พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
2 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
ยล"เมืองอุตฯสีเขียว"สิงคโปร์ "วิฑูรย์"ยึดโมเดลปั้นนิคมสะอาด

ยล"เมืองอุตฯสีเขียว"สิงคโปร์ "วิฑูรย์"ยึดโมเดลปั้นนิคมสะอาด

คอลัมน์ รายงานพิเศษ
พรเทพ อินพรหม



เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนำทีมผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมการพัฒนาอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่นิคมอุตสาหกรรมจูร่ง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตและบริการใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์



นิคมอุตสาหกรรมจูร่ง เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาพื้นที่สีเขียวระหว่างตึกและอาคาร (Clean Tech Park) ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมสะอาด สอดคล้องกับไทยที่มีแผนผลักดันให้ นิคม สวน เขตอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ให้เกิดพื้นที่สีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน



โครงการ Clean Tech Park แบ่งเป็น 3 ระยะ คาดจะแล้วเสร็จในปี 2573 เปิดตัวอาคารกลุ่มแรกอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว ยึดหลักความสมดุลระหว่างแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์กับธรรมชาติ ด้วยการรักษาสภาพแวดล้อมเดิม ซึ่งเห็นได้ว่าจะไม่มีการตัดต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้างดูแลรักษาต้นไม้ให้โตเต็มที่เพื่อลดความร้อนโดยรอบ



นอกจากนี้ ยังออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงานเต็มรูปแบบ นำลมธรรมชาติมาใช้ ออกแบบตึกอาคารปลอดโปร่ง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในอาคาร เพื่อให้เป็นศูนย์รวมบริษัทเอกชนของสิงคโปร์ สำหรับการวางยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและธุรกิจ ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง



การศึกษาดูงานจากนิคมสีเขียว จะนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการในไทย ที่ก่อนนี้นำร่องพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบริการ Thai Diamond City เพชรบุรี พื้นที่ 1,000 ไร่ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับบริษัท เพชรไทยพัฒนา จำกัด พัฒนารูปแบบนิคมอุตสาหกรรม ประเภทธุรกิจบริการ เช่น ศูนย์ทางการแพทย์ สถาบันศึกษา สนามกอล์ฟ และกิจการโลจิสติกส์ ให้ดำเนินการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่นเดียวกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน



นายวิฑูรย์กล่าวว่า กระทรวงมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปัจจุบันมีสถานประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวนกว่า 6,000 ราย นิคมอุตสาหกรรม จะพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งโรงงาน ชุมชน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเครือข่าย (Eco Industrial Estate & Networks)



ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 1 คือการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่อง (ปี 2553-2557) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างน้อย ปีละ 3 นิคม รวม 15 นิคม ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนานิคม ต่างๆ เข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไปแล้ว 12 แห่ง



"ในครั้งนี้จะนำไปหารือกับ กนอ. ผู้ประกอบการ เอกชน ทำความเข้าใจในการพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แม้จะมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะส่งผลดีในส่วนของการประหยัดพลังงาน สามารถชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น" นายวิฑูรย์กล่าว



สําหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับกระทรวงคมนาคม ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์และการบินให้เกิดขึ้นเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก



อย่างไรก็ดี สิงคโปร์มีความได้เปรียบ เนื่องจาก 1.มีระบบพิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว ซึ่งอุตสาหกรรมนี้แข่งกันที่เวลา



2.มีพื้นฐานเป็น Trader ในภูมิภาคและของโลก สามารถหาชิ้นส่วนได้เกือบทั้งหมดภายในประเทศ



และ 3.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินขึ้นเป็นการเฉพาะที่ Seletar Aerospace Park



สำหรับตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินมีมูลค่าสูง เติบโตต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มย้ายฐานจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยประเทศที่น่าสนใจมี ไทย สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย ไต้หวัน และมาเลเซีย กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม มีความเห็นร่วมกันว่าจังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพดีที่สุด



ปัจจุบันธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานทั้งหมด 18 ราย ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนใหญ่เป็นประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น โดยมีชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดเล็ก



นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจซ่อมชิ้นส่วนอากาศยานจำนวน 18 ราย และธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ปัจจุบันมีบริษัท การบิน ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) เท่านั้น ที่สามารถซ่อมเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้



สำหรับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนนั้นกำหนดให้ 1.ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่อง จักรทุกเขต 2.ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีทุกเขต 3.ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นตามเกณฑ์ที่ตั้งในแต่ละเขต 4.ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล



การศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขความสำเร็จ เพื่อเรียกการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและอากาศยาน เป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อชิงความได้เปรียบก่อนจะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2556



Create Date : 02 ตุลาคม 2556
Last Update : 2 ตุลาคม 2556 5:31:02 น. 0 comments
Counter : 1320 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.