๙
 
ด้วยเหตุดังนั้นพระโดมินิกันจึงถอนตัวจากอยุธยาในปี ค.ศ. ๑๕๗๕ ระหว่างนั้น
ก็ว่างพระในอยุธยาไปช่วงหนึ่ง จนราวปี ค.ศ. ๑๕๘๒ พระฟรันซิสกันจากสเปน
ก็เข้ามาตั้งในอยุธยา แต่ก็ประสบการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวมุสลิมเช่นเคย

จำเป็นต้องถอนตัวออกจากอยุธยาใน ๒ ปี จากนั้นอยุธยาก็ว่างพระคาทอลิก
สืบมาจนถึงปี ค.ศ. ๑๕๙๓ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีกรุงละแวกได้ โปรดให้
กวาดต้อนผู้คนกลับเข้ามาจำนวนมาก ในบรรดาคนเหล่านี้รวมพวกคริสเตียน
และพระด้วย ทั้งพระราชทานอนุญาตให้พระสอนและทำพิธีกรรมทางศาสนา
ในอยุธยาได้
 
ชุมชนคริสเตียนในกัมพูชามีศาสนิกมาก เข้าใจว่ามากกว่าอยุธยาด้วย เพราะ
เหตุผลทางการเมืองและสังคมของกัมพูชาในช่วงนั้นเอง (ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้)
ในบรรดาคนเหล่านี้รวมถึงญี่ปุ่นและเชื้อสายซึ่งเปลี่ยนศาสนา

และต่อมาต้องออกจากประเทศโดยไม่สามารถกลับญี่ปุ่นได้อีก จึงต้องตั้งรกราก
ในอุษาคเนย์ แต่งงานผสมปนเปกับคริสเตียนหลายชาติหลายภาษาในภูมิภาคนี้
รวมทั้งโปรตุเกสด้วย อย่างไรก็ตาม การคุกคามของพวกมุสลิมก็ยังมีอยู่

หนึ่งในพระที่ถูกกวาดต้อนจากกัมพูชาถูกมุสลิมฆ่าตาย ส่วนอีกคนหนึ่ง
หลอกลวงสมเด็จพระนเรศวร เมื่อตอนที่มะละกาส่งทูตเข้ามา
จึงถูกลงโทษอย่างหนัก และกลับออกไปตายที่มะละกา
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรายังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับพระโปรตุเกสในอยุธยา
หลังจากนั้นมากนัก แต่เข้าใจว่าคงจะมีพระทำหน้าที่ทางศาสนาสืบต่อมา
ถ้าจะมีขาดตอนบ้างก็น่าจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะเชื้อสายโปรตุเกส
และคริสเตียน สามารถรักษาศาสนาไว้กับลูกหลานได้สืบมาจนเสียกรุง
 และอพยพมาตั้งชุมชนของตนขึ้นใหม่ในบางกอก

ภาระหน้าที่หลักของพระคือการทำพิธีทางศาสนาให้แก่ชาวคาทอลิก
ซึ่งก็คือชาวโปรตุเกส เชื้อสาย และชาวเอเชียที่เปลี่ยนศาสนาซึ่งส่วนใหญ่
มาจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและกัมพูชา แต่ไม่ปรากฏผลงานด้านการ
เผยแผ่ศาสนาให้แก่ชาวพื้นเมืองในอยุธยานัก
 
เหตุผลสำคัญที่การทำงานของพระคาทอลิกในอยุธยามีความสำคัญ
ก็เพราะชุมชนคริสเตียนได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีชาว
โปรตุเกสผิวขาวไม่กี่ร้อยคน กลายเป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น
มากขึ้น จากการที่ได้กวาดต้อนคริสเตียนจากกัมพูชาเข้ามา

 และเนื่องจากการไม่มีชุมชนคริสเตียนอื่นนอกจากโปรตุเกส คริสเตียน
ใหม่จึงกลายเป็นคนของชุมชนโปรตุเกสไปโดยอัตโนมัติ จำนวนของ
ประชากรในชุมชนโปรตุเกสขยายตัวขึ้น หลักฐานชิ้นหนึ่งของฝรั่งเศส
ในศตวรรษที่ ๑๗ กล่าวว่ามีจำนวนถึง ๖,๐๐๐ คน

เข้าใจว่าในระยะนี้เองที่มีรายงานว่า ในหมู่บ้านโปรตุเกสมีทั้งโบสถ์และ
คอนแวนต์ ด้วยเหตุดังนั้น ชุมชนโปรตุเกสในอยุธยาจึงเป็นแหล่งของการ
แย่งอำนาจทางการเมือง ทั้งในด้านอาณาจักรและศาสนจักร

มีหลักฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์ได้กำลังส่วนหนึ่งจากชุมชนโปรตุเกส
ในการชิงอำนาจจากพระศรีสุธรรมราชา ฟอลคอนพยายามเป็นผู้อุปถัมภ์
รายใหญ่สุดของคริสเตียน อีกทั้งตัวเขาเองก็มีสายสัมพันธ์กับชุมชนโปรตุเกส
เมื่อสมรสกับท้าวทองกีบม้า

และแม้ว่าฟอลคอนเองถูกประหารในการชิงอำนาจกันปลายรัชสมัยสมเด็จ
พระนารายณ์ แต่ภรรยาของเขากลับได้ไว้ชีวิตและมีตำแหน่งหน้าที่
ในฝ่ายวิเสทในราชวงศ์ใหม่ เข้าใจว่าราชวงศ์ใหม่ก็ไม่ต้องการเป็นศัตรู
กับชุมชนโปรตุเกสเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อบาทหลวงฝรั่งเศส
เข้ามาสู่อยุธยา ก็มีการแย่งอำนาจและบทบาทกันระหว่างพระฝรั่งเศส
และโปรตุเกส เพื่อจะได้กำกับควบคุมชุมชนคริสเตียนแห่งเดียวในอยุธยานี้
ดูเหมือนการแก่งแย่งกันนี้ดำรงสืบมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกัน (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗) ชุมชนคนต่างศาสนา
ที่ใหญ่สุดในอยุธยาไม่ใช่โปรตุเกส แต่คือชาวเปอร์เซียมุสลิมนิกายชิอะห์
ซึ่งปินโตรายงานว่ามีจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ คน และมีสุเหร่าในอยุธยาถึง ๗ แห่ง

ชะตากรรมของโปรตุเกสในเอเชีย
 
ได้กล่าวแล้วว่า ต้นทุนทางการค้าของโปรตุเกสในเอเชียสูงเกินกว่าวิธีจัดการ
ทางการค้า และกำลังของประเทศโปรตุเกสจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ฮอลันดาและอังกฤษก็เข้ามามี
บทบาทสำคัญทางการค้า ในเอเชียแทนโปรตุเกส และเช่นเดียวกับโปรตุเกส

ผลกำไรสำคัญของพ่อค้า ๒ ชาตินี้ในการค้ากับเอเชีย คือการค้าระหว่างเอเชีย
ด้วยกันเอง เพื่อจะทำให้เกิดรายได้คุ้มกับการเดินทางไกลมาถึงตะวันออก
และเพราะให้ความสำคัญแก่การค้าภายในเอเชียด้วยกันเองยิ่งกว่าโปรตุเกส

ทั้ง ๒ ชาตินี้จึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของประเทศเอเชียมาก
เสียยิ่งกว่าโปรตุเกสด้วย เพื่อจะได้สิทธิผูกขาดสินค้าบางอย่างซึ่งเป็นที่ต้องการ
ในตลาดเอเชียด้วยกันเอง เช่น หนังสัตว์จากอยุธยาเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น

บริษัทฮอลันดาไม่ต้องการให้สำเภาจีนจากอยุธยา ได้แย่งผลประโยชน์การค้า
หนังสัตว์ในญี่ปุ่น เป็นต้น บริษัทฮอลันดาจึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ภายในของอยุธยาอยู่บ่อยๆ รวมทั้งปิดอ่าวและทำสงครามกับอยุธยาในสมัย
สมเด็จพระนารายณ์ด้วย
 
ในส่วนโปรตุเกส อำนาจทั้งทางการเมืองและการค้าในเอเชียก็เสื่อมถอยลง
อย่างรวดเร็ว แต่ลิสบอนก็รู้มาก่อนแล้วว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนไม่ได้
อยู่ที่เอเชีย หากอยู่ที่การค้าทาสและการหาแร่ทองคำในบราซิลต่างหาก

โปรตุเกสเองจึงไม่ได้ทุ่มเทกำลังของตนลงไปในการแข่งขันกับฮอลันดาและ
อังกฤษอย่างเต็มที่ ลดบทบาทหรือสูญเสียเมืองป้อมของตนไปให้แก่ฮอลันดา
และอังกฤษตามแรงกดดันที่ไม่มีทางต่อต้าน
 
ได้กล่าวแล้วเช่นกันว่า นับตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา
ลูกเรือโปรตุเกสที่เดินทางมาถึงเอเชียจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะไม่กลับประเทศ
เพราะอาชีพกะลาสีเรือได้รับการดูถูก ได้รายได้ค่อนข้างต่ำ จึงไม่มีอนาคต
ในประเทศของตนเอง

พอใจที่จะตั้งรกรากในเอเชีย อยู่ร่วมและแต่งงานกับเชื้อสายชาวโปรตุเกสด้วยกัน
หรือกับชาวเอเชียที่เป็นคริสต์
 
หลักฐานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า ในศตวรรษที่ ๑๖ มีชาวโปรตุเกส (ผิวขาว) ตามเมือง
ท่าต่างๆ ของเอเชียรวมกันราว ๑๖,๐๐๐ คน ครึ่งหนึ่งเป็นทหาร และอีกครึ่งหนึ่ง
เป็นผู้ตั้งถิ่นฐาน (casados) ซึ่งรวมคนที่แต่งงานกับชาวเอเชียและพ่อค้า
จำนวนหนึ่งของทหารที่มีอยู่นี้หลุดออกไป

เพราะไปรับราชการกับกษัตริย์เอเชีย ซึ่งจ่ายเงินได้มากกว่ากรมอินเดีย
หลายเท่า หรือมิฉะนั้นก็หันไปทำการค้าขายเอง ในภายหลังจึงเหลือ
ทหารอยู่ทั้งเอเชียไม่เกิน ๕,๐๐๐ คน แต่การป้องกันเมืองป้อมต่างๆ
จากการถูกโจมตียังทำอยู่ได้โดยอาศัยกำลังของพลเรือนเข้าร่วมรบ

ในเวลาต่อมา จำนวนของคนที่เป็นแต่ทหารอย่างเดียวเหลือน้อยลง
จนแทบไม่มี เพราะทั้งหมดต่างหันไปทำการค้าขายเอง พอมาถึงสิ้น
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสในเอเชีย เหลือแต่กำลังทหารอาสา
ประมาณ ๔,๐๐๐ คน ซึ่งก็คือทหารรับจ้างชาวพื้นเมือง
หรือเชื้อสายโปรตุเกส

แต่มีชาวคริสต์อยู่อีก ๒๐,๐๐๐ คน ที่อาจช่วยรบได้บ้าง นอกจากนี้
ชุมชนโปรตุเกสในหลายแห่งยังมีทาส ซึ่งสอนให้ใช้อาวุธ
และออกรบได้อีกประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน
 
ในศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อการค้าในเอเชียของโปรตุเกสเสื่อมโทรมลงอย่างมาก
ก็มีชาวโปรตุเกสอาสาเดินทางมาอยู่เอเชียน้อยลง เพราะมองเห็นแล้วว่า
จะได้ผลกำไรในการเสี่ยงโชคได้ยาก

และส่วนใหญ่มาเพื่อทำการค้าเพียงอย่างเดียวมากกว่าเพื่อผดุงอำนาจ
ของโปรตุเกสในเอเชียไว้อีก และอีกจำนวนมากก็เป็นพวกสิบแปดมงกุฎ
ที่หวังจะมาเสี่ยงโชคในดินแดนที่ห่างไกลจากเมืองแม่
 
ฉะนั้น ในเวลาไม่ถึงร้อยปี ชุมชนโปรตุเกสในเอเชียก็กลายเป็นชุมชน
ชาวพื้นเมือง กลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอันหลากหลายของเอเชีย
ความสัมพันธ์กับเมืองแม่มีน้อยลง หรือถึงกับขาดหายไปในหมู่คนส่วนใหญ่
และดังที่กล่าวแล้วว่า

ระบอบปกครองของอยุธยาไม่ได้มองโปรตุเกสแตกต่างไปจากพ่อค้า
ต่างชาติอื่นๆ  ซึ่งต้องตั้งสถานีการค้าหรือชุมชนของตนขึ้น อันเป็น
ปรากฏการณ์ปรกติธรรมดาที่เกิดในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์
ทัศนะเช่นนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะอยุธยา

แต่คงเป็นทัศนะที่ผู้ปกครองเมืองท่าอื่นๆ ในอุษาคเนย์มีเหมือนๆ กัน
(ยกเว้นแต่เมืองป้อมเพียงไม่กี่แห่งที่โปรตุเกสใช้กำลังเข้ายึดครอง)
 
