การปฏิวัติ 2475 กับ สถาบันกษัตริย์ เหนือกฎหมาย ใต้รัฐธรรมนูญ

โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_chi@yahoo.com

(ที่มา : มติชนรายวัน 10 กรฎาคม 2555)



พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ นำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงจากเรือหลวงศรีอยุธยา คราวเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2481


พ.ศ.2478 เป็นครั้งแรกของการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ พ.ศ.2494 เป็นการยุติบทบาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ช่วงเวลา 16 ปีนี้ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามรับมือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เดิมทีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาจากการแต่งตั้งตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่แต่งตั้งครั้งแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงเป็นประธาน, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

คณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ทำให้กำหนดบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

หากความร่วมมืออันดีดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจ ในกลุ่มเจ้านายบางส่วน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลตัดเงินปีของเจ้านาย, ปรับลดฐานะกระทรวงวังลงมาเป็นกรม, จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใหม่, การจัดการพระราชทรัพย์ของรัชกาลที่ 7 ฯลฯ ความกดดันทำให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ปลงพระชนม์ตนเอง

รัฐบาลในขณะนั้นได้แต่งตั้งเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภาทรงเป็นประธานแทน ซึ่งยังคงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นดังเห็นได้จ ากการให้สำนักพระราชวังและกรมราชเลขานุการในพระองค์ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

แรงกดดันดังกล่าวทำให้เกิดรัฐประหาร พ.ศ.2481 ล้มรัฐบาลจอมพล ป. แต่ไม่สำเร็จคณะผู้ก่อการถูกจับในข้อหากบฏซึ่งมีเจ้านายชั้นสูงคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร

สมเด็จพระพันวัสสาฯ, สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ตำแหน่งขณะนั้น) ทรงหารือให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ช่วยเหลือกรมขุนชัยนาทนเรนทรที่ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และถอดฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ได้ทำตามพระราชประสงค์

แต่ยุคของความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลกับผู้สำเร็จราชการฯ ก็เกิดขึ้น

เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ เข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ที่ถึงแก่อสัญกรรมตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2481 แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งบุคคลเข้ามาแทน

เพราะเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสงครามกับอเมริกา, บริเตนใหญ่ นายปรีดีเป็นผู้แทนราชการฯ เพียงคนเดียว ที่ไม่ลงนามในประกาศสงครามดังกล่าว และยังเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะองค์กรใต้ดิน ชื่อ "เสรีไทย"

9 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน

16 มิถุนายน พ.ศ.2489 รัฐสภาแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อปฏิบัติราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ ประกอบด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี

คดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กลายเป็นประเด็นการเมือง ที่ลงเอยด้วยการเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หลังการรัฐประหารรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้ง

ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้มีการกำหนดตำแหน่ง "อภิรัฐมนตรี" ขึ้นโดยประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฏ พระยามานวราชเสวี และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส

อภิรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการในพระองค์, ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์, เป็นผู้แทนพระองค์, เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ฯลฯ

จากนั้นรัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณให้แก่สถาบันกษัตริย์, ถวายคืนทรัพย์สินบางส่วนที่รัฐบาลยึดไว้หลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475, ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491

ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นนิติบุคคล ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการและคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสามารถควบคุมการจัดหาผลประโยชน์ จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มที่

โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ได้ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้เลือกและแต่งตั้งวุฒิสภา, ให้สิทธิในการยับยั้งกฎหมายมากขึ้น, มีสิทธิในการขอประชามติจากประชาชนในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มีอำนาจแต่งตั้งองคมนตรีหรือให้ออกได้ตามพระราชอัธยาศัย, มีอำนาจสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, ผู้สำเร็จราชการฯ ยังแทรกแซงการเมืองด้วยการเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาลจอมพล ป. ฯลฯ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตย กับสถาบันกษัตริย์ที่มีผู้สำเร็จราชการฯ เป็น "คนกลาง" ตัวอย่างที่กล่าวเป็นบางส่วนของการค้นคว้าของผู้เขียน (ศรัญญู) เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ที่ทำให้เห็นว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย ในช่วง 20 ปีแรกนั้น หรือวันที่ประชาธิปไตยของประเทศครบ 80 ปี กลไกสำคัญอย่างรัฐบาล และสถาบันกษัตริย์ที่พยายามปรับตัว และแสดงบทบาทเพื่อรักษาและสร้างความชอบธรรมของตนภายใต้รัฐธรรมนูญ

ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณวิภา จิรภาไพศาล

สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ

ในวาระ 80 ปี การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่ทำให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ถือประชาชนเป็นใหญ่ มีกิจกรรม, ข้อเขียนเพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ

เหตุการณ์ครั้งนั้นยังมีผลกระทบกับบุคคล, องค์กร, สถาบันต่างๆ ในสังคมไทยด้วย

บทความชิ้นหนึ่งในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนกรกฎาคม กล่าวถึงผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ที่ชื่อว่า "คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบใหม่ พ.ศ.2478-94 : ที่มา แบบแผน และการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ"




Create Date : 11 กรกฎาคม 2555
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 18:16:36 น.
Counter : 3200 Pageviews.

0 comments
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)
แนวข้อสอบเข้า มัธยมศึกษาปีที่1 วิชาภาษาไทย เรื่องเสียงของภาษา นายแว่นขยันเที่ยว
(13 มี.ค. 2567 23:29:54 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด