"มรดกประวัติศาสตร์ของจอมพล ป." - "พระเจ้าตากสินกับทักษิณ" จากมุมมองนิสิต-นศ.ป.ตรี


วันที่ 10 มี.ค. ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี จุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตรฯ โดยในงานมีการนำเสนอบทความวิชาการจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี แบ่งตามกลุ่มหัวข้อของงานวิชาการต่างๆ

ซึ่งในเวลา 13.00 น. มีการนำเสนอในหัวข้อ วัฒนธรรมกับการเมือง มีประธานการนำเสนอคือ ดร.ธนาพล ลิ่มอภิชาต


บทความที่นำเสนอในการประชุมดังกล่าวได้แก่

กินเพื่อชาติ: นโยบายชาตินิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามกับวัฒนธรรมการกินของประชาชนในช่วง พ.ศ. 2482-2487 โดย นางสาวปิยาภา สังขทับทิมสังข (มธ.)

อนุสาวรีย์ (ชัย?) สมรภูมิ: ความทรงจำที่เลือนรางของประชาชนชาวไทย โดย นางสาวภัทรวดี ท้วมมา (มก.) และ

"คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า": สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับวัฒนธรรมการเมืองของขบวนการเสื้อแดง โดย นายอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู (จุฬาฯ)



กินเพื่อชาติ

นางสาวปิยาภา สังขทับทิมสังข นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาวัฒนธรรมการกินสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการศึกษาพบว่า นโยบายสำคัญของจอมพล ป. คือการพัฒนาประเทศให้เจริญตามแบบตะวันตก โดยใช้นโยบายปฏิวัติวัฒนธรรม

ซึ่งจอมพล ป. มีความคิดว่า วัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญยิ่งในความเจริญของชาติ โดยกลยุทธ์ที่ใช้คือ แนวคิดชาตินิยม อันเป็นการปลุกให้ประชาชนภูมิใจในความเป็นไทยที่ยิ่งใหญ่ ดังคำขวัญ "ถ้าไม่อยากเป็นขี้ข้าต้องเป็นมหาอำนาจ"

รัฐใช้วิธีอันมีที่มาจาก 2 แนวคิดคือ โน้มน้าวจิตใจ อาทิ การนำเสนอผ่านทางบทเพลงต่างๆ เพื่อให้ประชาชนศรัทธา และ การใช้อำนาจหรือกลไกรัฐ อย่างรัฐนิยม 12 ฉบับ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นระเบียบประเพณีของชาติ

ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมารยาทที่พึงปฏิบัติตามอารยชน โดยรัฐนิยมดังกล่าว กล่าวถึงการกินในฉบับที่ 5 ส่งเสริมให้ประชาชนใช้เครื่องอุปโภค บริโภค ที่ผลิตในประเทศไทย, ฉบับที่ 7 ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และ ฉบับที่ 11 คือกิจประจำวันของชาวไทย เช่น การทำงาน หรือการกิน

เป้าหมายของการปฎิวัติวัฒนธรรมการกินของจอมพล ป. คือต้องการให้ประชาชน กินดีดูดี มีรสนิยม เน้นคุณค่าโภชนาการ มากกว่ารสชาติ ให้ชาวไทยแข็งแรง ปราศจากโรค และมีเรือนร่างอุดมคติแบบตะวันตก มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงใหญ่โต เต็มไปด้วยมัดกล้าม ทำให้มีการสร้างประติมากรรมเป็นแบบอย่างด้วย

จอมพล ป. ยังจัดตั้งกองส่งเสริมอาหาร อันพัฒนาเป็นกระทรวงสาธารณสุขในทุกวันนี้ และยังมีช่องทางการเผยแพร่ความรู้ในการสร้างจิตสำนึกใหม่ด้านการกิน

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้บริโภคอาหารครบ 6 หมู่ มีนโยบายส่งเสริมอาหารบริโภคอาหารไม่เกิน 4 มื้อ จำหน่ายอาหารตามเวลา ประชาสัมพันธ์โทษของการกินจุบจิบ และยังมีการห้ามกินอาหารบางชนิด เช่น แมลง และสัตว์ที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และให้ประชาชนเลิกกินอาหารอุตริ เช่น งู อึ่งอ่าง

