ประกาศพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์


ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก

ประกาศเล่าด้วยธรรมเนียมลงสรงโสกันต์ที่เป็นพิธีสำหรับราชตระกูลในแผ่นดินสยามสืบมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า ทั้งชายทั้งหญิงคือท่านที่มีพระบิดาพระมารดาเป็นราชตระกูลทั้งสองฝ่าย

แต่จะว่าให้ละเอียด ถ้าการเป็นตั้งวงศ์ใหม่ พระเจ้าพี่ยา พระเจ้าน้องยา พระเจ้าพี่นาง พระเจ้าน้องนาง ที่ร่วมพระชนกชนนีกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ก็เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอทั้งสิ้น แต่ที่ต่างมารดาต่อโปรดให้เป็นจึงได้เป็น

พระเจ้าลูกเธอที่ประสูติแต่พระอัครมเหษี พระราชชายา ที่ติดมาแต่เดิมก็ดีตั้งใหม่ก็ดี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้งชายทั้งหญิง พระเจ้าลูกเธอที่เจ้าจอมเป็นมารดาเป็นแต่พระสนมไม่เป็นเจ้าฟ้า ก็เป็นแต่พระองค์เจ้า

ถ้าเจ้าจอมเป็นเชื้อพระวงศ์ห่างๆก็ดี เป็นบุตรเจ้าแผ่นดินเมืองน้อยรอบคอบก็ดี หรือเป็นบุตรเสนาบดีมีความชอบก็ดี ถ้าโปรดให้เป็นเจ้าฟ้าก็เป็นได้ พระเจ้าหลานเธอนั้น คือพระโอรสพระธิดาในพระบวรราชวัง ถ้ามารดาโปรดให้เป็นเจ้าบุตรีก็เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าหญิง สมเด็จพระลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง เมื่อได้พระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ก็ดี เป็นกรมพระราชวังก็ดี เป็นเจ้าต่างกรม ไม่มีกรม เจ้าฟ้า พระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามีบุตรบุตรีบังเกิดก็เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาต่ำเสมอพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าหลานเธอ ดังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ มีศักดินาเสมอเพียงพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าลูกเธอ

เมื่อแผ่นดินสืบๆมา พระราชโอรส พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ แลกรมพระราชวังที่ประสูติแต่พระมารดาเป็นเจ้าฟ้าก็ดี เป็นพระองค์เจ้าก็ดี คงเป็นเจ้าฟ้า ถ้ามารดาเป็นแต่หม่อมเจ้าแลราชนิกูลแลธิดาเมืองน้อยรอบคอบ ก็คงเป็นแต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า ต่อพระเจ้าแผ่นดินใหญ่โปรดให้เป็นเจ้าฟ้าจึงเป็นได้

ในกรมพระราชวังหลัง บุตรบุตรีประสูติแต่อัครชายามียศเป็นเจ้าก็เป็นได้เพียงพระองค์เจ้า ต่อมารดาเป็นเจ้าฟ้าจึงเป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา บุตรบุตรีกรมพระราชวังหลังที่เกิดแต่พระสนมก็คงเป็นหม่อมเจ้า เหมือนกับบุตรบุตรีของพระองค์เจ้าชายทั้งปวงที่ตั้งกรมแล้วแลยังไม่มีกรม หม่อมเจ้าทั้งปวงที่ได้ราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน โปรดเลื่อนให้เป็นพระองค์เจ้าโดยความชอบก็เป็นได้ การกำหนดที่ว่ามานี้ตามแบบแผนซึ่งมีสืบมาแต่โบราณหลายชั่วแผ่นดินแต่ครั้งกรุงเก่า

เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี แรกตั้งแผ่นดินบางกอกก่อนพระวงศ์นี้ มีพระเจ้าลูกเธอชายเป็นเจ้าฟ้าสามพระองค์ พระองค์หนึ่งเกิดแต่พระอัครชายาเดิม อีกพระองค์หนึ่งเกิดแต่มารดาที่เป็นพระญาติพระวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินในเวลานั้น อีกพระองค์หนึ่งเกิดมาแต่มารดาที่เป็นบุตรีของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

เมื่อตั้งวงศ์ขึ้นใหม่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสองพระองค์ก็เป็นเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่มีพระบุตร ๓ บุตรี ๑ แต่พระบิดาสิ้นชีพเสียนานแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยมีพระบุตร ๓ บุตรี ๒ พระบิดาก็สิ้นชีพเสียนานแล้วเหมือนกัน ก็ทั้ง ๙ พระองค์นั้น พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทั้งสิ้น ภายหลังมาพระบุตรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่นั้น โปรดให้เป็นกรมพระราชวังหลังเป็นลำดับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ที่โปรดให้เป็นกรมพระราชวังบวรในแผ่นดินนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินนั้น มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระราชธิดาสองพระองค์แต่พระอัครชายาเดิม โปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ แต่กรมพระราชวังมีพระธิดาประสูติแต่มารดาเป็นเชื้อเจ้า เมืองเชียงใหม่ โปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าด้วย

รวมเจ้าฟ้าในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ ถ้านับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่เป็นกรมพระราชวังด้วยก็เป็นสาม เป็นชั้นศักดิ์สูงอย่างเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ๔ พระองค์เป็นอย่างโท สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า นับกรมพระราชวังด้วยเป็น ๑๑ พระองค์เป็นอย่างตรี รวมเจ้าฟ้าทั้ง ๒ อย่างเป็น ๑๘ พระองค์ คือนับเจ้าฟ้าหลานเธอที่เป็นราชบุตรกรุงธนบุรีด้วยนั้น

อนึ่งเจ้าฟ้าหญิงแก่อีกพระองค์หนึ่งเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระวงศ์เก่ากรุงศรีอยุธยา ยังคงยศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าอยู่ด้วยจึงรวมเป็น ๑๙ พระองค์ด้วยกัน

ก็ในเจ้าฟ้าเหล่านี้ เมื่อแรกตั้งแผ่นดินยังไม่ได้โสกันต์ ๗ พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ ยกแต่พระองค์ใหญ่ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ๒ พระองค์ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าในกรมพระราชวังพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอที่เป็นราชบุตรกรุงธนบุรีพระองค์ ๑ จึงรวมเป็น ๗ พระองค์

เมื่อถึงปีมีกำหนดควรจะโสกันต์ ก็มีราชการทัพศึกกับพม่าวุ่นวายอยู่เพราะเป็นต้นแผ่นดิน ไม่มีช่องมีเวลาที่จะได้ทำพระราชพิธีให้เต็มตำรา คือสองพระองค์ถึงกำหนดโสกันต์ในปีแรกตั้งแผ่นดินใหม่ คือ ปีขาลจัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๗๘๒

อีก ๒ พระองค์ ถึงกำหนดในปีมะเส็งสัปตศก ศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๗๘๕ อีก ๒ พระองค์ ถึงกำหนดโสกันต์ในปีระกาเอกศก ศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๗๘๙ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าที่เป็นราชบุตรเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ถึงกำหนดโสกันต์ในปีกุนตรีศก ศักราช ๑๑๕๓ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๗๙๑

ใน ๑๐ ปีนี้ พม่ายกมารบแทบทุกปี มีราชการทัพศึกมากไม่มีช่องที่จะได้คิดทำการลงสรงโสกันต์เลย เป็นแต่ทำโดยสังเขปพอเป็นแล้วไป

แต่เจ้าฟ้าพินทวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เอง แลเห็นการงานต่างๆเมื่อเวลาลงสรงโสกันต์เจ้าพี่เจ้าน้องของท่าน ๆ ทราบการทุกอย่างเป็นผู้แนะอย่างธรรมเนียมโบราณอื่นๆ ต่างๆ หลายอย่างหลายประการในกรุงเทพฯ นี้

เมื่อท่านเห็นว่าเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ที่โสกันต์ ไม่ได้ทำเต็มตำราพระราชพิธีแต่สักพระองค์หนึ่งจนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่าการอย่างธรรมเนียมพระราชพิธีลงสรงโสกันต์เจ้าจะสาบสูญไปเสียแล้ว ท่านก็ทรงชรา เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้น ใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้องตามแบบแผนได้เล่า

ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงานลงสรงโสกันต์ต่างๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างในเรียนเรียนดูรู้ไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบสูญไป

ความที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงพระวิตกนั้น กรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงสร้างเขาไกรลาสมีมณฑปบนยอดแลมีสระอโนดาต แลท่อไขน้ำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ตามอย่างเจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ

ครั้นการเขาไกรลาสเสร็จแล้ว ก็กราบทูลขอแด่พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำการโสกันต์พระราชบุตรแลพระราชบุตรีของท่านที่เป็นแต่พระองค์เจ้าสมมต ให้เป็นดังเจ้าฟ้า ทำการทั้งนี้แม้นผิดอย่างธรรมเนียม ก็เพื่อว่าจะให้เห็นเป็นอย่าง ทันเวลาเมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ จะให้ผู้ได้รู้ได้เห็นไว้เป็นอันมากมิให้การสาบสูญไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้การเป็นไปตามพระทัยกรมพระราชวัง แต่ส่วนพระองค์ไม่ชอบพระราชหฤทัยจะทำให้ผิดอย่างธรรมเนียมไป กรมพระราชวังเมื่อได้ช่องโปรดอำนวยให้ทำก็ได้ทำการโสกันต์ในพระบวรราชวัง ๓ ครั้ง คือ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๗๙๕ ครั้งหนึ่ง คือปีมะเมียสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๗๙๘ ครั้งหนึ่ง คือปีระกาตรีศก ศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๐๑ ครั้งหนึ่ง

แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ได้เสด็จอยู่กับพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าหญิง ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ประสูติพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระองค์ที่ ๑ ประสูติในปีระกาตรีศก ศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีคริสตศักราช ๑๘๐๑ ได้เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่สิ้นพระชนม์เสียในปีนั้น

พระองค์ที่ ๒ ประสูติในปีชวดฉศก ศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๐๔ พระองค์ที่ ๓ ประสูติในปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๐๘ สองพระองค์นี้เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา

แลเมื่อกรมพระราชวังบวรในแผ่นดินนั้นสวรรคตในปีกุนเบญจศก ศักราช ๑๑๖๕ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๐๓ แล้วล่วงมาถึงปีเถาะนพศก ศักราช ๑๑๖๙ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่เลื่อนที่เป็นกรมพระราชวังบวร เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพระราชโอรสท่าน ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งประสูติก่อนเลื่อนที่ พระองค์หนึ่งประสูติเมื่อเลื่อนที่แล้วนั้น เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า

ก็พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง มารดาเป็นบุตรีเจ้าเมืองเวียงจันทน์โปรดให้เป็นแต่เพียงพระองค์เจ้า เหมือนกันกับพระราชบุตรแลพระราชบุตรพระองค์อื่นที่ประสูติแต่พระสนม เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้านั้นสิ้นชีพในปีกุนเบญจศก เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคตแล้วนั้น พระองค์เจ้านั้นมีพระชนมายุได้ ๕ ขวบ เป็นกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา ทรงพระกรุณามาก

ภายหลังล่วงมาปีหนึ่งพระองค์เจ้านั้นตามเสด็จลงไปลอยกระทง วิ่งเล่นตกน้ำหายไป คนทั้งปวงตกใจเที่ยวหาอยู่ครู่หนึ่ง จึงพบพระองค์เจ้าไปเกาะทุ่นหยวกอยู่หาจมน้ำไม่ ผู้พบเชิญเสด็จกลับมาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดมากขึ้น

มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า พระองค์เจ้านี้เจ้าจอมมารดาก็เป็นฝ่ายลาว อัยยิกาธิบดีคือท้าวเจ้าเวียงจันทน์ก็ยังอยู่ ควรจะให้เลื่อนที่เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า การพิธีโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังแต่ตั้งแผ่นดินมาก็ยังหาได้ทำไม่ ถ้าถึงคราวโสกันต์จะได้ทำให้เป็นแบบอย่างในแผ่นดิน

จึงโปรดพระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เจ้าฟ้านั้นเมื่อถึงปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๐๘ พระชนมายุครบ ๑๑ ปีถึงกำหนดโสกันต์ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพินทวดีที่เป็นผู้ชี้การมาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง ๗ ปี

ถึงกระนั้นแบบแผนตัวอย่างการต่างๆ ที่เจ้าฟ้าพินทวดีได้ทรงจัดไว้มีผู้เรียนรู้เห็นอยู่เป็นอันมาก แลได้ดูอย่างการที่ทำแต่ก่อนในพระบวรราชวังสามครั้งนั้นด้วย จึงได้จัดการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่เต็มตามตำรา

คือตั้งพระราชพิธีพระมหาปราสาทคล้ายกับพระราชพิธีตรุษ แลมีเขาไกรลาส ราชวัตร ฉัตรทอง ฉัตรเงิน แลฉัตรรายทาง นั่งกลาบาศ แลการละเล่นต่างๆ อย่างสูง แลแห่มยุรฉัตร นางเชิญเครื่อง นางสระแห่เครื่องขาว

เสด็จมาทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์สามวัน แล้วแห่มาเวลาเช้าโสกันต์ในวันที่ ๔ แล้วเสด็จขึ้นเขาไกรลาส ครอบเครื่องต้นแล้วแห่เวียนเขาไกรลาส ๓ รอบ แล้วแห่กลับในเวลาเช้า ครั้นเวลาบ่ายแห่เครื่องแดงมาสมโภชวันนั้นแล้วต่อไปอีก ๒ วัน วันที่ ๗ จึงแห่พระเกศาไปลอย การเป็นเสร็จโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในเดือน ๔ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีคริสตศักราช ๑๘๐๙

ครั้นล่วงมาอีก ๖ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรได้เสด็จเถลิงถวัลย ราชสมบัติเป็นแผ่นดินที่ ๒ เจ้าฟ้าพระราชโอรส ๒ พระองค์นั้นก็เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ทรงปรึกษาด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ว่าการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าได้ทำลงเป็นอย่างทีแบบแผนเป็นจดหมายเหตุอยู่แล้ว แต่การพระราชพิธีลงสรงตั้งพระนามเจ้าฟ้า โดยอย่างเต็มตามตำราครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า ยังหาได้ทำเป็นแบบอย่างไม่

ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเห็นก็ชรา เกือบจะหมดไปแล้วจะสาบสูญเสีย จะใคร่ทำไว้เป็นเกียรติยศเยี่ยงอย่างสักครั้งหนึ่ง ข้าราชการเห็นพร้อมตามกระแสพระราชดำริ

ครั้นถึงปีระกาเบญจศก ศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๑๓ จึงได้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ ผูกแพไม่ไผ่ที่ท่าราชวรดิษฐ มีกรงที่สรงอยู่กลางล้อมด้วยซี่กรงชั้นหนึ่ง ตารางไม่ไผ่อีกชั้นหนึ่ง ร่างแหอีกชั้นหนึ่ง ผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง

มีบันไดเงินบันไดทองลง ๒ ข้าง บันไดกลางเป็นเตียงหลั่นหุ้มผ้าขาว เรียกว่าบันไดแก้ว ในกรงมีมะพร้าวคู่ปิดเงินปิดทอง แลปลาทองปลาเงิน กุ้งทองกุ้งเงิน ลอยอยู่ทั้งสี่ทิศ กรงนั้นมีมณฑลสวมมีราชวัตรฉัตรทอง ฉัตรนาค ฉัตรเงิน ล้อมสามชั้น

มีทหารนั่งรายรอบแลมีเรือจุกช่องล้อมวง แพที่ลงสรงแทนเขาไกรลาสในการโสกันต์ การพิธีนอก นั้นคือ การขึ้นพระบาท แลการแห่ ทางแห่ การละเล่นต่างๆ ก็เหมือนกับการโสกันต์ แห่เครื่องขาวเสด็จไปทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ขึ้นมหาปราสาทสามวัน

วันที่ ๔ จึงแห่เสด็จลงไปท่าราชวรดิษฐ์ สรงในแพที่สรงแล้วแห่กลับ แล้วจึงเสด็จมารับพรสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์ พงศอิศวรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร

ครั้งเวลาบ่ายแห่เครื่องแดงทรงเครื่องต้น มาสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้งนั้นเรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในวันนั้นแลต่อไปอีกสองวันเป็นสามเวลา เสร็จพระราชพิธีลงสรง

ครั้นเสร็จการแล้วมีพระราชโองการดำรัสว่า การลงสรงเช่นนี้ทำแต่ครั้งเดียวนี้เถิด พอเป็นตัวอย่างไว้ไม่ให้สูญพิธีโบราณ เพราะการโสกันต์เป็นอันจำจะต้องทำสำหรับยศเจ้าฟ้าทุกๆ พระองค์ การลงสรงทำเป็นสองซ้ำก็หาต้องการไม่ ไพร่ๆ

ที่เขาลงท่าลูกเขานั้น เพราะเข้าร้อนรนจะเร่งเอาของขวัญ เก็บเอาเงินคนอื่นมาใช้เขาจึงรีบด่วนทำการลงท่าก่อนเวลาโกนจุก เพราะเข้าเห็นว่าการโกนจุกนั้นยังช้าอยู่

ก็ในหลวงไม่ได้ร้อนรนอะไรไม่ควรจะทำให้เป็นสองซ้ำสามซ้ำ ทำแต่โสกันต์เถิด ด้วยเป็นต้องจำใจทำตามธรรมเนียม ครั้นมาเดือน ๔ ปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ เป็นเดือนมาร์ชในปีมีคริสตศักราช ๑๘๑๗ ได้มีพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎนั้นเป็นการใหญ่เหมือนกันกับครั้งโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

ครั้นมาเดือน ๔ ปีมะโรงอัฐศก ศักราช ๑๑๘๒ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคริสตศักราช ๑๘๒๑ ได้มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศวเรศจุฑามณีอีกครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาสแลการอื่นๆ เหมือนกันกับการสองครั้งก่อน

เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น ได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชโอรส ๓ พระธิดา ๑ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ พระองค์ใหญ่ประสูติในปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๑๖ พระนามว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์

พระองค์ที่ ๒ ประสูติในปีเถาะเอกศก ศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๑๙ พระนามว่าเจ้าฟ้ามหามาลา พระองค์ที่ ๓ เป็นเจ้าฟ้าหญิงประสูติเมื่อศักราช ๑๑๘๒ สิ้นพระชนม์เสียในวันประสูติ พระองค์ที่ ๔ ประสูติในปีมะเมียจัตวาศก ศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๑๘๒ พระนามเจ้าฟ้าปิ๋ว

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงพระราชดำริไว้จะทำการโสกันต์ให้เต็มตามตำราเหมือนกัน ก็แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตในปีวอกฉศก ศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๒๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ก็แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ข้างพระบวรราชวังมีการโสกันต์สองครั้ง คือโสกันต์พระองค์เจ้าอิศเรศร์ครั้งหนึ่ง ในเดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๑๓ อีกครั้งหนึ่งมีการโสกันต์พระองค์เจ้าน้อยนฤมล ในเดือน ๔ ปีจอฉศก ศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๑๕

ในครั้งหลังมีเขาไกรลาสด้วย แต่ย่อมกว่าในพระบรมมหาราชวัง การที่ทำนั้นก็คล้ายกับการโสกันต์เจ้าฟ้า เพราะทรงนับถือว่าพระองค์เจ้าทั้งสองนั้น ประสูติแต่พระมารดาเป็นธิดาเจ้ากรุงธน แต่เพราะมีเหตุจึงหาได้โปรดให้เป็นเจ้าฟ้าไม่ ว่าด้วยการโสกันต์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสิ้นเท่านี้

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อปีจออัฐศก ศักราช ๑๑๘๘ มาจนปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ คือเป็นปีมีคริสตศักราช ๑๘๒๖ , ๑๘๒๗ , ๑๘๒๘ นั้น เจ้าอนุเวียงจันทน์คิดขบถบ้านเมืองมีการทัพศึก ไม่เป็นปรกติ

พระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ค้างอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทถึง ๒ ปี ครั้นการพระบรมศพแล้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทชำรุด ต้องรื้อทำใหม่ในปีชวดสัมฤทธิศก พระชนมายุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ถึงกำหนดโสกันต์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า บ้านเมืองมีราชการทัพศึกอยู่หาสู้สบายไม่ พระมหาปราสาทก็ต้องรื้อทำใหม่ไม่มีที่ตั้งพระราชพิธีโสกันต์ ทำแต่สังเขปเอาเถิด

จึงตั้งพระราชพิธีโสกันต์ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ปราสาทใหม่ ไม่มีเขาไกรลาส แต่การแห่นั้นก็คล้ายกับกระบวนพยุหยาตรา โสกันต์ในวันที่ ๔ แล้วเวลาบ่ายแห่ทรงเครื่องต้น สมโภชเวลาเดียวเป็นเสร็จการโสกันต์สังเขป ครั้งนี้ลงเป็นอย่างแล้ว

ก็เมื่อโสกันต์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหามาลาก็ดี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าปิ๋วก็ดี ศักราช ๑๑๔๓ แลปีมะเมียฉศก ศักราช ๑๑๙๒ มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า เมื่อโสกันต์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ ทำเพียงเท่าไรก็ทำเพียงเท่านั้นเถิด ก็มีการแห่เหมือนกัน

แต่เปลี่ยนไปโสกันต์ แลสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท งาน ๔ วันเลิกเหมือนกัน ก็การ ๓ ครั้งนี้มีคนบ่นซุบซิบอยู่มาก ว่าการเป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีเจ้าของ

ในพระบวรราชวังแผ่นดินนั้นมีการโสกันต์ ๓ ครั้ง แห่เป็นพยุหยาตรา เจ้าที่โสกันต์ ๓ ครั้งก็เป็นแต่พระองค์เจ้ามิใช่เจ้าฟ้า กรมพระราชวังนั้นมีพระราชบุตรพระองค์ ๑ แต่พระอัครชายาทรงพระนามพระองค์เจ้าดาราวดี เป็นพระราชธิดากรมพระราชวัง แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระราชบุตรพระองค์นี้ตามศักดิ์ที่มีในกฎหมายอย่างธรรมเนียม ก็เป็นเจ้าฟ้า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหาได้โปรดให้เป็นไม่ เรียกพระนามแต่ว่าพระองค์เจ้าอิศราพงศ์ ๆ นั้นมีพระชนม์ถึงกำหนดโสกันต์กรมพระราชวังสวรรคตก่อน แต่พระองค์เจ้านั้นยังไม่ได้โสกันต์

เมื่อโสกันต์มาโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังด้วยพิธี ไม่มีแห่แหนเหมือนพระองค์เจ้าสามัญ ก็มีผู้คนกระซิบกันว่าเป็นอย่างนี้เพราะไม่มีเจ้าของเหมือนกัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับหม่อมเจ้าหญิงธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ที่พระบิดาสิ้นพระชนมายุได้ ๗ เดือนมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง โปรดปรานมากยิ่งกว่าพระบุตรพระราชธิดา พระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนที่ให้เป็นพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ทำท่วงทีเหมือนจะให้เป็นเจ้าฟ้า

ด้วยเมื่อเวลาเลื่อนหม่อมเจ้าให้เป็นพระองค์เจ้านั้น คล้ายกับเมื่อเลื่อนพระองค์เจ้าหญิงให้เป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น

ครั้นพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระเจริญชนมายุ ถึงกำหนดโสกันต์ในปีมะเมียอัฐศก ศักราช ๑๒๐๘ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๖ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ คล้ายกับโสกันต์เจ้าฟ้า เป็นแต่ไม่มีเขาไกรลาส ปลูกพระเบญจาที่สรงแลพลับพลาเปลื้องเครื่อง บนชลาพระมหาปราสาทแทน

การอื่นๆ ก็เหมือนกันกับเจ้าฟ้าแห่ถึง ๖ วัน เป็นแต่วันที่ ๗ ไม่มีแห่พระเกศา ก็โสกันต์ครั้งนี้อย่าว่าแต่พวกอื่นเลย ถึงพระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้าฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็บ่นว่า พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีมีบุญมากกว่าพระองค์เจ้าลูกเธอทั้งปวงอีก การโสกันต์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นเท่านี้

ครั้นล่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีกุนตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๑ จึงพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมใจกันเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติรับพระบรมราชาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง

แลเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศวเรศจุฑามณี ให้รับพระบวรราชาภิเษกในพระบวรราชวัง ตามอย่างยศพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์อย่างแต่ก่อน เพราะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ๒ พระองค์นี้ มีพระบารมีเล่าลือชาปรากฏเป็นที่นับถือของคนใกล้แลไกลเป็นอันมาก

ด้วยได้มีการลงสรงแลโสกันต์เป็นการใหญ่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึง ๓ ครั้ง ดังกล่าวมาแล้ว แล้วพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายในแลท่านเสนาบดีปรึกษาพร้อมกันว่า

พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีได้เป็นพระองค์เจ้ามียศใหญ่ ได้มีการโสกันต์อย่างเจ้าฟ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามแลเกียรติยศลือชาปรากฎสมควร จึงได้กราบทูลถวายตั้งเป็นสมเด็จพระนางเธอเป็นเจ้าเป็นใหญ่ข้างใน

สมเด็จพระนางเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระครรภ์ได้ ๗ เดือน ประชวรลง ประสูติราชโอรสในกำลังประชวร พระราชโอรสนั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชาย เรียกพระนามตามพระมารดาว่าเจ้าฟ้าโสมนัส มีพระชนม์อยู่เพียง ๓ นาฬิกาก็สิ้นพระชนม์เพราะพระกำลังอ่อนนัก

สมเด็จพระนางเธอนั้นก็ประชวรหนักลง พระอาการหาคลายไม่ สิ้นพระชนม์ภายหลังพระโอรส ๕๐ วัน คือในวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนออกตอเปอร์ ปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๒

ครั้นภายหลังมาพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลเสนาบดีพร้อมใจกันถวายพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ผู้พระธิดาของพระเจ้าลุง ของสมเด็จพระนางเธอซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วนั้น ให้เป็นสมเด็จพระนางเธอสืบฐานันดรนั้นต่อไป

สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ประสูติพระราชบุตรใหญ่พระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในกลางปีฉลูเบญจศก ศักราช ๑๒๑๕ ตรงกับเดือนเสปเตมเปอร์ คริสตศักราช ๑๘๕๓

แล้วประสูติพระราชธิดาอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ในปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับเดือนแอปริล ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๕

แล้วประสูติพระราชบุตรอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี ในปลายปีมะโรงอัฐศก ศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับเดือนยันนุวารี ปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๗ แลประสูติพระราชบุตรอีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าภานุรังษี ในปลายปีมะแมเอกศก ศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับเดือนยันนุวารี ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๐

สมเด็จพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์นั้น ประชวรพระโรคในพระทรวงมาปีเศษ สิ้นพระชนม์ในเดือน ๑๐ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนเสปเตมเบอรคริสตศักราช ๑๘๖๒ แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลก็สิ้นพระชนม์ลงในเดือน ๖ ปีกุนเบญจศก ๑๒๒๕ ตรงกับเดือนเม คริสตศักราช ๑๘๖๓ ยังคงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์

ก็ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ มีการโสกันต์ในพระบวรราชวังครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาส แลการแห่ การละเล่นใหญ่กว่าปรกติแต่ไม่เต็มตำรา การคล้ายกันกับเช่นเคยมีในพระบวรราชวังแต่ก่อนมา

ภายหลังแต่ครั้งนั้นมาในพระบวรราชวัง เมื่อโสกันต์พระองค์เจ้าคราวใดก็มีการแห่เครื่องสูงกลองชนะทุกครั้ง แต่ทำการนั้นในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ไม่ได้ทำการใหญ่ ไม่ได้ตั้งเขาไกรลาส แลมีการละเล่นนักดูประชุม

ถึงกระนั้นการก็เป็นอย่างลงในการโสกันต์พระองค์เจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ แต่ในฝ่ายพระบรมราชวัง พระเจ้าลูกเธอที่มีพระชนมายุเจริญจนถึงกำหนดจะโสกันต์ยังหามีไม่ จนถึงปีระกาตรีศก

ครั้นเมื่อปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๒ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ พระราชวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีกราบทูลพระกรุณา ว่า

การพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ เว้นว่างมานานหาได้ทำไม่ ถึง ๕๐ ปีเศษมาแล้ว ผู้ที่ได้เคยเห็นการในครั้งก่อนก็มีน้อยตัวแล้ว ถึงได้เห็นจะจำการก็ไม่ถนัด แต่ผู้ที่ไม่ได้เห็นนั้นมากกว่ามาก ขอพระราชทานให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ ในการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเป็นปฐม ในพระบรมมหาราชวัง

เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างต่อไปข้างหน้า ครั้นนั้นจึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ มีกระบวนแห่ แลมีนางเชิญมยุรฉัตร นางเชิญเครื่องนางสระ แลการละเล่นอื่นๆ แต่ไม่มีเขาไกรลาส

แลได้มีการพระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพยมหามกุฎ มหาบุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรพงศ์บริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร แทนพระราชพิธีลงสรงแต่ไม่มีพระมณฑปขึ้นแพในที่สรง

การพระราชพิธีทั้งสองนี้ได้มีในเดือน ๔ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๓ เมื่อการพระราชพิธีโสกันต์ได้มีลงเป็นอย่างดังนี้แล้ว ครั้นมาเมื่อปีจอจัตวาศก พระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์

คือพระองค์เจ้าหญิงทักษิณชาพระองค์เจ้าโสมาวดี พระองค์เจ้าหญิงประภัศร มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควจจะโสกันต์ จึงได้โปรดให้มีการแห่โสกันต์เป็นการใหญ่อย่างครั้งก่อนอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๓

แลในเดือน ๔ ปีจอจัตวาศกนั้น ในพระบวรราชวังได้มีการโสกันต์พระองค์เจ้าอีกครั้งหนึ่งเป็นการใหญ่ มีการแห่ แลการละเล่น แลเขาไกรลาสน้อย คล้ายกับปีชวดจัตวาศกโน้นแล

ภายหลังมาเมื่อปีชวดฉศก พระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ คือพระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณ์ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงทรงพระราชดำริว่า

ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชาธิเบศรมหาราชปราสาททอง ได้มีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอิน ณ ที่ประทับเป็นที่ประพาสก็มีหลายตำบล จึงโปรดให้มีการแห่โสกันต์เป็นการใหญ่อย่างครั้งก่อน ที่พระนครคีรี ณ เมืองเพชรบุรี ตามอย่างซึ่งเคยมีในโบราณนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ ปีชวดฉศก ศักราช ๑๒๒๖ ตรงกับปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๔

เมื่อว่าตามเหตุที่ควร พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าซึ่งมิใช่เจ้าฟ้า ก็ไม่ควรจะมีพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบวรราชวังได้มีการแห่โสกันต์พระองค์เจ้าเกินธรรมเนียมเก่า ๒ ครั้ง ๓ ครั้งมาแล้ว

