พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
 
20 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
นักวิชาการ ชี้กู้2ล้านล้านเพื่ออนาคต แต่ย้ำต้องโปร่งใส

นักวิชาการ ชี้กู้2ล้านล้านเพื่ออนาคต แต่ย้ำต้องโปร่งใส

ผอ.สศค. ย้ำ ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านแทนการใข้งบประมาณแผ่นดิน เพราะโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าลงทุนสูง หากใช้เงินงบประมาณอาจล่าช้า ยันโปร่งใส ตรวจสอบได้ มั่นใจไม่กระทบภาระหนี้ ในขณะที่นักวิขาการหนุนเดินหน้าลงทุน...

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึง ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ.... ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาขีดความสามารถของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยลดลง โดยสาเหตุที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน แทนที่จะใช้เงินลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะโครงการลงทุน มีขนาดใหญ่ และใช้เงินจำนวนมาก หากกู้ผ่านวิธีการงบประมาณ อาจทำให้เกิดความล่าช้า และไม่ตรงตามความต้องการลงทุน

ส่วนแหล่งเงินกู้ จะระดมเงินกู้จากภายในประเทศเป็นหลัก เช่น กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์  หรือออกพันธบัตร หากจำเป็นอาจกู้เงินบางส่วนจากต่างประเทศ โดยจะพิจารณาจากเงื่อนไขข้อกำหนด ต้นทุนในการกู้ และต้องมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

“คงระดมเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก เพราะไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์” นายสมชัยกล่าว

ผอ.สศค.กล่าวยืนยันว่า จะไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณประมาณประจำปี เพราะทุกโครงการต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระบบระเบียบวิธีการที่กำหนด และการเสนอโครงการลงทุนต่างๆ จะถูกควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น ต้องจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และไม่ต้องกังวลว่าจะมีการกู้เงินมหาศาล  เพราะไม่ได้กู้ภายในครั้งเดียว แต่จะกู้เท่าที่จำเป็น และสอดคล้องกับความพร้อมในการลงทุนของแต่ละโครงการ ซึ่งจะกู้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ซึ่งจะพิจารณากลั่นกรองอย่างละเอียดรอบคอบ

“การลงทุนโครงการนี้ ถือว่าเป็นการก่อหนี้เพื่อสร้างทรัพย์สินให้ประเทศไทย เพราะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จึงต้องใช้เวลาการผ่อนระยะยาว เพื่อกระจายภาระหนี้ พร้อมยอมรับว่าจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะ แต่ไม่ได้เป็นการก่อหนี้ภายในครั้งเดียว อีกทั้งมีการกำหนดกรอบประมาณการไว้ว่าตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศหลังจากเริ่มดำเนินโครงการจะต้องต่ำกว่า 50% ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน จากกรอบเพดานหนี้สาธารณะปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี” ผอ.สศค.กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนเป็นไปตามแผน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ต่อปี จากการจ้างงาน ส่งเสริมพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สถานีขนส่งสินค้า ด่านศุลกากร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ โดยคาดว่าโครงการส่วนใหญ่จำลงทุนเสร็จสิ้นภายใต้กรอบระยะเวลา 7 ปี มีเพียงบางโครงการที่อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่อาจจะแล้วเสร็จในบางส่วน เนื่องจากต้องวางระบบ

ด้าน รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยไทยรัฐออนไลน์ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ด้วยอีกทาง เพราะตำแหน่งประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อในภูมิภาค สามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างเม็ดเงินสะพัดภายในประเทศได้

นอกจากนี้ การลงทุนด้วยเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยแบ่งกู้ปีละ 3 แสนล้านบาท จะช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนภายในประเทศ และอาจทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้น จึงไม่อยากให้หลายฝ่ายวิตกกังวลมากเกินไปว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะของเพิ่มขึ้น เป็นภาระของคนรุ่นหลัง เพราะปัจจุบันมีการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% ของจีดีพี

ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 44.5% ของจีดีพีี น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ โดย 10% ของหนี้สาธารณะ เป็นหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันไว้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้าหักตัวเลข 10% ออกไป ประเทศไทยจะมีหนี้สาธารณะเพียง 34-35% ของจีดีพี หากบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ใช้แรงงานในประเทศ ย่อมทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แม้จะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นก็ตาม ซึ่งประเมินว่าอาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50-51% ของจีดีพี 

“หากปล่อยให้ความกังวลบดบังจนไม่ตัดสินใจลงทุนทำอะไร นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายโอกาสอย่างยิ่ง และอาจทำให้ประเทศไทยล้าหลังประเทศอื่น” ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA นิด้ากล่าว

นอกจากนี้ยังประเมินว่า การที่รัฐบาลไม่เลือกใช้แนวทางกู้เงินตามวิธีการงบประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ใช้เงินจำนวนมาก และใช้ระยะเวลานาน หากทำตามระเบียบปีงบประมาณอาจมีข้อจำกัด และเกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินโครงการ หากมีการเปลี่ยนชุดคณะบริหาร และมีนโยบายเปลี่ยนไป ดังนั้น การออกเป็น พ.ร.บ. ลักษณะนี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่าการก่อสร้างจะดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จแน่นอน ภายในกรอบระยะเวลา 7 ปี ที่กำหนด หากอนาคตมีการเปลี่ยนมือคณะบริหารงาน แต่เมื่อมีกฎหมายกำหนด ทุกอย่างย่อมเดินหน้าต่อไปได้ทั้งการกู้เงิน และการก่อสร้างจะไม่หยุดชะงัก

สำหรับแหล่งเงินกู้ คาดว่าจะมาจากการระดมเงินภายในประเทศ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีข้อดี คือ ความเสี่ยงเรื่องค่าเงินมีน้อย และดำเนินการได้สะดวก ซึ่งปัจุบันระบบการเงินของไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินกว่า 4 ล้านล้านบาท

รศ.ดร.มนตรี เสนอว่า ในช่วง 4-5 ปี แรก อาจจะกู้เงินภายในประเทศเป็นหลัก และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มีความมั่นคงแน่นอน อาจจะสลับใช้วิธีการกู้เงินจากต่างประเทศ หรือหากเอกชนมีความเข้มแข็งเพียงพอ อาจเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ-เอกชน (PPP) ก็ได้ รวมทั้งใช้เครื่องมือทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเข้ามาช่วย เช่น เมื่อมีการก่อสร้างถนนสายแรก และเริ่มเกิดรายได้ ควรนำกระแสรายได้จากถนนสายแรก มาระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund  เพื่อนำเงินไปก่อสร้างถนนสายที่สอง โดยขณะนี้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินการออกกฎเพื่อรองรับเรียบร้อยแล้ว แนวทางนี้มองว่าซึ่งจะช่วยประหยัดการกู้เงินได้อีกทาง

สำหรับประเด็นการทุจริต รศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า ไม่อยากให้กังวลมากเกินไป แต่ควรร่วมกันหาวิธีคิดวิธีทำเพื่อพัฒนาประเทศ พร้อมให้ข้อสังเกตว่า แม้ในกระบวนการปกติก็ยังมีช่องโหว่รั่วไหลเกิดการคอร์รัปชัน ทุกฝ่ายจึงควรร่วมกันหามาตรการตรวจสอบป้องกัน เพื่อความโปร่งใส เช่น เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อความรัดกุม

ด้าน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เชื่อว่า การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเพิ่มการจ้างงาน แต่การกู้เงินจำนวนนี้ไม่ได้เป็นพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หากระบบการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะการทุจริตจากระบบอุปถัมภ์ในการประมูลโครงการและความไม่จริงจังตรวจสอบการดำเนินงานในแต่ละโครงการของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา

ด้านสังคมเองก็อาจเกิดปัญหาตามมาหลายด้าน เช่น ปัญหามลภาวะรอบๆ โครงการ, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาชุมชน ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น และเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงก็ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในหลายภาคส่วน

ประเด็นที่เงินกู้จำนวนนี้อาจจะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกันไปอีกหลายปีนั้น รศ.ดร.สังศิต มองว่า ตรงนี้รัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี เพราะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ไม่ได้มีอัตราการเจริญเติบโตคงที่ตลอด จึงเสนอแนวทางว่ารัฐบาลควรทำประชาพิจารณ์ในทุกโครงการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชนว่าแต่ละโครงการมีข้อเสียอย่างไร จะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร และเพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตามกรอบรัฐธรรมนูญ.




Create Date : 20 กันยายน 2556
Last Update : 20 กันยายน 2556 4:24:20 น. 0 comments
Counter : 786 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.