กวย ส่วย หรือกูย

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติประชาชื่น  nachart@yahoo.com



 

 

 

 

 

 

 

 

เกี่ยวกับชนชาว กูย เปิดเอกสารของโครงการแผนที่วัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนไทย-กัมพูชา โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและพัฒนาเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

พบข้อมูลว่า ชาวกวย หรือ กุย หรือ กูย หรือ ส่วย จากหลักฐานของ ปอล เลวี ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้ขุดค้นร่องรอยอารยธรรมบริเวณมลูไพร ทางภาคเหนือของเขมร พบว่า ชาวกวยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข่า ที่เขมรเรียกว่า กุย หรือ สำแร เปือร์ พนอง เสตียง คือพื้นฐานประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นทาสในสังคมกึ่งทาสของเขมรโบราณ เป็นผู้ขุดเหล็ก ตีเหล็กเป็นอาวุธ หล่อสำริดและยังใช้เครื่องมือหินด้วย

ทั้งนี้เพราะขุดได้เครื่องมือหิน เบ้าหิน เครื่องสำริด และเหล็กรุ่นก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพบโรงหล่อและสร้างอาวุธ ซึ่งอาวุธของนักรบเขมรโบราณก็คงจะได้จากชาวกุยที่เป็นทาสเหล่านี้

นอกจากนี้ พวกกุยยังชำนาญการจับช้าง (เป็นพวกเดียวกับส่วยโพน หรือส่วยช้าง ในจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งพวกที่มีอาชีพจับช้างในแขวงอัตตะปือที่ลาวใต้) โดยคงจะต้องจับช้างศึกให้เจ้านายเขมร ทั้งยังต้องถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่สกัดหิน ก่อสร้างปราสาท ขุดสระน้ำมหึมาที่มีอยู่มากมายในบริเวณนครธมและที่อื่นๆ

ขณะที่จากหลักฐานกฎหมายอยุธยาฉบับ พ.ศ. 1974 ได้กล่าวถึงกษัตริย์ของเขมรที่นครธม ได้ทรงขอให้เจ้ากวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญอยู่ตอนใต้ของเมืองนครจำปาสัก ส่งทหารไปช่วยพระองค์ปราบขบถ สำเร็จแล้วประมุขของทั้งสองฝ่ายได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

จึงกล่าวได้ว่าชนชาวกวยเคยมีการปกครองอย่างอิสระในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับราชสำนักอยุธยา และเคยช่วยกษัตริย์เขมรแห่งนครธมปราบขบถได้สำเร็จ ต่อมาผู้ปกครองชาวกวยถูกเขมรปราบปรามได้ และถูกรวมอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรเรื่อยมา

ชนชาวกวย ในภาษาไทยเรียกว่า ส่วย แต่เขาเรียกตัวเองว่า กวย แปลว่าคนส่วนใหญ่อยู่กันทางตอนเหนือของกัมพูชา และแขวงจำปาสัก สาละวัน และอัตตะปือของลาว ต่อเนื่องเข้ามาทางภาคอีสานของไทย เขตจังหวัดอุบล ราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และบางส่วนของ มหาสารคามกับนครราชสีมา ส่วนมากอยู่ใต้แม่น้ำมูล

จากการศึกษาของเลวี พบว่าสาเหตุที่ชาวกวยอพยพเข้าสู่ที่ราบสูงโคราชหรือภาคอีสานของไทย มาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ได้สถาปนาอาณาจักรจำปาสัก (แคว้นจำปาสัก) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ชาวกวยที่อยู่ในเขตนครจำปาสักจึงได้อพยพหนีภัยทางการเมืองข้ามลำน้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสานทางแก่งสะพือ ซึ่งเดิมรียกตามภาษากวยว่าแก่งกะชัยผึด (แก่งงูใหญ่) และแยกย้ายไปตั้งบ้านเรือนตามสถานที่ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชาวไทย-กูยมักจะตั้งหลักแหล่งอยู่ระหว่างแม่น้ำมูลกับเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบริเวณดังกล่าวมีป่าและน้ำอุดมสมบูรณ์ สะดวกในการเลี้ยงช้างก็เป็นได้ โดยจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ จะมีอยู่หนาแน่นกว่าจังหวัดอื่น คือมีอยู่เกือบทุกอำเภอ

กล่าวกันว่าในช่วงแรกก่อนที่กลุ่มไทย-ลาว และไทย-เขมร จะอพยพเข้ามาอยู่นั้น สุรินทร์และศรีสะเกษเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวกูยเกือบทั้งหมด แต่ปัจจุบันชาวกูยเหลืออยู่ประมาณ 10-20 % ของประชากรในจังหวัด

และเนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารการคมนาคม กลุ่มต่างๆ จึงมีโอกาสปะทะสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ยอมรับวัฒนธรรมของกลุ่มอื่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตน โดยเฉพาะชาวกูยซึ่งมีลักษณะเฉพาะในการยอมรับวัฒนธรรมอื่นสูง อยู่แล้ว จึงแทบจะกลายเป็นกูย-ลาว กูย-เขมร ไปเกือบหมด

หน้า 24

ขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติประชาชื่น

สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ




Create Date : 22 สิงหาคม 2555
Last Update : 22 สิงหาคม 2555 12:52:29 น.
Counter : 3697 Pageviews.

0 comments
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
โรงงานผลิตอาหารเสริมผู้ชาย ตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ได้คุณภาพ สมาชิกหมายเลข 7213059
(3 เม.ย. 2567 00:10:02 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด