สัมผัสอดีต "ทวาย" เมืองการค้ายุคดึกดำบรรพ์ "พม่าลากไป ไทยลากมา"
คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม
โดย ผู้สื่อข่าวพิเศษ/ นสพ.มติชนรายวัน


ทวายเป็นเมืองสถานีการค้ายุคดึกดำบรรพ์ ระหว่างชุมชนบ้านเมืองชายฝั่งทะเล อันดามัน จนถึงอินเดีย, ลังกา รวมถึงการเผยแผ่ศาสนาพุทธพราหมณ์ ราวหลัง พ.ศ. 1000 ก็อาศัยสถานีการค้านี้

ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างรัฐในพม่ากับรัฐในไทย แล้วเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้ทวายถูก "พม่าลากไป ไทยลากมา" นานเกือบพันปี

เพราะต่างต้องยึดเมืองทวายเป็นที่สะสมไพร่พลและเสบียงส่งบำรุงเลี้ยงกองทัพของฝ่ายตนที่จะยกไปตีอีกฝ่าย

เมาะตะมะตีทวาย

หนังสือราชาธิราช (พระราชพงศาวดารรามัญ) ระบุว่า พ.ศ. 1861 เจ้าเมืองเมาะ ตะมะยกไปตีได้เมืองทวาย กับเมืองตะนาวศรี

พ.ศ. 1862 มีไทยห้าร้อยคนหนีไปจากเมืองเพชรบุรีไปทางเมืองทวาย แล้ว สวามิภักดิ์รับราชการอยู่ในเมืองเมาะตะมะ แล้วเป็นกำลังให้เจ้านายเชื้อวงศ์ยึดอำนาจเมืองเมาะตะมะ

อยุธยาตีทวาย

พ.ศ. 2031 อยุธยายกไปตีได้เมืองทวาย มีในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ความว่า

"สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองทวาย และเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้นเกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งเป็น 8 เท้า ไก่ฟักไข่ออกตัวหนึ่งเป็น 4 เท้า ไก่ฟักไข่สามค่องออกลูกเป็น 6 ตัว อนึ่งข้าวสารงอกเป็นใบ"

อยุธยาแตก เพราะทวาย







ทวายมีส่วนเป็นเหตุให้กองทัพอังวะโจมตีอยุธยาแตก พ.ศ. 2310 อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่ามีเหตุจากกรุงศรีอยุธยาได้ยอมตนเป็นที่พึ่งแก่ชนกลุ่มน้อยของพม่า

พ.ศ. 2307 หุยตองจา เจ้าเมืองทวายเป็นกบฏต่อพม่า เมื่อถูกปราบปรามก็พาครัวอพยพหนีมาทางเมืองมะริด และทางอยุธยาก็ตกลงใจจะรับหุยตองจาไว้ในอุปถัมภ์

ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า การรับตัวหุยตองจาไว้โดยไม่ยอมส่งตัวให้แก่พม่าเมื่อได้รับคำขอนี้ คือสาเหตุของสงครามในครั้งท้ายสุดนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงนักเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าทั้งระบบ

ร.1 ยกทัพตีเมืองทวาย

พ.ศ. 2330 ร.1 ยกทัพจากกรุงเทพฯโดยทางชลมารคไปทางท่าจีน, แม่กลอง ทวนขึ้นไปถึงท่าตะกั่ว ลำน้ำแควน้อย เมืองกาญจนบุรี มีในพระราชพงศาวดารว่า

"ฝ่ายทัพหลวงก็เสด็จขึ้นข้ามเขาสูงหนุนไป แลเขานั้นชันนัก จะทรงช้างพระที่นั่งขึ้นไปมิได้

สมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ผูกราว แล้วต้องทรมานพระกาย เสด็จพระราชดำเนินพระบาทยุดราวขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขา แต่เช้าจนเที่ยงจึ่งถึงยอดเขา

แลช้างซึ่งขึ้นเขานั้น เอางวงยุดต้นไม้จึ่งเหนี่ยวกายขึ้นไป ได้ความลำบากนัก ช้างนั้นก็พลาดพลัดตกเขาลงมาตายทั้งคนทั้งช้างก็มีบ้าง

(บน) ชาวบ้านเมืองทวาย (ภาพจาก //www.allmyanmar.com) (ล่าง) ตลาดสดเมืองทวาย (//www.visualtravelguide.com)






จึ่งมีพระราชโองการดำรัสว่า "ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยาก พาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก

เมื่อลงไปเชิงเขาข้างโน้น ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงยุดราวลงไปเหมือนกัน"

ช้างต้นป่วย

ร.1 ทรงช้างต้น นามว่า "พังเทพลีลา" เมื่อคราวยกทัพตีเมืองทวายจนช้างต้นป่วย มีในพระราชพงศาวดาร เล่าว่า

"ขณะนั้นช้างต้นพังเทพลีลา ซึ่งเป็นพระคชาธารนั้นป่วยลงไม่จับหญ้าถึง 3 วัน

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกหนัก ด้วยเป็นช้างพระที่นั่งข้าหลวงเดิม ได้เคยทรงเสด็จไปงานพระราชสงครามมาแต่ก่อนทุกครั้ง ทรงพระอาลัยว่าเป็นราชพาหนะเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก เกรงจะล้มเสีย จึ่งทรงพระอธิษฐานเสกข้าว 3 ปั้น ให้ช้างนั้นกิน

ด้วยเดชะพระบารมีเป็นมหัศจรรย์ ช้างนั้นก็หายไข้เป็นปกติ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดีพระทัยยิ่งนัก"

ทวายหลอกไทย

พระราชพงศาวดารบอกว่า แม่ทัพใหญ่เมืองทวายกับทั้งนายทัพนายกองทั้งปวง ก็คิดปรึกษากันว่าจะล่อให้ทัพไทยเข้าอยู่ในเมือง แล้วจะได้ล้อมเมืองไว้ชั้นนอก ด้วยพลเมืองเป็นทวาย ไทยอดเสบียงอาหารเข้าก็แย่งชิงพลเมืองกิน ไพร่พลเมืองได้ความเดือดร้อนนักก็จะเกิดเป็นขบถขึ้นในเมือง ฝ่ายทวายก็จะมีชัยชำนะถ่ายเดียว ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว ก็ชวนกันหนีออกจากเมือง

กองหน้าทัพไทยก็ยกไปถึงเชิงกำแพงเมืองทวาย ไม่เห็นผู้คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทิน แต่ประตูเมืองนั้นปิดอยู่ ครั้นจะทำลายประตูเมืองเข้าไปในเมืองก็เกรงว่าพม่าจะแต่งกลซุ่มพลทหารไว้ จึ่งให้รอทัพอยู่แต่นอกเมืองก่อน คอยดูท่วงทีพม่าจะทำประการใด

กรณีนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ในหนังสือไทยรบพม่า ความว่าฝ่ายกองทัพไทยเมื่อไปตั้งล้อมเมืองทวายอยู่นั้น การลำเลียงเสบียงอาหารขัดข้องส่งกันไม่ทันใช้ จึงเกิดเป็นปัญหาว่าจะควรถอยกองทัพกลับหรือรีบหักโหมเอาเมืองทวายเสียให้ได้ โดยเร็ว

พอพักรี้พลครบ 15 วันแล้วก็โปรดให้เลิกทัพกลับมา โดยตีไม่ได้เมืองทวาย

"ทะแว" ชื่อจริงของทวาย

ทวาย เป็นสำเนียงไทยที่ออกเสียงเพี้ยนจากคำท้องถิ่นว่า "ทะแว" ปัจจุบันทางการพม่ากำหนดให้สะกดเป็นฝรั่งตามเสียงที่ถูกต้องของท้องถิ่นว่า DAWEI (แทนคำเดิมที่ฝรั่งสะกดตามหูฟังเพี้ยนไปว่า Tavoy)

ไทยสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ รับรู้และออกเสียงถูกต้องว่า ทแว มีพยานในนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย ของพระยาตรัง แต่งเป็นโคลงดั้น (บท 33) ว่า

เสร็จเศิกสมแคล่วได้ แดนเวียง ทแวนา

ชมอนงค์ดนู นับร้อย

นิราศฯเรื่องนี้ พระยาตรังแต่งพรรณนาเมื่อตามเสด็จ ร.1 ยกทัพไปตีเมืองทวาย พ.ศ. 2330


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม
ผู้สื่อข่าวพิเศษ

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ



Create Date : 01 มิถุนายน 2555
Last Update : 1 มิถุนายน 2555 11:08:13 น.
Counter : 3605 Pageviews.

0 comments
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)
Prove: ปรับระดับคลื่นสมอง peaceplay
(15 มี.ค. 2567 16:21:49 น.)
Flight Attendant: The dream of many people. สมาชิกหมายเลข 8016747
(5 มี.ค. 2567 03:01:32 น.)
พิธีไหว้ครู ครอบครูนาฏศิลป์ไทย โขน-ละคร ปี2567 ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรม นายแว่นขยันเที่ยว
(4 มี.ค. 2567 01:33:31 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด