ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: แลหลังกบฏปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองสยามไท







ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (กปค. ๗๕)
ในประวัติศาสตร์การปฏิวัติยุคใหม่คงไม่มีประเทศไหนที่มีกลุ่มและขบวนการที่ทำการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกำลังมากและต่อเนื่องยาวนานเท่ากับการปฏิวัติในสยามประเทศไทย

นับจากการพยายามยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯแห่งรัชกาลที่๖ ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” หรือ “กบฏเก๊กเหม็ง” (พ.ศ. ๒๔๕๔) มาถึง “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕” ถึง “รัฐประหาร ๒๔๙๐” ถึง “กบฏแมตฮัตตัน” ถึง “รัฐประหารเงียบ” ถึง “การปฏิวัติ ๒๕๐๐” ถึง “การปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖”

ถึง “รัฐประหาร ๖ ตุลา ๒๕๑๙” และคณะปฏิรูปการปกครอง ถึง “กบฏเมษาฮาวาย ๒๕๒๔” ถึง “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ๒๕๓๔” (รสช.) และ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” (คปค.)

ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุด ๒๕๔๙ แต่ยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่าสุดแล้วหรือยัง ดังนั้นเพื่ออนุวัตรตามสมัยนิยม จึงขออนุญาตใช้คำย่อสำหรับเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ว่า “กปค. ๗๕”

หากนับรวมการยึดอำนาจและพยายามยึดอำนาจ ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จเข้าด้วยกันนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้งสิ้น ๑๗ ครั้ง เฉลี่ยมีการยึดอำนาจกันทุก ๔ ปีกว่า การก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพรวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง
มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในรัชกาลปัจจุบันรวม ๑๕ ฉบับ มีรัฐธรรมนูญรวม ๑๘ ฉบับ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการกระทำที่เรียกรวมๆ ว่าการปฏิวัติรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก

เมื่อพูดถึงการปฏิวัติของชาติ ในบรรดาประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมและเมืองขึ้นแบบต่างๆ ของมหาอำนาจตะวันตกล้วนมีประวัติศาสตร์และวันปฏิวัติแห่งชาติ เมื่อได้รับเอกราชและอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทุกประเทศไม่เคยมีปัญหากับวันปฏิวัติหรือวันเอกราชแห่งชาติ

ไม่มีใครมานั่งวิเคราะห์และถามกันทุกปีๆ ว่าวันเอกราชหรือวันปฏิวัติของเขานั้น ล้มเหลวหรือล้าหลังหรือไม่ ตรงกันข้ามนับแต่ได้มี “กปค. ๗๕” (“การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” พ.ศ. ๒๔๗๕) การปฏิวัติครั้งนั้น ยังไม่อาจได้รับการยอมรับและตีความตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ว่าคือการปฏิวัติ

หากแต่ยิ่งนานวันเข้ามาบัดนี้ถึง ๘ ทศวรรษแล้ว การปฏิวัติครั้งนั้นก็ยังต้องพ่วงท้ายด้วยคำคุณศัพท์ ที่ขยายการกระทำนั้นว่า “ล้มเหลว” “สำเร็จ” หรือกึ่งๆ ฝ่ายที่ว่า “ล้มเหลว” ก็อธิบายว่าก็เพราะเป็นการกระทำที่ “ชิงสุกก่อนห่าม”

ส่วนฝ่ายสำเร็จก็ว่าเป็นการ “อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองบ้านเมืองอย่าง “คว่ำแผ่นดิน” ส่วนฝ่ายทางเลือกอื่นๆ ก็ว่าไม่ถึงที่สุด เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผลของการเปลี่ยนแปลงฯ หรือ “กปค. ๗๕” นั้นยังดำรงและสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างไม่ยุติเด็ดขาด และไม่สมบูรณ์ คนรุ่นหลังที่เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องราวดังกล่าวนั้น ก็รับและรู้ไม่ตรงกัน กระทั่งตรงข้ามกัน

เหตุการณ์สำคัญๆ มีการเล่าและตีความที่ต่างกันและขัดแย้งกัน หลายเรื่องก็ยังพูดในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยไม่ได้ ตัวละครและผู้แสดงทั้งสำคัญมากและสำคัญน้อยจำนวนไม่น้อย ที่ยังดำรงและรักษาความต่อเนื่อง อย่างไม่ให้ขาดตอนของตนเองเอาไว้

จนทำให้ประวัติศาสตร์ “กปค. ๗๕” กลายเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันร่วมสมัยมากกว่า การเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรเป็นเรื่องราวสำหรับนักประวัติศาสตร์ จะเข้ามาศึกษาวิเคราะห์และตีความต่อไป หรือไม่ก็ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์เฉพาะที่ เป็นของกลุ่มบุคคลมากกว่าเป็นประวัติศาสตร์ของสังคม หรือเป็นประวัติศาสตร์ทั่วไป

ประวัติศาสตร์กับการปฏิวัติ

ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วนี่ เป็นนิยามที่ธรรมดาและง่ายสุดเพราะถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในอดีต ก็ไม่มีเรื่องจะให้คนรุ่นหลังต่อมาพูดและเขียนถึง แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วคืออะไร ตรงนี้คือปัญหา สำหรับนักประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์

ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว เกิดคลื่นสึนามิ และ ฯลฯ เหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ไหม นักประวัติศาสตร์คงตอบได้ไม่ยากว่าไม่ใช่ เพราะมันไม่มีตัวละคร มีแต่สิ่งของธรรมชาติ

สำหรับประวัติศาสตร์ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วต้องมีความคิดและการกระทำ พูดอย่างนี้ก็เท่ากับจำกัดว่า สิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอดีตก็ต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีคนกระทำ และยังต้องมีความคิดด้วยถ้าเพียงแต่กระทำเฉยๆ

เช่น เดินไปเดินมาระหว่างบ้านกับแม่น้ำหรือไร่นา โดยไม่ได้พูดและแสดงความคิดให้ประจักษ์แก่คนอื่นๆ จนจำถ่ายทอดกันมาถึงรุ่นลูกหลานเหลนได้ ก็ไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน

แต่เท่านี้ก็ยังไม่ครบถ้วนกระบวนความ ของการเป็นประวัติศาสตร์ตามทางของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หากที่สำคัญไม่น้อยก็คือ เรื่องในอดีตนั้น ต้องเกี่ยวพันกับการกระทำของคนจำนวนมากหรือมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก

ทำให้คนรุ่นต่อมา คือนักประวัติศาสตร์สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในท้ายที่สุดนั่นคือ ต้องมีคนทำการนำเสนอถ่ายทอดหรือจดจำเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว และพรรณนาทำให้มันเป็นเรื่องราวที่คนอื่นๆ ยังรับรู้ได้ จึงจะทำให้สิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปได้อย่างสมบูรณ์

ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติคือประวัติศาสตร์ แห่งการเปลี่ยนแปลงแบบของรัฐบาลหรือตัวผู้นำรัฐ กล่าวได้ว่านับแต่มีการก่อตั้งสังคมและมีการผลิตทางสังคมเพื่อรักษาค้ำจุน และสร้างเสถียรภาพให้แก่ชีวิตของมนุษย์ในชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ได้นำไปสู่การใช้อำนาจเพื่อสร้างและรักษาสิ่งที่เรียกว่า“ระเบียบสังคม” เอาไว้ไม่ให้สั่นคลอนและสูญสลายไปได้

กำเนิดของอำนาจจึงมาพร้อมกับการเกิดชนชั้นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง หลังจากนั้นก็มีปัญหาและความขัดแย้งในหมู่ผู้นำกันเอง จนนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง และแบบของรัฐบาลขณะนั้น การอธิบายทำนองนี้ ว่าไปแล้วก็เป็นการคิดและมองแบบสมัยใหม่

ในสมัยโบราณยังไม่มีการจำแนกแยกแยะ ระหว่างการยึดอำนาจ รัฐประหารและการปฏิวัติ ว่ามีความหมายนัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงยังไม่มีประวัติศาสตร์ ของการปฏิวัติกบฏอะไรทั้งสิ้น แต่มีการใช้กำลังเข้าแย่งยึดรัฐ และที่มาของอำนาจในแต่ละชุมชน

การที่ไม่มีประวัติศาสตร์หมายความว่า สังคมนั้นไม่มีการศึกษาและสร้างบทเรียนของการกบฏปฏิวัติขึ้นมา อย่างเป็นระบบและเป็นทางการนั่นเอง

เมื่อไม่มีการจำแนกแยกแยะว่าการปฏิวัติคืออะไร แตกต่างจากรัฐประหารหรือกบฏและจลาจลอย่างไร ศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” ที่มีความหมายแน่นอนว่าคือการใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในระบอบการปกครองและสังคมอย่างฉับพลันและรุนแรง แบบที่เรารู้จักและเข้าใจในปัจจุบันนั้น ก็ไม่มีใช้ในสมัยโบราณ

นั่นคือไม่มีศัพท์ว่า “ปฏิวัติ” ไม่ว่าในภาษากรีก ละติน อังกฤษ จีน บาลี สันสกฤต และไทย ลาวด้วย จริงๆ แล้วคำว่า “ปฏิวัติ” “revoluzione” หรือ revolution เป็นศัพท์ที่ถูกคิดประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ อย่างมากก็ราวๆ ๕ ศตวรรษมานี้เอง

การปฏิวัติในความหมายใหม่ ไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงผู้นำหรือรัฐบาลด้วยวิธีการอันรุนแรงเท่านั้น หากที่สำคัญยังมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโครงสร้างหลักๆ ของระบอบการปกครองไปถึงระบบเศรษฐกิจสังคมนั้นๆ ด้วย

ถ้าพูดให้ชัดๆ ก็คือความหมายนัยของการปฏิวัติสมัยใหม่ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของปรัชญาลัทธิแสงสว่าง (Enlightenment) นักคิดดังๆ ได้แก่ ล็อค รุสโซ วอลแตร์ และค้านท์ ซึ่งเชื่อในทฤษฎีว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์และสังคม

ทำให้การมองและวางเป้าหมายให้แก่การกระทำของมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต้องเคลื่อนที่ไปสู่คุณภาพที่ดีกว่าและสูงขึ้น ทำให้การศึกษาและตีความประวัติศาสตร์ เริ่มได้รับอิทธิพลของความคิดเรื่องความก้าวหน้าสำนักปรัชญา ที่ยกระดับและทำให้การวิเคราะห์ตีความประวัติศาสตร์

ว่าคือการเคลื่อนไหวไปสู่จุดหมายที่ก้าวหน้า อย่างเป็นลำดับขึ้นได้แก่ลัทธิเฮเกล ซึ่งประกาศว่าจุดหมายสูงสุดของประวัติศาสตร์คือเสรีภาพแนวคิดดังกล่าวถูกปฏิวัติ โดยลูกศิษย์หัวรุนแรงกว่ามาเป็นลัทธิมาร์กซิสม์

ด้วยการเสนอคำขวัญอันปลุกเร้าใจนักต่อสู้ที่ปฏิวัติทั้งหลายว่า “กงล้อประวัติศาสตร์ย่อมหมุนไปข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นั่นคือการปฏิวัติที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปลดปล่อยทางชนชั้นในรัฐและสังคมอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว

ความคิดว่าด้วยการกบฏปฏิวัติในสมัยโบราณ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งนักคิดสมัยโบราณของกรีกและจีน อินเดีย ต่างมีแนวคิดทรรศนะและความเชื่อคล้ายคลึงกันในเรื่องการกบฏปฏิวัติ ในชั้นต้นทั้งขงจื๊อและเพลโตต่างก็ไม่มีความคิดเชิงทฤษฎี อันว่าด้วยการกบฏปฏิวัติแต่อย่างใด

ทั้งนี้เพราะประเด็นเรื่องการปฏิวัติ ยังไม่ใช่โจทย์หรือปัญหาหลักของความคิดและปรัชญาการเมืองในสมัยโน้น ปรมาจารย์เหล่านั้นต่างมองเห็นทะลุปรุโปร่งแล้วว่า หัวใจของการเมืองและการปกครองหรืออำนาจรัฐ อยู่ที่คุณธรรมของผู้ปกครอง

เมื่อได้ผู้ปกครองที่เป็นราชาปราชญ์แล้ว ยังจะต้องมาถามถึงเรื่องกบฏปฏิวัติอะไรกันอยู่อีกเล่า หากจะสรุปความคิดทางการเมืองการปกครองทั้งหลาย ให้เหลือเพียงประเด็นหลักเรื่องเดียว ก็คือเรื่องอำนาจการปกครอง ว่าควรจะอยู่กับใคร

คำตอบก็คือคนพิเศษส่วนน้อย ไม่ใช่ไปอยู่กับคนธรรมดาส่วนมาก ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันมีผลต่อความคิดทางการเมืองต่างก็เวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ ในวังวนของโจทย์ข้อนี้ด้วยกันมาทั้งนั้น จากยุคกรีกโบราณและจีนอินเดียโบราณมาถึงสยามไทยปัจจุบัน

ข้อที่ต่างกันในพัฒนาการทางความคิดการเมือง ระหว่างกรีกโรมันกับโลกตะวันออก ได้แก่การที่ตะวันตกได้มีการศึกษาและตั้งโจทย์ของอำนาจการปกครองหรือรัฐใหม่ ไม่ได้เดินตามความคิดและคำสอนของปรมาจารย์แต่ถ่ายเดียว

หากแต่พัฒนาวิเคราะห์และวิจารณ์เสียใหม่ ให้เปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือแม้เพลโตจะไม่ให้ความสำคัญแก่การปฏิวัติ แต่เขาก็มองเห็นวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงในแบบของรัฐบาลและการปกครอง

ซึ่งตามความเชื่อของเขา ก็มาจากคุณธรรมของผู้ปกครองเองนั่นแหละ ที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จากอุตมรัฐหรือรัฐกษัตริย์ในอุดมคติมาสู่อภิชนาธิปไตย มาสู่คณาธิปไตย แล้วมาสู่ประชาธิปไตยก่อนจะไปถึงทรราชย์

ความจริงเพลโตไม่ได้ตั้งใจเสนอให้เป็นวัฏจักรจริงๆ เพราะจากทรราชย์ ก็ไม่ได้บอกว่าแล้วรูปแบบต่อไปจะกลับไปสู่อะไรอีก ต้องรอถึงสมัยของโพลีเบียส ที่มาเติมเต็มความคิดของเพลโต ด้วยการบอกว่า จากประชาธิปไตยก็ไปสู่การปกครองของม็อบ จากระบอบม็อบก็ไปสู่ภาวะธรรมชาติ

ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ช่วยตีความต่อให้อีกว่า จากภาวะธรรมชาติก็แน่นอนย่อมนำไปสู่การเกิดระบอบกษัตริย์ใหม่อีกครั้ง จากนั้นก็เริ่มวัฏจักรใหม่อีกรอบหนึ่ง

โพลีเบียสจะขยายความศัพท์ของเพลโตให้ละเอียดมากขึ้น ด้วยการบอกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและรัฐบาลนั้น กระทำด้วยการใช้กำลังบังคับ นั่นคือมีการใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภาษาโรมันใช้คำว่า “res novae” ซึ่งแปลว่าการเปลี่ยนระบอบ (change of regime)

การเปลี่ยนของโรมันนี้อาจมาจากการเปลี่ยนแปลง โดยการทำรัฐประหารหรือการปฏิวัติก็ได้ การทำรัฐประหารก็เข้าใจว่าสมัยโน้นคือการยึดอำนาจภายในวัง จะด้วยกลวิธีใดๆ ก็สุดแล้วแต่สถานการณ์
ส่วนการทำการปฏิวัตินั้น คิดว่าเป็นการใช้กองกำลังจากภายนอกพระราชวังเข้ามาทำการล้มอำนาจรัฐลง แบบหลังจึงอาจนองเลือดและรุนแรงมากกว่าแบบแรก

กล่าวโดยสรุปได้ว่าแม้จะไม่มีคำว่าปฏิวัติแบบสมัยใหม่ แต่กรีกโรมันโบราณก็มีศัพท์อย่างน้อย ๒ คำที่มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองและรัฐบาล นั่นคือคำว่า neoterismos ของกรีก และ res novae ของโรมัน

จุดที่น่าสนใจยิ่งต่อไปคือการต่อยอด และพัฒนาความหมายของคำดังกล่าวนี้ให้ลึกซึ้ง และมีบริบททางการเมืองและทางสังคมต่อไป
คนที่ทำให้ภูมิปัญญาและความคิดทางการเมือง ของยุคกรีกโรมันโบราณค่อยๆ ยกระดับขึ้นเป็นทฤษฎีทางการเมือง ได้แก่คนที่เรารู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้วในหลายๆ เรื่อง เขาคืออริสโตเติล

เขาวิพากษ์การมองการเปลี่ยนแปลง ในแบบการปกครองอย่างเป็นวัฏจักรของเพลโต แล้วเสนอความคิดใหม่ ที่วางอยู่บนการวิจัยข้อมูลชั้นต้นว่า การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองและแบบการปกครองโดยเนื้อหาแล้ว ก็คือการเปลี่ยนทางธรรมนูญของการปกครอง

การปฏิวัติก็คือการทำลายธรรมนูญ ซึ่งมีหลายแบบแตกต่างกันไป เช่น ธรรมนูญของระบบกษัตริย์ ธรรมนูญของระบบทรราชย์ ธรรมนูญของระบบอภิชนาธิปไตย ธรรมนูญของระบบคณาธิปไตยและธรรมนูญของระบบประชาธิปไตย

ที่สำคัญคืออริสโตเติลวิเคราะห์ลงไปถึงมูลเหตุ ของการเกิดกบฏปฏิวัติรัฐประหารด้วย ว่าทำไมถึงต้องเกิด เกิดแล้วได้อะไรและเสียอะไร

อันที่จริงนักรัฐศาสตร์ไทย น่าจะประยุกต์ความคิดและภาษาการเมืองแบบกรีกโบราณ มาใช้อธิบายการปฏิวัติในการเมืองไทยบ้างว่าในที่สุดแล้ว ก็คือการดำเนินตามวัฏจักรของรัฐธรรมนูญแบบต่างๆเท่านั้น ไม่ใช่การยึดอำนาจหรือโค่นล้มอำนาจรัฐอะไรลงไป

เพราะจริงๆ แล้วทุกการปฏิวัติ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นประโยชน์ของประชาชนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างสถาพรมั่นคงและมีความหมายนัยต่ออนาคตของระบบการปกครองรัฐไทยมาเลย

มันเป็นเพียงแค่วงจร (ที่ไม่อุบาทว์แล้วเพราะหยุดไม่ได้) ที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น เป็น “ความจริง”ของระบบการเมืองไทย

ในโลกแห่งความเป็นจริง อริสโตเติลเองก็ได้ประสบกับตนเอง ว่ารัฐและรัฐบาลทั้งหลายล้วนมีปัญหา ที่ไม่อาจไปบรรลุความดีได้ มิหนำซ้ำหลายรัฐยังต้องประสบกับปัญหา ของความไม่สงบทางการเมืองและการปกครอง จนเสื่อมทรามลงไปเป็นรัฐที่ห่างไกลจากการใช้ปัญญาและเหตุผลในการปกครองมากขึ้นเรื่อย

ทำไมและจะหาทางออกให้แก่รัฐและการเมืองอย่างไร

เราลองมาศึกษาค้นคว้าดูว่ารัฐและชนชั้นนำสยามไทย ตัดสินใจอย่างไร และทำอย่างไร ในการแก้ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองและการปกครองในช่วงเวลา ๘ ทศวรรษที่ผ่านมา

โปรดอ่านตอนจบ บล็อกถัดขึ้นไปค่ะ

ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ



Create Date : 03 กรกฎาคม 2555
Last Update : 3 กรกฎาคม 2555 10:45:40 น.
Counter : 2879 Pageviews.

0 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด