กรุงศรีปฏิวัติ : ๑๐๐ ปีแห่งความเงียบ ไร้ "ปฏิวัติ" ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ (2) โดย ปรามินทร์ เครือทอง ![]() กรุงศรีปฏิวัติ : ๑๐๐ ปีแห่งความเงียบ ไร้ "ปฏิวัติ" ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ (2) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ อุปราช เมือง อยุธยา ความเงียบ ทางการเมืองในกรุงศรีอยุธยา ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ เนื่องด้วยทรงปกครองกรุงศรีอยุธยา แทน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา ในฐานะอุปราช นานถึง ๒๕ ปี ก่อนจะได้ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา อย่างเป็นทางการ เพียง ๓ ปี ก็เสด็จสวรรคต ระหว่างที่ทรงครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ศูนย์กลางอำนาจที่แท้จริงย่อมอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ดังนั้นหากจะมีคนคิด เคลื่อนไหว ใดๆ ก็ย่อมก่อการที่เมืองพิษณุโลกมากกว่ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะ อุปราช แม้ศูนย์กลางอำนาจจะอยู่ไกลถึงเมืองพิษณุโลก แต่ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พระองค์จะ เคลื่อนไหว เพื่อยึดกรุงศรีอยุธยา เพราะอย่างไรเสียราชสมบัติย่อมเวียนมาถึงพระองค์อย่างแน่นอน ในฐานะพระราชโอรส และ อุปราช นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังทรงรับเอา พระราชโอรส ของพระองค์ ไปเลี้ยงไว้ที่เมืองพิษณุโลกด้วย ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงเจ้านายที่ทรงผนวช ๒ พระองค์ องค์หนึ่งคือ พระเชษฐาธิราช พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อีกองค์หนึ่งคือ พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ทรงพระผนวชทั้ง ๒ พระองค์ การรับพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ซึ่งก็เป็น หลานปู่ ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มาอยู่ด้วยนั้น ย่อมเป็นเครื่องกีดกันที่ดีทางหนึ่งหากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงมีความคิดที่จะ เคลื่อนไหว ใดๆ ในกรุงศรีอยุธยา หลังจากครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการได้ ๓ ปี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ก็เสด็จสวรรคตในปี ๒๐๓๔ โดยไม่ทรงคิดทำรัฐประหาร และไม่ถูกทำรัฐประหาร ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กับ แรงกระเพื่อม ของขุนนาง ระหว่างที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงเป็นอุปราชอยู่กรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือสมเด็จพระเชษฐาธิราชขณะนั้น ก็ทรงเป็นอุปราชอยู่เมืองพิษณุโลกเช่นกัน ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ อุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระราชบิดา ส่วนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยังคงเป็นอุปราชเมืองพิษณุโลกอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ เสด็จสวรรคตลง ราชสมบัติจึงตกมาถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เมื่อพระชนมายุ ๑๙ พรรษา การเมืองในรัชสมัยนี้ยังคงสงบเรียบร้อย ไม่มีความเคลื่อนไหวใดที่เป็นชนวนไปสู่การรัฐประหาร กิจการสำคัญคือการสร้างพระวัดพระศรีสรรเพชญ์ การทำตำราพิชัยสงคราม และการกำหนดสารบัญชีเกณฑ์ทหาร เป็นต้น นอกจากนั้นก็เป็น ศึกนอก กับล้านนาอีกครั้ง เพราะเหตุว่าทรงทิ้งเมืองพิษณุโลกลงมาปกครองกรุงศรีอยุธยา ทำให้หัวเมืองเหนือไม่มั่นคงดังก่อน จนถูกฝ่ายล้านนารบกวน เช่น สุโขทัย เชลียง กำแพงเพชร ศึกสำคัญคือในปีจุลศักราช ๘๗๗ (พ.ศ. ๒๐๕๘) ล้านนา ยกลงมาถึงเมืองกำแพงเพชร ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยกขึ้นไปรับศึกจนยึดเมืองลำปางได้ในคราวเดียวกัน เหตุที่ทรงทิ้งเมืองพิษณุโลกไว้ โดยไม่ทรงตั้งอุปราชขึ้นไปปกครอง ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เป็น แรงกระเพื่อม ของขุนนางกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพระราชพงศาวดารไม่ได้บอกชัดเจนว่ามูลเหตุคืออะไร แต่น่าจะเป็นเหตุร้ายแรงอยู่ อาจถึงขั้นก่อการกบฏ เพราะพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีการ กำจัด ขุนนางไปเป็นจำนวนมาก อนึ่งในเดือน (นั้นมีผู้ทอดบัตร สนเท่ห์ ครั้งนั้นให้) ฆ่าขุนนางเสียมาก เรื่องราวอาจจะเป็นเพราะ หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรง ทิ้ง เมืองพิษณุโลกไว้ โดยไม่ได้จัดการให้เรียบร้อยก่อนจะมารับราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเมืองพิษณุโลกนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญเกือบจะเทียบเท่ากรุงศรีอยุธยา บรรดาขุนนางอำมาตย์จึงน่าจะเติบโตและมีอำนาจขึ้นตามความสำคัญของเมือง ครั้นเมื่อพระมหากษัตริย์ย้ายลงมากรุงศรีอยุธยา ทำให้การเมืองในเมืองพิษณุโลกเกิดสุญญากาศขึ้นชั่วขณะ ขุนนางอำมาตย์ที่ ตกค้าง อยู่เมืองพิษณุโลก อาจจะมีการแบ่งขั้วแย่งอำนาจกัน จึงมีการทอดบัตรสนเท่ห์ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง ดังนั้นในเวลา ๒ ปีต่อมาหลังจากเกิด แรงกระเพื่อม ขึ้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงส่ง พระอาทิตยวงศ์ ขึ้นไปปกครองในฐานะ อุปราช ในพระนาม สมเด็จหน่อพุทธางกูร เรื่องราวจึงสงบลง จากนั้น ก็ไม่มีเหตุการณ์ พิเศษ ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยในปี ๒๐๗๒ หลังจากอยู่ในราชสมบัตินานถึง ๓๘ ปี (พ.ศ. ๒๐๓๔-๗๒) สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ผู้จุดชนวนรัฐประหารในรอบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระนามเดิมคือ พระอาทิตยวงศ์ เป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มีพระราชประวัติที่ค่อนข้างสับสน มีการตีความกันเป็น ๒ แนวทาง ทางหนึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้ง วัน วลิต กล่าวตรงกันว่า เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ อันเกิดจากพระมเหสีจึงทรงเป็น หน่อพระพุทธเจ้า ตามกฎมนเทียรบาล สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรพระองค์นี้ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดแต่พระมเหสี บางทีพระอัครมเหสีพระองค์นั้น จะเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วง จึงตั้งพระนามว่า พระอาทิตยวงศ์ หมายความว่าเป็นวงศ์ของสมเด็จพระร่วงศรีอินทราทิตย์ อีกทางหนึ่ง พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร น่าจะเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ก็เป็นได้ ที่กล่าวว่าพระเยาวกุมารโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ผู้อยู่คู่กันมากับพระเชษฐาโอรส ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในราชสำนักเมืองพิษณุโลกนั้น เป็นพระองค์เดียวกับพระอาทิตยวงศ์ มีหลักฐานอยู่ในเอกสารของล้านนาที่กล่าวถึงเหตุการณ์ ตอนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยกทัพไปตีเมืองลำปางได้ในปีหนึ่งนั้น ในพงศาวดารของล้านนาได้กล่าวถึงว่า ในกองทัพของกรุงศรีอยุธยามี พระเอก กับ พระอาทิตย์ เป็นแม่ทัพ พระเอกก็คือนามเรียกเดิมของพระเชษฐาหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผู้เป็นพระยาเอกสัตราชพระมหาอุปราช พระอาทิตย์ก็คือพระอาทิตยวงศ์นั่นเอง นั่นหมายความว่า พระราชโอรส ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ องค์ ปริศนา ในพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ผนวชพร้อมกับ พระเชษฐาธิราช ตามข้อความที่ว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า แลพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ทรงพระผนวชทั้ง ๒ พระองค์ ก็คือ พระอาทิตยวงศ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรนั่นเอง เหตุที่ต้องสืบหาพระราชประวัติและความสัมพันธ์อย่างระมัดระวังนี้ ก็เพราะปัญหา ใครลูกใคร ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มักจะเป็น ชนวน ในการ รัฐประหาร อยู่เสมอๆ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร หรือพระอาทิตยวงศ์ เป็นลูกใคร ระหว่าง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงต้องย้อนกลับไปดู เนื้อความ ในพระราชพงศาวดารอย่างละเอียดอีกครั้ง พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับที่มีเนื้อความใกล้เคียงกัน เช่น ฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นต้น กล่าวถึงในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ว่าทรงตั้ง พระเจ้าลูกเธอ พระอาทิตยวงศ์ ไปเป็นอุปราชเมืองพิษณุโลก ในปี ๒๐๔๙ ครั้งนั้นประดิษฐานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระอาทิตยวงศ์ ไว้ในที่อุปราช ให้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ไม่ได้อ้างถึง ความสัมพันธ์ ใดๆ ไว้ ครั้งนั้นประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช แลให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สิ่งที่น่าสนใจคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ มักจะจดคำ พระราชกุมาร กำกับไว้เสมอ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแผ่นดิน จาก พ่อ สู่ ลูก หากการเปลี่ยนแผ่นดินเป็นแบบ พี่ สู่ น้อง หรืออื่นๆ ก็จะไม่มีคำกำกับความสัมพันธ์ไว้ เช่น สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง - สมเด็จพระราเมศวร (พ่อ-ลูก) ครั้นนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ (น. ๑) สมเด็จพระราเมศวร - สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) (หลาน-ลุง) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบูรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา (น. ๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) - เจ้าทองลัน (พ่อ-ลูก) สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน แลจึงเจ้าทองลันพระราชกุมารท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา (น. ๒) เจ้าทองลัน - สมเด็จพระราเมศวร (ลูกพี่ลูกน้อง) จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบูรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา (น. ๓) สมเด็จพระราเมศวร - สมเด็จพระรามราชาธิราช (พ่อ-ลูก) สมเด็จพระราเมศวรเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านเจ้าพระญาราม เสวยราชสมบัติ (น. ๓) สมเด็จพระรามราชาธิราช - สมเด็จพระนครอินทราธิราช (เครือญาติ) จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าขึ้นเสวยราชสมบัติ (น. ๓) สมเด็จพระนครอินทราธิราช - สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) (พ่อ-ลูก) จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระญา ได้เสวยราชสมบัติพระนครอยุ (ทธยา) (น. ๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) - สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ่อ-ลูก) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า (น. ๔) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ - สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พ่อ-ลูก) (ไม่มีบันทึกเรื่องการครองแผ่นดินใหม่คราวเปลี่ยนแผ่นดิน) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ - สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พี่-น้อง) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี (น. ๗) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ - สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร (?) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระอาทิตยเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร (น. ๙) จะเห็นได้ว่า แบบแผน ในการจดพระราชพงศาวดารในเรื่อง พระราชกุมาร เป็นไปอย่างเคร่งครัด แต่ถึงคราวเปลี่ยนแผ่นดินจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มาสู่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร กลับไม่ได้จดกำกับเรื่อง พระราชกุมาร ไว้เช่นในคราวอื่นๆ ข้อสังเกตนี้สนับสนุนแนวคิดของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ที่ว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร น่าจะเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอไว้ อย่างไรก็ดี การที่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้น ยังถือว่าเป็น ธรรมเนียม ปกติ คือทรงเป็น อุปราช เมืองพิษณุโลก แล้วลงมาครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยา แต่ถึงกระนั้น ทั้งเรื่องการลำดับราชวงศ์ และเรื่องอุปราชเมืองพิษณุโลก ก็มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ จุดชนวน การรัฐประหารขึ้น เช่นในกรณี ศึกเจ้าพี่เจ้าน้อง ในสมัยเจ้าสามพระยา หรือประมาณ ๑๐๐ ปี ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ครองราชสมบัติอยู่เพียง ๕ ปี ก็เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคไข้ทรพิษ และส่งราชสมบัติต่อให้กับพระราชโอรสที่มีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา ขอบคุณ มติชนออนไลน์ คุณปรามินทร์ เครือทอง สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ เพิ่งจะได้เข้ามาอ่านครับ.
โดย: เจียวต้าย
![]() |
บทความทั้งหมด
|