พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
21 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555

ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบ ตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555 ณ จังหวัดชลบุรี ตามที่สานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุมรวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้ สศช. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช.เสนอเรื่อง ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555 ในวันจันทร์ที่ 18มิถุนายน 2555 เวลา 15.15 — 17.45 น. ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีรายละเอียดข้อเสนอเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) รวม 5 เรื่อง 16 ประเด็นย่อย สรุปสาระ สำคัญได้ ดังนี้
1. ข้อเสนอมาตรการและกลไกเพื่อบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็ง พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง (นำเสนอโดย กกร.)
1.1 ข้อเสนอ
1) มาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย
(1) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการลงทุนได้ตามแผนงาน ลดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ร่วมทุน ผู้ถือหุ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยขณะนี้มีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ/ชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพอีกหลายโครงการที่จะได้รับผลกระทบในทำนองเดียวกัน
(2) การแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือสินค้าที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยเร่งผลักดันให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พิจารณาหาบริษัทรายใหม่เข้ามาบริหารท่าเรือระยอง (RBT) โดยต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้ท่าเรือ RBT สามารถดำเนินการได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา โดยไม่ถือว่า กนอ. ละเว้นการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาระหว่าง กนอ. กับ RBT รวมทั้งให้ กนอ. พิจารณาอนุญาตให้ใช้ท่าเรือบริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) (NFC) ซึ่งอยู่ติดกับท่าเรือ RBT สำหรับให้บริการผู้ใช้บริการเดิมของท่าเรือ RBT เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
(3) โครงการฟื้นฟูระบบขนส่งทางรางเพื่อขนสินค้าระหว่างพื้นที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง ภายใต้แนวคิด Green Logistics โดยขอให้พิจารณาผลักดันและสนับสนุนโครงการทดลองนำร่องขนส่งทางรางอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยราคาที่แข่งขันได้เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่ง เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจนมีการใช้โครงสร้างพื้นฐาน (ระบบรางรถไฟจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2) กลไกเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการความปลอดภัยและกำกับภาวะฉุกเฉินในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีองค์กรอิสระที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการ (PMC) มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน งบประมาณ 3.5 ล้านบาท จัดสรรโดยผู้ประกอบการ โดย
(1) พิจารณามอบหมายหรือ สั่งการ ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการบูรณาการแผนการบริหารการจัดการความปลอดภัยและกำกับดูแลภาวะฉุกเฉินให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และ
(2) ผลสรุปการศึกษาของคณะกรรมการเฉพาะกิจ ถูกบรรจุและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งให้เป็นต้นแบบของการบูรณาการการบริหารจัดการความปลอดภัยและกำกับดูแลภาวะฉุกเฉินสำหรับนำไปขยายผลในพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
มติที่ประชุม
1) เห็นชอบข้อเสนอมาตรการระยะสั้น ตามที่ กกร. เสนอ โดย
(1) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการรับไปพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคและระยะเวลาการพิจารณาโครงการที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
(2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมรับไปประสานกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือสินค้าที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดและรายงานผลการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีทราบ
(3) มอบหมายกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรางในเส้นทางสายตะวันออก เพื่อให้สามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการขนส่งทางถนนสู่รางได้ตามเป้าหมายต่อไป
2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลัก รับไปพิจารณารูปแบบการจัดตั้งกลไกระดับชาติและระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการความปลอดภัยและกำกับภาวะฉุกเฉินในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (นำเสนอโดย กกร.)
2.1 ข้อเสนอ
1) สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางอากาศภาคตะวันออก โดย
(1) เร่งรัดการใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา เป็นสนามบินพาณิชย์เต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในการขนส่งทางอากาศ และ
(2) ขอให้มีการจัดตั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่สนามบินฯ
2) สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางระบบรางภาคตะวันออก โดยการเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560
3) เร่งรัดขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 และ 317 ได้แก่
(1) เร่งรัดโครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 36 ตอนแบ่งแยกทางหลวงหมายเลข 3 ทางเลี่ยงเมืองระยอง ระยะทาง 51 กิโลเมตร (ก.ม. ที่ 0+000 ถึง ก.ม. 51+377) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และ
(2) เร่งรัดโครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 (จันทบุรี - สระแก้ว) ให้แล้วเสร็จทั้งระบบภายในปี 2557 เพื่อเชื่อมภาคอีสานตอนใต้และภาคตะวันออก
มติที่ประชุม
1) มอบหมายกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กองทัพเรือ และภาคเอกชน ศึกษาความเหมาะสมในการเปิดใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา - พัทยา ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
2) มอบหมายกระทรวงคมนาคมพิจารณาความเหมาะสมในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของภาคตะวันออกสายกรุงเทพฯ - ระยอง เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยเร่งรัดการจัดทำข้อกำหนดการดำเนินโครงการ (TOR) ให้สามารถประกวดราคาได้ภายในปี 2556
3) มอบหมายกระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมของการขยายเส้นทางและช่องจราจรในพื้นที่ภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

3. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (นำเสนอโดย กกร.)
3.1 ข้อเสนอ
1) ขอให้การขยายเวลาเปิดด่าน (ชั่วคราว/ถาวร) ถึงเวลา 22.00 น. และระบบการเข้า - ออก ด่านศุลกากร จังหวัดจันทบุรี ตราด และสระแก้ว (เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้า) ด่านชายแดนไทย - กัมพูชา โดยขยายเวลาเปิดด่านจังหวัดจันทบุรีและตราด เป็นเวลา 06.00 - 22.00 น.(จากปัจจุบัน เวลา 08.00 - 18.00 น.)
2) ขอให้การแก้ไขปรับปรุงผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จังหวัดระยอง (ปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรม ตามประกาศการนิคมอุตสาหกรรมฯ ให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปและคลังสินค้า(สีม่วง) เพื่อคงสิทธิ์ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการเดิมในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรม โดยไม่มีการถมทะเลเพิ่มจากพื้นที่เดิม กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเขตแนวกันชน (Buffer Zone) โดยรอบอุตสาหกรรม ให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า
(สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีม่วง) รวมทั้งส่งเสริมชุมชนให้เกิดการรวมตัวเป็นวิสาหกิจ (Community Enterprise) ซึ่งทั้งเจ้าของที่ดินและชุมชนต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3) ขอรับการสนับสนุนโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง — ฉะเชิงเทรา — ชลบุรี - สมุทรปราการ) โดยขอการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในการดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดอุตสาหกรรมภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง — ฉะเชิงเทรา - สมุทรปราการ) จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์และแผนงานการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี
4) ขอรับการสนับสนุนโครงการสร้างห้องแช่เยือกแข็งผลไม้เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการสร้างห้องแช่แข็งผลไม้เพื่อเป็นศูนย์การการกระจายสินค้าและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก ขนาดความจุ 5,000 ตัน จำนวน 523.29 ล้านบาท โดยใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์หนองน้ำใส บ้านหนองน้ำใส หมู่ที่ 10 ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี
5) ขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาเมืองศูนย์กลางกลุ่มจังหวัด “บูรพนา” ตามแนวทางการศึกษาผังอนุภาคของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยผลักดันโครงการพัฒนาเมืองศูนย์กลางกลุ่มจังหวัด “บูรพนา”
มติที่ประชุม
1) มอบหมายกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ไปศึกษารายละเอียดและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการขยายเวลาการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว/ถาวร ด่านชายแดนไทย - กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี ตราด และสระแก้ว ให้เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับภาคเอกชนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณารายละเอียดการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยอง (ผังมาบตาพุด) เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งและเตรียมการรองรับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต
3) มอบหมายกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สศช. ประสานจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารายละเอียดโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง — ฉะเชิงเทรา — ชลบุรี - สมุทรปราการ) โดยเฉพาะความเชื่อมโยงและความซ้ำซ้อนของแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด
4) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักประสานกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชนร่วมกันศึกษาความเหมาะสมและจัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการโครงการสร้างห้องแช่เยือกแข็งผลไม้เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก เช่น ความเหมาะสมของที่ตั้ง การบูรณาการโครงการในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ รูปแบบและกลไกการบริหารจัดการ ความพร้อมด้านบุคลากร การดูแลรักษา แหล่งเงินทุนหมุนเวียน การประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
5) มอบหมายกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สศช. รับไปพิจารณาทบทวนผลการศึกษาโครงการวางและจัดทำผังอนุภาคกลุ่มจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อประกอบการศึกษารายละเอียดในการพัฒนาเมืองศูนย์กลางกลุ่มจังหวัด “บูรพนา” (ชลบุรี — ระยอง — จันทบุรี - ตราด) เพื่อให้การจัดระเบียบ การกำหนดเขตการใช้ที่ดินและการจัดเตรียมระบบโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่เมืองศูนย์กลางธุรกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกมีความสอดคล้องเหมาะสมศักยภาพของพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่เกื้อกูลกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (นำเสนอโดย กกร.)
4.1 ข้อเสนอ
1) เร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 พื้นที่ภาคตะวันออก ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซึ่งมี 7 โครงการ) ประกอบด้วย
(1) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำจากลุ่มน้ำประแสร์ — ลุ่มน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง
(2) โครงการผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังแหล่งเก็บกักน้ำจังหวัดระยอง
(3) โครงการผันน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก - อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
(4) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี
(5) โครงการอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสมและอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่าเพื่อการเกษตรและช่วยเหลือการประปา เมืองพัทยา
(6) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี และ
(7) รายละเอียดโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (ระยะที่2)
2) ขอรับการสนับสนุนโครงการจัดสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (War room) ภาคตะวันออก จำนวน 50 ล้านบาท
3) ขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล — โรงผลิตน้ำประปา ระยอง จำนวน 134 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) การก่อสร้างระบบส่งน้ำด้วยท่อยาว 4.8 กิโลเมตร
(2) การก่อสร้างอาคารประกอบ (งานดันท่อลอดแม่น้ำระยอง งานสระพักน้ำ) จำนวน 3 แห่ง และ
(3) งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1 แห่ง
มติที่ประชุม
1) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน รับไปพิจารณาในรายละเอียดของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 พื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อขอรับการสนับสนุนตามระเบียบและขั้นตอนให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป
2) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รับไปพิจารณาความคุ้มค่าและความเหมาะสมในรายละเอียดของโครงการจัดสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการน้ำภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดรูปแบบและกลไกการบริหารจัดการโครงการฯ รวมถึงการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลน้ำร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถเชื่อมโยงไปยังส่วนกลางได้
3) มอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยการประปาส่วนภูมิภาค รับไปพิจารณาในรายละเอียดของโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล - โรงผลิตน้ำประปา ระยอง โดยหารือกับกรมชลประทาน ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย

5.  การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ (นำเสนอโดย สทท.)
5.1 ข้อเสนอ
1) เร่งรัดการก่อสร้างถนนรอบเกาะช้างให้แล้วเสร็จ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางย้อนกลับทางเดิม เร่งรัดการก่อสร้างถนนรอบเกาะช้างช่วงบ้านบางเบ้า — บ้านสลักเพชร อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทาง 9.728 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2) เร่งดำเนินการเพิ่มศักยภาพด้านทักษะการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์ต่างชาติลักลอบให้บริการในภาคตะวันออก โดยขอให้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการเพิ่มศักยภาพด้านทักษะการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี รัสเซีย และมอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงจัดหลักสูตร ทั้งในภาคเรียนปกติ และหลักสูตรนอกระบบผ่านสื่อทางไกล ดาวเทียม เพื่อให้นักเรียน ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ รวมถึงให้มีการเรียนการสอนแบบต่อเนื่อง และการส่งเสริมหลักสูตรการเรียนรู้การให้บริการด้านการท่องเที่ยว เช่น หลักสูตรมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เป็นต้น
3) การให้นำเงินที่หักจากภาษีมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่นที่โรงแรมตั้งอยู่เป็นรายได้ในการบำรุงท้องถิ่นโดยขอใช้เมืองพัทยาเป็นเมืองนำร่อง ขอให้กรมสรรพากรศึกษาหรือหาวิธีการที่จะให้โรงแรมในพื้นที่แจ้งยอดเงินที่หักภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่โรงแรมสาขาตั้งอยู่ แล้วหักเงินส่วนที่บำรุงท้องถิ่นจากภาษีมูลค่าเพิ่มส่งคืนให้ท้องถิ่น ณ ที่ตั้งโรงแรม เพื่อเป็นการบำรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การดูแลสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใช้บริการใช้ไปในพื้นที่ ซึ่งเงินดังกล่าวจะได้ส่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนำไปพัฒนา โดยภาคประชาชนมีส่วนติดตามการใช้เงินให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการ Polluter Pay Principle หรือ User Pay และกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ส่วนการขอรับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาต่างๆ สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามปกติที่เป็นอยู่ การดำเนินการแบบนี้จะทำให้ทราบได้ว่าธุรกิจห้างร้าน โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรมนำเม็ดเงินให้แก่ชุมชน และเสียภาษีที่เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
มติที่ประชุม
1) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงคมนาคมร่วมกันพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนรอบเกาะช้างในส่วนที่ยังขาดอยู่ช่วงบ้านบางเบ้า — บ้านสลักเพชร ให้แล้วเสร็จ โดยคำนึงถึงการประหยัดงบประมาณด้วย
2) มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงานจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันการวางแผนการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในระยะ 3 ปี ข้างหน้า
3) มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฝึกอบรมทักษะด้านภาษาต่างประเทศแก่แรงงาน
4) มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมในการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่น โดยคำนึงถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริง และจำนวนสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ

6. เรื่องอื่น ๆ ที่ภาคเอกชนเสนอเพิ่มเติม รวม 4 เรื่อง ดังนี้
6.1 ผลักดันการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ คลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยการผ่อนปรน มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 เรื่องการแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน) (นำเสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
กรมเจ้าท่าได้รับงบประมาณในการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ มูลค่า 1,295 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน (ปี พ.ศ. 2553-2555) แทนสะพานท่าเทียบเรือเดิมซึ่งเกิดการชำรุดจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน แต่เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างดังกล่าวมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสนอ่อน-ป่าคลองใหญ่-ป่าคลองมะขาม อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ (จำนวน 1 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา) ซึ่งจะกระทำมิได้เพราะขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้การก่อสร้างดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างไปบางส่วนแล้ว และได้ระงับการก่อสร้างทั้งหมดเป็นการชั่วคราว
2) มติที่ประชุม
รับทราบ ตามที่ กกร. เสนอ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 19 มิถุนายน 2555
6.2 ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 (22nd Japan-Thailand Joint Trade and Economic Committee Meeting) (นำเสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 22 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ณ กรุงโตเกียว โดยมีผู้บริหารภาคธุรกิจระดับสูงทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยเข้าร่วมการประชุม ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องถึงเป้าหมายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ภายในปี ค.ศ. 2020 และการที่ญี่ปุ่นและไทย ในฐานะที่เป็นประเทศ co-donors ในลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ควรแสดงบทบาทสำคัญเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนุภูมิภาค GMS และยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมีการยกระดับความตกลง JTEPA เพื่อให้มีความสมบูรณ์ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบให้รื้อฟื้นคณะทำงานร่วม Joint Working Committee on JTEPA และเร่งรัดการเริ่มต้นเจรจาทบทวนความตกลง JTEPA
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่ กกร. เสนอผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 และมอบหมายให้ กกร. จัดส่งรายละเอียดให้กระทรวงการต่างประเทศต่อไป
6.3 การสนับสนุนกลไกดำเนินการของสมาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) (นำเสนอโดย กกร.)
1) ข้อเสนอ
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 (4th GMS Summit) ณ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 19 — 20 ธันวาคม 2554 ผู้นำของภาคเอกชน ได้มีการลงนามความตกลงกับการจัดตั้งสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันภาคเอกชนของ 6 ประเทศ ได้จดทะเบียนการจัดตั้งสมาคม และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริการสมาคมโดยจะประกอบด้วยผู้แทนของแต่ละประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรครูปแบบมาตรฐานการขนส่งทางถนนในภูมิภาค กกร. เสนอขอการสนับสนุนการดำเนินการของสมาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2) มติที่ประชุม
รับทราบตามที่ กกร. เสนอ และมอบหมายกระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานประสานหลักในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาครัฐต่อไป
6.4 ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ ....(ผลกระทบตามประกาศ FATF) (นำเสนอโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม)
1) สาระสำคัญ
กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. ... ต่อคณะกรรมาธิการตามกระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้แทนจาก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นองค์ประกอบในคณะทำงานฯ ด้วย อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้เสนอขอให้เพิ่มเติมผู้แทนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
2) มติที่ประชุม
รับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับไปพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเข้าร่วมในคณะทำงานฯ ด้วย


--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มิถุนายน 2555--จบ--




Create Date : 21 มิถุนายน 2555
Last Update : 21 มิถุนายน 2555 11:59:51 น. 0 comments
Counter : 1492 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.