Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 

ระหว่าง"เงิน"กับ"ชีวิต"

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11325 มติชนรายวัน



ระหว่าง"เงิน"กับ"ชีวิต"





คอลัมน์ เดินหน้าชน

โดย จำลอง ดอกปิก



ระหว่างยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่า จะมีการยื่นอุทธรณ์คดีความเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ปรากฏความเคลื่อนไหวขึ้นหลายภาคส่วนจากผู้ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษา ในคดีที่ 1.ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชดใช้เงินเป็นค่าเสื่อมสุขภาพให้กับราษฎรชาว อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐาน และ 2.คดีศาลปกครองระยอง พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ

โดยเฉพาะคดีที่ 2 ที่มีนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง โรงงานอีก 138 โรงได้รับผลกระทบ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. ถึงกับเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อุทธรณ์คดีนี้ โดยกล่าวอ้าง หากดำเนินการตามคำพิพากษา จะส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมที่ลงทุนไปแล้วรวม 5 แสนล้านบาท และหากการลงทุนในพื้นที่นี้ชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวม 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติกังวลต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นกับการจัดการมลพิษในเขตพื้นที่ควบคุม

มุมมองของคณะกรรมการกลั่นกรอง สอดคล้องกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องอุทธรณ์ หาไม่แล้วจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง "...โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจำเป็นสร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศ"

คล้ายกับการยื่นคำขาด รัฐต้องตัดสินใจ หนำซ้ำชี้นำด้วยข้อมูลว่า จำเป็นต้องเลือกรักษาไว้ซึ่งเศรษฐกิจ การลงทุนมากกว่า เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญหล่อเลี้ยงประเทศชาติ

"ชีวิตมนุษย์" อุทธรณ์ไม่ได้!

สิ่งยิ่งใหญ่จำเป็นต้องรักษาไว้ คือ ทุน ทั้งที่เงินทองมากมายก่ายกองเพียงใด จะมีความหมายอะไรเมื่อมันมิอาจซื้อชีวิตได้ ทั้งๆ ที่เราไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเลยที่ต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ระหว่างการรักษาทุนในนิยามของความมั่งคั่ง กับการรักษาชีวิต อันเป็นทุน เป็นสินทรัพย์รูปแบบหนึ่ง

เมื่อทุนก็สำคัญ ชีวิตยิ่งสำคัญ ก็ในเมื่อเราสามารถบริหารจัดการ แก้ปัญหาให้ทั้ง 2 สิ่งเดินควบคู่กันไปได้ แล้วทำไมเราต้องเลือกเล่า มันมีทางออกที่ดีกว่านั้น

หากฝ่ายผู้ประกอบการไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงหัวอกการดำรงชีวิตอย่างยากลำบากของเพื่อนมนุษย์บ้าง คิดเสียสละในสิ่งที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำบ้าง อย่างน้อยอาจแค่ขาดทุนกำไร เจียดมาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายจัดการมลพิษเพิ่ม หากทำได้เช่นนี้ สังคมโดยรอบอยู่ได้ นิคมอุตสาหกรรมอยู่ได้ โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาเผชิญหน้ากัน

ประเทศชาติก็อยู่ได้!

จริงอยู่ สภาพการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้ประกอบการอาจไม่พร้อมจ่าย เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และโอกาสการแข่งขันด้านราคาน้อยลง แต่การลงทุนเพิ่มวันนี้ อาจคุ้มค่ายิ่งกว่าในอนาคต อย่าลืมว่า ขณะนี้ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ๆ เข้มงวดกวดขันมาตรฐานลึกเข้าไปถึงแหล่งผลิต อาทิ ผลิตภัณฑ์นั้นต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งด้านการผลิตและการบริโภค หรือแม้แต่กรณีการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองชีวิต และสุขภาพมนุษย์ สัตว์ พืช

เหล่านี้ล้วนเป็นแนวโน้มใหม่ของการค้าเสรี การค้าเสรีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ถ้ามัวแต่คิดอุทธรณ์ มัวแต่เสียดายค่าที่ต้องจ่ายเพิ่มจากการทำลายสิ่งแวดล้อม วันหนึ่งข้างหน้า หากสินค้าจากแหล่งมีปัญหาโดนกีดกัน ส่งออกไม่ได้

วันนั้นอาจเข้าตำรา เสียหายยิ่งกว่า

เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย


ที่มา: มติชน




 

Create Date : 17 มีนาคม 2552    
Last Update : 21 มีนาคม 2552 13:40:14 น.
Counter : 677 Pageviews.  

วิกฤตการณ์การเงินโลก

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11325 มติชนรายวัน




วิกฤตการณ์การเงินโลก



โดย เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย





ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นานๆ ครั้งจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและมีนัยสำคัญ จนทำให้ความเชื่อแต่ดั้งเดิมถูกล้มล้างไป แล้วมีแนวคิดใหม่เข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้ ระดับความรุนแรงของวิกฤตการณ์การเงินโลกทำให้พวกเราต้องทบทวนนโยบายและปรัชญาทางด้านเศรษฐกิจที่นำพาพวกเรามาจนถึงจุดนี้อีกครั้ง

จอร์จ โซรอส ได้กล่าวไว้ว่า "สาระสำคัญที่สุดของวิกฤตการณ์การเงินในขณะนี้ก็คือ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก...แต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของมันเอง"

โซรอสพูดถูก วิกฤตการณ์ในขณะนี้เป็นผลพวงจากการครอบงำจากนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดถืออุดมการณ์การตลาดเสรีมานานถึง 30 ปี โดยได้รับการขนานนามต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism), เศรษฐกิจเสรีนิยม (economic liberalism) หรือ ลัทธิคลั่งเศรษฐกิจ (economic fundamentalism) โดยหลักความคิดที่ผลักดันอุดมการณ์ดังกล่าวก็คือ กิจกรรมของภาครัฐควรถูกจำกัดไว้ และแทนที่ด้วยพลังตลาดในที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่า พลังตลาดที่ไร้การตรวจสอบได้นำทุนนิยมไปสู่หุบเหวอย่างไรแทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก ระบบการเงินของโลกกลับเพิ่มความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

แนวคิดเสรีนิยมใหม่เชื่อว่าตลาดการเงินโลกจะแก้ไขตัวมันเองได้ในที่สุด ด้วยว่ามือที่มองไม่เห็นของพลังตลาดซึ่งปราศจากการควบคุมใดๆ นั้นจะหาจุดสมดุลของมันได้เอง แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ ได้แสดงทรรศนะวิพากษ์ไว้ว่า "เหตุผลที่มือที่มองไม่เห็นนั้นดูเหมือนจะมองไม่เห็น ก็เป็นเพราะว่ามือนั้นไม่มีอยู่จริงต่างหาก"

ดังนั้น จึงเป็นแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ ที่เข้ามาสร้างทุนนิยมแบบอเมริกันขึ้นมาใหม่หลังจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในขณะที่พรรคเดโมแครตแห่งอเมริกา ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็ต้องเข้ามาสร้างอุปสงค์ในประเทศให้เกิดขึ้นอีกครั้งหลังยุคสงคราม มีการขับเคลื่อนแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) เพื่อฟื้นฟูยุโรปและจัดตั้งระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods system-ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่) ขึ้นมาเพื่อกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ

เช่นเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่จะต้องทบทวนและสร้างระบบเศรษฐกิจระดับชาติและนานาชาติของเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถ้ารัฐบาลกลางของประเทศต่างๆ จะปกป้องทุนนิยมเอาไว้ พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายสามประการ

ประการแรกคือ การใช้หน่วยงานของรัฐในการฟื้นฟูตลาดในกำกับอย่างเหมาะสม และการสร้างอุปสงค์ในประเทศและในโลกขึ้นมาอีกครั้ง จากความล่มสลายของเสรีนิยมใหม่ บทบาทของรัฐได้รับการยอมรับอีกครั้งว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ โดยที่รัฐได้เป็นผู้ที่แสดงบทบาทหลักในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสามด้านที่ชัดเจน คือการเข้าช่วยเหลือระบบการเงินเอกชนไม่ให้ล้มลง ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอันเนื่องมาจากความล่มสลายในอุปสงค์ของเอกชน และการออกแบบระบบกำกับในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจและบังคับใช้ระบบระเบียบดังกล่าว

ความท้าทาย ประการที่สอง สำหรับนักสังคมประชาธิปไตยก็คือการพยายามแก้ปัญหาโดยไม่ทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วกลับแย่ลงไปอีก เมื่อวิกฤตการณ์การเงินเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของครอบครัวต่างๆ ทั่วโลก ย่อมก่อให้เกิดแรงกดดันให้ถอยกลับไปใช้รูปแบบที่รัฐเป็นผู้จัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้ และละทิ้งหลักการทั้งหมดของตลาดแบบเปิดกว้างและแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ การปกป้องทางการค้าเริ่มจะเกิดขึ้นและรู้สึกได้บ้างแล้ว แม้จะเป็นในรูปแบบที่นุ่มนวลและแนบเนียนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าอย่าง Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างนุ่มนวลหรือแข็งกร้าว การปกป้องทางการค้านั้นเป็นวิธีการที่จะทำให้ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจถลำลึกสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เกิดความล่มสลายของอุปสงค์ระดับโลก ข้อกล่าวอ้างโดยดุษณีเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองที่มีมาตลอดของสังคมประชาธิปไตยก็คือความสามารถในการรักษาสมดุลระหว่างเอกชนกับภาครัฐ กำไรและค่าจ้าง ตลาดและรัฐ ปรัชญาดังกล่าวส่งเสียงดังขึ้นอย่างแจ่มชัดและมีน้ำหนักขึ้นอีกครั้งเพื่อประจันหน้าท้าทายพวกเราในขณะนี้

ความท้าทาย อีกประการหนึ่ง สำหรับรัฐบาลต่างๆ ที่กำลังรับมือวิกฤตการณ์ในขณะนี้ก็คือมิติของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลต่างๆ ต้องออกกฎระเบียบการเงินต่างๆ ของโลกให้สอดคล้องกันเพื่อป้องกันการวิ่งแข่งกันไปสู่จุดต่ำสุด นั่นคือการที่เงินทุนไหลออกสู่อาณาเขตเศรษฐกิจของโลกที่มีข้อบังคับอันอ่อนด้อย เราต้องจัดสร้างมาตรฐานแห่งการเปิดเผยต่อกันระดับโลกอย่างเป็นระบบสำหรับสถาบันการเงินที่สำคัญ เรายังต้องสร้างกรอบการกำกับดูแลที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรับผิดชอบมากขึ้นในการบริหารองค์กร ซึ่งรวมถึงเรื่องการให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารระดับสูงด้วย

โลกได้หันหน้าเข้าหากันด้วยการให้ความร่วมมือกันต่อรัฐผ่านกลุ่มประเทศ G20 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในทันทีให้แก่ระบบการเงินโลก; เพื่อประสานให้เกิดการกระตุ้นทางการคลังอย่างเพียงพอต่อการรับมือกับช่องว่างทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากภาวะชะลอตัวทั่วโลก; เพื่อออกแบบกฎระเบียบระดับโลกเสียใหม่สำหรับอนาคต; เพื่อปฏิรูปสถาบันรัฐระดับโลกที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันเหล่านั้นมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการในศตวรรษที่ 21

การจัดการกำกับดูแลไอเอ็มเอฟจะต้องได้รับการปฏิรูป มีเหตุผลเพียงพอทีเดียวที่ว่าหากเราคาดหวังจะให้ประเทศต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีน มีส่วนร่วมมากขึ้นในสถาบันระดับพหุภาคีอย่างไอเอ็มเอฟแล้ว พวกเขาก็ควรจะได้รับเสียงที่ดังขึ้นในการร่วมตัดสินใจในเวทีเหล่านี้

ความท้าทายระยะยาวสำหรับรัฐบาลต่างๆ คือการจัดการกับความไม่สมดุลต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกสั่นคลอนในทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจที่ได้ดุลสูงอย่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน กับประเทศลูกหนี้รายใหญ่หลายราย เช่น สหรัฐอเมริกา

ความร้ายแรงของวิกฤตและผลกระทบทั่วโลกหมายความว่าการปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่เชื่อกันมายาวนานเพียงเล็กน้อยจะไม่ช่วยอะไรได้ ความจริงสองประการที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือตลาดการเงินไม่สามารถแก้ไขตัวเองหรือกำกับตัวเองได้ตลอดเวลา และอีกข้อหนึ่งก็คือรัฐบาล (ระดับชาติหรือระดับนานาชาติ) ไม่เคยสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เลย

สำหรับรัฐบาลต่างๆ นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เพียงแค่รักษาระบบตลาดเปิดไม่ให้ถูกทำลายลงด้วยตัวมันเองเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้งให้กับตลาดที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาสุดขั้วจากกลุ่มซ้ายจัดหรือขวาจัด

รัฐบาลต่างๆ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเพราะมีเดิมพันที่สูงยิ่ง นั่นก็คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะสูญเสียจากการว่างงานระยะยาว ความยากจนที่จะแผ่ขยายความน่าประหวั่นพรั่นพรึงไปยังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง และผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างทางอำนาจภายในระเบียบทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติที่ดำรงอยู่ ความสำเร็จจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก เพราะมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะต้องอาศัยความสามารถของพวกเราเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

หมายเหตุ :

ต้นฉบับเดิมของบทความฉบับนี้ นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร The Monthly ของออสเตรเลีย บทความภาษาไทยนี้ตัดตอนและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพื่อนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชน โดยเฉพาะ เป็นกรณีพิเศษ



ที่มา: มติชน




 

Create Date : 17 มีนาคม 2552    
Last Update : 17 มีนาคม 2552 18:23:36 น.
Counter : 645 Pageviews.  

กลียุคจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11325 มติชนรายวัน


กลียุคจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก



โดย เกษียร เตชะพีระ





ลีออน พาเนตต้า หัวหน้าซีไอเอคนใหม่

ตื่นนอนทุกเช้า ภารกิจประจำวันอย่างหนึ่งของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาคืออ่านรายงานลับสรุปสถานการณ์ประจำวันฉบับต่างๆ ที่องค์การสืบราชการลับซีไอเอทำส่งให้ เช่น PDB (President"s Daily Brief หรือข่าวสั้นรายวันของประธานาธิบดี) เป็นต้น

ล่าสุดปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ระดับสุดยอดของรัฐบาลโอบามาได้ขอให้ลีออน พาเนตต้า ผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่ที่โอบามาเสนอชื่อและวุฒิสภาสหรัฐเพิ่งลงมติยืนยันรับรองเมื่อ 12 ก.พ. ศกนี้ จัดทำรายงานลับประจำวันเพิ่มให้ประธานาธิบดีอีกฉบับหนึ่งชื่อ Economic Intelligence Brief (สรุปข่าวกรองเศรษฐกิจ) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคลี่คลายขยายตัวของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สำแดงออกในนานาประเทศ, วิธีการรับมือของรัฐบาลชาติต่างๆ, และผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. ศกนี้เป็นต้นไป (ข่าว mobile. newsweek.com)

สะท้อนว่าอเมริกากำลังหันมาเพ่งเล็งวิกฤตเศรษฐกิจโลกในแง่ความมั่นคงอย่างรุ่มร้อนเป็นพิเศษ

พลเรือเอก เดนนิส แบลร์

ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐคนใหม่

สอดคล้องกับคำให้การของพลเรือเอก เดนนิส แบลร์ (เกษียณราชการแล้ว) ผู้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติในรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ต่อคณะกรรมการข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐเมื่อ 12 ก.พ. ศกนี้ที่ระบุว่า...



สิ่งที่ทางการสหรัฐถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงสูงสุดไม่ใช่การก่อการร้ายของอัลเคด้าหรือบิน ลาเดน อีกต่อไป หากเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่างหาก!

บนพื้นฐานเอกสาร Annual Threat Assessment of the Intelligence Community (รายงานประเมินภัยคุกคามประจำปีของกลุ่มหน่วยงานข่าวกรอง //www.dni.gov/testimonies/20070111_testimony.pdf) ยาว 45 หน้าที่ร่วมประมวลขึ้นโดยหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐ 16 หน่วย พล.ร.อ.แบลร์ชี้ว่า: -

"ความห่วงกังวลด้านความมั่นคงระยะใกล้อันดับแรกสุดของสหรัฐได้แก่วิกฤตเศรษฐกิจโลกและนัยสืบเนื่องด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมัน วิกฤตดำเนินมากว่าปีแล้วและนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายก็ยังเห็นแตกต่างกันว่าเราตกถึงจุดต่ำสุดหรือยังและจะเป็นเมื่อไหร่กัน บ้างกระทั่งกลัวว่าเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้อาจดิ่งลึกลงอีกจนจรดระดับเดียวกับเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เริ่มเมื่อปี ค.ศ.1929 แน่นอน พวกเราทุกคนยังจำกันได้ถึงผลสืบเนื่องอันหนักหน่วงร้ายแรงทางการเมืองจากการบีบคั้นของความปั่นป่วนวุ่นวายทางเศรษฐกิจในคริสต์ทศวรรษที่ 1920 และ 1930 ในยุโรป รวมทั้งความไร้เสถียรภาพและคตินิยมสุดโต่งรุนแรงที่พุ่งขึ้นสูงสมัยนั้น..."

ภาษาสะดุดหูข้างต้นเรื่อง "นัยสืบเนื่องด้านภูมิรัฐศาสตร์" ของวิกฤตเศรษฐกิจโลกละม้ายรายงานข่าวด่วนสั้นคาดการณ์ยุโรปโลก (GlobalEurope Anticipation Bulletin-GEAB) ล่าสุดฉบับที่ 32 เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ศกนี้ ของ Laboratoire Europeen d"Anticipiation Politique-LEAP/E2020 (ห้องปฏิบัติการคาดการณ์การเมืองยุโรป) อันมี Franck Biancheri เป็นผู้อำนวยการ



ฟรองค์ บิอองเชอรี ผู้อำนวยการ Leap/E2020

ซึ่งเสนอว่าวิกฤตระบบโลก (la crise syst?mique globale) ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2007 และคลี่คลายผ่านขั้นตอนต่างๆ เชิงโครงสร้างมา 4 ขั้นตอน ได้แก่: จุดปะทุ, เร่งเร็ว, ผลกระทบ, ถ่ายเท (les phases de d?clenchement, d"acc?l?ration, d"impact et de d?cantation) นั้น เนื่องจากบรรดาผู้นำโลกทั้งหลายไม่ตระหนักถึงขอบเขตของวิกฤต มัวแต่แก้ผลพวงแทนที่จะแก้มูลเหตุของมัน

วิกฤตนี้จึงทำท่าจะลุกลามเข้าสู่ขั้นตอนที่ 5 แห่งการพลัดเคลื่อนทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก (la phase de dislocation g?opolitique mondiale) ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยใจกลางของมันจะกอปรไปด้วยปรากฏการณ์ 2 อย่างด้วยกันกล่าวคือ

1) ฐานของระเบียบโลกปัจจุบันซึ่งก่อร่างสร้างมาอย่างน้อย 30 ปี อันประกอบด้วยเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐกับหนี้สินมหาศาลของอเมริกา, อังกฤษและประเทศตะวันตกโดยทั่วไปนั้น กำลังสลายหายไป

2) ขณะเดียวกันผลประโยชน์ของตัวการหลักในระบบโลกก็กลับผิดแปลกแยกห่างออกจากกันไปยิ่งขึ้นทุกที จนยากจะหาจุดร่วมฉันทามติกันได้

จากนี้อาจทำให้เหตุการณ์ในโลกคลี่คลายขนานกันไปเป็นลำดับ 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1) องค์การและตลาดระหว่างประเทศหลักๆ ของโลกไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ส่งผลให้ระบบระเบียบระหว่างประเทศแตกสลาย

2) เกิดการพลัดเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ในบรรดาประเทศมหาอำนาจโดยตรง เช่น สหรัฐ จีน รัสเซียและสหภาพยุโรป ในบางประเทศอาจถึงขั้นกร่อนทลายบูรณภาพแห่งดินแดน, สายใยสังคมเศรษฐกิจ, โครงสร้างอำนาจการเมืองและอิทธิพลในโลกของประเทศนั้นๆ....

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ท่ามกลางการล่มสลายทางเศรษฐกิจการเงินโลกที่พลเรือเอก เดนนิส แบลร์ ประเมินว่า "ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ถ้าหากมิใช่ในรอบหลายศตวรรษ" ครั้งนี้ อาจสรุปประมวลภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นตามข้อวิเคราะห์ของเขาต่อวุฒิสภาสหรัฐได้ว่ามี 3 ลักษณะด้วยกันคือ: -

1) กระแสสูงของการขัดแย้งต่อสู้ทางชนชั้นและการปฏิวัติสังคมในประเทศต่างๆ

2) การไต่ระดับการแก่งแย่งแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศทุนนิยมทั้งหลายและสงคราม

3) การต่อต้านท้าทายอำนาจนำทางอุดมการณ์ของทุนนิยมอเมริกันในขอบเขตทั่วโลก

ขออนุญาตเล่ารายละเอียดต่อสัปดาห์หน้า



ที่มา: มติชน

//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act04130352§ionid=0130&day=2009-03-13




 

Create Date : 17 มีนาคม 2552    
Last Update : 17 มีนาคม 2552 18:20:48 น.
Counter : 763 Pageviews.  

โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่



โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่




หลักการและเหตุผล

รัฐบาลได้มีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมพัฒนา SMEs โดยถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ด้วยการสร้างผู้ประกอบการ SMEs ใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็จะช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการSMEs เดิมที่ยังคงมีศักยภาพให้อยู่รอด
คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ ๆ โดนการสนับสนุนการดำเนินการโครงการของรัฐบาล ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายใต้ "โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่" ในการให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการธุรกิจอย่างถูกต้อง


วัตถุประสงค์

1. เพื่อสนับสนุนบัณฑิตใหม่ ผู้ว่างงาน ออกจากงาน และพนักงานลูกจ้างที่มีพื้นฐานการศึกษาดีและมีศักยภาพ ให้สร้างโอกาสประกอบอาชีพด้วยตนเอง ด้วยการเป็นผู้ประกอบการ
2. เพื่อผลักดันให้เกิดวิสาหกิจใหม่ ๆ เป็นแหล่งจ้างงาน
3. เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดเล็ก ในช่วงก่อตั้งกิจการ (3 ปีแรก) ให้สามารถอยู่รอด และรักษาสภาพ การจ้างงาน
4. เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ “ทายาทธุรกิจ” ในการสืบทอดกิจการ ให้สามารถรักษาสภาพการจ้างงาน และ สร้างโอกาสขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

คุณสมบัติผู้สมัคร


1.ผู้ที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจของตนเองเป็นครั้งแรก และไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะเจ้าของ(หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ) ในธุรกิจใดมาก่อน

ว่างงาน
- จบการศึกษามาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่มีงานทำ
- ถูกไล่ออกจากงาน
- เกษียณ
เพิ่งจบการศึกษามาใหม่ไม่เกิน 1 ปี
ผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นอยู่แล้ว (ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ)
- ข้าราชการ
- พนักงาน
ผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่มีใบอนุญาตประกอบเฉพาะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์
- แพทย์ ทนายความ สถาปนิค วิศวกร ฯลฯ
2. ทายาทธุรกิจ คือ ได้รับการวางตัวหรือคาดหวังให้สืบทอดกิจการของครอบครัว และต้องการเตรียมความพร้อมในการก้าว
สู่ตำแหน่งผู้บริหารของกิจการต่อไปในอนาคต

3.ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนผู้จัดการในธุรกิจซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ผู้ที่จัดตั้งและประกอบธุรกิจมาเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี
ผู้ประกอบการธุรกิจที่ดำเนินการอยู่โดยยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์หรือจดทะเบียนใด ๆ กับรัฐ



สำหรับท่านที่สนใจเข้าอบรม สมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่


มีหลายหน่วย ทั้งในกทม. และต่างจังหวัดจัดอบรม (ส่วนมากเป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้จัดอบรม)




 

Create Date : 16 มีนาคม 2552    
Last Update : 16 มีนาคม 2552 9:17:42 น.
Counter : 721 Pageviews.  

เปลี่ยนจุดอ่อนในชีวิต เป็นจุดแข็งทางธุรกิจ



เปลี่ยนจุดอ่อนในชีวิต เป็นจุดแข็งทางธุรกิจ




สาเหตุหลักที่ทำให้ทุกคนต้องรัดเข็มขัดกันอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง นอกจากนี้ยังหนีไม่พ้นประเด็นทางการเมืองที่ยังคงมีความร้อนแรง เข้ามาเติมความร้อนรุ่มกลุ้มใจให้ผู้ประกอบการเป็นรายวัน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนในสังคมมีความเครียดเพิ่มขึ้นมีผู้ประกอบการรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้คิดผลิตการ์ดและเครื่องใช้ในสำนักงานที่มีรูปแบบที่แปลกตาและมีข้อความชวนให้ผู้รับอมยิ้ม ช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้บ้าง



เจน ไบสิก (Jen Bilik) เริ่มทำธุรกิจนี้โดยใช้ชื่อบริษัทว่า น็อค น็อค (Knock Knock) เมื่อปี พ.ศ. 2545
เธอเล่าให้ฟังว่า เธอต้องเข้ามาในธุรกิจนี้ช้ากว่าเจ้าอื่น ๆ หลายสิบปี แต่ก็ได้แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้เช่นกัน หลังจากที่จบการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน (University of Michigan) เธอพยายามค้นหางานที่เธอชอบโดยการสมัครเข้าทำงานทั้งแบบเต็มเวลาและพาร์ทไทม์ในหลากหลายอาชีพ เช่น พี่เลี้ยงเด็ก พนักงานพิสูจน์อักษรหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการฝึกหัดในสำนักพิมพ์ ติวเตอร์
จนกระทั่งได้ค้นพบตัวเองว่าชอบงานออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบกราฟฟิค เธอจึงได้เลือกที่จะศึกษาด้านนี้อย่างจริงจังและได้ร่วมทุนกับเพื่อน ๆ เปิดบริษัทน็อค น็อค ขึ้น ปัจจุบันมีพนักงาน 15 คนมีสินค้าที่เป็นสินค้าอวยพรและของที่ระลึกออกสู่ตลาดแล้วกว่า 150 รายการ มีวางจำหน่ายในร้านค้า ของที่ระลึก ร้านขายหนังสือ ร้านเครื่องเขียน ร้านของขวัญและการ์ดอวยพรมากกว่า 5,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร

แนวความคิดที่เข้ามาทำตลาดการ์ดและของที่ระลึกนี้ไม่ใช่ไอเดียใหม่แต่อย่างใด แต่เจนคิดว่าน่าจะสามารถทำอะไรให้การ์ดแบบเดิม ๆ ที่ดูธรรมดากลายเป็นของน่าสนใจขึ้นมาได้



เธอเริ่มทำการ์ดแผ่นแรกขึ้นมาโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และปริ๊นเตอร์ธรรมดา ๆ ส่งให้เพื่อน ๆ ที่เธอส่งการ์ดคริสต์มาสให้ไม่ทันในเดือนธันวาคม เธอจึงส่งการ์ดอวยพรเหล่านั้นในเดือนมกราคมแทน

แต่เนื้อหาภายในการ์ดไม่ได้เป็นการขอโทษขอโพยที่ส่งการ์ดมาช้า แต่เป็นการอวยพรในเชิงขำขัน อาทิ “ไม่ได้ลืมส่งการ์ด แต่คริสมาสต์สำหรับฉันไม่ได้มีแค่วันที่ 25 ธ.ค. หรอกนะ ขอให้มีความสุขในวันคริสต์มาส”

ปรากฏว่ามีเสียงชื่นชมจากเพื่อน ๆ และญาติพี่น้องจำนวนมากซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เธอตกลงทำธุรกิจการ์ดและของที่ระลึก

เจนกล่าวอย่างติดตลกว่า ขณะนี้การ์ดที่ขายดีที่สุดของ น็อค น็อค ดูเหมือนจะเป็นการ์ดอวยพรประเภทที่เลยวันมาแล้วสำหรับลูกค้ากลุ่มขี้ลืมทั้งหลาย แต่เธอก็ยอมรับว่าเธอเองก็ขี้ลืมเหมือนกันจึงได้หาเหตุผลสำหรับคนขี้ลืม ไม่ว่าจะเป็นแบบฟังขึ้นหรือฟังไม่ขึ้นก็จะทำให้คนรับมีรอยยิ้มได้เหมือนกัน




นอกจากการ์ดแล้ว น็อค น็อค ได้เพิ่มชนิดของสินค้าให้รวมถึงเครื่องใช้ในสำนักงานที่เน้นการออกแบบสวยงามน่าใช้ยังคงไว้ซึ่งความตลก เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นอีกด้านของชีวิตว่าไม่ได้มีแต่ความเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มนัดเดท (Dating Kit) รายการสิ่งที่ไม่ต้องทำ (To Don’t) ซึ่งเป็นรายการที่ตรงข้ามกับ “สิ่งที่ต้องทำ” (To Do) คู่มือถ่วงเวลาทำงาน (How to Procrastinate ) เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ของ น็อค น็อค ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากมีคนดังของอเมริกาจำนวนมากเป็นลูกค้าประจำของ น็อค น็อค ไม่ว่าจะเป็น กเวน สเตฟานี (Gwen Stefani), คริสตินา อากิเลรา ( Christina Aquilera), คริสเตียน สเลเตอร์ (Christan Slater), เชอริล โครว์ (Sheryl Crow ) หรือ ร๊อบบี้ วิลเลียม (Robbie Williams)

จากบทเรียนของ น็อค น็อค แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการปิดกั้นให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจที่มีผู้ครองตลาดเดิมอยู่แล้วเพราะตลาดยังเปิดกว้างสำหรับไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ

และบางครั้งสิ่งที่คิดว่าเป็นข้อเสียของตัวเราอาจเป็นการจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจก็ได้

*****************************

GLOBAL SMEs
SMEs Today ปีที่ 6 เล่มที่ 69
/ประจำเดือน กรกฎาคม 2551



ที่มา: //nec.dip.go.th/







 

Create Date : 16 มีนาคม 2552    
Last Update : 16 มีนาคม 2552 9:05:50 น.
Counter : 899 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.