พระพุทธรูปประธานปางสมาธิ : ข้อค้นพบใหม่ว่าด้วยพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๑ ต่อ

 

ชาตรี ประกิตนนทการ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร




การวางตำแหน่งของอัฏฐมหาสถานตามที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉัย จะจัดวางตำแหน่ง “โพธิบัลลังก์” อันหมายถึงเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ (มหาสถานอันดับที่ ๒) ด้วยนั้น เอาไว้ตรงกลาง และวางมหาสถานอีก ๗ แห่งไว้โดยรอบ

ถัดออกไปจากวงรอบนี้ จะเป็นการล้อมด้วย “มหานครใหญ่” ๑ ชั้น และ “ชนบทนคร” อีก ๑ ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นวงรอบชั้นสุดท้าย โดยโครงสร้างทั้งหมดนับตั้งแต่ “โพธิบัลลังก์” จนถึง “ชนบทนคร” จะเรียกรวมว่า “มัชฌิมประเทศ” ถัดออกไปจากพื้นที่ “มัชฌิมประเทศ” คือ “ป่าหิมพานต์” และพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งจะเป็นพื้นที่ขอบนอกสุดของชมพูทวีป

โครงสร้างแผนผังในเชิงนามธรรมข้างต้นที่ถูกแปลงให้เป็นแผนผังเชิงรูปธรรมนั้น ผู้เขียนได้เคยศึกษาวิเคราะห์และเสนอเอาไว้เป็นบทความอย่างละเอียดแล้วในบทความชิ้นอื่น

ดังนั้นจะไม่ขออธิบายโดยละเอียด ณ ที่นี้ แต่จะขอสรุปโดยย่อในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถ ดังนี้

โครงสร้างดังกล่าวได้ถูกแปลงเข้าสู่แผนผังทางสถาปัตยกรรมของวัดพระเชตุพนฯ ในเขตพุทธาวาส โดยกำหนดให้ศูนย์กลางของแผนผังทางสถาปัตยกรรม ซึ่งก็คือตำแหน่งของพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถนั้นเป็นตำแหน่งของศีรษะแผ่นดิน

ซึ่งคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยได้ระบุไว้ว่า คือตำแหน่งเดียวกับโพธิบัลลังก์

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ณ ตำแหน่งศูนย์กลางนั้นยังได้ถูกกำหนดให้เป็นตำแหน่งเดียวกันกับเหตุการณ์เสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๑ อันเป็นสัตตมหาสถานแห่งที่ ๑ และยังตรงกับเหตุการณ์ตรัสรู้ อันเป็นมหาสถานอันดับที่ ๒ ของอัฏฐมหาสถานด้วย

ที่โยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปปางสมาธิก็คือ พุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าในเหตุการณ์สำคัญทั้ง สอง ซึ่งได้มาซ้อนทับอยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้ เป็นพุทธลักษณะเดียวกันที่เป็นปางสมาธิ

กล่าวคือ การเสวยวิมุติสุขที่เกิดขึ้น ณ สัตตมหาสถานอันดับที่ ๑ ตามพุทธประวัติคือ พระพุทธเจ้าจะประทับนั่งทำสมาธิอยู่บนโพธิบัลลังก์เป็นเวลา ๗ วัน ซึ่งก็คือปางสมาธิ

ส่วนการล้อมรอบของ “อัฏฐมหาสถาน” ในชั้นถัดออกมา คัมภีร์ก็ระบุเอาไว้ให้ตำแหน่งศูนย์กลางคือ “มหาสถานอันดับที่ ๒” อันเป็นพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ซึ่งก็คือพระพุทธรูปปางสมาธิเช่นเดียวกัน

แม้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พุทธประวัติตอนตรัสรู้นิยมที่จะถูกแทนด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในวัฒนธรรมไทยเองและอีกหลายวัฒนธรรม

เช่น พม่า เป็นต้น ก็มีคตินิยมในลักษณะดังกล่าวอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเช่นเดียวกันว่า พระพุทธรูปทั้ง ๒ ปางสามารถเป็นภาพตัวแทนของเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ได้เหมือนกัน

ดังนั้น เมื่อย้อนมาพิจารณาในกรณีของการจำลองโครงสร้างศีรษะแผ่นดินหรือโพธิบัลลังก์กลางชมพูทวีป ตามคัมภีร์ไตรโลกวินิจฉัย ซึ่งระบุเอาไว้ว่า ตำแหน่งศูนย์กลางซึ่งจะต้องแสดงเหตุการณ์สำคัญ ๒ เหตุการณ์ที่ซ้อนทับกัน

คือ ตอนเสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ ๑ (ตอนพระพุทธเจ้านั่งสมาธิใต้โพธิบัลลังก์) และเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ ทำให้ ถ้าเลือกที่จะใช้พระพุทธรูปปางมารวิชัยเพื่อแทนเหตุการณ์ตรัสรู้ ก็จะทำให้ขัดกับเหตุการณ์เสวยวิมุตติสุขสัปดาห์ที่ ๑

ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ช่างในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงได้เลือกพระพุทธรูปปางสมาธิ (ซึ่งแทนพุทธประวัติตอนตรัสรู้ได้เช่นกัน) ขึ้นมาเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ดังกล่าว แทนที่ปางมารวิชัยในแบบเดิม

เพราะปางสมาธิจะทำให้การแสดงภาพเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ ไม่ขัดแย้งกับเหตุการณ์ตอนเสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ ๑

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่คำตอบ (ที่ยังคงเป็นสมมติฐานในเบื้องต้นที่ต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมอีก) ว่า ทำไมพระประธานภายในพระอุโบสถของวัดที่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงตามแผนผังโครงสร้างในไตรภูมิโลก

วินิจฉัยแล้วคือ ตำแหน่งของโพธิบัลลังก์ ศีรษะแผ่นดิน สัตตมหาสถานอันดับที่ ๑ และอัฏฐมหาสถานอันดับที่ ๒ จึงจำเป็นจะต้องเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เพราะพระพุทธรูปปางนี้คือ ปางที่สื่อสะท้อนถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังเสวยวิมุติสุขบนโพธิบัลลังก์ และพุทธประวัติตอนตรัสรู้ นั่นเอง

การออกแบบในลักษณะดังกล่าว ใช่ว่าจะพบที่วัดพระเชตุพนฯ แห่งแรกก็หาไม่ แต่คติว่าด้วยการจำลองลักษณะชมพูทวีปเช่นนี้ อย่างน้อยเราได้พบมาแล้วที่การออกแบบพระอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ภายในพระอุโบสถ

มีพระพุทธรูปประธานเป็นปางสมาธิ โดยมีภาพเขียนบนผนังด้านซ้ายและขวาเป็นภาพสัตตมหาสถานและอัฏฐมหาสถาน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่รัชกาลที่ ๑ จะมีพระราชนิยมในการออกแบบคติสัญลักษณ์ภายในวัดที่พระองค์มีพระราชดำริโดยตรงไปในลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานบนการวิเคราะห์การออกแบบของวัดพระเชตุพนฯ เป็นหลัก ซึ่งวัดอื่นๆ ผู้เขียนยังมิได้ทำการศึกษาเทียบเคียงอย่างจริงจัง

ฉะนั้น ความหมายของพระประธานที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสัญลักษณ์ ในการจำลองศีรษะแผ่นดินกลางชมพูทวีป อาจเป็นเพียงความคิดที่ปรากฏที่วัดพระเชตุพนฯ เพียงแห่งเดียวก็เป็นได้ ส่วนวัดอื่นอาจจะเป็นเนื่องด้วยวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งคงต้องรอการศึกษาในรายละเอียดต่อไป


สรุป

รัชกาลที่ ๑ มีพระราชนิยมในการเลือกพระพุทธรูปเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งแตกต่างจากคตินิยมในอดีตที่จะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และแตกต่างจากความเชื่อดั้งเดิมในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย เหตุผลหนึ่ง (ซึ่งอาจมีอีกหลายเหตุผล) ของพระราชนิยมดังกล่าวก็คือ

พระพุทธรูปปางสมาธิมีความสัมพันธ์กับคติสัญลักษณ์เรื่อง “ศีรษะแผ่นดิน” กลาง “ชมพูทวีป” ซึ่งเป็นแนวความคิดสำคัญในการออกแบบแผนผังวัดในสมัยรัชกาลที่ ๑


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณชาตรี ประกิตนนทการ

สิริสวัสดิ์โสรวารค่ะ



Create Date : 12 พฤษภาคม 2555
Last Update : 12 พฤษภาคม 2555 12:05:28 น.
Counter : 2361 Pageviews.

0 comments
“ สเปรย์ฉีดยุง ” dansivilai
(17 เม.ย. 2567 21:04:34 น.)
9 แนวคิดที่ทำให้เรามีชีวิตประจำวันที่ดีกว่าเดิม peaceplay
(31 มี.ค. 2567 09:18:27 น.)
กาแฟคั่วเข้ม เหมาะกับเมนูไหนดี สมาชิกหมายเลข 7983004
(29 มี.ค. 2567 02:14:10 น.)
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด