กรุงศรีปฏิวัติ : ๑๐๐ ปีแห่งความเงียบ ไร้ "ปฏิวัติ" ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ (จบ)

โดย ปรามินทร์ เครือทอง




กรุงศรีปฏิวัติ : ๑๐๐ ปีแห่งความเงียบ ไร้ "ปฏิวัติ"
ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ




สมเด็จพระรัฏฐาธิราช เยาวกษัตริย์ผู้เป็นเหยื่อของรัฐประหาร

“ศักราช ๘๙๕ มะเสงศก สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัติ”

การส่งต่อราชสมบัติแบบ พ่อ สู่ ลูก เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในธรรมเนียมของราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่ที่ผ่านมาผู้ที่จะรับสืบราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาในยุคนี้ มักลงมาจากเมืองพิษณุโลกในฐานะ “อุปราช” ไม่ว่าผู้นั้นจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติในลักษณะใดก็ตาม

ที่น่าสนใจก็คือ พระมหากษัตริย์ที่ลงมาจากเมืองพิษณุโลก เพื่อมารับสืบราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาในยุคนี้ มักจะครองราชสมบัติแบบ “ครบวาระ” คืออยู่จนพระชนมายุถึงที่สุดทั้งสิ้น

แต่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร กลับไม่ทรงเคร่งครัดต่อธรรมเนียมปฏิบัตินี้ ทรง “หักโผ” ยกราชสมบัติให้กับ “พระราชกุมาร” ผู้ทรงพระเยาว์ และไม่เคยครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน

หากคำนวณพระชนมายุของสมเด็จพระรัฏฐาธิราชแล้ว ก็จะพบว่ามีพระชนมายุ ๕ พรรษา เท่ากับจำนวน ๕ ปีที่พระราชบิดาทรงครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งก็หมายความว่า “พระราชกุมาร” พระองค์นี้ ประสูติ “ในเศวตฉัตร” กรุงศรีอยุธยา ทำให้ทรงมีสิทธิ “ตามสายเลือด” และสันนิษฐานกันว่า น่าจะทรงเป็น “หลานตา” ของขุนนางสำคัญในกรุงศรีอยุธยา ที่ต้องการ “เป็นดอง” กับพระมหากษัตริย์

ซึ่งจะทำให้สมเด็จพระรัฏฐาธิราช มีแรงสนับสนุนจากขุนนางกลุ่มหนึ่ง

แต่นั่นกลับไม่ใช่คุณสมบัติที่เพียงพอ ต่อการนั่งบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา เพราะยังต้องมีเรื่องของ การเมืองภายใน การเมืองภายนอก อำนาจบารมี และการสนับสนุนจากขุนนางอำมาตย์ กำกับอยู่ด้วย

สมเด็จพระรัฏฐาธิราชมีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา คงเป็นการยากที่จะมีแรงสนับสนุนครบทุกด้าน

พระราชพงศาวดารไม่ได้บันทึกไว้ว่า ก่อนหน้านี้สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดไปเป็นอุปราชเมืองพิษณุโลก ครั้นมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระรัฏฐาธิราช ก็ไม่มีบันทึกอีกเช่นกันว่าใครเป็นอุปราชเมืองพิษณุโลก

มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเป็น “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” ผู้นำการ “รัฐประหาร” รัฐบาลสมเด็จพระรัฏฐาธิราช

สมเด็จพระไชยราชาธิราช ผู้นำรัฐประหาร ทวงราชบัลลังก์?

“ครั้นเถิงศักราช ๘๙๖ มะเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า”

โดยปกติพระราชพงศาวดาร (ฉบับหลวงประเสริฐฯ) จะใช้คำว่า “นฤพาน” หากพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ “ครบวาระ” คือสวรรคตด้วยถึงที่สุดแห่งพระชนมชีพ หรือเกิดพระโรคจนสวรรคต

แต่หากเป็นการสวรรคตแบบ “ไม่ปกติ” มักจะใช้คำว่า “เป็นเหตุ” ในการกรณีสมเด็จพระรัฏฐาธิราชนี้ทรง “เป็นเหตุ” ด้วยการ “สำเร็จโทษ” โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราช

พระราชประวัติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ผู้ทำการ “รัฐประหาร” สมเด็จพระรัฏฐาธิราช ไม่มีความชัดเจนนัก พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าทรงเป็น “ราชวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดี”

สอดคล้องกับ พงศาวดารฉบับ วัน วลิต ที่ว่า “เป็นญาติห่างๆ และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ส่วนใน สังคีติยวงศ์ ว่าทรงเป็น “ภาคิไนยของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี”

จะเห็นได้ว่า ไม่มีเอกสารฉบับใดระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็น “พระราชกุมาร” ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ อย่างชัดเจนเลย

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ทรงเดา” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เป็นเจ้านายชั้นสูงอย่างเป็นต่างกรมทุกวันนี้ จึงได้มีพระนามว่าพระไชยราชา เป็นเจ้านายชั้นเดียวกับพระบรมราชา พระอินทราชา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเห็นจะเป็นลูกเธอของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แต่เกิดแต่พระสนม

เมื่อก่อนพระไชยราชาได้ราชสมบัติ จะอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหรือเป็นเจ้าครองเมืองข้อนี้ไม่ปรากฏ แต่ถ้าจะเดา เห็นว่าน่าจะเป็นเจ้าครองเมืองพิษณุโลก”

เรื่องที่ “ทรงเดา” นี้สอดคล้องกับเหตุการณ์ตลอดรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ที่มีกิจการบ้านเมืองเกี่ยวข้องกับเมืองเหนืออยู่มาก ทั้งยังมีพระญาติฝ่ายหญิงเป็นมารดาของขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชา)

และยัง “เชื่อ” กันว่าพระองค์อาจมีพระราชมารดา เป็นเจ้าหญิงเมืองพิษณุโลก ก็เป็นได้

แต่ควรตั้งข้อสังเกตไว้ว่า พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุเพียงว่า ทรงเป็น “ราชวงศ์” สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทั้งที่พระราชพงศาวดารฉบับนี้ไม่เคยลังเลที่จะใช้คำว่า “สมเด็จพระราชกุมาร และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เพื่อระบุความสัมพันธ์แบบ พ่อ-ลูก เมื่อมีการสืบต่อราชสมบัติ

ยังมีเรื่องชวนให้สงสัยอีกว่า หากสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรง “ใกล้ชิด” กับหัวเมืองเหนือจริง ทั้งยังมีพระญาติฝ่ายหญิงเป็นมารดาของขุนพิเรนทรเทพนั้น เหตุใดเมื่อได้ครองราชสมบัติแล้ว จึงไม่สนับสนุนเชื้อพระวงศ์สายเมืองเหนือต่อไป

แต่กลับลดตำแหน่งสำคัญที่สุด ของผู้ปกครองหัวเมืองเหนือเหลือเพียง “พระยาพิษณุโลก” และการลดบทบาทเชื้อพระวงศ์สายเมืองเหนือนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิด “กบฏพระนารายณ์” ขึ้นที่เมืองกำแพงเพชรในรัชกาลของพระองค์

เอกสาร วัน วลิต ระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา นั่นเท่ากับว่าพระองค์ประสูติในปี ๒๐๔๒ ซึ่งเวลานั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพระราชบิดา) ลงมาครองราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๐๓๔ คือก่อนพระองค์ประสูติ ๘ ปี

ดังนั้น “ความเชื่อ” ที่ว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กับ “เจ้าหญิงพิษณุโลก” จะยังคงใช้ได้ต่อไปหรือไม่?

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับว่า พระราชมารดาของพระองค์ถูกนำลงมากรุงศรีอยุธยาด้วย และพระองค์คงต้องประสูติในกรุงศรีอยุธยาแน่ เพราะสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงพำนักอยู่ที่เมืองพิษณุโลก

ทั้งในฐานะพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และในฐานะอุปราช ระหว่างปี ๒๐๑๕-๓๔ ก่อนที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะประสูติเช่นกัน

ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และทรงพำนักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกด้วยกัน ผนวชพร้อมกัน ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เท่ากับว่าทรงมี “ประสบการณ์” ทั้งในเรื่องเส้นสายการเมืองในเมืองเหนือ และเจ้าหญิงเมืองเหนือ ไม่แพ้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เช่นเดียวกัน

ระหว่างที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ลงมาครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยานั้น เราไม่ทราบว่าสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร จะทรง “อยู่ต่อ” ที่พิษณุโลก หรือถูกเรียกให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน

แต่เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ “แรงกระเพื่อม” ขุนนางทิ้งบัตรสนเท่ห์จนถูกประหารไปเป็นจำนวนมากนั้น สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ได้รับสถาปนาเป็น “อุปราช” ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกในปี ๒๐๖๙ และทรงครองเมืองพิษณุโลกอยู่จนถึงปี ๒๐๗๒ ก่อนจะลงมาครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา

ด้วยพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ที่ผูกพันอยู่กับเมืองเหนือไม่ต่างจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงเป็นไปได้เช่นกันว่าพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช

ดังนั้นหากยึดตาม “คำสำคัญ” ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรง “ราชวงศ์” ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งจะสอดคล้องกับ พงศาวดาร ฉบับ วัน วลิต ที่ว่า “เป็นญาติห่างๆ” (distantly related) และสอดคล้องกับ สังคีติยวงศ์ ที่ว่าทรงเป็นหลาน (ภาคิไนย) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

จึงเป็นไปได้ว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร และเป็น “หลาน” ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

ทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ ระหว่างสมเด็จพระรัฏฐาธิราชกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช จะกลายเป็นเรื่องระหว่าง “พี่-น้อง” (คนละแม่) นั่นเอง

“เทคนิครัฐประหาร” ในคราวนี้ มีการเว้นระยะนานถึง ๕ เดือน กว่าจะรัฐประหาร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเหตุผลเดิมๆ คือ “รองานศพ” หรือหากเวลานั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงอยู่เมืองพิษณุโลก ทำให้ต้องใช้เวลาเตรียมการระยะหนึ่งจึงลงมือ

อย่างไรก็ดี หากปะติดปะต่อเรื่องจากเอกสาร วัน วลิต ก็จะพบว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอยู่แล้ว ในฐานะ “ผู้สำเร็จราชการ” (who ruled the kingdom as a regent) ดังนั้นการทำรัฐประหาร จึงเป็นแค่การรอจังหวะโอกาส และสำรวจกำลัง ฝักฝ่าย ให้เป็นที่แน่ชัดก่อนจึงลงมือ

ขณะขึ้นครองราชสมบัตินั้นมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษาแล้ว ส่วนพระรัฏฐาธิราชนั้นพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา อำนาจ บารมี จึงน่าจะเป็นของฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช

และถ้าประทับอยู่กรุงศรีอยุธยาตลอดพระชนมชีพ โดยไม่เคยประทับที่เมืองพิษณุโลกเลย การสะสมอำนาจบารมีตั้งแต่รุ่นพระราชบิดา (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) อาจจะเหนือกว่าสมเด็จพระรัฏฐาธิราช

ในขณะที่สมเด็จพระรัฏฐาธิราช ก็คงจะได้รับการสนับสนุนจากขุนนางฝ่าย “ขรัวตา” และผู้ที่จงรักภักดีต่อพระราชบิดาอยู่บ้าง

แต่ผลของการรัฐประหารของสมเด็จพระไชยราชาธิราชก็ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า การรวบรวมกลุ่มอำนาจฝ่ายต่างๆ สามารถกระทำได้ในเวลาเพียง ๕ เดือน ก็สามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จ โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ

หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง ถ้าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็น “พระราชโอรส” ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จะเท่ากับว่า ทรงถูก “ข้าม” ในตำแหน่งอุปราชเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุ ๒๗ พรรษา ทั้งที่พระองค์น่าจะมีสิทธิเหนือกว่าในฐานะพระราชโอรส

แต่พระราชบิดาทรงยกตำแหน่งสำคัญนี้ ให้กับสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทรงใกล้ชิดกับขุนนางหัวเมืองเหนือมากกว่า เนื่องจากประทับและผนวชอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้การระงับเหตุแรงกระเพื่อมของขุนนาง เป็นไปอย่างเรียบร้อย

และทรงถูก “ข้าม” อีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงยกราชสมบัติให้กับ สมเด็จพระรัฏฐาธิราชที่มีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา

ดังนั้นรัฐประหารครั้งนี้จึงดูคล้ายเต็มไปด้วยความเคียดแค้นรุนแรง “โดยไม่จำเป็น” พระมหากษัตริย์ผู้ถูกทำรัฐประหารจึง “เป็นเหตุ” ถูก “สำเร็จโทษ” เป็นครั้งแรกในราชวงศ์สุพรรณภูมิ


(หมายเหตุ อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมกราคม 2555 ตามร้านหนังสือใกล้บ้านท่าน)


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณปรามินทร์ เครือทอง


สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ




Create Date : 25 มกราคม 2555
Last Update : 25 มกราคม 2555 12:39:34 น.
Counter : 1678 Pageviews.

0 comments
สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ…วางแผนการเงินอย่างไร ให้เหลือใช้ถึงปลายเดือน! สมาชิกหมายเลข 7654336
(13 เม.ย. 2567 02:04:45 น.)
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด