Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2563
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
14 มิถุนายน 2563
 
All Blogs
 
น่าน น้าน นาน (2)

วันนี้เป็นรายการทัวร์ตัวเมืองน่านแทบทั้งวันครับ ส่วนใหญ่จะเป็นวัดวาอารามตามประสา คน สว.โชคยังเข้าข้างอยู่บ้าง ที่บรรดาวัดต่างๆนั้น ล้วนตั้งอยู่ใกล้กัน พอเดินข้ามถนนไปมาได้สะดวก รายการยามเช้าก็มีวัดศรีพันต้น วัดช้างค้ำ วัดศรีเมือง และรายการใหญ่ก็คือวัดภูมินทร์ 

ช่วงบ่าย สองคนลุงป้าต่างมีมติร่วมกันว่า ควรนั่งรถรางชมเมือง ของเทศบาลเมืองน่านดีกว่า ก็มีวัดสวนตาล วัดอรัญอาวาส ก่อนกลับมายังที่เดิม

คงได้บุญกุศลมาแจกกันเพียบคราวนี้แหละ



เวลาราวสองโมงเศษ หลังจากโรงเรียนเปิดสอน และสถานที่ราชการเปิดทำงานแล้ว สองคนลุง-ป้าก็ออกจากที่พักไปชมเมืองบ้าง

สังเกตว่าในตัวเมืองน่าน สัญญาณไฟจราจรจะเปิดแต่ละด้านโดยไม่มีสัญญาณให้เลี้ยวขวาแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ที่ขับรถจะต้องระวังตัวกันเอาเองว่าจะเลี้ยวขวาได้ สัญญาณไฟแทบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงแล้ว

ปกติตามที่พักจะมีจักรยานให้ผู้เข้าพักปั่นชมตัวเมืองน่าน ดังนั้น ตามถนนหนทางมักจะมีเลนสำหรับจักรยานแทบทุกสาย จะมีรถยนต์มาจอดบ้างแต่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่จอดแช่เหมือนเมืองอื่นๆ

ขนาดมีรถน้อย ผมยังโดนพี่น้องชาวน่านกดแตรเตือนสติอยู่สองที ข้อหาเงอะงะ ไม่สังเกตระเบียบการจราจรของบ้านเขา

น้องผมสังเกตเห็นวิหารแห่งหนึ่ง สีทองสุกปลั่งทั้งหลัง ขอให้ผมเลี้ยวเข้าไปยังที่จอดรถในวัด อ่านป้ายว่า วัดศรีพันต้น



วัดศรีพันต้น สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ.1960 - 1969 ) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505

ภายในวิหารวัดศรีพันต้นมีภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน

วัดศรีพันต้นเคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่ครูบาขันทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีพันต้นซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มีวิชารักษาคนป่วยด้วยการเป่าคาถาเสกน้ำมนต์และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษาได้ผลดีมากโดยเฉพาะโรคกระดูกและแผลอักเสบจากตุ่มฝีหนองตลอดชีวิตของหลวงปู่ครูบาขันทะ  ท่านได้เมตตาไปรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลน่านเป็นประจำทุกวัน จนถึงแก่มรณภาพ

(ข้อมูลจากเพจ Museum Thailand)



ขอรูปนางแบบจำเป็นมาประดับฉากหน่อย

วิหารที่สวยงามตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยับ มีจิตรกรรมปูนปั้น "พญานาคเจ็ดเศียร" เฝ้าบันไดหน้าวิหาร



เข้านมัสการพระประธานในวิหารครับ



ทางภาคเหนือ จะมีโบสถ์สำหรับพระสงฆ์ทำพิธีทางศาสนา แยกต่างหากจากตัววิหาร ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก และเป็นโบสถ์มหาอุตม์ตือไม่มีช่องหน้าต่างแต่อย่างใด เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมนต์พิธีคงไว้ในตัวโบสถ์ จึงมีจารีตห้ามสุภาพสตรีเข้าไปในโบสถ์

สำหรับผู้ที่เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ คงไม่ถูกใจแน่ๆ



ภายในโบสถ์ ก็เรียบๆ ตามภาพที่เห็น



ภายในวัด ยังมีโรงเก็บเรือยาวประจำคุ้มอีกด้วย

ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณ แต่ก่อนได้กำหนดว่าให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงานตานก๋วยสลาก (ถวายทานสลากภัต) หมู่บ้านใด วัดใด จัดให้มีงาน ตานก๋วยสลาก ก็ให้มีการเชื้อเชิญหมู่บ้าน และวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคีงานตานก๋วยสลากกับการแข่งเรือ เป็นประเพณีคู่กันมาแต่โบราณ ทางราชการจึงถือเอางานตานก๋วยสลาก ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงกลางเวียงของน่าน เป็นการเปิดสนามการแข่งขันเรือของน่านราวปลายเดือนกันยายนในแต่ละปี และงานตานก๋วยสลากจะไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นการแข่งขันนัดปิดสนาม

เอกลักษณ์ของเรือเมืองน่าน มีความงดงามไม่เหมือนเรือแข่งจังหวัดใดในประเทศไทย คือ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือตะเคียนทองทั้งต้น ด้วยเชื่อกันว่ามีความทนทานและผีนางไม้แรง โดยเฉพาะเอกลักษณ์ตรงหัวเรือหรือโขนเรือ ที่แกะสลักเป็นหัวพญานาคแบบล้านนา กำลังแสยะเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายเรือสลักเป็นหางของพญานาค มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าพญานาคมีความศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่ ทำนาได้ตามฤดูกาล ประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งเรืออยู่หลายอย่าง ที่สอดแทรกเป็นกุศโลบายในการสร้างความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนเมืองน่าน เช่น การบูชาสังเวยเทพอารักษ์ที่สิงสถิตอยู่ในไม้ตะเคียนที่จะนำมาทำเรือ เรียกว่า "ผีเรือ”หรือคนภาคกลางเรียกว่า "แม่ย่านางเรือ” เป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันมานาน การนำเรือลงสู่แม่น้ำในรอบปี หรือเวลาแข่งขันเรือต้องหาฤกษ์ หาวัน และเวลา หรือแม้แต่หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลแข่งเรือแล้ว จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญและเลี้ยงผีเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลแม่คนในชุมชน หมู่บ้าน

การแข่งเรือเมืองน่าน ถือได้ว่าเป็นการรวมน้ำใจ รวมจิตวิญญาณ ผสมผสานของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในชุมชนหมู่บ้านที่มีเรือ หากถึงเทศกาลแข่งเรือ ก็จะนำเรือลงน้ำ เพื่อฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน ชาวบ้านจะนำข้าวห่อ เงินทองมาช่วยกันสนับสนุนเรือของหมู่บ้านของตน จึงถือได้ว่า "การแข่งเรือเมืองน่าน ถือเป็นสมบัติ เป็นมรดกของคนน่านทั้งจังหวัด ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง”

การแข่งเรือในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเรือสวยงาม และประเภทเรือเร็ว โดยที่เรือสวยงามนั้น จะเน้นการตกแต่งเรือให้มีรูปร่างต่างๆ อย่างสวยงาม และมีความหมายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน เช่น บางหมู่บ้านจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมีการตกแต่งเป็นวัด และงาช้างดำ แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ในขณะที่บางลำอาจมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านของเมืองน่าน เช่น ฟ้อนล่องน่านซอล่องน่าน หรือดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งจะบ่งบอกความเป็นเมืองน่านในทุกตารางนิ้วของการตกแต่งเรือเลยทีเดียว

เรือประเภทสวยงามนี้ จะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี

(จากเพจ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน)



ดูหัวเรือสิ อร้าอร่ามเพียงใด ?



ส่วนลำเรือนั้น วาดลวดลายที่สวยสดงดงามตลอดลำเรืออีกด้วย

ประเพณีแข่งเรือเมืองน่านนั้น จะเป็นการแข่งขันเฉพาะคุ้มต่างๆ และหน่วยงานในจังหวัดน่านเท่านั้น ไม่เปิดกว้างเหมือนจังหวัดอื่น



จากวัดศรีพันต้น สองคนพี่น้อง ก็ไปยังวัดมิ่งเมืองซึ่งมีศาลพระเจ้าหลักเมืองน่านตั้งอยู่ด้วย



ตั้งใจจะเข้าไปสักการะพระเจ้าหลักเมืองน่าน แต่อยู่ในช่วงงานพิธีสืบชะตาเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เลยชะงักไว้ก่อน



โดยมีปู่อาจารย์กล่าวร่ายค่าวในพิธีอันยืดยาวด้วยสิ



ทำได้แค่ถือโอกาสเก็บภาพเพียงเท่านี้ มาแก้ตัวสักการะในช่วงบ่าย ซึ่งเสร็จพิธีแล้ว



เสียดายที่ไม่ได้เก็บภาพเรือยาวของวัดซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน ดูแค่รถลากไปพลางๆ ก่อนครับ



หลังจากเก็บภาพเสร็จสรรพแล้วก็เสาะหาอาหารใส่ท้องตามธรรมเนียมที่ร้านข้างวัดนั่นแหละ

ส่วนใหญ่จะเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยว ช้าวซอยไก่ ส่วนเครื่องดื่มนั้นจะเป็นน้ำผลไม้ หรือกาแฟสดจากเมืองน่านตามธรรมเนียม



ออกจากวัดมิ่งเมืองก็นำรถไปจอดในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน แต่น้องผมบอกว่า เคยเข้าไปชมข้างในแล้ว เลยสละสิทธิ์เดินข้ามถนนไปวัดช้างค้ำดีกว่า

แวะเซลฟี่กันนิดที่ซุ้มดอกลั่นทม หรือที่เปลี่ยนชื่อให้ทันสมัยเก๋ไก๋ว่า "ลีลาวดี"  ดอกเริ่มร่วงโรยแล้ว



มองดูที่ฟุตบาท มีป้ายบอกไว้ว่า ได้นำสายเคเบิลไฟฟ้าลงดินเรียบร้อยแล้ว






วัดช้างคำ เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1949

พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรง สร้างตามสถาปัตยกรรม ทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย

ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ.1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ

พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถาน สำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอ

พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก

ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด

ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก

หอไตรวัดช้างค้ำวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ดังปรากฏในพระประวัติ ของพระองค์ว่า "ร.ศ.127 พ.ศ.2453 ก่อสร้างหอพระไตรปิฏก ในบริเวณวัดช้างค้ำ 1 หลัง 8 ห้อง ยาว 16 วา 1 ศอก กว้าง 5 วา 2 ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ 13 วา หลังคาทำเป็นชั้น ๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สัก ทำอย่างแน่นหนา มีเพดานจั่ว 2 ข้าง และเพดาน ทำด้วยลวดลายต่าง ๆ พระสมุห์อิน เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง กับจีนอิ๋วจีนซาง เป็นสล่าสิ้นเงิน 12,558 บาท

ลักษณะ โครงสร้างสถาปัตยกรรมมีลักษณะอย่างเดียวกับวิหารและโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้า คู่กับ พระวิหารหลวง อาคารก่ออิฐโบกปูน ยกพื้นสูงมีสิงห์ยืนอยู่ด้านหน้า ตรงเชิงบันใดด้านละ 1 ตัว ตั้งเสาราย รับหลังคาเชิงชายแทนผนัง และก่อผนังปิด ทำเป็นห้องไว้พระธรรม และพระไตรปิฏก ตรงแนวเสาที่รับคาน มีทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูทางเดียว บานประตูสลักเป็นรูปเทวดา 2 องค์ และมีลายปูนปั้น เป็นรูปยอดปราสาท ทำเป็นชั้นติดหน้าต่างด้านละ 3 บาน ผนังด้านหลังปิดทึบ ด้านนอกสองข้างทาง ระหว่างเสารายและผนัง เป็นทางเดินถึงกันได้ตลอดโดยรอบ อาคารสูงหลังคาช้อน 3 ชั้น ไม่มีมุขลด ที่หน้าบัน ใช้แผ่นไม้เรียงต่อกัน เป็นแผ่นๆ ประดับลายปูนปั้น เป็นรูปกนกล้อพระยาครุฑ ระหว่างช่วงเสาประดับด้วยแผ่นไม้จำหลัก ลายกนก เป็นรูปสามเหลี่ยม สลับลายพุ่มข้าวบิณฑ์คว่ำ และรูปพระยาครุฑห้อยลงมาตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา

ภายในมีลักษณะส่วนกว้างแคบ ส่วนยาวลึก เข้าไปภายใน และส่วนสูงชะลูดขึ้นไปมาก ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฏก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบลาน จารอักษรตัวธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นวิหาร ใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมนี

จากเพจวิกิพีเดียไทยดอทคอม



มีแผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดน่าน จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย



มองทิวทัศน์จากมุมไกลกันก่อนครับ



วิหารวัดช้างค้ำ ขอเข้าไปนมัสการพระประธานกันหน่อย



ผมว่า เป็นภาพที่ลงตัวดีไม่หยอก กับพระประธานที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า



กับซุ้มสืบชะตาภายในวิหารครับ



ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย



สิงห์คู่ นั่งเฝ้าตรงเชิงบันได ด้านละตัว



คู่กับนางแบบจำเป็นตามเคย



ป้ายแสดงประวัติของวัดช้างค้ำ



ภายในหอไตรวัดช้างค้ำวรวิหา



พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมนี ที่ประดิษฐานในหอไตรครับ



ตู้เก็บพระไตรปิฏก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบลาน จารอักษรตัวธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก



รูปภาพโบราณที่วางประดับตู้ แสดงว่าสัตว์ป่ายังมีอยู่ชุกชุม



จากทัวร์วัด สองพี่น้องก็เดินข้ามถนนมายังลานโล่ง หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองน่าน



ผมนึกว่าคงอยู่แถวรีสอร์ทเอกชนที่ไหนสักแห่ง แต่มาเจอตัวจังๆ อยู่ที่นี่เอง

ตามที่ผมคิด คงเป็นรถยนต์ใช้งานของแขวงการทางน่านที่ตัดบัญชีแล้ว เพราะรถเอกชนรายอื่นๆ มักจะเป็นยี่ห้อ อีซูสุ และนำตัวถังพื้นบ้านล้านนามาใส่ เลยลงตัว ย้อนความหลังสมัยผมยังเด็กได้แจ่มชัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

สังเกตว่าตัวถังรถจะค่อนข้างสั้น คงมาจากคัทซีของรถดั้มพ์นั่นเอง



แน่นอน สองคนพี่น้องย่อมออกไปแสดงความสุขรับบรรยากาศวัยเยาว์ตามธรรมเนียม



สมัยเด็ก เคยมีผู้ใหญ่ถามผมว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?"

ตอบตามประสาเด็กว่า อยากเป็นคนขับรถยนต์ เพราะท่าทางโก้ ใส่แจ็กเก็ต สวมแว่นตาดำ เท่อย่าบอกใคร เรียกเสียงเฮฮาทั่วหน้า  คราวนี้ ขอย้อนหลังในวัยเยาว์บ้าง



น้องผมยังชื่นชอบเซลฟี่กับฉากหลังที่เป็นไม้ไผ่ลำใหญ่ คงจะเป็นไม้ไผ่ซางที่จังหวัดอื่นเรื่มจะหาดูได้ยากแล้ว



เดินไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ของเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งมีหน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชนคอยให้บริการด้วย เช่นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จองที่พักในอุทยานแห่งขาติในพื้นที่ จ.น่าน ถึง 7 แห่ง รถตู้จัดทัวร์รอบเมืองน่าน และจำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ

"รถรางหลั้งหาออกไปตะกี้เจ้า จะมีรอบบ่ายปู้นละเจ้า" อี่นายหน้าตาสดใสตอบ

"กี๊โมง?"

"บ่ายโมงเกิ่งเจ้า"

"อั้นขอจองรอบนี้ได้ก่ ?"

"มันเมินไปเจ้า เดียวน้องจะออกใบสำรองตี้นั่งเอาหื้อ ใกล้เวลารถออกก้อยมาซื้อตั๋วเนาะ"

เป็นอันว่าหยวน น้องผมออกความเห็นว่าช่วงเวลาที่เหลือ นั่งชิมกาแฟเมืองน่าน และไปเที่ยวชมวัดภูมินทร์



เส้นทางรถรางสายรอบเมืองน่าน ตารางเวลาและสนนราคาตามแจ้ง  โดยสองคนลุง-ป้าคราวนี้ ได้ใช้สิทธิ์ สว.ครับ



นางแบบจำเป็นขอถ่ายภาพคู่กับดอกพวงแสด ที่ผมเห็นคุ้นตาสมัยยังเด็ก  แถมน้ำเลี้ยงยังหวานอร่อยด้วยสิ



หลังจากอิ่มอร่อยกับกาแฟเมืองน่านแล้ว ต่างคนต่างเข้าห้องน้ำเพื่อเตรียมเข้าชมวัดภูมินทร์ต่อไป

กาแฟสดเมืองน่านมีทั่วทุกหัวระแหงครับ รับรองว่าตาสว่างตลอดการเดินทางเชียวล่ะ

ด้านนี้สำหรับป้อจาย



ด้านนี้สำหรับแม่ญิงครับ



ครั้นฤกษ์งามยามดี ต่างพากันเดินข้ามถนนไปยังวัดภูมินทร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน

วัดภูมินทร์ เป็นวัดสำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน วัดมีลักษณะที่สำคัญ คือ โบสถ์และวิหารถูกสร้างเป็นอาคารเดียวกัน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2139 โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เดิมชื่อ วัดพรหมมินทร์ ซึ่งเป็นพระนามของเจ้าเจตบุตรฯ ผู้สร้างวัด สันนิษฐานว่าในภายหลังได้เรียกชื่อกันเพี้ยนมาเป็นชื่อวัดภูมินทร์ ในปัจจุบัน

ภาพของวัดเคยปรากฏบนธนบัตรไทยรุ่นที่ 2 ราคา 1 บาท

พระอุโบสถจตุรมุข (พระอุโบสถที่ประกอบด้วยมุขสี่ด้าน) ของวัดแห่งนี้กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกไปทางด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฏางค์ (หัวไหล่) ชนกันประทับนั่งบนฐานชุกชี ปางมารวิชัย นักโบราณคดีบางส่วนสันนิษฐานว่าแสดงถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่าง ๆ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ในขณะที่บางส่วนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเลียนแบบลักษณะของพระพรหมสี่พักตร์ ซึ่งปรากฏในพระนามของผู้สร้างวัด คือเจ้าเจตบุตรฯ และกลุ่มสุดท้ายมองว่าสื่อถึงพรหมวิหาร 4

วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 ใช้ระยะเวลารวมเกือบ 7 ปี ซึ่งสันนิษฐานว่าในการบูรณะครั้งนี้ได้ทรงมีรับสั่งให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง (คำเมือง : ฮูบแต้ม) ภายในพระอุโบสถจตุรมุข ซึ่งรวมทั้งภาพที่มีชื่อเสียงเช่น ปู่ม่านย่าม่าน หรือ กระซิบรักบันลือโลก ของ หนานบัวผัน

ข้อมูลจากเพจ ไทยวิกิพีเดียดอทคอม



มีป้ายบอกนักท่องเที่ยวให้แต่งกายมิดชิด รัดกุมโดยทางวัดมีชุดให้เช่าไว้บริการ จัดทำโดยองค์กร Knowing Buddha Org. และขอความร่วมมือติดตั้งตามวัดต่างๆ ซึ่งหลายท่านเคยเห็นมาบ้างแล้ว

เดี๋ยวนี้ฝรั่งมังค่ามักจะแต่งกายให้ถูกต้องกับกาละเทศะแล้ว อาจเป็นเพราะทางไกด์ได้เตือนก่อนลงจากรถเข้ามาที่วัด



ยังมีป้ายห้ามจำหน่ายล็อตเตอรี่ภายในบริเวณวัด อันสร้างความรำคาญให้กับนักท่องเที่ยวได้



เดี๋ยวนี้ "ปู่ม่าน ย่าม่าน" เริ่มออกมาเป็นหุ่นโชว์ถ่ายภาพร่วมกับนักท่องเที่ยวแล้



หลังจากน้องผมได้ซื้อดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยเสร็จ เลยขอแถมเป็นรูปโชว์อีกหน่อยหนึ่ง



เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวว่า พระประธานในโบสถ์วัดภูมินทร์แห่งนี้ จะมีถึง 4 องค์ ให้เลือกนมัสการได้ตามใจปรารถนา



ฮูปแต้ม "สูบสาบฮัก" บันลือโลก แต่เลือนไปตามกาลเวลามากแล้ว อาจเป็นว่าทางช่างได้ซ่อมผนังโบสถ์ใหม่ รอให้แห้งสนิท ก่อนที่จะวาดซ่อมแซมต่อไป



คำค่าว "สูบสาบฮัก"ตอนนี้ได้เลือนหายไปแล้ว คงรอการบูรณะวาดใหม่



ฟังคำบรรยายจากเสียงจริงของวิทยากรกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านจำหน่ายของที่ระลึกภายในวัดนั่นแหล



ผนังเดิมที่รอการบูรณะวาดรูปใหม่ครับ




เหนือรูป "ปู่ม่าน ย่าม่าน" ด้านบนนั้น เป็นรูปวาดพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และนิทานชาดกทศชาติ เรื่องพระเจ้าเนมียราชเสด็จขึ้นราชรถไปโปรดไปเทศนาธรรมโปรดเหล่าเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



เป็นฮูปแต้มแสดงถึงเมืองนรก ที่พระเนมิยราชได้เห็น หลังจากได้เทศนาธรรมแก่เหล่าเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



สภาพเมืองอินทรปัตถนคร ในนิทานชาดกเรื่อง พระเจ้าคันธกุมาร ซึ่งสะท้อนภาพสังคมไทยในสมัย รัชกาลที่ 5 ที่การค้าขายเจริญรุ่งเรือง

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



เป็นฮูปแต้มพระพุทธเจ้าท่ามกลางพระสาวกทั้งหกรูป จากซ้ายไปขวาคือ พระราหุล พระสิวลี พระสารีบุตร พระอานนท์ ด้านซ้ายจะเป็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัจจายนะ

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



เป็นฮูปแต้มที่พระเจ้าเนมิยราชได้พบเห็น หลังจากเทศนาโปรดเหล่าเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ยมบาลสั่งให้นายนิริยบาลให้นำสัตว์นรกไปเฆี่ยนเสียคนละร้อยห้าที

สวนรูปบนเป็นคู่ชายหญิงกำลังกางร่มซึ่งได้ทำบุญกุศลไว้ เมื่อสิ้นชีวิตจึงได้เสวยสุขในสวรรค์

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



เป็นภาพแสดงวิถีชาวบ้านในนิทานชาดกเรื่องพระเจ้าคัทธนกุมาร

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



สภาพความรุ่งเรืองของการค้าขายในสมัยนั้น ซึ่งจิตรกรได้นำบรรยากาศในสมัยรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน รวมทั้งเครื่องแต่งกาย หนวดเครารุงรังแบบฝรั่งด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



ยมบาลสามตน แต่งกายแบบชาวตะวันตก

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



สภาพในพระราชวังดูครึกครื้นรื่นเริงทีเดียว

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน


เจ้าคัทธณะทรงดีดพิณปลุกกองกระดูกขาวเมืองชวาทวดี ที่โดนฝูงที่ถูกรุ้ง แร้ง และหงส์จับกินจนเป็นเมืองร้าง กลับคืนชีพตามเดิม

ข้อมูลจากหนังสือ เสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน



เดินชมเพลิน จนหลุดออกจากตัวโบสถ์แทบไม่รู้ตัว



ลองมาดูร้านจำหน่ายของที่ระลึกจากทางวัดซิว่า มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?  สุดท้าย ผมได้แค่หนังสือเสน่ห์ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ น่าน เพียงเล่มเดียว

ส่วนเรือแข่งเมืองน่านจำลองนั้น สนนราคาจะอยู่ที่ลำละ 200 บาทเท่านั้น



แถมจัดใส่แพ็กเกจให้อย่างดีอีกด้วย โดยลูกค้าต้องไปแสดงฝีมือในการประกอบให้เป็นลำที่สมบูรณ์อีกเล็กน้อย



บอกแล้วว่า"ปู่ม่านย่าม่าน" นั้น กำลังเป็น idol สุดฮอตของชาวเมืองน่านจริงๆ



ออกจากวัดภูมินทร์ สองพี่น้องต่างเดินลัดเลาะไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองน่าน

ผ่านบ้านคุณหลวงธนาสุนทร (ช่วง โลหะโชติ) อดีตคหบดีเมืองน่านซึ่งลูกหลานของท่านได้ดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี  บางส่วนยังทำร้านกาแฟออนซอนไว้บริการนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอีกด้วย



ระหว่างที่รอรถรางชมเมืองน่านรอบบ่ายออกเดินทางนั้น ได้วนเวียนแวะชมสินค้าหลายหลากที่ร้านของฝากนครน่าน

มีตั้งแต่กาแฟสด ผลไม้หลากชนิด ถั่วดาวอินคา ไวน์ผลไม้ และเสื้อผ้าซึ่งสกรีนเป็นภาพ"ปู่ม่าน ย่าม่าน" อย่างสวยงาม



ถึงจะอยู่ไกลทะเล แต่ก็มีปลาทูทอด ห้อยกระเป๋าจำหน่ายด้วยล่ะ



พอได้เวลา ทางเจ้าหน้าที่ได้ออกประกาศให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อตั๋วแล้วนั้น ขึ้นมาบนรถเพื่อชมเมืองต่อไ

มองดูใกล้ๆ ปรากฎว่า เป็นคัทซีรถตู้ หรือรถบรรทุกเล็ก สวมตัวถังรถรางลงไป เลยหายสงสัยตั้งแต่นั้น



ผ่านซุ้มลีลาวดีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยังมีดอกอยู่ ทำเอายกกล้องถ่ายภาพแทบไม่ทัน



ผ่านวัดหัวข่วง แต่รถไม่ได้จอดแวะครับ



ผ่านกำแพงเก่าเมืองน่าน



มาจอดให้นักท่องเที่ยวเดินชมวัดจริงๆ ที่วัดสวนตาล เป็นเวลา 20 นาที

“วัดสวนตาล” วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองน่านมาร่วม 600 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่านเมื่อราวปี พ.ศ.1955 โดยสร้างขึ้น ณ บริเวณด้านนอกของกำแพงเมืองน่านด้านทิศเหนือ ซึ่งในอดีตเคยเป็นสวนตาลหลวงมาก่อน

เมื่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา ชื่อวัดจึงถูกเรียกตามชื่อของสวนตาลหลวงนั่นเอง

นอกจากนี้ วัดสวนตาลยังเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าทองทิพย์” ทิพย์แห่งทองพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ด้วย

ซึ่ง“พระเจ้าทองทิพย์” นี้จะประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในวิหารหลังใหญ่ วัดสวนตาล มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่มีขนาดหน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้วและถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1993 โดยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ เพื่อแสดงถึงชัยชนะ ที่พระองค์สามารถยึดเมืองน่านไว้ในพระราชอำนาจได้นั่นเอง

ในทุกๆ ปี เมื่อถึงช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ ชาวน่านจะจัดให้มีงานนมัสการและสรงน้ำ“พระเจ้าทองทิพย์” พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ชาวน่านให้ความเคารพนับถือ และเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองมาแต่อดีตเป็นประจำ

ในบริเวณใกล้ๆ วิหารหลังใหญ่ ยังมีวิหารหลังเล็กอีกหนึ่งหลัง ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐาน
พระศรีอริยเมตไตรยปางนั่งพับเพียบองค์แรกที่พบในภาคเหนือ ซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายนัก พร้อมกับมีพระเจ้า 5 ที่ประดิษฐานอยู่ที่เดียวกัน ทำให้มีประชาชนเดินทางมาสักการะกันเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง

ข้อมูลจากเพจ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน



จากมุมมองที่เห็นได้ชัดเจนครับ



ขอนมัสการพระเจ้าทองทิพย์ พระประธานในโบสถ์วัดสวนตาลก่อน



พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จยังวัดสวนตาล เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2501



พระเจ้าทองทิพย์ ยังได้นำเป็นแผ่นหน้าปกปฏิทินอีกด้วย



ประวัติพระนางปทุมาราชเทวีผู้สร้างพระธาตุสวนตาลและพระธาตุเขาน้อย บนแผ่นปักขตืน (ปฏิทิน) ล้านนา



เจดีย์วัดสวนตาล องค์เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย ต่อมา พระเจ้าสุริยพงษ์ปริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน โปรดให้บูรณะขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.2457 ได้แก้ไขรูปทรงเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ ดังที่เห็นในปัจจุบัน



ระหว่างที่รอรถรางนำเที่ยวกลับมารับนั้น ขอเพลินกับแปลงดอกไม้สวยๆ ในบริเวณวัดไปพลางๆ

เท่าที่สังเกต ตามวัดต่างๆ ในตัวเมืองน่าน จะประดับด้วยสวนดอกไม้สวยๆ สร้างความชื่นชมให้กับผู้มาเยือนครับ



ขอให้อารมณ์ดี มีใจเบิกบาน ประมาณนี้แหละ



ผ่านหน้าบ้านเจ้าของถิ่นกันหน่อย



มาแวะอีกวัดหนึ่งครับ วัดอรัญญาวาส



วัดนี้จะมีอาคารเก็บพระพุทธรูปซึ่งแกะสลักจากต้นพญางิ้วดำ ที่ล้มลงด้วยเหตุธรรมชาติ ถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว



พระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้พญางื้วดำ จะอยู่องค์เล็กหน้าสุด



เป็นไม้พญางิ้วดำที่คงเหลือจากการสลักพระคราวนั้นครับ



ส่งท้ายที่อาคารเก็บพระพุทธรูปพญางิ้วดำ  น้องผมยังบ่นว่าเสียดายที่พลาดโอกาสไปเยือนโฮงเจ้าฟองคำ ซึ่งมีของเก่าเก็บให้ยลมากมาย

แต่วันพรุ่งนี้ จะออกไปยังต่างอำเภอแล้ว



หลังจากนั้นรถรางสายรอบเมืองน่าน ได้พานักท่องเที่ยวกลับมายังที่เดิม

ตัวอักษรที่เห็น เป็นอักษรฝรั่ง แปลงให้คล้ายตัวเมืองเหนือ อ่านได้ความว่า "น่าน" ครับ



แวะกลับมาเอารถ ซึ่งฝากจอดไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ตั้งแต่ยามสายแล้ว  ขอเก็บรูปอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่านไว้สักหน่อย



ขอซูมมาใกล้ๆ เฉพาะตัวอนุสาวรีย์  รู้สึกว่าวันนี้ ลมค่อนข้างจะแรงด้วยสิ



แผ่นป้ายจารึกเกียรติประวัติของท่าน



ส่งท้ายวันนี้ด้วยภาพคุ้มเจ้าราชบุตร ทายาทของท่าน มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นทีเดียว  แต่เป็นสถานที่ส่วนตัวนะครับ จะขอเข้าไปดูตามใจชอบไม่ได

ทัวร์เมืองน่าน ยุติลงเพียงแค่นี้ครับ






 


Create Date : 14 มิถุนายน 2563
Last Update : 15 มิถุนายน 2563 21:15:32 น. 4 comments
Counter : 1984 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณทนายอ้วน, คุณKavanich96


 
คิดถึงเมืองน่านจังครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 15 มิถุนายน 2563 เวลา:20:58:41 น.  

 
เดี๋ยวนี้เมืองน่านกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวไปแล้วครับ ที่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิมๆ


โดย: owl2 วันที่: 15 มิถุนายน 2563 เวลา:21:17:39 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 17 มิถุนายน 2563 เวลา:5:09:58 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: owl2 วันที่: 17 มิถุนายน 2563 เวลา:11:06:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.