Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2563
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
23 มิถุนายน 2563
 
All Blogs
 

น่าน น้าน นาน (ตอนจบ)

     วันสุดท้าย สองคนพี่น้องออกเดินทางรวดเดียวจากที่พัก อ.ปัว ดิ่งมายังวนอุทยานแพะเมืองผี อ.เมืองแพร่ ก่อนที่จะแวะนมัสการวัดพระธาตุช่อแฮ ถึงกลับสู่อุตรดิตถ์ในฃ่วงบ่ายแก่ๆ



หลังจากมื้อเช้าแล้ว สองคนพี่น้องออกเดินทางจากที่พัก เผยเสน่ห์ฝายแก้ง อ.ปัว ดิ่งลงใต้ผ่าน อ.ท่าวังผา, อ.เมืองน่าน , อ.เวียงสา มายัง จ.แพร่

ขับเพลินไปนิด เลยลืมแวะหอศิลป์ริมน่าน ของอาจารย์วินัย ปราบริปู ซึ่งอยู่ด้านเหนือก่อนเข้าชุมชนเมืองน่านไปอย่างน่าเสียดาย ค่อยรอไว้โอกาสหน้าดีกว่า

ระหว่างทาง น้องผมขอให้แวะยังแผงจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนใกล้ด่านตรวจห้วยน้ำอุ่น ตอนแรกผมเข้าใจว่าคงแวะซื้อไข่มดแดงไว้ลองชิมกระมัง ?

การณ์ปรากฎว่า น้องผมแวะซื้อข้าวหลามไว้เป็นเสบียงมื้อเที่ยงระหว่างทาง โดยแวะกินที่สามแยกบรรจบกับทางหลวงสาย อ.งาว - อ.ร้องกวาง นั่นเอง

อันว่าข้าวหลามเมืองน่านนั้น ไม่หวานมันแบบข้าวหลามหนองมน พอหลามเสร็จ จะปอกผิวไม้ไผ่ด้านนอกออก เหลือเปลือกสีขาวหุ้มไว้บางๆ สามารถใช้มือปอกเองได้ โดยไม่ใช้ฆ้อนทุบหรือตีหัวคนให้แตกแบบข้าวหลามหนองมนแต่อย่างใด

มีเรื่องขำขันล้อเลียนคนเมืองน่านสมัยก่อนเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ เพิ่งเห็นหลอดฟลูอออเรสเซนต์ส่องสว่างเป็นครั้งแรกในชีวิต แทนที่จะเป็นหลอดไส้อันคุ้นเคย ด้วยความตื่นเต้นจนเพื่อนชาวกรุงล้อเลียนว่า "คนน่าน ข้าวหลามแจ้ง" จนกลายเป็นสมญาล้อเลียนตั้งแต่นั้น

แต่ตอนนี้ คงมีชกกันปากแตกแน่ๆ อย่าได้เผลอพูดให้ชาวน่านได้ยินเชียว



พอถึงแยกแม่หล่ายด้านใต้ไปอีกนิด น้องผมชวนไปดูวนอุทยานแพะเมืองผี ซึ่งผมมาราชการที่ จ.แพร่ หนใดไม่เคยไปถึงแพะเมืองผีสักที่ คราวนี้ได้โอกาสละ  จะได้ถือโอกาสไปชมต้นดิ๊กเดียมอันลือชื่อมานานนักหนาด้วย



เพียงเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมวนอุทยานฯ คนละ 20 บาท สองพี่น้องได้เข้าเยือนแพะเมืองผีสมปรารถนา

ขอบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึกไว้หน่อย



ให้ภาพเล่าดีกว่าครับ



เป็นหาบเงินหาบทองประกอบฉากเท่านั้น อย่าได้ฉกแบบตู้ปันความสุขล่ะ



ส่วนคำบรรยายตามลักษณะทางกายภาพจะเป็นอย่างนี้ครับ



สองคนพี่น้องพากันเดินเข้าสู่บริเวณวนอุทยานฯ ทันที

วันนี้ มีลูกเสือออกภาคสนามบริเวณนี้ด้วย ความรู้สึกเหมือนเราสมัยเด็ก หากได้พ้นจากห้องเรียนี่แสนจำเจได้สักวัน ก็มีความสุขแล้ว

ผมสอบถามครูที่ควบคุมคณะลูกเสือว่ามาจากโรงเรียนใด แต่น่าเขกหัวตัวเองที่ดันลืมว่าเป็นโรงเรียนอะไร ?



อย่ามองแค่ตัวนางแบบเป็นหลักนะครับ ผมตั้งใจจะเปรียบเทียบว่าบริเวณที่เขาเรียก "ฉากโรงละคร" นั้น กว้างใหญ่เพียงใด ?



คราวนี้ก็เน้นตัวนางแบบจริงๆ ล่ะ



จากนั้นก็ชวนกันปีนขึ้นมาตรงจุดชมวิวบริเวณผาส่วนบนซึ่งสามารถมองเห็นอาณาบริเวณอุทยานฯ

บริเวณนี้จะเรียกว่า "ผาผ่อแล่" (ผา = หน้าผา , ผ่อ = ดู , แล่ = สิ,เถอะ)



จากทิวทัศน์ที่มองออกไป หากผ่านบริเวณนี้ยามกลางคืนภูมิประเทศจะคล้ายกันหมดอันเป็นเหตุให้หลงได้  พอเข้าคำว่า "เค้าแพะเมืองผี" เช่นกัน



ลักษณะเช่นนี้จะมีปรากฎอีกแห่งที่ อ.นาน้อย จ.น่าน มีชื่อเรียกว่า "ฮ่อมจ๊อม" (ฮ่อม = ร่อง,จ๊อม = แคบ) แต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเหมือนที่นี่  อาจเป็นเพราะมีระยะทางค่อนข้างไกลก็ได้



สิ่งที่แปลกอีกอย่างคู่กับแพะเมืองผี เห็นจะเป็นต้นดิ๊กเดียม ต้นตำหรับที่นี่แหละ



คงไม่กล่าวถึงความเป็นมาและสรรพคุณของต้นดิ๊กเดียมนี้อีกนะครับ เพราะเคยเล่ามาแล้วในตอนที่ผ่านมา

เท่าที่ลองเอามือลูบต้นไม้นี้ ไม่แสดงอาการอะไรออกมาจนสังเกตได้ชัด  อาจเป็นเพราะมีนักท่องเที่ยวหลากหลายคณะมาลองลูบคลำดู จนต้นไม้เกิดอาการ"หมึน" (ด้าน,ชา) ไปแล้วก็ได้



อย่างไรก็ตาม ผมบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึกตามคำขอ  ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงของ จ.แพร่



จากวนอุทยานแพะเมืองผี แทนที่จะกลับไปยังถนนใหญ่ ผมเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงชนบทสายที่ พร.4011 และ พร.3024 เลียบคลองชลประทาน ผ่านบ้านร้องฟอง ไปยังวัดพระธาตุช่อแฮ

พอถึงบ้านร้องฟอง มีป้ายจราจรบอกว่าจะตรงไปหรือเลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านก็ได้ แล้วมาพบทีหลังว่าเส้นทางสายตรงก็มาบรรจบกับเส้นทางสายวัดพระธาตุช่อแฮ ตรงเหนือหมู่บ้านนั่นแล แถมไม่มีรถราวิ่งพลุกพล่านชวนรำคาณใจอีกด้วย

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว พอถึบริเวณวัด กลับนำรถไปจอดบริเวณด้านหลัง ต้องเมื่อยขาปีนขึ้นบันไดไปยังบริเวณเนินอุโบสถและองค์เจดีย์อีกต่อหนึ่งแน่ะ



ขอนั่งพักขาชมพระเจดีย์ ก่อนเข้าไปนมัสการองค์พระประธานในพระอุโบสถต่อไป

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยม บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม

(ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียไทยดอทคอม)




วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่

การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต (กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮอยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2549 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม 123 ตอนที่ 96 ง วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮ ทำพระสมเด็จจิตรลดา)

(ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียไทยดอทคอม)




พระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย

หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1879 - 1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่างๆ รวมทั้งที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน

ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมาก

จนล่วงมาถึง พ.ศ.2467 พระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ และเจ้าอาวาสวัดเมธัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ พร้อมด้วย ครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดแพร่ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่

(ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียไทยดอทคอม)



ถึงแม้จะไม่ได้เกิดในปีขาล แต่น้องผมก็มีจิตศรัทธาเดินนมัสการรอบพระเจดีย์ตามธรรมเนียมโดยมีผมบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก ก่อนที่จะออกเดินทางกลับอุตรดิตถ์

แต่สำหรับน้องผมนั้น ต้องเดินทางต่อไปยังบ้านพักที่ จ.ขอนแก่น ในวันรุ่งขึ้น โดยผมได้ทัดทานให้พักหายเหนื่อยสักหนึ่งคืน ไม่เช่นนั้นจะหักโหมเกินไป ถึงจะเป็นบ้านของตัวเองก็เถอะ

ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ทุกท่านที่ติดตามเรื่องราวนี้มาจนจบนะครับ




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2563
5 comments
Last Update : 23 มิถุนายน 2563 19:33:13 น.
Counter : 2865 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณKavanich96

 

เคยไปแพะเมืองผีเดือนเมษครับ ร้อนมากกกก ฮ่าๆๆ

 

โดย: ทนายอ้วน 24 มิถุนายน 2563 13:48:27 น.  

 

ผมไปถึงตอนบ่าย เจออากาศร้อนเหมือนกันครับ สมกับเป็นแหล่งหุบลูกรัง

 

โดย: owl2 24 มิถุนายน 2563 20:50:22 น.  

 

ขอบคุณที่แบ่งปัน

 

โดย: Kavanich96 26 มิถุนายน 2563 4:35:32 น.  

 

ขอบคุณครับ

 

โดย: owl2 26 มิถุนายน 2563 17:26:19 น.  

 

น่านเจ้า ..

 

โดย: ป้าทุยบ้านทุ่ง 26 มิถุนายน 2564 10:29:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.