"ไกรฤกษ์"โชว์เอกสารเก่า-ข้อมูลใหม่"ตามรอยวิกฤตการณ์ ร.ศ.112กรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศส"ทัวร์ศิลปวัฒนธรรม





"ไกรฤกษ์"โชว์เอกสารเก่า-ข้อมูลใหม่"
ตามรอยวิกฤตการณ์ ร.ศ.112




"วิกฤตการณ์ รศ.112" เป็นอีก 1 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สะท้อนความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ของสยามและชาติตะวันตกอย่างฝรั่งเศส ในยุคจักรวรรดินิยม ซึ่งแทบจะถูกลืมไปแล้วจากสังคมไทย

"มติชนอคาเดมี" มีโปรแกรมทัวร์ศิลปวัฒนธรรม "ตามรอยวิกฤตการณ์ รศ.112 กรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศส" ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยไปเยือนสถานที่จริง ในเหตุการณ์เรือรบฝรั่งเศสรุกกรุงสยาม ณ ปากน้ำเจ้าพระยา

ประกอบด้วย "ป้อมพระจุลจอมเกล้า" "ป้อมผีเสื้อสมุทร" "พระสมุทรเจดีย์" "เรือรบหลวงแม่กลอง" และชมป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศไทย

"มติชนทีวีออนไลน์" พูดคุยกับ "ไกรฤกษ์ นานา" มัคคุเทศน์ในทริปนี้ ก่อนออกเดินทางเยี่ยมชม สถานที่จริงพร้อมเรื่องเล่าผ่านมุมมองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในยุคสมัยนั้น

"ไกรฤกษ์" นักวิชาการผู้ค้นคว้าเอกสารหลักฐานเหตุการณ์ รศ.112 มาเป็นเวลา 30 ปีกระทั่งรวมรวมข้อมูลภาพจากหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นออกมาเป็น "สมุดภาพเหตุการณ์ รศ.112" กล่าวถึงทัวร์ศิลปวัฒนธรรมกับ "มติชนอคาเดมี" ครั้งนี้ ว่า

วันที่ไปทัวร์ จะไปดูหลายสถานที่ รวมถึงปืน 10 กระบอกชื่ออาร์มสตรอง หรือ ปืนเสือหมอม ซึ่งเคยมีสกู๊ปที่เรียกปืนนี้ว่าเป็น "ปืนผีหลอก" เพราะเป็นปืนระบบไฮโดรลิค เมื่อยกขึ้น ยิง แล้วลดระดับลง จะทำให้ข้าศึก ไม่เห็นว่า ปืนอยู่ที่ไหน จึงเรียกว่าปืนผีหลอก ปืนนี้ จำนวน 7 กระบอกอยู่ป้อมพระจุลฯ ส่วนอีก 3 กระบอก อยู่ป้อมผีเสื้อสมุทร

เราจึงจะไปดูที่ป้อมผีเสื้อสมุทรด้วย ซึ่งยังไม่เปิดให้คนภายนอกเข้าชม ต้องขออนุญาตจากกองทัพเรือ โปรแกรมนี้ เราจะไปดูที่เกิดเหตุจริง ว่าทำไมปืน 10 กระบอกนี้ หยุดเรือฝรั่งเศส ไม่อยู่ พ้นพิกัดยิงอย่างไร ขณะที่หากยิงผิดองศา อาจจะทำให้ พระประแดงพังเละ ประกอบกับพลบค่ำ แต่การที่ยิงพลาดไม่ถูกเรือฝรั่งเศสกลับเป็นผลดีทางการเมือง

ทั้งนี้หลัง รศ. 112 เป็นเวลา 3 ปี อังกฤษ เชิญ ฝรั่งเศส ทำสัญญา ตกลงให้สยามเป็นรัฐกันชน แต่ทั้ง 2 ประเทศ แข่งกันเข้ายูนาน ของจีน ท้ายที่สุด ฝรั่งเศส สามารถสร้างทางรถไฟ ต่อสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ เข้าไปจากเวียดนาม

สำหรับ ชื่อ เหตุการณ์ "รศ.112" เป็นชื่อที่มาจากการนับปีที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งเกิดในสมัยที่สยามนับปีศักราชของกรุงเทพฯ เรียกว่า "รัตนโกสินทร์ศก" โดย รศ.1 คือปี พ.ศ.2325 เป็นปีแรกที่ กรุงเทพฯ ตั้งขึ้น ใช้ รศ.

จนกระทั่ง "รศ.112" ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 5 ปีนั้น ตรงกับ พ.ศ. 2436 โดยสมัย รัชกาลที่ 5 ใช้ รศ.มากกว่า พ.ศ. แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 รัตนโกสินทร์ศกจะค่อยๆ หายไป ทุกคนกลับมาใช้ พ.ศ.ใหม่ นี่เป็นทัศนนิยมของยุคสมัย นอกจากมี รศ.และ พ.ศ.แล้ว ยังมีจุลศักราช ซึ่งแทบจะคิดคำนวณลำบากต้องเปรียบเทียบชาร์ตกัน

เหตุการณ์ปี รศ.112 เป็นแค่ชื่อปีของเรา โดยในช่วงนั้นมีผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ชาวตะวันตก มาหาวัตถุดิบในแถบเอเชีย โดยสมัยนั้น จีน เป็น "พี่ใหญ่" ในเอเชีย ประเทศต่างๆ ต้องสวามิภักดิ์ ไม่ใช่เมืองขึ้นแต่เป็นรัฐบรรณาการ ไทยก็ต้องส่งเครื่องบรรณาการ หรือจิ้มก้อง ไปยังจีน โดยสิ้นสุดในสมัยรัชกาลที่4 เพราะเกิดสงครามฝิ่นในจีน อังกฤษรบชนะจีน

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า เขามีความเห็นส่วนตัว เชื่อว่า เหตุการณ์ "รศ.112" เป็น นโยบาย 5 ขั้นที่บูรพาทิศ ของฝรั่งเศส ต้องการเข้าเมืองจีน ขณะที่หลายฝ่ายมุ่งไปที่ปักกิ่งเพราะราชสำนัก วังต้องห้าม อยู่ที่ปักกิ่ง

แต่ขุมทรัพย์จริงๆ ของจีน อยู่ที่ยูนาน ฝรั่งเศสจึงคิดจะเข้าจีนโดยทางเรือทวนน้ำ แต่นักสำรวจรายงานกลับไปยังฝรั่งเศสว่าไม่เหมาะ จึงหาวิธีใหม่ เนื่องจากถ้ายึดได้ จะทำให้ฝรั่งเศสมีศักยภาพดีที่สุดในโลก โดยฝรั่งเศส จะล้ำหน้าอังกฤษทันที เพราะ ยูนานมีเหมืองแร่

การที่ฝรั่งเศส ส่งเรือรบ มายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เกิด วิกฤติ รศ. 112 ไม่ใช่เพื่อยึดครองประเทศไทย แต่เพื่อทำลายฐานอำนาจเดิมของเอเชีย หลังจากพม่าถูกอังกฤษทำลายฐานอำนาจ ญวณถูกฝรั่งเศสทำลายฐานอำนาจ เหลือ สยาม

ฉะนั้น การพาทัวร์ศิลปวัฒนธรรมครั้งนี้ จะยืนยันมูลเหตุ จากหนังสือพิมพ์ของคนไทย ถึงมูลเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่เคยทราบว่าคนสมัยรัชกาลที่ 5 คิดอย่างไร และน่าสนใจความแตกต่างระหว่าง สงครามจีน-ฝรั่งเศส ซึ่งเกิดในปี ค.ศ.1884-1885

มีความคล้ายคลึง รศ.112 ซึ่งเกิดในปี 1893 แต่ รศ.112 ที่ป้อมพระจุลฯ ทหารไทยตาย 8 คน ทหารฝรั่งเศสตาย 3 คนขณะที่ สงครามจีน-ฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสตาย 1,200 คน ทหารจีนตาย 10,000 คน เป็นสงครามที่ใหญ่มาก

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสยาม คือนโยบายเรือปืนของจักรวรรดินิยมไม่ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ใช้นโยบายนี้ ทำลายฐานอำนาจเดิมของสยาม เป็นต้นเหตุ วิกฤต รศ.112 ขณะที่เดิมทีเราพุ่งประเด็นไปว่ายุโรป ต้องการมายึดเมืองไทย แต่ถ้าดูจากเอกสารหลักฐานหลายมุมมองแล้ว อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น" นักวิชาการผู้นี้กล่าว

สำหรับ การบรรยายเรื่องราวครั้งนี้ จะมีการอ้างอิงข้อมูลจาก "ธรรมศาสตร์วินิจฉัย" หนังสือพิมพ์ซึ่งทำหน้าที่กระบอกเสียงของรัฐบาลสยามในยุคนั้น จัดว่าเป็นเอกสารหายากในปัจจุบัน ที่จะถูกนำมาเป็น "กุญแจ" ไขปริศนาบางประการในอดีต... น่าติดตามชมทั้งเอกสารเก่าอันบอกเล่าเรื่องราว สถานที่จริงรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ จากการบรรยายของ "ไกรฤกษ์ นานา" ผู้ขลุกอยู่กับเรื่องราวดังกล่าวมากว่า 30 ปี


ขอบคุณ มติชนออนไลน์


สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ



Create Date : 06 มิถุนายน 2555
Last Update : 7 มิถุนายน 2555 13:54:52 น.
Counter : 3513 Pageviews.

0 comments
วิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.6) เรื่องคำสุภาพ นายแว่นขยันเที่ยว
(25 มิ.ย. 2568 00:05:44 น.)
"หลวงพ่อโต" วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มิ.ย. 2568 02:46:10 น.)
ทายอักษร I 猜字谜 I toor36
(18 มิ.ย. 2568 00:11:41 น.)
18 มิย 68 mcayenne94
(18 มิ.ย. 2568 17:08:30 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด