Group Blog
 
 
มีนาคม 2558
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
28 มีนาคม 2558
 
All Blogs
 
ทานตะวัน Express (2)

ต่อจากตอนแรกครับ....

หลังจากอิ่มหนำแล้ว คณะทัวร์ก็ออกเดินทางจากมวกเหล็กพาราไดซ์ รีสอร์ท กลับเส้นทางเดิม ตอนนี้ลูกทัวร์หลายคนที่ไฟธาตุเบา ถึงกับคอพับคออ่อนเป็นทิวแถว แต่ด้วยมารยาทอันดีงาม จึงของดภาพที่ไม่น่าดูนี้เสีย



รถโค้ชแล่นกลับเข้าเขต อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี อีกครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่สะใจโต้โผคณะทัวร์ พาลูกทัวร์ไปชมทุ่งทานตะวันอีกแห่งหนึ่ง คือไร่ทานตะวันของผู้ใหญ่เตี้ยครับ

แต่ด้วยเวลาเข้าบ่ายคล้อย ดอกทานตะวันจึงเกิดอาการก้มหน้าแทบทั้งไร่ ถึงจะจับเงยหน้ายิ้มรับกล้องก็ตาม เลยหันกลับมาดูผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายในเต๊นท์ดีกว่า



ดูท่าทางนักข่าวจากสเปนที่ร่วมคณะทัวร์ให้ความสนใจไวน์พื้นบ้านอยู่ไม่น้อย ทำให้ผมคิดถึงตลาดการค้าระหว่างประเทศที่อาจรุ่งเรืองขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้



พวงมาลัยดอกทานตะวันก็มีจำหน่ายนะครับ ทำให้ผมคิดถึงเพลงระบำชาวเกาะขึ้นทันใด



สรรพสินค้าสำหรับเด็ก หรือว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ซื้อหามาประดับโต๊ะทำงาน ก็ไม่ผิดกติกาแล้วแต่เลือกหาซื้อนะครับ ถ้าใครไปเยือนที่นั่น



แล้วรถโค้ชปรับอากาศนำลูกทัวร์มาปล่อยที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้เดินชมทิวทัศน์ ก่อนนำ พขร. ชค. และ พตร.ไปส่งที่สถานีแก่งเสือเต้น เพื่อนำขบวนรถไฟมารับไปชมอ่างเก็บน้ำต่อไป



เนื่องจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ใกล้ทางรถไฟประมาณปากกับหนวด ดังนั้น ลูกทัวร์จึงเดินย่ำต๊อกไปอย่างสะดวกดาย โดยมีเสียงโทรโข่งของโต้โผจัดทัวร์ตามหลังไปว่า มีเวลาจำกัด อนุญาตให้เดินชมวิวประมาณ 20 นาที แล้วกลับมาขึ้นรถไฟ อย่าขึ้นรถหนอนชมสันเขื่อนซึ่งทอดยาวถึงฝั่งโน้น เพราะใช้เวลาร่วม 45 นาทีทีเดียว ขอให้ช่วยกันรักษาเวลาด้วย



ขอนำเรื่องราวของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาเสนอสักเล็กน้อยครับ...

....................

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม เริ่มดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 โดยกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ

สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2537 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ภายหลังการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมแล้ว

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2542 และทำพิธีปฐมฤกษ์กักเก็บน้ำเขื่อนในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2541 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็นองค์ประธาน และในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ "

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2542

.................................

ข้อมูลจากเว็บไซต์ wikithai.com



นานๆ ครั้ง ถึงจะได้โชว์หุ่นอันหล่อเหลา (เมื่อ 25 ปีก่อน) สักทีครับ อาศัยฝีมือน้องๆ ช่วยถ่ายรูปให้



ทิวทัศน์พร้อมสิ่งที่ตั้งแสดงบริเวณริมเขื่อนครับ ประกอบด้วยหินก้อนเบ้อเริ่มในพื้นที่ ท่อเหล็กระบายน้ำขนาดยักษ์ และลูกปูนที่ส่งเข้าทดสอบคุณสมบัติที่ห้องวิเคราะห์ชขณะก่อสร้างประตูระบายน้ำ



กระดานลื่นรูปร่างแปลกตา เป็นรูปหนุมานอมตัวเขื่อนเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ แถมเกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีด้วยสิ



ด้วยเวลามีจำกัด จะเดินให้ทั่วบริเวณคงไม่ทั่วถึง เลยใช้วิธีลัด เสียเงิน 20 บาทขึ้นหอชมบริเวณเขื่อนดีกว่า



ที่ห้องโถงชั้นล่าง ตรงข้ามเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว มีพระบรมรูปพระนางจามเทวี สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ล้วนแต่เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ของเมืองลพบุรี ประดิษฐานไว้ให้เคารพสักการะด้วยครับ



ก้าวไปที่ลิฟท์อย่างมิรอช้า กดปุ่มแป๊บเดียว เราก็ขึ้นมาอยู่ที่ชั้น 8 ชั้นบนสุดของหอแล้ว



มีวิวทิวทัศน์ให้มองกว้างขวางจุใจล่ะ



ตัวสันเขื่อนอันยาวเหยียด จากมุมมองบนหอคอย อยู่แนวกั้นเขตสองจังหวัดคือ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กับ อ.วังม่วง จ.สระบุรี



ลานจอดรถ และบางส่วนของตัวอ่างเก็บน้ำ มีรถหนอนที่จอดรอรับผู้โดยสารชมเขื่อนเที่ยวต่อไป



ครั้นได้เวลา ต่างมายืนรอขบวนรถไฟที่มาจากสถานีแก่งเสือเต้น เตรียมเดินทางชมอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ยามเย็นครับ



พอลูกทัวร์ขึ้นรถเรียบร้อยแล้ว ขบวนรถไฟก็เคลื่อนตัวข้ามสะพานเลียบอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ โดยไปจอดรอหลีกขบวนรถไฟท้องถิ่นที่ 434 ชุมทางบัวใหญ่ - ชุมทางแก่งคอย ที่สถานีสุรนารายณ์

เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะหากไปจ๊ะเอ๋กันกลางสะพาน เห็นจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีงามนัก

แนวเส้นทางรถไฟเก่าที่โผล่พ้นระดับน้ำเป็นช่วงๆ และผมขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสะพานเลียบอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์สักเล็กน้อย

.....................

สืบเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในเส้นทางรถไฟ (เดิม) ช่วง สถานีรถไฟแก่งเสือเต้น ถึง สถานีรถไฟสุรนารายณ์ ซึ่งเส้นทางตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อน ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องย้ายเส้นทางรถไฟที่จะถูกน้ำท่วมให้ทันกับการสร้างเขื่อน พร้อมทั้งสร้างที่หยุดรถไฟบริเวณดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2540 ใช้เวลา 14 เดือน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2541

ทางรถไฟที่ย้ายมาสร้างใหม่นั้น จะอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำเป็นระยะทางรวม 24 กิโลเมตร เมื่อสร้างเสร็จแล้วเริ่มมีการเดินรถผ่านเส้นทางดังกล่าว ซึ่งจะเห็นขบวนรถวิ่งบนสันเขื่อนลัดเลาะไปข้างๆ อ่างเก็บน้ำ มองดูเหมือนขบวนรถวิ่งไปบนผิวน้ำ จนชาวบ้านเรียกกันว่า รถไฟลอยน้ำ

ตลอด 2 ข้างทางจะได้ชมทัศนียภาพข้างทางรถไฟอันงดงาม

.................

ข้อมูลจากเว็บไซต์ wikithai.com



แนวสะพานซึ่งเห็นแต่ไกลโค้งมาทางขวามือ ก่อนถึงสถานีสุรนารายณ์

ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมชื่อสถานีถึงได้โก้หรูแบบนั้น เพราะตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 (ถนนสุรนารายณ์) ซึ่งเป็นเส้นทางสายเก่าแก่จาก อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ไปยัง จ.นครราชสีมา ก่อนการก่อสร้างถนนมิตรภาพขึ้นในภายหลัง



เป็นครั้งแรกสำหรับผมเช่นกัน ที่มีโอกาสลงมาเดินเล่นบนชานชาลาสถานีสุรนารายณ์ครับ



ชาวคณะจึงถือโอกาสถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึกด้วย เพราะเป็นโอกาสที่หาได้ยากจริงๆ



มาแล้วครับ กับ ข.434 ที่ติดกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อบังแดดอย่างแน่นหนา เพราะต้องวิ่งทวนแสงตะวันแทบทั้งวัน



หลังจาก ข.434 ออกจากสถานีสุรนารายณ์ไปแล้ว ต้องทิ้งช่วงอีก 15 นาที ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนติดตามไป และจอดกลางสะพานเลาะอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อปล่อยให้ลูกทัวร์สัมผัสบรรยากาศยามเย็นก่อนกลับกรุงเทพฯ



เป็นภาพที่หาดูได้ยากเช่นกันครับ เพราะไม่มีขบวนรถโดยสารใดๆ วิ่งผ่านสะพานช่วงเวลาดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวทุ่งทานตะวันของการรถไฟฯ เอง นอกจากขบวนรถที่จัดเฉพาะ เช่น Eastern Orient Express หรือขบวนรถไฟนำเที่ยวเช่าเหมาเองโดยผู้จัดรายการทัวร์แบบนี้เป็นต้น ซึ่งก็ไม่มีใครบ้าจัดเช่นนี้อีก



เหมือนโลกเป็นของเราจริงๆ แต่ชั่วขณะเท่านั้น



แม้แต่พนักงานประจำรถเอง ก็ถือโอกาสชื่นชมบรรยากาศที่หาได้ยากนี้เช่นกัน เพราะมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ



ปล่อยให้ลูกทัวร์แต่ละคนชื่นชมกับบรรยากาศรอบตัวแบบนี้ไปก่อนนะครับ ทราบว่าบันทึกภาพไว้ชื่นชมเองคนละไม่น้อย



ช่วงเวลาที่เหลืออีกเล็กน้อย ก่อนที่รถไฟนำเที่ยวจะเคลื่อนขบวนตีรวดกลับถึงกรุงเทพฯ ในเวลาสองทุ่มเศษ

โชคดีตลอดปีใหม่ 2558 และขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมนะครับ


Create Date : 28 มีนาคม 2558
Last Update : 28 มีนาคม 2558 23:39:45 น. 0 comments
Counter : 2278 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.