ชาตรี ประกิตนนทการ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมว่า ความนิยมในการสร้างหรือเลือกปางพระพุทธรูปมาเป็นพระประธาน ภายในพระอุโบสถสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีคตินิยมที่ไม่ต่างไปจากสมัยอยุธยาและสมัยก่อนหน้านั้นของสังคมไทยทุกยุค กล่าวคือ นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
แต่จากการศึกษาในรายละเอียดเฉพาะเจาะจงไปในสมัยรัชกาลที่ ๑โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหรือบูรณปฏิสังขรณ์โดยพระองค์เองโดยตรงหลายแห่ง กลับพบว่า พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถมีแนวโน้มที่จะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
ที่น่าสนใจคือ วัดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวัดที่มีสถานะ บทบาท และความสำคัญมากทั้งสิ้น อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสระเกศ เป็นต้น
ข้อเท็จจริงดังกล่าวนำมาสู่สมมติฐานที่ว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชนิยมที่จะทรงเลือกพระพุทธรูปปางสมาธิให้เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ
จากสมมติฐาน ได้นำมาสู่การศึกษาในบทความนี้ของผู้เขียนที่ต้องการจะหาคำตอบในประเด็นคำถามสำคัญ ๒ ประการ ดังต่อไปนี้
ประการที่ ๑ ผู้เขียนต้องการศึกษาตรวจสอบการสร้างหรือการเลือกพระประธานภายในพระอุโบสถของวัดที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหรือบูรณะโดยพระองค์เองว่า
วัดทั้งหมดนั้นมีคตินิยมที่จะสร้างพระพุทธรูปประธานเป็นปางอะไร ระหว่างพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นคตินิยมโดยทั่วไปของสังคมไทย หรือพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามที่ได้ตั้งสมมติฐานในการศึกษาไว้
หากสมมติฐานเป็นจริง ย่อมทำให้ความเชื่อแต่เดิมที่เกี่ยวข้องกับงานช่างในยุคสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมักถูกอธิบายโดยทั่วไปมาอย่างยาวนานแล้วว่า มีลักษณะสืบทอด ต่อเนื่อง หรือเลียนแบบคตินิยมมาจากงานช่างสมัยอยุธยาตอนปลายต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยก็ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกพระประธานภายในพระอุโบสถ
ประการที่ ๒ อันเป็นผลสืบเนื่องจากประเด็นก่อนหน้านี้ กล่าวคือ หากสมมติฐานในข้อแรกเป็นจริงแน่อนอน ย่อมทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใด หรือด้วยคติความเชื่ออย่างไร จึงทำให้รัชกาลที่ ๑ มีพระราชนิยมในการเลือกพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
เพื่อที่จะตอบคำถามทั้ง ๒ ข้อข้างต้น สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นอย่างแรกคือ การหาข้อสรุปให้ได้ว่า มีวัดใดบ้างที่เป็นพระราชดำริโดยตรงของรัชกาลที่ ๑ และวัดใดไม่ใช่ เพื่อที่จะได้ทำการศึกษาถึงพระราชนิยมโดยเฉพาะของพระองค์ได้อย่างชัดเจน
สกุลช่างวังหลวง-วังหน้า ข้อควรพิจารณาในการศึกษางานช่างสมัยรัชกาลที่ ๑
ต้องเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นก่อนว่า ในวงวิชาการที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงงานช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ มักจะมองภาพงานช่างในยุคนี้ในแบบที่เป็นภาพรวมอย่างเป็นเอกภาพในเชิงความคิดและรูปแบบงานช่าง (สกุลช่าง) ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดภายใต้พระราชดำริของรัชกาลที่ ๑
การมองแบบเหมารวมดังกล่าว ทำให้ละเลยอิทธิพลทางรูปแบบเชิงช่างบางประการที่เป็นลักษณะเฉพาะของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) หรือแม้กระทั่งกลุ่มช่างของเจ้านายชั้นสูงพระองค์อื่นๆ ที่มีลักษณะที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง
ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นสำคัญประการหนึ่งที่วงวิชาการทางสถาปัตยกรรมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างนี้มากเท่าที่ควร
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งจากหลักฐานเอกสาร งานวิชาการหลายชิ้น ตลอดจนหลักฐานเชิงประจักษ์ในตัวงานสถาปัตยกรรมก็ได้แสดงให้เห็นอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า
งานช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ อย่างน้อย ควรที่จะต้องถูกอธิบายแยกออกเป็น ๒ สาย คือ สายของรัชกาลที่ ๑ (วังหลวง) และสายของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า)
ถ้าเข้าใจประเด็นข้างต้น ก็จะเข้าใจประเด็นสำคัญของงานศึกษาพระพุทธรูปประธานในบทความชิ้นนี้ได้ในทันที เพราะถ้าเรามองทุกวัดว่าเป็นงานสมัยรัชกาลที่ ๑ แบบภาพรวม
เราจะมองไม่เห็นนัยยะสำคัญของการเลือกพระประธานภายในพระอุโบสถของรัชกาลที่ ๑ ที่มีลักษณะเฉพาะเลย เนื่องจาก ในเชิงปริมาณแล้ว ส่วนใหญ่ของพระอุโบสถในยุคนี้ ยังคงเลือกพระประธานให้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเหมือนคตินิยมทั่วไปในอดีต
แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามองแยกวัดที่สร้างหรือบูรณะโดยรัชกาลที่ ๑ โดยตรงออกจากวัดที่วังหน้าหรือเจ้านายพระองค์อื่นทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ เราจะเริ่มมองเห็นนัยยะสำคัญของการเลือกพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถของรัชกาลที่ ๑
เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่เราควรหาในลำดับต่อไปก็คือ วัดแห่งใดบ้างที่รัชกาลที่ ๑ มีพระราชศรัทธาสร้างหรือปฏิสังขรณ์โดยตรงด้วยพระองค์เอง
มีต่อตอนที่ ๒ ค่ะ
ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณชาตรี ประกิตนนทการ
สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