รัฐบาลมีความต้องการยกระดับความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับการเพิ่มผลผลิตการเกษตร อันมีที่มาจากผลพวงของสงคราม และยังมีการตรา พ.ร.บ. การทำสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ปี พ.ศ. 2482 และยังมีการส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือการรับประทานอาหาร

เพื่อสร้างความมีอารยะ สนับสนุนให้มีการใช้ช้อนส้อม ป้องกันการติดเชื้อและแสดงอัตลักษณ์ของคนไทย ท้ายที่สุดคือ ห้ามกินหมาก โดยมองมาตรฐานของตะวันตก ที่มองว่าฟันขาวเป็นสิ่งสะอาด จึงได้ออกคำชี้แจงโทษของการกินหมาก อันทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง อันนำความเสื่อมมาสู่ประเทศ

ดังตัวอย่างประโยค "การกินหมากต้องเคี้ยวเอื้องเหมือนควายอยู่เสมอ"

ทั้งนี้ มรดกและวิถีการกินของคนไทยที่เปลี่ยนแปลง กลายเป็นมรดกวัฒนธรรมด้านอาหารที่ส่งผลมาถึงวันนี้ อย่าง ก๋วยเตี๋ยวผัดไท จอมพล ป. ต้องการแสดงเอกลักษณ์ของไทย ต่อต้านจีน โดยผัดไทของแท้ต้องไม่ใส่หมู และสนับสนุนให้ประชาชน ผลิตและซื้อเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รัฐนิยมฉบับที่ 7 รัฐบาลยังชวนให้ประชาชนเลี้ยงไก่ เพราะมองว่าไข่ไก่ถูกหลัก หาง่าย อันมีประโยคเชิญชวนว่า "จงกินไข่ทุกวัน" อันนำมาสู่อุตสาหกรรมทุกวันนี้ รวมถึงอาหารอย่างถั่วเหลือง ที่สามารถกินได้ทุกคน ทำให้แต่ละปีมีการปลูกถั่วเหลืองมากขึ้นเพื่อกินกันเอง และยังขายเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วย

นางสาวปิยาภา ยังกล่าวเสริมว่า สำหรับกระบวนการที่ใช้ดำเนินการมีการผลิตซ้ำทางสื่อโฆษณา ที่เห็นได้ชัด คือการพยายามกำหนดการกินให้กินไม่ยุ่งยาก อาทิ ผัดไท ที่เป็นอาหารเฉพาะ อาหารจานเดียว

และในสมัยนั้นยังมีการเน้นกับข้าวมากขึ้น ประชาสัมพันธ์ผ่านหลักสูตรการเรียน การสอน แต่ทุกวันนี้อิทธิพลของบริโภคนิยมอย่าง "ร้านสะดวกซื้อ" ยังทำให้นโยบายรณรงค์งดการกินจุบจิบของจอมพล ป. ไม่สำเร็จ

"ความพยายามทั้งหลายของนโยบายข้างต้น นำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงของคนไทยในสมัยนั้น จึงกล่าวได้ว่าคนไทยช่วงนั้นได้รับการปลูกฝังให้กินเพื่อชาติ"



"อนุสาวรีย์ (ชัย?) สมรภูมิ"

นางสาวภัทราวดี ท้วมมา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอบทความที่ค้นคว้า รวบรวมเอกสาร หลักฐาน ตอบคำถาม สาเหตุของความทรงจำของความหมายของอนุสาวรีย์ชัยที่เลือนรางลงสำหรับชาวไทย

ซึ่งนิสิตผู้นี้นำเสนอว่า อนุสาวรีย์ชัยฯ ถูกมองว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการกำหนดความหมายตั้งแต่เริ่มต้นทั้งชื่อ ประวัติความเป็นมา และสัญลักษณ์ต่างๆ แต่ถ้าถามความหมายของสิ่งก่อสร้างกลางวงเวียน ความรู้สึก และความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ต่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้ว กลับยากที่จะได้ยินคำตอบของคำถามดังกล่าว