แลในแผ่นดินปัจจุบันนี้ในพระบวรราชวัง ก็มีการเกินธรรมเนียมเก่านำหน้าเป็นอย่างมาก่อนถึง ๒ ครั้งแล้ว ฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจึงต้องทำตามไป การเป็นทั้งนี้ก็เพราะการโสกันต์เป็นการใหญ่ ไม่ได้มีมานานแล้ว ผู้จะใคร่ดูมีมาก แลจะคอยเวลาภายหน้าก็ไม่ไว้ใจการว่าจะเป็นแน่ที่จะได้ดู จึงกราบทูลขอทำขึ้น

บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์ใหญ่มีพระชนมายุได้เต็ม ๑๒ ปีแต่ปีประสูติ จึงกำหนดเวลาควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ ด้วยได้พระราชทานพระอิสริยยศต่างๆ เสมออย่างพระองค์ในครั้งแผ่นดินพระบาสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทุกประการแล้ว

ครั้งนี้จึงควรให้มีการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่เต็มตามตำรา ซึ่งมีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๒ ครั้งนั้น เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างไปภายหน้า ท่านผู้ที่จ้างเกณฑ์รับราชการใดๆ ในบัดนี้ จงมีความยินดีคิดฉลองพระเดชพระคุณทุกท่านทุกนายให้เต็มตามกำลังเทอญ

ฝ่ายชนชาวต่างประเทศที่ไม่รู้เรื่องแต่เดิมมา ขอเสียอย่าบ่นว่าต่างๆ ว่าการครั้งนี้ไม่เป็นคุณประโยชน์อะไรแก่บ้านเมือง ทำให้คนเป็นอันมากป่วยการ เสียเวลาด้วยต้องเกณฑ์มาทำการต่างๆ แลพากันเพลิดเพลินมาดูการละเล่นหลายวันหลายเวลา แลอื่นๆ

เพราะการพระราชพิธีโสกันต์ เป็นการใหญ่เต็มตามตำราโดยธรรมเนียมในสยามเช่นนี้ เป็นของเคยมีสิบๆ มาแต่โบราณ ในแผ่นดินหนึ่งก็ไม่มีมากเคยมีแต่ครั้งหนึ่ง ๒ ครั้งเท่านั้น

เมื่อจะตัดเสียจะไม่ให้มีเป็นแบบอย่างแล้ว ท่านผู้ที่รู้ขนบธรรมเนียมโบราณก็จะมีความเสียใจ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือการต่างประเทศมาก มาเลิกละทิ้งการธรรมเนียมโบราณเสียสิ้นง่ายนัก ควรจะต้องรักษาแบบอย่างโบราณราชประเพณีไว้ไม่ให้เสื่อมสูญจึงจะชอบ

การที่ในการโสกันต์นี้ ท่านทั้งหลายทั้งปวงเป็นอันมาก ย่อมนำสิ่งของทองเงินมาถวายพระเจ้าลูกเธอที่โสกันต์ เป็นการสมโภชโดยอย่างธรรมเนียมทำต่อๆ มา การนั้นท่านเป็นอันมากทำก็โดยชอบพอคุ้นเคยในพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าที่โสกันต์นั้น ตามใจ

ในหลวงไม่ได้ขอร้องกะเกณฑ์อะไรดอก ใครพอใจจะถวายก็ถวาย ไม่ถวายก็ได้ไม่มีความผิดอะไร

ถ้ามีที่ได้ถวายสมโภชพระเจ้าลูกเธอแล้วนั้น มีการโกนจุกบุตรหลานเมื่อใด ให้กราบทูลให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะได้พระราชทานตอบแทนให้มีกำไรบ้างคุ้มทุนบ้าง อย่างการเลื่อนลงแขกลงขันกันข้างนอกตามประเพณีบ้านเมือง เพราะฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดๆ เข้าใจผิด บ่นพึมพำผิดๆ ไปในอันใช่เหตุเลยเป็นอันขาดทีเดียว



ประกาศมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ เป็นวันที่ ๕๓๔๒ ในรัชกาลปัตยุบัน


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์จันทรวาร สิริมานรื่นรมเยศค่ะ



Create Date : 02 กรกฎาคม 2553
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 5:55:11 น.
Counter : 1532 Pageviews.

0 comments
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
ถนนสายนี้ ... ... มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 348 "ฉุกละหุก" toor36
(24 มี.ค. 2567 10:27:24 น.)
AI คืออะไร ? ข้อดีของ AI Technology Robotic เข้ามาช่วยในการผ่าตัด newyorknurse
(19 เม.ย. 2567 02:45:03 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด