พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
8 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
เร่งกู้ 2.7 แสนล้านจำนำข้าว

เร่งกู้ 2.7 แสนล้านจำนำข้าว

ทีดีอาร์ไอหวั่นเงินข้าวโพดไม่ถึงมือเกษตรกร

ธ.ก.ส.เร่งจัดหาเงินทุนก้อนใหม่ 270,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ไม่นับรวมกับเงินกู้ในกรอบ 500,000 ล้านบาทเดิม ขณะที่มั่นใจพาณิชย์จะทยอยคืนเงินได้ตามสัญญาที่ 220,000 ล้านบาท ด้านทีดีอาร์ไอหวั่นเงินโครงการแทรกแซงข้าวโพด 4,297 ล้านบาท ไม่ถึงมือเกษตรกร ชี้เป็นโครงการหละหลวม รับซื้อผ่านพ่อค้า ไม่ได้จ่ายเงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง

นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูการผลิตปี 56/57 ซึ่งได้เริ่มต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการทำแผนจัดหาแหล่งทุนก้อนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในโครงการ ซึ่ง ครม.กำหนดกรอบการใช้วงเงินสำหรับฤดูการผลิตนี้ไม่เกิน 270,000 ล้านบาท มีจำนวนข้าวที่จะเข้าสู่โครงการไม่เกิน 16.5 ล้านตัน โดยเงินทุนก้อนใหม่ที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวจะไม่จัดอยู่ในกรอบวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวใน 4 ฤดูการผลิตที่ผ่านมา ที่ ครม.กำหนดกรอบไม่ให้เกิน 500,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดหาเงินทุนก้อนใหม่ ซึ่งกำลังพิจารณา 3 ส่วนหลัก คือ 1.กู้เงินของ ธ.ก.ส.โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน 2.จากการกู้ของ ธ.ก.ส.โดยตรง 3.จากการระบายข้าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการกู้เงินของ ธ.ก.ส.โดยกระทรวงคลังค้ำประกันนั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้แจ้งว่าจะมีวงเงินที่ค้ำประกันให้ ธ.ก.ส.ได้ไม่เกิน 139,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ส่งแผนการใช้เงินเพื่อโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 56/57 ให้ สบน.แล้ว แต่รัฐบาลอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงแผนการระบายข้าวหากมีความชัดเจนจะสามารถระบุแหล่งที่มาของเงินทุนได้ อย่างไรก็ดี ธ.ก.ส.ประเมินว่าการผลิตข้าวนาปีฤดูการผลิต 56/57 นี้ จะมีจำนวนข้าวที่เข้าสู่โครงการราว 150,000 ล้านบาท “เมื่อประเมินถึงข้าวที่จะเข้าโครงการแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาเงินมากองไว้ 270,000 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องการทำแผนระดมเงินอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อรองรับข้าวที่ออก ส่วนวงเงินที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ที่ไม่เกิน 270,000 ล้านบาทนั้น เป็นการปรับลดวงเงินรับจำนำในรอบการผลิตนาปีต่อรายจาก 500,000 บาท เหลือ 350,000 บาท โดยคงราคารับจำนำไว้เท่าเดิม ส่วนการผลิตนาปรังจะลดราคารับจำนำเหลือ 13,000 บาท และจำกัดวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย”

นายลักษณ์ยังกล่าวถึงการปรับกรอบวงเงินการรับจำนำใน 4 ฤดูการผลิตที่ผ่านมา ให้เหลือ 500,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ใช้ไป 660,000 ล้านบาท ขณะนี้วงเงินนี้ถูกปรับลงมา 639,000 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ทยอยนำส่งเงินคืนจากการระบายข้าวมาให้ ธ.ก.ส. ทำให้กรอบวงเงินการใช้จ่ายลดลง “กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งรัดระบายข้าว ซึ่งผู้ใหญ่กำลังดูสัญญาขายข้าวลอตใหญ่ ถือเป็นข่าวดี เมื่อเราได้รับข่าวดี ก็จะมีเงินไหลกลับมา ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเงินมา 160,000-170,000 ล้านบาท เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาส่งคืนมาอีก 10,000 ล้านบาท แสดงว่าสิ้นปีนี้กระทรวงจะส่งเงินคืนได้ตามสัญญาที่ 220,000 ล้านบาท โดยยอดที่ได้รับอยู่ขณะนี้ 160,000-170,000 ล้านบาท อยู่ในระดับน่าพอใจ มีส่วนให้เป็นทุนหมุนเวียนกลับมาได้”

นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 56/57 ที่เริ่มโครงการเมื่อ 1 ต.ค. ที่ หจก.โรงสีศรีพัฒนาพาณิชย์ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรีว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการ 500 ตัน ยังน้อยมาก เพราะอยู่ในช่วงต้นฤดูการผลิตและบางส่วนติดปัญหาการออกใบรับรองเกษตรกรล่าช้า แต่เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะออกเอกสารได้ราบรื่น และเกษตรกรจะสามารถรับเงินค่าจำนำข้าวได้ภายใน 3 วันตามหลักเกณฑ์ พร้อมกันนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่ทำนาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อเตรียมหามาตรการช่วยเหลือ ส่วนราคาข้าวในตลาดที่ตกต่ำเนื่องจากอยู่ในช่วงรอยต่อของโครงการรับจำนำฤดูกาลที่แล้วกับฤดูกาลใหม่ ประกอบกับสภาพอากาศความชื้นสูง ทำให้ราคาข้าวปรับตัวลงมาแต่หลังจากเริ่มโครงการรับจำนำ ราคาข้าวจะค่อยปรับตัวสูงขึ้น “ราคาข้าวที่ตกต่ำขณะนี้ ไม่น่ากระทบการระบายข้าวในสต๊อกเนื่องจากรัฐบาลเน้นระบายข้าวคุณภาพดี ส่วนตลาดทั่วไปจะพิจารณาตามความเหมาะสมของราคาและความต้องการของตลาด”

ขณะที่นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่า เป็นห่วงเงินส่วนใหญ่ตามโครงการรับซื้อข้าวโพดวงเงิน 4,297 ล้านบาทของรัฐบาล จะไม่ตกถึงมือเกษตรกร เพราะโครงการมีความหละหลวมจุดโหว่ที่ใหญ่ที่สุด คือ เงินทั้งหมดในโครงการรัฐบาลให้จ่ายผ่านพ่อค้าทั้งหมด ไม่ได้จ่ายตรงถึงมือเกษตรกร เหมือนโครงการช่วยเหลือสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว และยางพารา เพราะเป็นโครงการรับซื้อผ่านพ่อค้า ขณะที่เงื่อนไขการรับซื้อของโครงการกลับเปิดช่องให้พ่อค้าสามารถกดราคารับซื้อจากเกษตรกร นอกจากนี้ จุดสำคัญ ที่รัฐต้องตอบคำถามสังคมคือ ตัวเลขในโครงการตามที่เสนอ ครม. อ้างว่ามีผลผลิตข้าวโพดในประเทศ 4.8 ล้านตัน มีการบริโภค 4.6 ล้านตัน จึงมีสินค้าล้นตลาด 200,000 ตัน แต่เหตุใดรัฐจึงอนุมัติโครงการรับซื้อข้าวโพดผ่านพ่อค้า ในปริมาณรวมมากถึง 1.8 ล้านตัน ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้ยังแบ่งเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้พ่อค้าไปส่งออกข้าวโพดมากถึง 500,000 ตันอีกด้วย.




Create Date : 08 ตุลาคม 2556
Last Update : 8 ตุลาคม 2556 11:13:18 น. 0 comments
Counter : 751 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.