สำหรับที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์ชัยฯ นั้น จุดประสงค์การสร้างช่วงเวลา พ.ศ. 2483-2485 เกิดขึ้นภายหลังจากที่ไทยได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีน เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ตั้งอยู่กลางสี่แยกสนามเป้า

มีรูปปั้นตัวแทนของทหารบก, ทหารอากาศ, ทหารเรือ, ตำรวจ และพลเรือน แต่ละช่องมีการจารึกรายชื่อผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์จากภาพลักษณ์ของนโยบายการบริหาร ช่วงแรกเน้นภาพของกองทัพ และทหาร

ซึ่งรอยต่อระหว่างการสร้างนั้น ยังอยู่ระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีน มาสู่ สงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากชัยชนะกรณีพิพาทแล้วจอมพล ป. มีการแอบแฝงนัยยะ ของเชิญชวนประชาชนให้มีความกล้าหาญ เสียสละในการปกป้องบ้านเมือง อันเห็นได้จากสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานตอนหนึ่ง

ช่วงที่สอง จอมพล ป. จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภาพของการบริหาร คือ เน้นความเป็นความเป็นชาติ ลดบทบาทของกองทัพ เพิ่มความสำคัญของสถาบันฯ มากขึ้น ในทางสงครามเปลี่ยนจากสนับสนุนญี่ปุ่น มาเป็นตะวันตก มีพิธีบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สอง อันขัดแย้งกับวาทกรรมชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของอนุสาวรีย์

สำหรับการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเน้นภาพของสถาบันฯ นั้น จอมพล ป. สร้างภาพของพระมหากษัตริย์ให้ยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะของกองทัพ เพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการมีส่วนร่วมบริหารบ้านเมือง ส่งผลให้จอมพล ป. หันมายึดโยงความหมายของอนุสาวรีย์ชัยฯ ให้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ

ดังนั้น วาทกรรมตามเจตนาเดิมคือ ต้องการให้อนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะกองทัพ และประเทศต่อกลุ่มตะวันตก แต่เมื่อชัยชนะที่ได้รับหมดลง วาทกรรมดังกล่าวจึงถูกลดทอนเป็นสถานที่รำลึกวีรชน ผู้กล้า และถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ของอนุสาวรีย์



"ตากสินมหาราช" กับ "วัฒนธรรมการเมืองของขบวนการเสื้อแดง"

นายอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู อักษรศาสตรบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอบทความที่ทำการศึกษาวัฒนธรรมการเมือง ของขบวนการเสื้อแดงที่สัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมการเมืองนี้ก่อรูปขึ้นมาได้มีอย่างน้อยสามประการด้วยกัน

เงื่อนไขแรกคือภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ปรากฏในความรับรู้โดยทั่วไปว่า ผูกพันอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยม พื้นเพที่มาจากสามัญชน เชื้อสายจีน และถูกรัฐประหาร ภาพลักษณ์เหล่านี้เอื้อให้เกิดการเทียบทับระหว่างทักษิณ กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน

เงื่อนไขที่สอง กรณีสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ และยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ขบวนการเสื้อแดง เข้ามาร่วมในสนามวาทกรรมที่กำลังต่อสู้โต้แย้งนี้ได้

ประการสุดท้าย เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เปิดช่องให้ขบวนการเสื้อแดงใช้เป็นกโลบายสำคัญในการวิพากษ์ชนชั้นนำ ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายและสังคมวัฒนธรรม

วัฒนธรรมการเมืองที่สัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก่อรูปขึ้นในบริบทสำคัญสองบริบท คือ หนึ่ง การถกเถียงในหมู่ชนชั้นนำเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินและทักษิณ กับบริบทที่สองคือพัฒนาการทางความคิดของเสื้อแดง หรือ "ตาสว่าง" ตั้งแต่ปลายปี 2551

วัฒนธรรมการเมืองดังกล่าวประกอบด้วย

หนึ่ง วาทกรรมเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านตัวบททางวัฒนธรรมต่างๆ ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกล้มราชบัลลังก์ และถูกบันทึกในประวัติศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรม และทักษิณคือสมเด็จพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิด

สอง วิถีปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์ เช่น การประกอบพิธีกรรม การเทียบทับทักษิณกับพระเจ้าตาก การหยิบยกเอาอนุภาคในประวัติศาสตร์มาทำซ้ำ ล้วนเป็นการสื่อสารวาทกรรมดังกล่าว

อาทิ กวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นและเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2552 ของ "ไม้หนึ่ง ก. กุนที" ซึ่งเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินโดยนิยามพระองค์ว่า เป็นมหาราชผู้อาภัพ กวีนิพนธ์บทนี้เน้นภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่มาจากสามัญชน

เช่นในวรรคที่ว่า "ก็เห็นแต่นายสินผู้แซ่แต้ จิตแน่วแน่มั่นคงไม่แปรผัน จัดตั้งคนธรรมดาเข้าประจัน ทะลวงฟันเพื่อข้าวปลาของลูกเมีย"

ขณะเดียวกันก็นิยามทั้งกลุ่มชนชั้นนำ ที่ขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ว่าเป็นพวกอำมาตย์ และวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยว่าไม่มีพื้นที่ให้แก่คนดี ซึ่งนัยหนึ่งอาจหมายถึงสมเด็จพระเจ้าตากสิน และอีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงทักษิณ

ยิ่งถ้าพิจารณาบริบทของการอ่านกวีนิพนธ์บทนี้ คือวันเกิดของทักษิณ ชินวัตร ในเดือนกรกฎาคม ก็ยิ่งเอื้อต่อการตีความเช่นนั้น นอกจากนี้ งานนี้ยังจัดขึ้นที่พระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งยิ่งทำให้เห็นการเทียบระหว่างบุคคลสองคนชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายอาทิตย์เสนอว่า ในวิธีคิดของขบวนการเสื้อแดง สมเด็จพระเจ้าตากสิน มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของผู้ถูกกระทำ อย่างไม่เป็นธรรม ประสบการณ์ที่ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมนี้เอง เชื่อมโยงสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทักษิณ และมวลชนเสื้อแดงเข้าด้วยกัน

ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจากการถูกกระทำนี้ ยังร้อยรัดการเชิดชูสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้ากับวัฒนธรรมการเมืองอื่นๆ ของขบวนการเสื้อแดงด้วย เช่น วาทกรรมไพร่อำมาตย์ เป็นต้น วัฒนธรรมการเมืองนี้จึงเป็นกโลบายสำคัญในการแสดงความรู้สึกนึกคิด และทัศนวิจารณ์ต่อชนชั้นนำ

วัฒนธรรมการเมืองที่สัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทยโดยรวม คือ

หนึ่ง มีการยกย่องเชิดชูและเชื่อมโยงตนเองเข้ากับบุคคลสำคัญ ในตำนานหรือประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความหมายให้แก่การกระทำ หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน

สอง กิจกรรมทางการเมืองมีความสัมพันธ์อย่างมากกับศาสนาความเชื่อ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ

วัฒนธรรมในปรากฏการณ์นี้มีความย้อนแย้งหลายครั้ง ทำให้เห็นว่า วัฒนธรรมการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ตายตัว และมิได้ก่อตัวขึ้นโดยสมบูรณ์ จนสร้างความเป็นเอกภาพให้แก่ขบวนการทางการเมือง

เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เงื่อนไขหรือปัจจัยอื่นๆ ในอนาคตอาจทำให้วัฒนธรรมการเมืองที่สัมพันธ์กับพระเจ้าตากสินเสื่อมลงหรือขยายตัวมากขึ้นก็ได้


ขอบคุณ มติชนออนไลน์


อาทิตยวารสิริสวัสดิ์ค่ะ



Create Date : 11 มีนาคม 2555
Last Update : 11 มีนาคม 2555 14:06:32 น.
Counter : 2373 Pageviews.

0 comments
"หลวงพ่อโต" วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มิ.ย. 2568 02:46:10 น.)
14 มิ.ย. 68 ไปเรียน kae+aoe
(19 มิ.ย. 2568 06:48:33 น.)
18 มิย 68 mcayenne94
(18 มิ.ย. 2568 17:08:30 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเวกเตอร์ นายแว่นขยันเที่ยว
(11 มิ.ย. 2568 06:11:02 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด