Business, Management, Skill, Experiences--แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์ บริหาร และอื่น ๆ
Group Blog
 
All blogs
 
สำรวจตลาดเกิดใหม่เสี่ยงสุด ไทยติดอันดับ 5


สำรวจตลาดเกิดใหม่เสี่ยงสุด ไทยติดอันดับ 5


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
-------------------------------------------------------------------

((( ไทยเราติดทุกเรื่องที่ไม่ดี แต่เรื่องดี ๆ ไม่ค่อยเห็นมีเลยแฮะ )))


-------------------------------------------------------------------

อีโคโนมิสต์สำรวจตลาดเกิดใหม่ 17 ประเทศ พบเศรษฐกิจไทยติดอันดับ 5 อ่อนไหวเสี่ยงต่อปัญหาสินเชื่อโลกตึงตัวมากสุด

ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาขาดสภาพคล่องทั่วโลก ยังคงแผ่กระจาย ค่อยๆ ซึมเข้าไปยังเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลาง ส่งผลค่าเงิน ราคาหุ้นในตลาด และตราสารหนี้ ล้วนได้รับผลกระทบผันผวนปั่นป่วนไปตามๆ กัน

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างหวั่นเกรงและวิตกกันว่า จะมีตลาดเกิดใหม่อาจผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้น และวิกฤติหลายต่อหลายครั้งที่เกิดจากตลาดเกิดใหม่มีลักษณะการกระจายวงรุนแรง เมื่อนักลงทุนผละหนีจากตลาดหนึ่งไปหาตลาดอื่น

เช่นกรณีดูไบเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ประสบปัญหานี้อยู่ แต่ก่อนที่วิกฤติครั้งใหม่จะเกิดขึ้นมาอีกนั้น มีคำถามที่น่าสนใจตามมาว่า จากนี้ไปทั่วโลกจะสามารถตรวจสอบหาตลาดเกิดใหม่ที่ส่อเค้าผิดปกติ อ่อนไหวเปราะบางที่สุดต่อปัญหาสินเชื่อทั่วโลกตึงตัวได้อย่างไร?

จากข้อสงสัยและคำถามข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิเคราะห์ชิ้นล่าสุดของ ดิ อีโคโนมิสต์ สื่อสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจชั้นนำของอังกฤษ ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า "ทฤษฎีโดมิโน: ตลาดเกิดใหม่แห่งใดเป็นรายต่อไปที่อาจทำวิกฤติกระจายวง?" เพื่ออธิบายและหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว

อีโคโนมิสต์ชี้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในอดีตพยายามหาคำตอบว่าประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่แห่งใดเสี่ยงต่อการรับผลกระทบจากปัญหานอกประเทศ โดยพิจารณาแต่เรื่องสินทรัพย์กับหนี้สินของภาครัฐ และสัดส่วนของหนี้เทียบจีดีพีประเทศ จุดนี้อีโคโนมิสต์เห็นว่า การสำรวจหาแหล่งอ่อนไหวต่อการก่อความเสี่ยงมากที่สุดนั้น ไม่ควรวิเคราะห์ดูแต่ภาระหนี้หรือการกู้ยืมเงินของประเทศเท่านั้น แต่ควรดูจากภาระหนี้บริษัทและธนาคารในประเทศด้วย

เพราะเมื่อเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเหือดแห้ง จะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้จะรีไฟแนนซ์หนี้ครบกำหนดชำระ หรือระดมทุนกู้ยืมเงินก้อนใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเสริมสภาพคล่อง
3 ดัชนีวัดความเสี่ยง

ทั้งนี้อีโคโนมิสต์ได้ใช้ข้อมูลพื้นฐานส่วนใหญ่จากเอชเอสบีซี ธนาคารชั้นนำของอังกฤษ มาปรับใช้เป็นดัชนีสำคัญวัดความเสี่ยง 3 ตัว เพื่อประเมินดูความเปราะบางของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่มีต่อปัญหาสินเชื่อทั่วโลกตึงตัว โดยดัชนีตัวแรกเป็นการคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้

เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากจำเป็นต้องหาหรือได้เงินทุนอุดหนุน แต่ตอนนี้ภาคธนาคารและพอร์ตเงินทุนที่เคยไหลเข้า กลับอยู่ในอาการขวัญเสียและหวาดผวา และแม้แต่เงินลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอ ซึ่งเคยมองกันว่าผันผวนและอ่อนไหวน้อยกว่านั้น กลับปรับลดลงอย่างมากปีนี้

ประเทศเศรษฐกิจเล็กในยุโรปหลายประเทศ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบสัดส่วนจีดีพีปี 2551 เป็นตัวเลขสองหลัก แม้ว่าการถดถอยกินลึกจะช่วยลดตัวเลขขาดดุลนี้ไปได้บ้างก็ตาม และจากการเก็บข้อมูลมาประเมิน งานวิเคราะห์ชี้ว่าหลายประเทศที่นำมาจัดอันดับหาความเสี่ยง อย่างปากีสถาน, แอฟริกาใต้ และโปแลนด์ มีแนวโน้มว่าจะบริหารแบบขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบจีดีพีที่ระดับ 8% หรือมากกว่าในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับหรือขนาดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยช่วงก่อนจะเกิดวิกฤติปี 2540

สำหรับดัชนีตัวที่สองใช้วัดความเสี่ยง เป็นหนี้ระยะสั้น มีกำหนดชำระคืนนาน 12 เดือน เทียบทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศ แต่ละประเทศต้องชำระหรือคืนหนี้ต่างประเทศ หากระดมหาเงินทุนนอกประเทศ ประเทศนั้นๆ ต้องดึงทุนสำรองมาใช้จนเหลือน้อยลง

ดังนั้น หากหนี้ระยะสั้นเทียบทุนสำรองสูงเกิน 100% หมายถึงหนี้ที่มีอยู่นั้นมากเกินไป ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยได้เช่นกัน อย่างกรณีเคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2540 ช่วงนั้นหนี้ระยะสั้นของไทยอยู่ที่ 130% ของทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศที่มีอยู่ขณะนั้น

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างตลาดเกิดใหม่ ที่อีโคโนมิสต์สำรวจล่าสุด ผลออกมาว่าลัตเวียและเอสโทเนียมีหนี้ระยะสั้นเทียบทุนสำรองอยู่สูงมาก คือมากกว่า 250% ขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า พบว่าหนี้ระยะสั้นเทียบทุนสำรองต่ำกว่า 100%

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเอชเอสบีซีทำให้อีโคโนมิสต์คาดว่า หนี้ระยะสั้นของเกาหลีใต้จะสูงเกินและมากกว่าทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศที่กำลังร่อยหรอลงก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนทุนสำรองของอินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้และฮังการีดูเหมือนจะน้อย ด้านทุนสำรองของรัสเซียวูบหายไปกว่า 1 ใน 3 เมื่อธนาคารกลางรัสเซียพยายามพยุงค่าเงินรูเบิล แต่มูลค่าทุนสำรองปัจจุบันถือเป็นกันชนที่ทำให้รัสเซียสบายใจได้

ส่วนดัชนีตัวที่สาม คือ สัดส่วนสินเชื่อธนาคารเทียบเงินฝาก ประเมินดูความอ่อนไหวเปราะบางของระบบธนาคาร หากสัดส่วนอยู่ที่ระดับกว่า 1.0 เช่น รัสเซีย, บราซิล, เกาหลีใต้และฮังการี เป็นต้น หมายความว่าธนาคารพึ่งพาการกู้ยืมที่มักมีแหล่งทุนในต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นทุนอุดหนุนการปล่อยกู้ในประเทศ อาจทำให้ธุรกิจธนาคารหยุดชะงักได้ เพราะปัญหาสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก

แอฟริกาใต้-ฮังการีเสี่ยงสุด

เพื่อให้เห็นภาพรวมของความเปราะบางอ่อนไหวต่อปัญหาสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก งานวิเคราะห์ได้ใช้ดัชนีชี้วัดทั้ง 3 ตัวข้างต้น ในการจัดอันดับตลาดเกิดใหม่ทั้ง 17 ประเทศรวมไทย พร้อมหาค่าเฉลี่ย โดยเชื่อว่าหากนำตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทุกแห่งรวมถึงประเทศยุโรปตะวันออก อย่างลัตเวีย, ยูเครนและโรมาเนีย มาประเมินด้วย ทั้ง 3 ประเทศน่าจะติดอันดับต้นๆ ความเสี่ยงสูงสุด

ทั้งนี้จากผลการจัดอันดับความเสี่ยง อีโคโนมิสต์ยกให้แอฟริกาใต้และฮังการีดูแล้วเสี่ยงมากที่สุด และจีนเสี่ยงน้อยที่สุด สำหรับฮังการีประสบปัญหาและขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ไปแล้ว แต่แอฟริกาใต้ยังไม่ได้ร้องขอ

อีโคโนมิสต์ยังสรุปภาพรวมตลาดเกิดใหม่ในเอเชียโดยทั่วไปดูแล้วปลอดภัยมากที่สุด เพราะติดกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้คะแนนดีที่สุด และติดกลุ่ม 6 ตลาดมีความเสี่ยงน้อยสุด แต่ยกเว้นเกาหลีใต้ที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศมีมาก ส่วนภาระหนี้ภาคธนาคารสูงเช่นกัน ทำให้เกาหลีใต้ดูมีความเสี่ยงเหมือนโปแลนด์ ส่วนเวียดนามแม้ไม่นำมาสำรวจหรือจัดอันดับครั้งนี้ พบว่ามีคะแนนประเมินจากดัชนีชี้วัดทั้งสามตัวอยู่ระดับสูง

ทุนสำรองลดก่อความเสี่ยง

ในช่วงท้าย งานวิเคราะห์ชี้ว่าคะแนนที่ให้จากการสำรวจ 17 ตลาดเกิดใหม่โดยภาพรวม เป็นการจัดอันดับเพื่อดูความเสี่ยงเท่านั้น แต่การจะประเมินความเสี่ยงแท้จริงของวิกฤตินั้น จะต้องประเมินความต้องการเงินทุนในต่างประเทศด้วย อธิบายได้ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดรวม และมูลหนี้ระยะสั้นระยะ 12 เดือนข้างหน้า

โจนาธาน แอนเดอร์สัน นักวิเคราะห์ของยูบีเอส คำนวณหาช่วงโหว่ ความไม่สมดุลระหว่างดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมและมูลหนี้ระยะสั้นระยะ 12 เดือนข้างหน้า และทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศใน 45 ประเทศ พบข่าวดีว่ามีเพียง 16 ประเทศที่มีช่องโหว่ในการจัดหาเงินทุน ส่วนประเทศอื่นที่เหลือมีทุนสำรองมากกว่าและมากเกินพอ ที่จะชำระคืนหนี้ได้นานนับปี แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีเงินทุนไหลเข้าเลยก็ตาม

แอนเดอร์สันจากยูบีเอสย้ำว่า 16 ประเทศมีความเสี่ยงล้วนอยู่ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ในจำนวนนี้รวมถึงตลาดเกิดใหม่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่นอกภูมิภาคด้วย คือแอฟริกาใต้และปากีสถานซึ่งขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟแล้ว ในทางตรงกันข้ามเกาหลีใต้กลับพบว่าไม่น่าจะมีช่องโหว่ที่ก่อปัญหาในการหาเงินทุน ซึ่งเป็นผลดีจากการปรับดุลบัญชีเดินสะพัดให้สามารถเกินดุลเล็กน้อย

อีโคโนมิสต์สรุปด้วยว่า จากทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศมีอยู่มากมายในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะช่วยให้ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้รอดพ้นจากภยันตราย แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างที่สุดนั้น กลับอยู่ที่ว่าหากปัญหาสภาพคล่องสินเชื่อตึงตัวทั่วโลกยังเกิดขึ้นนานและต่อเนื่อง ทุนสำรองของตลาดเกิดใหม่ทั้ง 17 ประเทศ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะลดน้อยตามไปด้วย หมายถึงความเสี่ยงยังคงรอตลาดเกิดใหม่เหล่านี้อยู่


ที่มา: //www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/research/20090305/21724/สำรวจตลาดเกิดใหม่เสี่ยงสุด-ไทยติดอันดับ-5.html


Create Date : 28 พฤษภาคม 2552
Last Update : 28 พฤษภาคม 2552 13:22:22 น. 0 comments
Counter : 686 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

byonya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




I am not a perfect, but simple!

 
 
Custom Search



 
 

Website น่าสนใจ  
 
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

เว็บการศึกษา Eduzones.com

Business Web Directory .biz - Business Directory
 


Word of the Day

This Day in History

Quote of the Day

Hangman




Friends' blogs
[Add byonya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.