All Blog
ก็แค่เอามาผัดรวมๆกัน ..... "ไก่ใต้เท้ากัง"
หนึ่งในอาหารชื่อดังแห่งแคว้นเสฉวน ใครแวะเวียนผ่านไปแถวนั้นก็ยากจะที่หลีกพ้นเมนู "ไก่กังเป่า" หรือ "ไก่ใต้เท้ากัง" นิยามง่ายว่าคือเมนูไก่ผัดพริกกับถั่วลิสง รสนุ่มของไก่ รสกรอบมันของถั่ว รสเผ็ดจัดจ้านของพริก คือผลรวมของสมการความอร่อยของอาหารจานนี้

ตำนานดั้งเดิมของเมนูนี้ เชื่อว่ามาจาก ขุนนางผู้หนึ่งในสมัยตอนปลายของราชวงศ์ชิง ผู้ที่ชาวบ้านมักเรียกขานว่า "ใต้เท้ากัง" มียศเป็นถึงผู้ว่าราชการของเมืองเสฉวน โดยมีอยู่วันหนึ่ง เกิดมีการประชุมด่วนของเหล่าขุนนางที่บ้านของใต้เท้ากัง หลังการประชุมระดมสมองของเหล่าขุนนางตลอดช่วงเช้า ความหิวกระหายก็ได้มาเยือน ใต้เท้ากังจึงรีบสั่งให้คนครัวเอาทำอาหารมาเสิร์ฟเหล่าบรรดาขุนนาง แต่เนื่องจากไม่ได้มีการตระเตรียมอาหารเอาไว้ล่วงหน้า คนครัวจึงเอาของเหลือๆที่มีอยู่ติดบ้านมาผัดรวมๆกัน จนกลายเป็นเมนู "ไก่กังเป่า" หรือ "ไก่ใต้เท้ากัง" ขึ้นมา

เมนู "ไก่กังเป่า" นั้นรสชาติดีเป็นอย่างมาก เหล่าขุนนางต่างยกย่อง ใต้เท้ากังจึงหัวใสเปิดร้านอาหารอันมีเมนู "ไก่กังเป่า" หรือ "ไก่ใต้เท้ากัง" เป็นเมนูขึ้นชื่อ เหล่าบรรดาร้านอาหารอื่นๆในเมืองเสฉวนจึงต่างพากันพยายามลอกเลียนแบบ จนในที่สุดเมนู "ไก่ใต้เท้ากัง" จึงกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อของเมืองเสฉวนไปโดยปริยาย


เตรียมส่วนผสมหลักๆกันก่อนเลย 
วันนี้ก็จะมีสะโพกไก่ทอด
ถั่วลิสงคั่วพอเหลือง
พริกแห้งทอด


ตั้งกระทะไฟกลาง ผัดกระเทียม ขิง น้ำพริกเผาจนส่งกลิ่นหอม


เติมน้ำเปล่าเล็กน้อย เร่งเป็นไฟแรง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาล ใส่น้ำละลายแป้งมัน แล้วเคี่ยวจนเริ่มมีความข้นหนืด


ใส่ไก่ทอดลงผัดเร็วๆให้เข้ากัน


ใส่พริกแห้งทอดกับถั่วลิสงคั่วที่เตรียมไว้ลงไป ปิดท้ายด้วยต้นหอมซอยสักหน่อย แล้วปิดไฟพร้อมเสิร์ฟ
เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วกับเมนู "ไก่ใต้เท้ากัง" หรือ "ไก่กังเป่า" เนื้อไก่นุ่ม ถั่วลิสงรสกรอบมัน และพริกผัดรสจัดจ้าน รสชาติโดยรวมเผ็ดๆ เค็มๆ มันๆ อมหวานเล็กน้อย กินคู่กับข้าวสวยเพลินๆหรือจะกินเป็นกับแกล้มก็อร่อยไม่แพ้กัน
ถึงแม้จะเป็นเมนูจากของเหลือในบ้านๆ แต่ก็สามารถนำมารังสรรค์จนเกิดเป็นตำนานแห่งความอร่อย ของทุกอย่างมีค่าเพียงแค่อย่ามองข้าม ลองใช้จินตนาการดู เราอาจจะค้นพบสมการแห่งความอร่อยของเราเองก็เป็นได้


facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 23 มิถุนายน 2565
Last Update : 23 มิถุนายน 2565 10:33:39 น.
Counter : 3144 Pageviews.

2 comment
กินปอดบำรุงปอด ..... "ผัดปอดบ้าบ๋า"
"บ้าบ๋า" หรือ "ย่าหยา" เป็นคำเรียกพื้นถิ่นของลูกครึ่งจีนมลายูที่เกิดในแถบมาเลเซียและอินโดนิเซีย "บ้าบ๋า" หมายถึง ผู้ชาย ส่วน "ย่าหยา" ก็จะหมายถึงผู้หญิง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการให้ชนกลุ่มนี้ว่าว่า "เปอรานากัน" โดยชาวจีนที่อพยพมาทางแถบนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวจีนฮกเกี๊ยน เชื่อว่าค่อยๆอพยพกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 และยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

รูปแบบวิถีชีวิตของชาวเปอรานากัน หลักๆจะเป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมจีนและมุสลิมมลายู โดยอาจมีการผสมวัฒนธรรมชาวอังกฤษ โปรตุเกส และชาวดัตช์ปนเปอยู่บ้าง โดยสามารถสังเกตได้จากอาหารการกิน บ้านเรือน และเครื่องนุ่งห่ม ที่มักจะเป็นการผสมผสานกันของหลายๆวัฒนธรรม ไม่ได้ยึดหลักอยู่แค่เพียงวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง 

โดยคน "บ้าบ๋า" หรือ "ย่าหยา" นั้น ก็ยังสามารถแตกแขนงเป็นสายอื่นๆที่แตกต่างกันได้อีก ทั้งบ้าบ๋าปีนัง บ้าบ๋าชวา บ้าบ๋ามะลายู บ้าบ๋าสิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งบ้าบ๋าภูเก็ต ซึ่งจะเป็นการปรับตัวของชาวจีนให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น


วันนี้จะมาผัดปอด หลักสำคัญคือก็ต้องเตรียมปอดให้สะอาดที่สุด 
ปอดหมูหนึ่งลูกโตๆราคาไม่ถึง 20 บาท ถูกมากๆ สามารถแบ่งทำกินได้หลายๆมื้อ เตรียมการก็ต้องใช้เวลากันสักหน่อย เริ่มด้วย เอาปอดไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วต่อสายยางอัดน้ำเข้าไปในปอดผ่านทางหลอดลมจนบวมเปล่ง แล้วก็เทน้ำออก (จินตนาการง่ายๆว่าเหมือนอัดน้ำลงไปในลูกโป่งจนพอง จากนั้นก็เทน้ำออก) ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆประมาณ 5-10 ครั้งจนน้ำที่เทออกมาเมือกเหลือน้อย

เอาปอดไปต้มทั้งลูก หรือถ้าหม้อใหญ่ไม่พอ ก็แบ่งเป็นชิ้นใหญ่ๆก็ได้ ต้มกับสมุนไพรง่ายๆอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หรือจะใช้ ขิง พริกไทย ต้นหอม ก็ได้ เคี่ยวไฟกลางไปเรื่อยๆประมาณ 1-2 ชั่วโมง 

เอาปอดมาซอยเป็นเส้นๆ คลุกกับแป้งมัน ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วล้างแป้งออกให้หมด จากนั้นก็นำปอดไปแช่ในนมสดทิ้งไว้อีกอย่างต่ำๆ 3 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยนำมาล้างน้ำให้สะอาดอีกรอบ ก็เป็นอันเสร็จพิธี


วัตถุดิบหลักๆที่จะใช้วันนี้มีสามอย่างคือ ปอดที่เตรียมไว้เอาไปลวกน้ำเดือดให้พอสะดุ้ง หมูหมักหั่นเป็นเส้นหรือจะใช้หมูสามชั้นก็ได้ และหน่อไม้ต้มหั่นเป็นเส้นหรือจะเอาไปเฆี่ยนหยาบๆก็ได้


ตั้งกระทะไฟกลาง ผัดแครอท หอมใหญ่ กระเทียม พริกไทย ขิง


เติมน้ำเปล่าเล็กน้อย เร่งเป็นไฟแรง ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว ซีอิ๊วดำ และน้ำตาลเล็กน้อย ใส่น้ำละลายแป้งมันลงไปอีกสักหน่อย เคี่ยวจนเริ่มมีความข้น


ใส่วัตถุดิบที่เตรียมไว้ลงไปผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันเร็วๆ ตบท้ายด้วยต้นหอมซอยแล้วปิดไฟได้เลย


เรียบร้อยแล้วกับผัดปอดบ้าบ๋า อาหารพื้นถิ่นจีนมลายูสไตล์เปอรานากัน เนื้อหมูหมักนุ่มๆเด้งๆ เนื้อปอดหยุ่นๆ หน่อไม้เนื้อกรุบ ผัดออกมาเค็มๆมันๆอมหวานนิดๆ ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน เป็นการผสมผสานกันของเนื้อสัมผัสที่หลากหลาย กินคู่กับข้าวสวยร้อนๆมีอร่อยเพลินจนลืมอิ่ม
กินปอดบำรุงปอด อาหารที่ดีย่อมมีฤิทธิ์เป็นยา กินดีอยู่ดี รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ


facebook : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 15 มิถุนายน 2565
Last Update : 15 มิถุนายน 2565 10:45:43 น.
Counter : 801 Pageviews.

0 comment
ผัดเส้นใหญ่ไทยประยุกต์ ..... "ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ไข่อบ"
ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ถึงแม้จะมีหลายๆร้านพยายามเคลมว่า สูตรของร้านตัวเองเป็นสูตรแบบโบราณ แต่ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่นั้น เชื่อว่าเพิ่งจะถือกำเนิดมาในประเทศไทยแค่ประมาณ 50-60 ปีนี่เอง คิดสูตรโดยชาวไทยจีนที่มีเชื้อสายกวางตุ้ง หลักๆคือการนำก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่มาผัดกับน้ำมันหมูจนเกรียมหอม มีการใส่เนื้อไก่และไข่ กินคู่กับซอสพริกแบบบ้านๆ โดยในสมัยก่อนนั้นมักจะเรียกว่าก๋วยเตี๋ยวไก่คั่ว

ร้านก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ดังๆส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพ มักอยู่ตามเขตที่มีชาวไทยจีนอาศัยอยู่เช่น ย่านพลับพลาไชย ย่านสวนมะลิ และย่านเยาวราช เวลาเดินผ่านร้าน กลิ่นไหม้ๆของเส้นจากการคั่วกระทะกับน้ำมันหมูหอมฟุ้งเตะจมูกอยู่เนืองๆ

ส่วนใหญ่การผัดก๋วยเตี๋ยวคั่วมักจะผัดกับกระทะเหล็กหรือกระทะทองแดง เพราะการใช้ความร้อนสูงและการกระจายความร้อนอย่างทั่วถึง ตัวกระทะเองก็สมควรไปเผาน้ำมันให้มีความลื่นไม่ติดกระทะก่อน ไม่อย่างนั้นก็ได้ใช้น้ำยาล้างจานกับแผ่นสก๊อตไบร์ทคั่วกับน้ำเย็นกันมันมือแน่ๆ

ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ก็เสมือนเป็นญาติกับผัดซีอิ๊ว แต่ต่างกันตรงที่ผัดซีอิ๊วจะใส่ซีอิ๊วดำลงไปผัดด้วย ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยวคั่วจะใช้แค่ซีอิ๊วขาวหรือน้ำปลาเท่านั้น และมักจะไม่มีการใส่ผักใดๆลงไปผัดนอกจากต้นหอมซอยที่โรยลงไปปิดท้าย และเนื่องการการทำก๋วยเตี๋ยวคั่วจำเป็นต้องผัดเส้นจนเกรียม จึงมักจะเห็นได้ว่าตามร้านเจ้าดังๆ เส้นก๋วยเตี๋ยวมักจะเกรียมติดกันมาเป็นแผ่นๆแลดูคล้ายๆหอยทอดอยู่กลายๆ


เริ่มเตรียมของกันก่อน วันนี้จะใช้เนื้อสะโพกไก่ทอดชิ้นหนาๆที่หมักกับไข่ขาว แป้งมัน และน้ำมันพืช แล้วค่อยนำไปคลุกแป้งมันเอาลงทอดน้ำมันร้อนๆ เตรียมกะเทียมเจียวไว้โรยหน้าด้วยก็จะดีมาก
 

เอาเส้นใหญ่มาผัดไฟแรงกับน้ำมันเล็กน้อยจนเส้นมีความเกรียม
 

ต่อยไข่ใส่ลงไปก่อนหนึ่งฟอง แล้วรีบๆผัดคลุกเร็วๆให้เข้ากัน ปรุงรสง่ายๆด้วยซีอิ๊วขาวหรือน้ำปลาตามชอบ
 

เกลี่ยเส้นให้เป็นแผ่นทั่วกระทะ ใส่ไก่ทอดลงไปให้ทั่วๆแหวกรูตรงกลางเล็กน้อย ตอกไข่ไก่ใส่ลงไปหนึ่งฟอง โรยต้นหอม แล้วหาฝามาปิด อบทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที ถ้ากลัวไหม้อาจหาน้ำมาพรมตามขอบๆฝาเล็กน้อย
 

อบเสร็จแล้วก็โรยกระเทียมเจียวกับต้นหอมตามชอบ เรียบร้อยแล้วกับเมนูก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ไข่อบ เส้นหอมเกรียมกระทะ ไก่ทอดเนื้อนุ่มๆ แถมไข่เนื้อมันๆเยิ้มๆ กินคู่กับซอสพริกศรีราชาผสมน้ำจิ้มไก่ตัดรสมันสักหน่อย อร่อยหอมมันเค็มกลมกล่อม 
วัตถุดิบก็น้อยแถมทำได้ไม่ยากใช้เวลาการทำเพียงแค่ไม่ถึงสิบนาที ถ้าลองทำดูแล้วอร่อยอาจจะติดใจจนไม่อยากจะไปเสียตังค์ซื้อกินตามร้านที่ให้น้อยแถมยังแพงอีกก็เป็นได้ 55555
 

facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 07 มิถุนายน 2565
Last Update : 7 มิถุนายน 2565 9:17:42 น.
Counter : 714 Pageviews.

1 comment
วัตถุดิบแบบจีน ปรุงแบบมุสลิม ชื่อแบบไทย "ข้าวพระรามลงสรง"
เมื่อก่อนตอนสมัยยังเป็นเด็ก ได้มีโอกาสไปเดินเล่นซื้อของแถวย่านเยาวราช เดินนานๆก็หิวก็เลยหาอะไรกิน แล้วดันไปเตะตากับร้านขายข้าวที่เมนูชื่อแปลกๆ "ข้าวพระรามลงสรง" ตอนนั้นก็รู้สึกงงๆว่ามันคืออะไร ทำไมต้องพระรามลงสรง รสชาติมันเป็นยังไง ก็เลยลองเข้าไปนั่งชิมดู สรุปโดยรวมแบบคร่าวๆมันก็คือ ข้าวราดผักบุ้งลวกกับหมูลวกราดด้วยน้ำซอสคล้ายแกงแขกข้นๆเหมือนน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ มีน้ำพริกเผาแบบจีนกินแกล้ม รสชาติโดยรวมจะออกแนวมันๆหวานๆ มีรสเค็มตาม สามรถกินคู่กับไข่ต้มหรือไข่ดาว ก็ถือว่าอร่อยถูกปากอยู่ไม่น้อย

แล้วคำถามคือทำไมต้องพระรามลงสรง สำหรับเรื่องนี้ต้องเล่าเท้าความไปยังสมัยยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังเรืองอำนาจในช่วงยุคสงครามเย็น ชาวจีนในยุคนั้นต่างถูกเพ่งเล็งว่าอาจจะมีความเกี่ยวพันกับระบอบคอมมิวนิสต์ การขายสินค้าและอาหารต่างๆที่เป็นภาษาจีนก็เลยมักจะถูกเพ็งเล็งจากทางภาครัฐไปโดยปริยาย แต่เดิมทีชื่อของเมนูนี้คือ "ซาแต๊ปึ่ง" ซึ่งเป็นภาษาจีนอย่างเห็นได้ชัด เหล่าบรรดาพ่อค้าชาวจีนก็ไม่อยากจะมีปัญหากับรัฐบาลในยุคสมัยนั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อดังกล่าวเป็น "พระรามลงสรง" เพื่อให้เมนูนี้ดูมีความเป็นไทยมากขึ้น พระรามสื่อถึงผักบุ้งและเนื้อหมู น้ำซอสซาแต๊ที่ราดลงไปก็เปรียบกับการลงอาบน้ำ ใช้ตัวละครในวรรณคดีมาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความเป็นไทย ทำให้เมนูยังคงอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน

เดิมทีเมนู"ซาแต๊ปึ่ง"หรือ"พระรามลงสรง" ถือเป็นเมนูของชาวฮกเกี้ยนที่อพยพลงมาอยู่แถวเอชียอาคเนย์ทางตอนใต้ เป็นการประยุกต์ส่วนผสมท้องถิ่นกับส่วนผสมแบบจีนเข้าไว้ด้วยกัน ชาวจีนชอบกินผักบุ้งชอบกินเนื้อหมู ทางแถบเอเชียอาคเนย์ก็มีทั้งกะทิพริกแกงรวมถึงเครื่องเทศต่างๆ อีกทั้งยังชอบหุงข้าวกินเหมือนกัน การผสานทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น กลายเป็นเมนูชื่อไทยๆ วัตถุดิบแบบจีนๆ ราดซอสแบบมุสลิมนั่นเอง


วัตถุดิบหลักๆก็จะมี ผักบุ้งลวกพอสะดุ้ง และ เนื้อหมูหมักกับแป้งมัน ผงฟู ไข่ขาว รวนในน้ำมันพืชไฟอ่อนๆ
เนื้อหมูถ้าไม่อยากรวนน้ำมันก็สามารถเอาไปลวกในน้ำเดือดหรือจะเปลี่ยนเป็นเนื้อวัวแทนก็ได้ ส่วนผักบุ้งก็อาจเปลี่ยนเป็นผักใบเขียวอื่นๆอย่างผักกวางตุ้งหรือคะน้าแทนก็ได้เช่นกัน


น้ำซอสถ้าเอาแบบง่ายๆเลยคือไปซื้อน้ำซอสมาจากร้านขายหมูสะเต๊ะเลยนั่นล่ะ เพราะมันคือซอสตัวเดียวกัน(สะเต๊ะ=ซาแต๊)
แต่ถ้าจะเคี่ยวเองก็ง่ายๆเลยแค่ตั้งกระทะไฟกลางเคี่ยวหัวกะทิให้แตกมัน ใส่พริกแกงมัสมั่นกับพริกแกงแพนงลงไปอย่างละเท่าๆกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลากับน้ำตาลให้หวานนำเค็มเล็กน้อย แล้วค่อยใส่ถั่วลิสงคั่วบทลงไปเคี่ยวจนน้ำซอสมีลักษณะงวดข้น


เตรียมส่วนผสมทุกอย่างเสร็จก็จัดลงจานให้สวยงามตามชอบ โปะข้าวสวยหุงสุกใหม่ๆลงไปสักถ้วย วางผักบุ้งลงไปรองแล้วค่อยเอาเนื้อซ้อนลงไป ราดด้วยนำซอสซาแต๊ที่เตรียมไว้ ถ้ามีงาคั่วก็โรยลงไปสักนิด กินแกล้มกับน้ำพริกเผา คู่กับไข่สักฟอง จะต้มจะดาวจะเจียวก็ตามถนัดได้เลย


ถือเป็นอันเสร็จพิธีกับเมนูพระรามลงสรง เมนูชื่อแบบวรรณคดีไทย วัตถุดิบแบบจีน น้ำซอสแบบมุสลิม 
เนื้อหมูหมักนุ่มๆเด้งๆ ผักบุ้งลวกหวานกรุบ ราดซอสซาแต๊รสหวานมันเค็ม คู่กับข้าวสวยหุงสุกนุ่มๆร้อนๆ อย่าลืมไข่สักฟอง รับรองหอมอร่อยครบเครื่อง อิ่มหนำสำราญกันไปอีกหนึ่งมื้อ
การผสานและความร่วมมือกันของหลายๆวัฒนธรรม อาจจะนำมาซึ่งสิ่งดีๆให้กับสังคม เพราะสุดท้ายแล้ว พวกเราก็ล้วนอยู่บนโลกใบเดียวกัน


facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 01 มิถุนายน 2565
Last Update : 1 มิถุนายน 2565 9:21:12 น.
Counter : 941 Pageviews.

0 comment
ลุ้นรักลุ้นหมู "หมูกรอบสไตล์เวสเทิร์น"
หมูกรอบเป็นหนึ่งในอาหารจานยอดนิยมของคนไทย โดยส่วนมากที่พบก็มักจะเป็นหมูกรอบสไตล์จีน แต่ส่วนน้อยนักที่จะเป็นหมูกรอบสไตล์ตะวันตก โดยหลักๆสิ่งที่ทำให้หมูกรอบสไตล์จีนกับตะวันตกแตกต่างกันก็คือระดับความเปื่อยนุ่มของเนื้อหมูกับระดับความกรอบของชั้นหนัง ซึ่งหมูกรอบสไตล์ตะวันตกจะมีชั้นเนื้อที่เปือยนุ่มแทบละลายในปาก ตรงกันข้ามกับชั้นหนังที่กรอบนานสะท้านกราม และจะทานคู่กับ brown sauce คล้ายๆสเต็ก ทำให้ได้รสนัวๆของหมูแบบเต็มอณู

ไหนๆจะทำหมูกรอบสไตล์ตะวันตก ก็ขอเล่าเรื่องหมูๆของทางฝั่งประเทศอังกฤษสักหน่อย โดยในเมือง Dunow ของประเทศอังกฤษ จะมีประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เชื่อว่าบัญญัติขึ้นโดยเจ้าเมืองเก่าแก่ในยุคนั้น อาจจะด้วยความคิดแแผลงๆหรือเพื่อความสนุกสนานเฮฮาอะไรบางอย่าง จึงได้ประกาศท้าประลองให้เหล่าบรรดาคู่สามีภรรยาชาวเมืองได้เข้าร่วมการแข่งขันครองคู่แสนสุข กติกาก็ง่ายๆแค่ห้ามมิให้คู่สามีภรรยามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นอันขาด ไม่ว่าจะทั้งทางร่างกายหรือทางวาจา ถ้าหากคู่สามีภรรยาคู่ใดสามารถครองคู่อย่างเป็นสุขได้เกินหนึ่งปี รางวัลของผู้ชนะก็คือเนื้อหมูสามชั้นรมควันหรือเบคอนชิ้นโตๆ ที่จะทำให้ครอบครัวอิ่มหนำได้นานนับเดือน 

การแข่งขันครองคู่ชิงหมูดังกล่าวจากประวัติศาสตร์ของชาวเมือง Dunmow ตั้งแต่ริเริ่มประเพณีจนถึงปัจจุบัน มีคู่สามีภรรยาที่สามารถทำได้สำเร็จแค่เพียง 8 คู่ จึงนับได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ดูเหมือนง่ายแต่ยาก เป็นที่มาของสำนวนอังกฤษโบราณที่ว่า "bringing home a baecon" หมายถึง "งานที่สำคัญมากๆที่ต้องทำให้สำเร็จ"


เริ่มต้นเหมือนหมูกรอบทั่วๆไปเลย คือนำสามชั้นชิ้นหนาๆไปต้มในน้ำเดือดๆผสมน้ำส้มสายชูประมาณ 15 นาทีจนสุก จากนั้นก็หาของแหลมทิ่มด้านหนังให้เป็นพรุนทั่วๆ


เอาด้านหนังลงแช่น้ำสายชูประมาณ 4-6 ชั่วโมง จากนั้นก็เอาด้านหนังไปตากแดดหรือผึ่งในตู้เย็นจนแห้งสนิท


หาถาดมีก้นลึก เอาชิ้นหมูวางหันด้านเนื้อลง เทน้ำซุปกระดูกหมูลงไปกะให้แค่ท่วมชั้นเนื้อ สามารถใส่ผักอะไรลงไปในน้ำซุปก็ได้ตามชอบ จากนั้นนำไปอบไฟ 150'Cประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นเร่งไฟเป็น 200'C แล้วอบต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมง 
ระหว่างอบ ถ้าเห็นว่าน้ำซุปเริ่มงวดเกินไปจนแห้ง ก็สามารถเติมน้ำซุปลงไปเพิ่มได้ตลอด 


อบเสร็จพักหมูไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยลองผ่าดู 
หนังกรอบสะท้านกราม เนื้อเปื่อยนุ่มละลายในปากแบบแทบจะไม่ต้องใช้ฟันบด 


ทางด้านน้ำซอส ก็เพียงแค่เอาน้ำซุปที่เหลือจากการอบ กรองเอาน้ำมันออก เอามาตั้งไฟใส่แป้งสาลี เนย และเหล้า ปรุงรสง่ายๆด้วยเกลือพริกไทยซอสมะเขือเทศเล็กน้อย เคี่ยวไปเรื่อยๆจนน้ำซอสมีลักษณะข้นก็เป็นอันเสร็จ 


เรียบร้อยแล้วกับเมนูหมูกรอบสไตล์เวสเทิร์น หมูกรอบสไตล์ตะวันตกที่หนังกรอบสนั่นแต่ชั้นเนื้อเปื่อยนุ่มระดับละลายในปาก เป็นเนื้อสัมผัสที่ตรงกันข้ามแต่ตัดกันอย่างลงตัว กินคู่กับ brown sauce รสนัวๆมันๆเค็มๆเข้มข้นกลมกล่อม 
เพราะเรื่องการครองคู่มันไม่ใช่เรื่องหมูๆ แต่ถ้าสามารถประคองชีวิตคู่ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ก็อาจจะเนื้อหมูชิ้นโตๆตกลงมาในชีวิตก็เป็นได้ เพราะชีวิตคู่มันก็ไม่ต่างจาก "bringing home a baecon" 


facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 25 พฤษภาคม 2565
Last Update : 25 พฤษภาคม 2565 9:48:33 น.
Counter : 667 Pageviews.

4 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  

เสือตะหลิว
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ผู้ชายธรรมดาๆที่รสชาติไม่ธรรมดา
just a man with a nice taste
New Comments