กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กับเส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาที่จะยั่งยืนได้เราก็มาคิดว่าเราจะต้องทำให้ชุมชนมีรายได้ เราก็เลยเฟ้นหาชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศ มาคิดว่าจะมาต่อยอดมูลค่าของการเกษตรคือการท่องเที่ยวได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภายในชุมชน และช่วยที่จะสร้างอาชีพให้แก่พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ ผู้ประกอบการระดับชุมชนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญ ในภาค เกษตรอุตสาหกรรม เป็นเสมือนกำลังหลัก ในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จนนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้นการสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั่วประเทศให้เกิดการเรียนรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาสินค้าและบริการในปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจรูปแบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
หากศึกษาจากพฤติกรรมการเลือกเสพสื่อฯ รวมทั้งการใช้จ่ายซื้อสินค้า ของคนในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะวัยรุ่นไปจนถึงคนสูงอายุ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จะสังเกตได้ว่า คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้ Online Platform ในการทำกิจกรรมต่างๆ แทนการเข้าสังคมแบบเจอหน้า หรือการออกไปซื้อของตามร้านค้า วัดได้จากยอดการเปิดบัญชีของ Social media ที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เรา กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะตัวแทนภาคเกษตรอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน เชิงเกษตรอุตสาหกรรมพร้อมกับการเชื่อมโยงสู่การตลาดท่องเที่ยว และยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายสามารถพัฒนาศักยภาพ เสริมองค์ความรู้ให้มีความพร้อมในการแข่งขันบนตลาดออนไลน์ยุคปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม สู่การตลาดท่องเที่ยว AGRO JOURNEY HUNTER เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมสู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ในช่วงการดำเนินกิจกรรมได้มีโอกาสเห็นกระบวนการดำเนินงาน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการบ่มเพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP การลงพื้นที่ไปสัมผัสประสบการณ์ของต้นกำเนิด และแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์จากชุมชน ตลอดจนได้เรียนรู้และมองเห็นถึงศักยภาพทั้งในตัวพื้นที่ชุมชน และในตัวของทีมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP ทั้ง 5 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาจนถึงรอบนี้
จึงหวังว่าการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยปลุกศักยภาพ และเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและเชื่อมโยงกับการตลาดท่องเที่ยว จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ชุมชนจนสามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ และกลุ่มผู้สนใจผลิตภัณฑ์จากชุมชน ทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในชุมชน ให้สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการชุมชน และกระจายต่อไปยังคนในชุมชนทุกครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
ท้ายที่สุดนี้ ต้องขอขอบคุณทีมงานกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คุณสมศักดิ์ บุญคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ที่มาร่วมเป็นที่ปรึกษาตลอดการดำเนินกิจกรรม พร้อมทั้งเหล่า Mentor ของทีมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP ที่เข้ารอบทั้ง 5 ทีมที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชน ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสวยงาม
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดงานพิธีปิด กิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่การตลาดท่องเที่ยว (Agro Journey Hunter) พร้อมประกาศผลสุดยอดชุมชนต้นแบบ SE Hero ยกระดับผู้ประกอบการวิสาหชุมชน/OTOP ก้าวสู่ความสำเร็จ เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรม ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดงานพิธีปิดกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่การตลาดท่องเที่ยว Agro Journey Hunter : เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม สู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ นับเป็นกิจกรรมพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP ให้เกิดการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ชุมชน ต่อยอดออกมาเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงเกษตรอุตสาหกรรม เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเฟ้นหาต้นแบบ ชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมวิถีชุมชนที่มีศักยภาพ และพร้อมปรับตัวเข้าสู่ตลาดการขายช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน โดยช่วงคิกออฟกิจกรรมได้มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/ OTOP กว่า 200 ราย จากทั่วประเทศ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะและดึงศักยภาพ ก่อนการแข่งขันรอบแรกที่คัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/ OTOP จนได้ผู้เข้ารอบทั้งหมด 60 ราย โดยแบ่งออกเป็น 5 ทีมจากทุกภูมิภาค ได้แก่ 1.ทีม Green Diamond เพชร(สม)บูรณ์ จากจังหวัดเพชรบูรณ์ 2.ทีม ME-NARA ชุมชนคนใต้ จากจังหวัดนราธิวาส 3.ทีมชวนชมนครคง จากจังหวัดนครราชสีมา 4.ทีมสุขสุราษฎร์ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี, 5.ทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โดยทั้ง 5 ทีมจะได้ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพอย่างเข้มข้น กับเหล่า Mentor ผู้เชี่ยวชาญประจำทีมเพื่อพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงเกษตรอุตสาหกรรม ออกมาเป็นคอลเลคชั่นสินค้าที่สะท้อนภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละชุมชน พร้อมเชื่อมโยงสู่เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการคัดเลือกสุดยอดต้นแบบชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมวิถีชุมชน SE Hero :Social Enterprise Hero
สำหรับในพิธีปิดกิจกรรมครั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอดชุมชนต้นแบบ ได้แก่ ทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ส่วนรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีมชวนชมนครคง จากจังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้ยังภายในงานยังมีการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมเสวนาในหัวข้อ มุมมองผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงเกษตร ที่เชื่อมโยงกระแสรักษ์โลกและทิศทางคอนเทนต์ ท่องเที่ยวชุมชนในสื่อออนไลน์ นำทีมวิทยากร โดย คุณศิรพันธุ์ วัฒนจินดา ผู้ก่อตั้ง ECO LIFE คุณสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Local Alike และคุณชนินทร จิตปรีดา จาก Wongnai Travel มาร่วมพูดคุยและรวมถึงกิจกรรมโชว์เคสผลงานผลิตภัณฑ์ของทั้ง 5 ทีม พร้อมจัดแสดงให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้ชมกัน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายประวิตร ชุมสุข ประธานวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชนปรางค์นคร / คณะอนุกรรมการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันการแข่งขันรอบสุดท้ายในโครงการ "AGRO JOURNEY HUNTER เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมสู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้นำชุมชนทั้ง 12 วิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจในพื้นที่อำเภอคง, อำเภอบัวลาย, อำเภอโนนแดง และอำเภอโนนสูง มาเข้าร่วมในกิจกรรมนี้ ซึ่งปรากฎว่าวันนี้ทีมเราได้รับรางวัลรองชนะเลิศและได้รับรางวัล Popular Vote จากการช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้องในจังหวัดนครราชสีมาของเรา ก็ต้องขอขอบคุณทั้ง 12 วิสาหกิจ ที่มีส่วนร่วม และต้องขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้โอกาสทีมเราในวันนี้ สำหรับผลการแข่งขันก็ไม่เป็นไร แต่ว่าทีมงานของเราก็จะกลับไปพัฒนาไปต่อยอด เพื่อจะให้ผลิตภัณฑ์ของเราดีกว่านี้ แล้วก็สามารถที่จะต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชนของเรา
ในการได้มาเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้ายที่โครงการนี้ฯ สิ่งหนึ่งที่ได้รับเป็นสิ่งแรกนั่นก็คือ ในเรื่องของการสร้างเครือข่ายเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องกราบขอบพระคุณ Partner หรือคนช่วยคิดที่สำคัญ นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยเฉพาะอาจารย์ณภัค คณารักษ์เดโช หรืออาจารย์ฝน ตลอดจน Mentor ของเราคืออาจารย์โอ๋ ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองท่านมากๆ ครับ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องความเชื่อและความศรัทธา หรือว่าสายมูเตลู ในวันที่ 20-21 มีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกชื่อว่า "วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox)" หรือวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งปีหนึ่งจะมีอยู่ 2 ครั้งด้วยกัน ก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านมานอนโฮมสเตย์ที่ชุมชนบ้านปรางค์ หรือชุมชนปรางค์นครในวันที่ 20-21 มีนาคม 2565 เราก็จะมีกิจกรรมรับพลังในตอนเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2565 และในตอนเย็นก็จะมีพิธีบูชาไฟ สำหรับท่านที่มีความเชื่อความศรัทธาก็จะขอเชิญชวนทุกท่านครับ
เพราะชุมชนปรางค์นคร อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาของเรา มีวิถีชีวิตของคนโคราชซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนโคราชจริงๆ ท่านจะได้มารับประทานอาหารพื้นถิ่นของคนโคราช อีกทั้งมาช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ เป็นการมากระจายรายได้สู่พี่น้องในชุมชนบ้านปรางค์ของเรา นอกจากนั้นท่านจะได้มาเห็นชุมชนเก่าชุมชนโบราณหรือที่เราเรียกว่า "จ่อมเรือนโคราช" ซึ่งจะเป็น "หย่อม" ที่ยังคงอนุรักษ์ "เรือนโคราช" ไว้เกือบๆ 30 หลัง เป็นเรือนโคราชที่แม้จะเรือนโคราชเก่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี แต่ยังเป็นเรือนโคราชที่มีคนพักอยู่อาศัยและใช้ชืวิตอยู่จริง ก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านมาย้อนบรรยากาศ ย้อนห้วงเวลามาสัมผัสกับวิถีชีวิตโคราชในอดีตกาล หรือโคราชในอดีต ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านครับ
เลขานุการทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าให้อุ้มสีฟังว่า ทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอขอบคุณกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับกิจกรรมที่ดีอย่างโครงการ AGRO JOURNEY HUNTER เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมสู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์
วิสาหกิจฯ ของเรา นอกจากจะเป็นวิสาหกิจที่ยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนแล้ว ยังเป็นการยกระดับชีวืตเกษตรกรของจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชาติพันธุ์ เรายังมุ่งที่จะบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเรามุ่งเน้นตามนโยบาย BCG เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับหมอกควัน ซึ่งการแก้ปัญหาเกี่ยวกับหมอกควันนี้ แทนที่เราจะนำใบไม้หรือวัสดุที่เรามีในพื้นที่มาเผาทำลาย เราจึงได้ค้นคิดและเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงทางธรรมธาติ อาทิ ใบไม้ ด้วยเพราะตัวใบไม้เป็นปัญหาของสิ่งแวดล้อม เราจึงได้นำใบไม้มาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นภาชนะ
ตอนนี้เราพัฒนาต่อยอดจากภาชนะมาเป็นชื้นงานใหม่นั่นก็คือ "วัสดุทดแทนไม้" ซึ่งแผ่นตัวนี้เราต่อยอดทั้งวัสดุที่เป็นการเผาไหม้ที่เป็นเชื้อเพลิงที่อยู่ในป่า แล้วเรานำเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกร ที่อยู่พื้นที่สร้างป่าเอามาทำด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร ให้กับชาวบ้าน ให้กับชุมชน ให้มีอาชีพ
ตัวแผ่นไม้นี้จะเป็นเรื่องของ BCG อีกด้วย เป็นความยั่งยืนในอนาคต ที่ทีมของเราสามารถลดปัญหาหมอกควัน เป็นการลดโลกร้อน และสิ่งที่สำคัญนั่นคือขับเคลื่อนโดยโครงการ "สร้างป่า สร้างรายได้จังหวัดแม่ฮ่องสอน"
เราจึงนำมาอัดเป็นแผ่นแล้วขึ้นรูปเป็นแผ่นๆ เพื่อที่จะลดปริมาณการเผา โดยที่เรารับซื้อมาทำจาก "ตอซังข้าวโพด" จากที่ชาวบ้านนำตอซังข้าวโพดไปเผาทำลาย ชาวบ้านก็นำมาขายให้กับเรา ตอนนี้เรารับซื้อทำให้เกิดเป็นมูลค่ามาเป็นวัสดุใหม่
วันนี้ผลิตภัณฑ์ที่เรานำเสนอ นั่นก็คือ ผ้าทอธรรมชาติ โดยใช้ผ้าฝ้ายทอมือแล้วย้อมสีด้วยเปลือกใบไม้ นอกจากนั้นมีผลิตภัณฑ์ "ถั่วลายเสือ" โกโก้, ป๊อปคอร์น และข้าวกล้อง ซึ่งเป็นข้าวไร่ ซึ่ง texture ของข้าวนี้จะเหมือนข้าวญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง เวลาเราหุงสุกใหม่ๆ จะมีเหมือนยางเหนียวๆ ทำให้รสชาติของข้าวนั้นมีรสอร่อย และนอกจากนั้นเรายังมี "น้ำผึ้ง" เป็นน้ำผึ้งป่าแท้ๆ เพราะว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่เรามีสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการคุ้มครองพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอนุรักษ์พื้นที่เอาไว้ อีกทั้งยังมีพันธุ์พืชอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีการค้นพบที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค ซึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีน้ำผึ้งตัวหนึ่งเรียกว่า "น้ำผึ้งขม" ซึ่งจะหายากมากเพราะในปีๆ หนึ่งเราจะเจอ "น้ำผึ้งขม" น้อยมาก มีสรรพคุณในการรักษาโรค ซึ่งเราเชื่อว่ามีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากน้ำผึ้งทั่วไป และมีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย
ขอขอบคุณกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มีกิจกรรมที่ดีที่ให้เราได้มีโอกาสได้มาเปิดตัวในวันนี้ รางวัลที่เราได้รับในวันนี้เป็นรางวัลของทุกคน ที่ไม่ใช่เฉพาะวิสาหกิจฯ ของเราเท่านั้น แต่เป็นรางวัลสำหรับคนแม่ฮ่องสอนที่เราได้มาแนะนำจังหวัดของเรา รางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดสิ่งใหม่ๆ และเป็นการพัฒนาของผลิตภัณฑ์สินค้า และยังเป็นรางวัลของทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และยังเป็นรางวัลของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และยังเป็นรางวัลที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเหลื่มล้ำทางสังคม ที่เราเชื่อว่าสังคมไทยมีระบบชนชั่น แต่โครงการนี้เป็นโครงการของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านมาส่งเสริมให้เรามีคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งเราเป็นชุมชนที่อยู่ชายแดนและเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกล และเป็นพื้นที่ที่ทุรกันดารแต่ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปถึง และทรงมองเห็นพวกเรา ซึ่งพวกเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งบ่งบอกว่าการช่วยเหลือหรือการเชื่อมโยงระดับชนชั้นของคนไทยมีจริง และรางวัลนี้ยังเป็นรางวัลที่ให้โอกาสกลุ่มชาติพันธุ์ "กะแย" ได้มีพื้นยืนและได้เป็นที่รู้จัก ขอขอบพระคุณค่ะ
นายโอฬาร ธีระสถิตย์ชัย ที่ปรึกษาทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าให้อุ้มสีฟังว่า การที่ผมได้เดินทางมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้เราได้พบกับชุมชน ได้พบกับชาวบ้านที่เขาอยู่กับสินแร่ธรรมชาติและความอัดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่เขายังขาดอยู่นั่นก็คือ "โอกาส"
ทุกวันนี้เราได้เห็น "โอกาส" ตรงนั้น หน้าที่ของผมก็คือมาเติมเต็มจากโอกาสที่เขามีอยู่ สิ่งแรกที่เรามองเห็นนั่นก็คือ ในการนำเอาวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติมาแปรรูป นั่นก็คือ เรื่องของจานใบไม้ แต่หลังจากที่เราดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง เราเห็นในเรื่องของอุปสรรคในเรื่องของการตลาดยังมีอยู่ เพราะว่าต้นทุนของจานใบไม้ ไม่สามารถที่จะแข่งขันกับจานกระดาษที่อยู่ในตลาดได้ ดังนั้นเราจึงต้องหากระบวนการใหม่ๆ หาวิธีการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยให้เกิดการพัฒนาเกิดการต่อยอดขึ้น
จนมาถึงวันนี้เราพัฒนาด้วยการนำเศษวัสดุที่นอกเหนือจากใบไม้แล้ว นั่นก็คือ "ตอซังข้าวโพด" ที่ชาวบ้านเขาปลูกเสร็จ หลังจากการเก็บเกี่ยวเขาจะต้องปลูกรอบถัดไป เพราะฉะนั้นเขาจะต้องทำลาย "ตอซัง" ด้วยการเผา กระบวนการไม้ขีดก้านเดียวนี่แหละครับคือสาเหตุของหมอกควัน PM2.5 ที่พวกเราต้องสูดดมลงไป เพราะฉะนั้นในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งหมด 137,000 ไร่ ที่ปลูกข้าวโพด เหลือต้นข้าวโพดที่คาอยู่ในแปลงประมาณ 125,000 ตัน แปลงมาเป็น "ฝุ่นPM2.5" แปดแสนกิโลกรัมที่ลอยอยู่บนอากาศ นั่นคือสาเหตุครับ แต่วันนี้เราเกิดกระบวนการรับซื้อต้นข้าวโพด ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และเพิ่มมูลค่าของวัสดุตัวนี้ซึ่งจะลดในปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศอย่างฉับพลัน
และนี่คือโครงการที่เรามาเริ่มต้นที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีตำบลชื่อ "บ้านนาปู่ป้อม" ซึ่งตำบลนี้ปลูกข้าวโพดเยอะสุด เราก็เลยนำร่องนำหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ ในการที่จะทำโครงการลดการเผาด้วยการรับซื้อต้นข้าวโพด ตอนนี้เราเป็นโครงการ Pilot Project ด้วยการนำเครื่องจักรเข้าไปเพื่อที่จะไปผ่านกระบวนการ เพื่อที่จะนำต้นข้าวโพดออกมาเพื่อที่จะแปรรูปมาเป็น "วัสดุทดแทนไม้" ได้ ซึ่งโอกาสของการตลาดตัวนี้มีสูงเป็นอย่างยิ่งทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะวัสดุที่นำมาใช้ในเรื่องของการทำไม้อัด ตรงนี้เราต้องปลูกหรือไปตัดต้นไม้มาเพื่อที่จะมาทำไม้อัด แต่ตรงนี้เราไม่ต้องตัดต้นไม้ เราแค่เก็บจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิต แล้วเราสามารถผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ ผลิตเป็นสินค้าที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้ หรือแม้แต่การออกแบบตกแต่งภายใน เราสามารถนำ "วัสดุทดแทนไม้" มาทำได้ ซึ่งมูลค่าทางการตลาดหลายหมื่นล้านบาท/ปี ถ้าเราสามารถที่จะลดในเรื่องของการเผาและเพิ่มมูลค่า ตัวนี้นี่จะสร้างโอกาสทางอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนและคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ตรงนี้คือโครงการนำร่องโดยโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สิ่งที่ผมได้มาในวันนี้ผมรู้สึกว่า ยังมีโจทย์ที่เราจะต้องแก้ไขอีกอย่างมากมาย เพราะนี่ไม่ใช่โจทย์ที่แค่การนำสินค้านำวัสดุดิบออกมา แต่เป็นการทำความเข้าใจกับชุมชน เราต้องลงพื้นที่ในการที่จะทำให้ชุมชนเข้าใจว่า การเผาไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่เรากำลังจะมีวิธีการที่ดีกว่านั้นเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
อย่างแรกเลยเราต้องลงพื้นที่ก่อน ทำพื้นที่ก่อนเพื่อให้ชุมชนได้เข้าใจ ซึ่งเราได้มีกลุ่มชุมชนต้นแบบแล้วลงไปในพื้นที่แล้ว เพื่อที่จะให้เขาได้เข้าใจนกระบวนการที่ว่า สิ่งที่เขาเผาไปนี่มีมูลค่า เพราะฉะนั้นเราจึงได้นำชาวบ้านกลุ่มแรกลงพื้นที่ไปเก็บต้นข้าวโพดออกมา เพื่อมาทำกระบวนการแปรรูปถึงจะเกิดตัวนี้ที่ผมถือเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา
ต้องขอขอบคุณที่วันนี้มีโอกาสได้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ประชาชนคนทั่วไปได้เห็นภาพของชุมชน ในการร่วมมือร่วมแรงในการพัฒนาชุมชน เพื่อลดปัญหาของสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเอง เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะขอชี้แจงกับทุกคนว่า วันนี้คือโอกาสในการที่จะเริ่มต้นสิ่งที่ดี อย่าโทษเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเป็นจำเลยของสังคม เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเขาต้องมีอาชีพ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งที่ให้โอกาส ได้มีพื้นที่ในการมานำเสนอเรื่องราวตรงนี้ครับ
#AgroJourneyHunter #IAID #วิสาหกิจชุมชน #DIProm #travel #NewNormal #agro #LocalAlike #Thailand
ขอขอบคุณ BG : คุณลักกี้ / กล่องเขียนคอมเม้นท์ : คุณ lozocat ของแต่ง BLOG : ป้ามด-ดอกหญ้าเมืองเลย-ชมพร-ญามี่-เนยสีฟ้า
#AgroJourneyHunter #IAID #วิสาหกิจชุมชน #DIProm #travel #NewNormal #agro #LocalAlike #Thailand
Create Date : 07 มีนาคม 2565 |
Last Update : 10 มีนาคม 2565 10:15:42 น. |
|
20 comments
|
Counter : 1148 Pageviews. |
|
|
|
ผู้โหวตบล็อกนี้... |
คุณkae+aoe, คุณเริงฤดีนะ, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณSleepless Sea, คุณจันทราน็อคเทิร์น, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณmultiple, คุณtoor36, คุณเจ้าหญิงไอดิน, คุณนกสีเทา, คุณSertPhoto, คุณNoppamas Bee, คุณStand by bowky, คุณเจ้าการะเกด, คุณสองแผ่นดิน, คุณnewyorknurse, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณคนผ่านทางมาเจอ, คุณpeaceplay, คุณSweet_pills, คุณnonnoiGiwGiw, คุณKavanich96, คุณ**mp5** |
โดย: kae+aoe วันที่: 7 มีนาคม 2565 เวลา:8:17:25 น. |
|
|
|
โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 7 มีนาคม 2565 เวลา:9:19:40 น. |
|
|
|
โดย: multiple วันที่: 7 มีนาคม 2565 เวลา:19:49:06 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 7 มีนาคม 2565 เวลา:20:48:17 น. |
|
|
|
โดย: นกสีเทา วันที่: 7 มีนาคม 2565 เวลา:21:12:41 น. |
|
|
|
โดย: SertPhoto วันที่: 7 มีนาคม 2565 เวลา:21:15:53 น. |
|
|
|
โดย: peaceplay วันที่: 8 มีนาคม 2565 เวลา:20:47:35 น. |
|
|
|
โดย: ถปรร วันที่: 9 มีนาคม 2565 เวลา:8:36:58 น. |
|
|
|
โดย: Kavanich96 วันที่: 10 มีนาคม 2565 เวลา:5:00:17 น. |
|
|
|
โดย: **mp5** วันที่: 10 มีนาคม 2565 เวลา:10:07:54 น. |
|
|
|
|
|