ชาวโปรตุเกสและเชื้อสายในเอเชีย กลายเป็นชาวเอเชียมากเสียจนกระทั่ง
ในศตวรรษที่ ๑๙ ชาวตะวันตกอื่นๆ ที่ได้พบเห็นชาวโปรตุเกสเหล่านี้
มักแสดงความแปลกใจที่ชาวโปรตุเกสเหล่านี้ ช่างไม่เหมือนกับคนผิวขาวเลย
(แม้แต่โปรตุเกสที่เกิดในยุโรป เช่นทูตคนแรกของโปรตุเกสในสมัยรัตนโกสินทร์)
 
แม้กระนั้น โปรตุเกสก็ทิ้งมรดกไว้ในเอเชียได้กว้างขวางกว่าชาวยุโรปอื่นๆ
 ก่อนสมัยใหม่ เช่น ภาษาโปรตุเกสแบบพื้นเมือง (pidgin) ถูกใช้เป็น
ภาษากลางในการค้าของเอเชียใต้สืบมาอีก ๒ ศตวรรษ (ก่อนจะถูกแทนที่
ด้วยภาษาอังกฤษ) คำโปรตุเกสถูกภาษาพื้นเมืองหลายภาษายืมมา
ใช้หลายคำ (กระดาษ สบู่ โกดัง ฯลฯ)

ขนมนมเนยหลายอย่างของโปรตุเกสถูกทิ้งไว้ในอยุธยาและมะละกา
กับรัฐมลายูอื่นๆ (โดยเฉพาะในหมู่ลูกผสมจีน-มลายูหรือบ้าบ๋า) เครื่องสี
ของยุโรปคือไวโอลินถูกนำมาใช้ในเพลงพื้นเมืองของอีกหลายวัฒนธรรม
ของอุษาคเนย์ พร้อมกับท่วงทำนองเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส
 (รองเง็ง และเพลงทาง “ฝรั่ง”? ในเพลงไทย)
 
ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเอเชีย “ขาด” ออกไปจากโปรตุเกสใน
เวลาไม่นาน อีกทั้งการค้ากับเอเชียไม่มีผลกระทบต่อสังคมโปรตุเกส
เพราะเป็นสมบัติและทางหารายได้ของชนชั้นสูงเท่านั้น จึงแทบไม่มี
วัฒนธรรมเอเชียไปปรากฏในวัฒนธรรมโปรตุเกสเลย (เมื่อเทียบ
กับกะหรี่ปั๊บ, rijstafel, และคำในภาษาเอเชียที่ไปปรากฏ
ในภาษาอังกฤษและดัตช์)
 
๕๐๐ ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและอยุธยา (ไทย-?) น่าจดจำ
ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์นั้นมีนัยะสำคัญแก่ ๒ ประเทศ ตรงกันข้าม
กลับเป็นความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ซึ่งหมายถึงราบเรียบด้วย ไม่มีสีสัน
น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด

อำนาจของโปรตุเกสในเอเชียหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ แทบไม่เหลืออยู่
และไม่ต่างจากประเทศเอเชียด้วยกัน โปรตุเกสจึงไม่สามารถใช้สงคราม
เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าหรือการเมืองกับประเทศ
ในอุษาคเนย์ได้อีก

(เหลืออาณานิคมเล็กๆ ที่ครึ่งตะวันออกของเกาะติมอร์ - Timor
 L’Este - เท่านั้น) โปรตุเกสจึงพร้อมจะโอนอ่อนต่อนโยบายการค้า
ของรัฐบาลอยุธยา (และรัตนโกสินทร์) สร้างความสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อกัน

โดยไม่มีฝ่ายใดใช้กำลังเข้าข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่ง ความไม่มีสีสันในความ
สัมพันธ์นี้ต่างหากที่น่าจดจำ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ยอมรับใน
ความแตกต่างระหว่างกัน (แม้ด้วยความจำใจก็ตาม)

(อ่านบทความฉบับสมบูรณ์พร้อมเชิงอรรถได้ที่
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2555)

ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ




Create Date : 28 มีนาคม 2555
Last Update : 28 มีนาคม 2555 12:36:09 น.
Counter : 2177 Pageviews.

0 comments
พ่อแม่ที่ติดโทรศัพท์ มีผลต่อลูกอย่างไร newyorknurse
(22 มิ.ย. 2568 21:04:21 น.)
"หลวงพ่อโต" วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มิ.ย. 2568 02:46:10 น.)
18 มิย 68 mcayenne94
(18 มิ.ย. 2568 17:08:30 น.)
นกยางกรอกพันธุ์จีน tuk-tuk@korat
(5 มิ.ย. 2568 12:35:42 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด