All Blog
ยาจกผงาดสู่จอหงวน ... "กับไตจุ๊ก"(โจ๊กชนะหน้าพระพักตร์)
สวัสดีครับ ... วันนี้เสือตะหลิวจะมาทำเมนูอาหารเช้าที่ใครทุกคนล้วนต้องรู้จัก กับเมนูโจ๊กๆ แต่โจ๊กที่เสือตะหลิวจะมาทำในวันนี้จะเป็นเมนูโจ๊กแบบฉบับโบราณ ที่มีชื่อเรียกว่า "กับไตจุ๊ก" หรือ "โจ๊กชนะหน้าพระพักตร์"

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับตำนานของโจ๊กชนิดนี้กันก่อนนะครับ 

โดยย้อนไปยังยุคสมัยจีนโบราณ มีเด็กน้อยลูกชาวนาฐานะยากจน อยู่มาวันหนึ่งมีนักปราชญ์ผู้หนึ่งมาเปิดโรงเรียนสอนหนังสือในอำเภอ ผู้เป็นพ่อจึงฝากลูกชายตัวเองไปเป็นเด็กรับใช้ภายในโรงเรียน 

ปราชญ์ผู้นั้นเห็นแววความขยันหมั่นเพียรในตัวเด็กน้อยจึงได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้จนสามารถอ่านออกเขียนได้ แต่หลายปีต่อมา เมื่อเด็กน้อยได้เติบโตเป็นเด็กหนุ่ม ปราชญ์ผู้นั้นเกิดเสียชีวิตกระทันหัน ทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวลง เด็กหนุ่มผู้มีเงินติดตัวเพียงน้อยนิดจึงต้องดำรงชีพด้วยการขายผักยังตลาดสด 
ต่อมามีพ่อครัวคนหนึ่งมาซื้อผักที่ร้าน เห็นแววความรอบรู้ในตัวเด็กหนุ่ม จึงแวะเวียนมาซื้อผักที่ร้านเป็นประจำ และด้วยความที่เห็นว่าเด็กหนุ่มมีเงินยังชีพจากการขายผักเพียงน้อยนิด จึงได้ทำอาหารชนิดหนึ่งมาฝากเด็กหนุ่มเป็นประจำ เป็นข้าวที่เอาไปต้มกับน้ำแกงจนเนื้อเนียนละเอียด 

เวลาผ่านไปพอเด็กหนุ่มเก็บหอมรอมลิบได้เงินจำนวนหนึ่งจึงเดินทางไปสอบจอหงวน และสามารถไต่เต้าจนเป็นถึงระดับจอหงวนหน้าพระพักตร์ได้สำเร็จ
ต่อมาจอหงวนผู้นี้ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน และแวะไปเยี่ยมพ่อครัวผู้ใจบุญผู้นั้น ด้วยความคิดถึงจึงขอให้พ่อครัวทำอาหารจานนั้นให้กินอีกที และเนื่องด้วยอาหารจานนั้นยังไร้ชื่อไร้นาม จอหงวนจึงตั้งชื่ออาหารจานนั้นว่า "กับไตจุ๊ก" หรือ "โจ๊กชนะหน้าพระพักตร์"นั่นเอง 

ต่อมาเมื่อตำนานนี้ถูกเล่าขาน คนจีนจึงพยายามให้ลูกหลานของตนกินโจ๊กเป็นอาหารเช้าทุกๆวัน เพราะเชื่อว่าลูกจะกลายเป็นคนหัวดีจนผงาดสู่จอมหงวนไปในสักวันหนึ่ง

หลังจากที่เรารู้จักกับเมนูนี้กันพอสมควรแล้ว เรามาดูวิธีทำกันเลยนะครับ

 
เริ่มจากการเตรียมเครื่องกันก่อนนะครับ 
โดยสำหรับ "กับไตจุ๊ก" จะมีเครื่องหลักๆทั้งหมด 3 อย่างคือ ตับหมู ไส้หมู และหมูบด 
แต่เสือตะหลิวของสารภาพว่าพอดีวันนี้เสือตะหลิวไม่ได้เตรียมไส้กับตับไว้ เลยเตรียมได้แค่หมูบดเพียงอย่างเดียว ถ้าใครอยากได้แบบครบสูตรก็เพิ่มตับหมูลวกแค่พอสะดุ้งน้ำ กับ ไส้ตันหมูนึ่งจนเปื่อยนะครับ
หมูบดในวันนี้เราใช้หมูประมาณ 3 ขีด นวดผสมรวมกับ กระเทียมสับ 2 ช้อนโต๊ะ
ขิงสับ 2 ช้อนโต๊ะ
พริกไทย 1 ช้อนชา
น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ 
ไข่ขาว 1 ฟอง
แป้งมัน 2 ช้อนโต๊ะ 
ผงฟู(ถ้ามี) 1/2 ช้อนชา 
นวดผสมให้เข้ากันแล้วแช่ตู้เย็นทิ้งไว้อย่างต่ำๆ 3 ชั่วโมงนะครับ


หมักเสร็จแล้ว ก็เอาหมูมาปั้นเป็นก้อนๆ ก้อนใหญ่ๆก็ได้ครับ เอามาใส่ในน้ำร้อนประมาณ 60-80 'C อย่าใส่ในน้ำเดือดเด็ดขาดนะครับ ลวกไปเรื่อยๆจนกว่าหมูก้อนจะลอยขึ้นมาเหนือน้ำก็ถือว่าใช้ได้ จากนั้นก็เร่งไฟจนเป็นน้ำเดือดแล้วต้มต่ออีกสักประมาณหนึ่งนาทีก็พร้อมใช้งานแล้วครับ 


ทีนี้เรามาดูที่ตัวข้าวกันต่อเลย 
เสือตะหลิวใช้ข้าวสารซาวสะอาดประมาณ 1 ถ้วยตวง จากนั้นเอามาขยำกับไข่เยี่ยวม้า 1 ฟอง ขยำให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียวกันเลยนะครับ 
จากนั้นก็ไปแช่ตู่เย็นทิ้งไว้อย่างต่ำๆ 3 ชั่วโมงก็เตรียมเอามาต้มได้เลย 
แนะนำว่าถ้าอยากให้โจ๊กเปื่อยเร็วๆ ก็เอาข้าวสารไปบดหรือไปปั่นให้ละเอียดก่อนเอามาขยำไข่เยี่ยวม้าก็ได้ จะได้ช่วยประหยัดเวลาตอนต้มครับ 


ตั้งหม้อใส่น้ำมันเล็กน้อย ผัดขิงสับประมาณ 3-5 ช้อนโต๊ะ 
กระเทียมสับประมาณ 1-3 ช้อนโต๊ะ
โคนต้มหอมสับประมาณ 1-3 ช้อนโต๊ะ 
ผัดให้เข้ากันจนหอมนะครับ 


จากนั้นใส่น้ำซุปลงไปต้มจนเดือดไปเลย 
อัตราส่วนง่ายๆ ข้าวสาร 1 ถ้วยตวง ต่อน้ำซุป 10 ถ้วยตวง 


หลังจากน้ำซุปเดือดพล่านก็ใส่ข้าวที่เตรียมไว้ลงไปเต็มทั้งน้ำเดือดๆประมาณ 5 นาที หมั่นคนไปเรื่อยๆ จากนั้นก็เบาไฟจนน้ำเดือดอ่อนๆ แล้วเคี่ยวไปเรื่อยๆจนกว่าข้าวจะเปื่อยเนียนละลายไปกับน้ำซุป 
ถ้าหากบดข้าวมาก่อนจนเนื้อละเอียดก็อาจจะใช้เวลาเคี่ยวประมาณชั่วโมงกว่าๆ แต่ถ้าข้าวยังเป็นเม็ดๆก็อาจจะนานหน่อยประมาณอย่างต่ำๆ 2-3 ชั่วโมง ค่อยหมั่นคนเป็นระยะนะครับ ถ้าน้ำงวดเกินไปจนเม็ดข้าวประทุก็ใส่น้ำเปล่าลงไปเพิ่มได้ตลอด 


ในรูปนี่คือผ่านไปหลายชั่วโมงจนเม็ดข้าวบานเปื่อยเนียนเป็นเนื้อเดียวกันน้ำซุป ในที่สุดก็ได้ที่สักที 55555 


ทีนี้พอจะกินก็ง่ายๆเลยครับ เตรียมชามไว้แล้วประกอบร่างได้เลย ตักข้าวโจ๊กใส่ให้เต็มชาม เทน้ำเต้าหู้หรือน้ำถั่วเหลืองอุ่นๆมาผสมกับข้าวโจ๊กในชามตามชอบเพื่อเพิ่มความหวานมัน ใส่หมูก้อนที่เตรียมไว้ลงไป โรยหน้าด้วยขิงซอยกับต้นหอมซอยสักหน่อย ก็เป็นอันเสร็จพิธีพร้อมเสิร์ฟ ใครชอบเค็มก็เติมซีอิ๊วขาว ใครชอบความเผ็ดร้อนก็จัดพริกไทยลงไปตามชอบ 
นี่แหละคือ "ไตกับจุ๊ก" หรือ "โจ๊กชนะหน้าพระพักตร์" เมนูที่สามารถทำให้เด็กหนุ่มยาจกผงาดสู่ความเป็นจอหงวนได้ในที่สุด 
"อย่าลืมให้ลูกคุณกินโจ๊กทุกเช้านะครับ" 

 
 โดย facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 28 มกราคม 2563
Last Update : 28 มกราคม 2563 9:55:00 น.
Counter : 1750 Pageviews.

1 comment
แซนวิชญี่ปุ่นหลังยุคสงคราม เมนูอาหารแห่งการฟื้นฟูประเทศ "คัตสึ ซังโดะ (Katsu Sando)"
สวัสดีครับ วันนี้เสือตะหลิวจะมาทำเมนูแซนวิชญี่ปุ๊นญี่ปุ่นแบบง่ายๆ แต่รับรองว่าทั้งอร่อยแถมอิ่มท้อง เหมาะมากๆสำหรับมื้อกลางวันอันหิวโหยของใครหลายๆคน

เมนูในวันนี้ก็คือ คัตสึซังโดะ หรืออาจเรียกแบบไทยๆว่าแซนวิชหมูทอดก็ได้ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์คร่าวๆของเมนูกันก่อน 
ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะรู้จักกับขนมปังตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยบาทหลวงชาวโปรตุเกส แต่ขนมปังนั้นกลับเป็นอาหารเฉพาะสำหรับชนชั้นสูง ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถหาทานได้ ต่อมาภายหลังในช่วงประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศญี่ปุ่นได้มีการสร้างเสริมกำลังทหาร ขนมปังจึงถูกนำมาบรรจุเป็นหนึ่งในเมนูสำหรับกองทัพ 

แต่ภายหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกันจึงได้เข้ามาประจำการอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการนำเอาอาหารอเมริกันหลายๆอย่างเข้ามาเผยแพร่ โดยแซนวิชก็เป็นหนึ่งในเมนูเหล่านั้น ต่อมาชาวญี่ปุ่นหัวใสจึงประยุกต์เอาแซนวิชแบบอเมริกันมาเปลี่ยนเป็นแซนวิชแบบญี่ปุ่น และเมนูคัตสึซังโดะ (Katsu Sando) ก็เป็นหนึ่งในเมนูเหล่านั้นนั่นเอง

เมื่อเรารู้กันมาพอแล้ว ก็มาเริ่มทำกันได้เลยครับ


เริ่มจากทำตัวหมูทอดไส้แซนวิชกันก่อนเลยครับ 
โดยปกติคัตสึซังโดะจะใช้หมูทอดแบบทงคัตสึทั้งชิ้น แต่ถ้าใครเคยกินจะรู้ว่าการใส่เนื้อหมูทอดลงไปเป็นไส้ทั้งชิ้น เวลากัดจะกินลำบาก เสือตะหลิวก็เลยประยุกต์โดยการใช้หมูบดทอดมาเป็นไส้แทน
ง่ายๆเลยคือคลุกผสมรวมหมูบดประมาณ 3-4 ขีด กับ
กระเทียม 2 ช้อนโต๊ะ
พริกไทย 1 ช้อนชา
หอมใหญ่สับ 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
ไข่ขาว 1 ฟอง
แป้งมัน 2 ช้อนโต๊ะ
ผงฟู 1/2 ช้อนชา
ผสมจนเข้ากันหมักแช่ตู้เย็นไว้ประมาณอย่างต่ำๆสัก 3 ชั่วโมงกำลังดี จากนั้นจึงเอามาปั้นเป็นก้อนๆ


จากนั้นก็เอามาคลุกแป้ง ชุบไข่ และเคล้ากับเกล็ดขนมปังให้ทั่วๆไปเลยครับ 
คลุกเคล้าเกล็ดขนมปังเสร็จก็เอาไปแช่ช่องแข็งสักประมาณ 1/2 ชั่วโมงแล้วก็เอาออกมาทอดได้เลย 


ทอดน้ำมันไฟปานกลางไปเรื่อยๆจนเหลืองกรอบทั้งสองด้าน 
ทอดเสร็จก็เอาออกมาพักสะเด็ดน้ำมันไว้ เตรียมประกอบร่างได้เลยครับ


ขนมปังของคัตสึซังโดะโดนปกติจะใช้ขนมปังแผ่นหนาๆ แต่พอดีแถวบ้านเสือตะหลิวมีแต่ขนมปังแผ่นบางๆ เสือตะหลิวก็เลยประยุกต์โดยการเอาขนมปังสองแผ่นมาประกบ แล้วเอาชีสแผ่นมาวางตรงกลางเป็นตัวประสาน เราก็จะได้ขนมปังแผ่นหนาๆแล้วครับ
เสือตะหลิวจะหั่นขนมปังเตรียมไว้ก่อนเลยนะครับ 


อันนี้คือซอสทงคัตสึแบบบ้านๆ เสือตะหลิวผสมเองโดยใช้แค่ 
ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วดำ 1 ช้อนชา 
น้ำส้มสายชู 1 ช้อนชา
ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้ละลายเข้ากันดีเราก็จะได้ซอสทงคัตสึแบบบ้านๆแล้วครับ 


เครื่องทั้งหมดพร้อมก็เอามาประกอบร่างได้เลยครับ
ผ่าครึ่งหูทอดที่เราเตรียมไว้ เอาซอสทงคัตสึมาทาที่ขนมปังด้านใน จากนั้นก็เอามาประกบกับหมูทอดเป็นแซนวิชก็เป็นอันเสร็จแล้วครับ
ถ้ากลัวเลี่ยนก็กินคู่กับต้นหอมสับสักเล็กน้อย รับรองว่าอร่อยเหาะ 


หมูบดทอดปรุงรสกลมกล่อมหอมนุ่มเคี้ยวง่าย ทานคู่กับซอสทงคัตสึรสเปรี้ยวหวานมันเค็มมาเต็มๆ ประกบด้วยแผ่นขนมปังชิ้นหนานุ่มแอบแทรกชีสแผ่นมันๆอยู่
นี่แหละคือเมนูแห่งการฟื้นฟูของประเทศญี่ปุ่นหลังยุคสงคราม จนกลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจวบจนถึงปัจจุบัน
"อย่าเพิ่งยอมแพ้ แค่หาอะไรกินก่อน" 


โดย facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 21 มกราคม 2563
Last Update : 21 มกราคม 2563 9:30:05 น.
Counter : 1281 Pageviews.

0 comment
เผยโฉมต้นกำเนิดแห่งเมนูพาสต้า ... พาสต้า เอจลิโอ้-เออ-ออยโล่ (Aglio e oilo)
สวัสดีครับ วันนี้เสือตะหลิวจะพามาย้อนประวัติศาสตร์ของเมนูพาสต้ากันกับจานพาสต้าที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดแห่งเมนูพาสต้าทั้งปวง
เมนูอันเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดแห่งเมนูพาสต้ามีชื่อเรียกว่า พาสต้า เอจลิโอ้ เออ ออยโล่ (Aglio e oilo) โดยถ้าหากแปลเป็นไทยก็น่าจะเป็น พาสต้าผัดน้ำมันกระเทียม ซึ่งถึงทำได้ง่ายมากๆ แถมยังอร่อยอย่างเรียบง่าย

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับพาสต้ากันก่อน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่า เมนูพาสต้านั้นเกิดจากการที่ มาร์โคโปโล เดินทางไปที่ประเทศจีนในช่วงมองโกลยึดครองประมาณศตวรรษที่ 12 แล้วเกิดไปเห็นเมนูบะหมี่ หลังจากกลับบ้านเกิดจึงได้ประยุกต์มาเป็นเมนูพาสต้าในปัจุบัน

แต่จากการค้นพบทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน หลายวรรณกรรมงานเขียนของอิตาลีในช่วงก่อนศตวรรษที่ 11 ได้มีการระบุถึงเมนูเส้นที่นวดจากแป้ง รวมถึงมีการค้นพบทางโบราณคดีเกี่ยวอุปกรณ์ในการนวดแป้ง อีกทั้งภาพเขียนและศิลปะงานปั้นจากยุคโรมันโบราณที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเมนูพาสต้าในปัจจุบัน โดยสามารถสืบย้อนไปได้ถึงประมาณ 500 ก่อนคริสตกาล 

ดังนั้นด้วยเหตุผลข้างต้น ในปัจุบันเมนูพาสต้าจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเมนูที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอันเป็นอาหารของชาวยุโรปใต้อันมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมาอย่างยาวนาน

เรามาเริ่มทำ aglio e oilo กันเลยดีกว่าครับ รับรองว่าง่ายมากๆแถมอร่อยมากๆด้วย


ก่อนอื่นก็ง่ายๆตามสูตรเลย แค่ต้มเส้นพาสต้า 
โดยในวันนี้เสือตะหลิวจะใช้ เส้นสปาเกตตี้ ใช้เวลาต้มประมาณ 8-10 นาที ลองเคี้ยวเส้นดูว่า al dente (ข้างนอกนิ่มข้างในเป็นไตนิดๆ) ได้ที่หรือยัง 
อย่าลืมใส่เกลือกับน้ำมันลงในน้ำตอนต้มสักเล็กน้อยนะครับ 


ต้มเรียบร้อยก็เอาเส้นสะเด็ดน้ำรอไว้ก่อน ส่วนน้ำต้มเส้นอย่าเพิ่งทิ้งนะครับ เก็บไว้ก่อนเพราะยังต้องใช้ 


ตั้งกระทะไฟปานกลาง ผัดกระเทียมหั่นแว่นบางๆกับพริกไทยดำบดเล็กน้อย จะผัดกับน้ำมันมะกอกหรือเนยก็ได้ครับ 
กระเทียมแล้วแต่ชอบเลย ถ้าชอบก็ใส่เยอะๆ 

ส่วนน้ำมันก็ไม่ต้องห่วงนะครับ ใส่ลงไปให้พอท่วมก้นกระทะไปเลย ส่วนใครที่ชอบรสเผ็ดก็สามารถใส่พริกป่นหรือพริกแห้งหั่นลงไปผัดกับกระเทียมได้เลย 


พอกระเทียมเริ่มเเหลือง ก็เอาเส้นที่เตรียมไว้ลงไปผัดเร็วๆให้กระเทียมกับน้ำมันเคลือบเส้นทั่วๆ ปรุงรสด้วยเกลือตามชอบ
จากนั้นก็ตักน้ำต้มเส้นพาสต้าที่เตรียมไว้ใส่ลงไปคลุกเคล้าพอให้เส้นมีความแฉะหน่อยๆ ไม่ต้องใส่น้ำเยอะนะครับ เอาแค่พอให้เส้นแฉะๆนิดๆ 


ทีนี้ก็ปิดไฟเตาได้เลย จากนั้นเอาผักชีสับละเอียดมาคลุกเคล้าในทั่วๆเส้นไปเลย 
ถ้าชอบผักชีสีเขียวๆ ก็ใส่เยอะๆก็ได้ครับ 


ตักจัดใส่จานให้สวยงามตามชอบ โรยพามาซานกับพริกไทยดำให้ทั่วๆอีกสักหน่อย ก็เป็นอันเสร็จครับกับเมนู เอจลิโอ้ เออ ออยโล่ (aglio e oilo) หรือพาสต้าผัดน้ำมันกระเทียมแบบง่ายๆ 

และนี่แหละคือเมนูต้นกำเนิดแห่งเหล่าพาสต้าทั้งปวง ถึงแม้จะโบราณเก่าแก่นับพันๆปี แต่ความอร่อยยังคงอบอวลอยู่จนถึงปัจจุบัน 


โดย facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี "
 



Create Date : 14 มกราคม 2563
Last Update : 14 มกราคม 2563 9:24:23 น.
Counter : 1301 Pageviews.

1 comment
ฉึกกะฉัก...ฉึกกะฉัก...ปู๊นๆ "ข้าวผัดรถไฟ" มาแล้วจ้าาาาาา
สวัสดีครับ วันนี้เสือตะหลิวจะมาทำเมนูข้าวผัดแบบไทยๆง่ายๆแต่แฝงไปด้วยความอดีตความเป็นมากับเมนู "ข้าวผัดรถไฟ" หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า "ข้าวผัดซีอิ๊ว" นั่นเอง

ข้าวผัดรถไฟถูกประดิษฐ์และเสิร์ฟครั้งแรกเมื่อประมาณเกือบหนึ่งร้อยปีก่อน ในฐานะอาหารสำหรับชนชั้นสูงที่โดยสารบนรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีมายังสถานีหัวหิน เนื่องด้วยในสมัยนั้นรถไฟยังถือเป็นพาหนะที่ทันสมัยและมีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะสามารถโดยสารได้ ข้าวผัดรถไฟจึงกลายเป็นหนึ่งในเมนูสำหรับชนชั้นสูงไปโดยปริยาย

แต่ต่อมาเมื่อราคาค่าโดยสารรถไฟถูกลง เหล่าประชาชนชนชั้นล่างจึงสามารถเดินทางโดยขบวนรถไฟได้เช่นเดียวกัน และนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เมนูข้าวผัดรถไฟเริ่มเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนคนทั่วไป 

แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันคนทั่วไปกลับเริ่มลืมเลือนเมนูข้าวผัดรถไฟ แล้วหันไปหาข้าวผัดไข่กันมากขึ้น ทั้งๆที่ความอร่อยไม่ด้อยไปกว่ากัน แถมยังสามารถปรุงได้ง่ายอีกด้วย

จุดเด่นหลักๆของข้าวผัดรถไฟจะมีความคล้ายคลึงกับข้าวผัดอเมริกันคือ เป็นข้าวผัดไม่ใส่ไข่ แต่จะนำข้าวไปผัดกับซอสจนเคลือบทั่วเม็ดข้าวจนมีรสหอมมันอันเป็นเอกลักษณ์

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาเริ่มกันเลยครับ


วันนี้เราจะมาทำข้าวผัดรถไฟใส่เนื้อกัน 
เนื้อวันนี้จะเป็นเนื้อหมักที่แสนจะนุ่ม 
ง่ายๆแค่หมักเนื้อประมาณ 2 ขีดด้วย
ไข่ขาว 1 ฟอง
แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ
ผงฟู 1ช้อนชา
คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วแช่ตู้เย็นประมาณ 3 ชั่วโมงกำลังดี 


หลังจากหมักเนื้อเสร็จ ตั้งกระทะไฟปานกลางน้ำมันพอท่วม ทอดใบโหระพาให้แห้งกรอบ เพื่อสกัดกลิ่นโหระพาเข้าไปในน้ำมัน 


ตักใบโหระพาออก จากนั้นลดไฟเป็นไฟอ่อนจัดๆ แล้วเอาเนื้อที่หมักไว้ลงไปรวนกับน้ำมันประมาณ 5 นาที จนเนื้อสุกนุ่ม 


เตรียมเนื้อเรียบร้อยแล้วครับ รับรองนุ่มโคตรๆ เข้ากับข้าวผัดรถไฟโคตรๆ 


มาเริ่มผัดข้าวกันต่อเลย วันนี้เสือตะหลิวใช้ข้าวขาวง่ายๆหุงทิ้งไว้ค้างคืน เวลาผัดข้าวจะแห้งเป็นเม็ดๆสวยงาม
ข้าวประมาณ 1-2 ขีดนะครับ 


ตั้งกระทะไฟปานกลาง เอาน้ำมันที่เหลือจากรวนเนื้อเมื่อกี้นี้เอามาใส่ไปเลยครับ ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ
จากนั้นใส่แครอทสับ ก้านขึ้นฉ่ายสับ หอมใหญ่สับ กระเทียมสับ อย่างละประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ผัดให้เข้ากันจนหอมไปเลยครับ 


จากนั้นไม่รอช้า ใส่ข้าวที่เตรียมไว้ลงไปผัดเลย ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสง่ายๆด้วย 
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ 
ซีอิ๊วดำ 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาล 2 ช้อนชา 
พริกไทย 1 ช้อนชา
รีบๆผัดไปเรื่อยๆจนซีอิ๊วดำเริ่มส่งกลิ่นหอมไหม้นะครับ 


ผัดจนกลิ่นซีอิ๊วดำเริ่มมา จากนั้นไม่รอช้า รีบเทเนื้อที่เตรียมไว้ลงไปผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันไปเลยครับ ไม่ต้องผัดนานแค่สักนาทีก็เหลือหลาย 


ปิดท้ายด้วยใบโหระพาสดสักกำเล็กๆ ใส่ลงไปแล้วปิดไฟทันที จากนั้นตลบๆคลุกๆให้เข้ากันก็เป็นเป็นเสร็จพิธีบนเตาไฟ 


จัดใส่จานแล้วตกแต่งให้สวยงามตามชอบ ข้าวผัดรถไฟแบบเก่าจะกินคู่กับเครื่องเคียงจนมีรสชาติหลากหลายไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศสับ แตงกวาสับ พริกขี้หนู และมะนาว 


ดูกันใกล้ๆให้ชัดๆ ข้าวผัดรถไฟเนื้อร่วนมันกำลังดี เนื้อหมักเนื้อนุ่มๆมันๆ หอมกลิ่นซีอิ๊วอบอวลไปด้วยรสมันๆเค็มๆอมหวานหน่อยๆ 
ยิ่งได้กินคู่กับเครื่องเคียงที่เตรียมไว้อันหลากหลายก็ยิ่งรู้สึกอิ่มเอมใจ 

"ข้าวผัดรถไฟ ข้าวผัดสัญชาติไทย ข้าวผัดของคนไทยทุกคนทุกชนชั้น"


โดย facebook page : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชาบชาตรี "
 



Create Date : 08 มกราคม 2563
Last Update : 8 มกราคม 2563 9:02:37 น.
Counter : 1831 Pageviews.

1 comment
OH MY OMELETTE !!! จัดเต็ม กับ ออมเล็ต 3 สไตล์
สวัสดีครับ วันนี้เสือตะหลิวจะมานำเสนอเมนูไข่ๆที่เหล่าชาวโลกล้วนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีกับเมนู "ออมเล็ต"

แต่ วันนี้เสือตะหลิวจะมานำเสนอเมนู "ออมเล็ต" กันถึง 3 สไตล์ โดยแต่ละสไตล์ล้วนแต่มีเอกลักษณ์และความอร่อยที่แตกต่างกันออกไป 

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับเมนู "ออมเล็ต" กันก่อน โดยประวัติศาสตร์ของเมนูนี้ สามารถสืบย้อนไปได้ถึงยุคเปอร์เซียโบราณ (3000 ปีก่อน) ชาวเปอร์เซียโบราณนั้นมีเมนูอาหารที่มาจากการตีไข่รวมกันแล้วนำมาปรุงในกระทะจนสุกเรียกว่า "Kookoo Sabzi" 

ส่วน "ออมเล็ต" ในปัจจุบันนั้น ได้มีการถูกบรรจุไว้ในเมนูอาหารฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงประมาณศตวรรษที่ 16 โดยในยุคนั้นจะเรียกว่า "โฮมเล็ต (Homelette)" หรือแพนเค้กไข่ ต่อมาจึงได้ผันเสียงออกมาเป็น "ออมเล็ต(omelette)" ในภายหลัง 

วันนี้เรามี ออมเล็ต มากันถึง 3 สไตล์ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า รับรองว่าทั้งง่ายทั้งอร่อยแน่นอน


จานแรกจะเป็น ออมเล็ตสไตล์อเมริกัน (American omelette) เริ่มง่ายๆเลยแค่ตีไข่รวมกัน ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย
ใช้ไข่ไก่ 3 ฟองนะครับ


ตั้งกระทะไฟอ่อน ใส่เนยประมาณ 2 ก้อน รอจนร้อนละลายแล้วจึงเทไข่ลงไป 
จากนั้นคนพอให้ไข่กระจายเล็กน้อยแล้วเกลี่ยไข่ให้ทั่วกระทะ แล้วจึงวางเครื่องลงไปตามชอบ วางแค่ครึ่งวงกลมนะครับ 
เครื่องในวันนี้ก็จะมี ชีสแผ่นหั่น แฮมหั่น มะเขือเทศหั่น และต้นหอมซอย 


จากนั้นพับครึ่งวงกลมไปเลยครับ แล้วจัดใส่จานได้เลย
ในรูปนี่คือเกิด accident นิดหน่อย เสือตะหลิวใจร้อนรีบพับไข่เลยฉีก เสือตะหลิวก็เลยแก้เก้อโดยการม้วนเป็นวงกลมแทน 55555
จำไว้นะครับ ออมเล็ตของอเมริกันจะต้องพับครึ่งวงกลม 


จัดใส่จานโรยพริกไทยกับต้นหอมซอยลงน้อยก็เป็นอันเสร็จ กับเมนูจานแรก ออมเล็ตสไตล์อเมริกัน 


เนื้อไข่จะเป็นชั้นๆนุ่มๆโดยที่มีไส้แทรกอยู่ระหว่างกลาง
กินคู่กับซอสมะเขือเทศแบบบ้านๆก็อร่อยเหาะแบบง่ายๆไปเลยครับ 


ไม่รอช้าเรามาดูออมเล็ตจานต่อมากันเลยดีกว่า กับเมนู ออมเล็ตสไตล์ฝรั่งเศส(French Omelette)
เริ่มง่ายๆเหมือนเมนูก่อนหน้าเลยครับ แค่ตีไข่รวมกันปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย แต่ทีนี้เราจะใส่ไส้ลงไปตีรวมกันเลย(ออมเล็ตจานนี้จะยังไม่ใส่ชีสนะครับ)
ใช้ไข่ 3 ฟองเหมือนเดิม 


กระทะไฟอ่อนเนย 2 ก้อน พอร้อนก็เทไข่ใส่ลงไปได้เลย 
ทีนี้ล่ะรีบคนไปเรื่อยๆอย่าหยุดมือนะครับ คนไปเรื่อยๆจนกว่าไข่จะเริ่มจับตัวกัน อย่าให้ไข่สุกจนแห้งนะครับ นึกภาพว่าให้เนื้อไข่ออกเป็นครีมๆ
(ถ้าไข่สุกเร็วเกินก็ยกกระทะออกจากเตาก่อนแล้วคนไปเรื่อย) 


พอไข่เริ่มจับตัวก็โกยไข่ทั้งหมดไปรวมไว้ที่ขอบกระทะจนแน่น จากนั้นก็ตลบพลิกไข่กลับด้านไปเลยครับ
ถ้าสมมติว่าใครอยากใส่ชีส ก็ยัดลงไปในไข่ช่วงนี้ได้เลยครับ ยัดลงไปตรงกลางให้ลึกๆแล้วค่อยตลบไข่ 


หลังตลบไข่เสร็จก็เทไข่ใส่จานโรยพริกไทยกับต้นหอมซอยก็เป็นอันเสร็จครับ กับเมนู ออมเล็ตสไตล์ฝรั่งเศส (french omelette) 


ออมเล็ตสไตล์ฝรั่งเศสเนื้อไข่จะออกเป็นเนื้อครีมนุ่มๆเป็นเนื้อเดียวกันคล้ายๆไข่ตุ๋น 
ยิ่งถ้าใครสายชีสแอบใส่ชีสลงไปด้วยรับรองว่านุ่มหอมมันโคตรๆ 


ในที่วุดก็มาถึง ออมเล็ตจานสุดท้ายของวันนี้แล้วครับ กับเมนู ออมเล็ตสไตล์ปุกปุย(Souffle' omelette)
การเตรียมอาจจะยุ่งยากกว่าสองแบบนิดหนึ่ง แต่รับรองว่าไม่ยากเกินไปแน่นอนครับ 
ง่ายๆเลยแค่แยกไข่แดงกับไข่ขาว แล้วตีไข่ขาวจนขึ้นฟูนะครับ
ไข่ไก่ 3 ฟองเหมือนเดิมเลยครับ 


ส่วนไข่แดงที่แยกเอาไว้ก็ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ใครชอบกระเทียมก็ใส่ลงไปสักหน่อยก็ได้ครับ จากนั้นก็ตีจนกว่าไข่แดงจะแตกมันจนเป็นเนื้อครีมๆ 

 
จากนั้นผสมไข่แดงลงไปในไข่ขาวที่เตรียมไว้แล้วค่อยๆคลุกให้เข้ากัน อย่ารีบคนหรือคนแรงนะครับ 


ตั้งกระทะไฟอ่อนเนย 2 ก้อน พอร้อนก็ใส่ไข่ที่เตรียมไว้ลงไป เกลี่ยไข่ให้พอเสมอกันจากนั้นก็หาฝามาปิดกระทะทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที 


พอครบ 3-5 นาทีก็เปิดฝาแล้วพับครึ่งไข่ไปเลยครับ 
จากนั้นเอาไข่จัดใส่จานกินคู่กับเครื่องเคียงตามชอบ 
โรยพริกไทยสักเล็กน้อยก็เป็นอันเสร็จกับเมนู ออมเล็ตสไตล์ปุกปุย(Souffle' omelette) 


สำหรับออมเล็ตสไตล์ปุกปุย ผิวของไข่จะมีความเหนียวคล้ายๆแพนเค้ก แต่เนื้อในของไข่จะมีความนุ่มฟูละลายในปาก โดยรวมจัดว่าเป็นเนื้อสัมผัสที่มีเอกลักษณ์และมีความอร่อยที่ไม่แพ้กัน 


เป็นยังไงกันบ้างครับกับเมนู ออมเล็ต ทั้ง 3 สไตล์ในวันนี้ ใครสนใจแบบไหนชอบแบบไหนอยากลองแบบไหนก็ลองไปจัดกันมาดู 
ขอให้มีความสุขกับการกินไข่นะครับ
55555 
 
 
เนื่องด้วยกระทู้นี้เป็นกระทู้ส่งท้ายปี 2019 ของเสือตะหลิว
เสือตะหลิวจึงขอแต่งกลอนง่ายๆ อวยพรให้แก่เพื่อนสมาชิกชาว Pantip ทุกท่าน 

สองสิบเก้า ย่างก้าว สู่ปีใหม่          ขออวยชัย ให้มีสุข กันทุกผอง
สองพันยี่ จงมีคู่ และเงินทอง       ไร้หม่นหมอง สุขภาพดี อิ่มท้องเอย

Merry Christmas & Happy New Year ครับ ... ^_^

โดย facebook : เสือตะหลิว " อาหาร กับ ชายชาตรี " 



Create Date : 24 ธันวาคม 2562
Last Update : 24 ธันวาคม 2562 10:07:31 น.
Counter : 2224 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  

เสือตะหลิว
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ผู้ชายธรรมดาๆที่รสชาติไม่ธรรมดา
just a man with a nice taste
New Comments